3 เทคนิคของ Jollibee ฟาสฟู้ดส์ในฟิลิปปินส์ที่ ชนะ แมคโดนัลด์

อาจจะเป็นความคิดที่ไม่ถูกนักหากบอกว่าการที่เราจะ สู้แบรนด์ใหญ่ นั้นไม่มีทางเป็นไปได้ หลายคนที่ทำธุรกิจยอมหลีกทางและเลี่ยงที่จะไม่สู้กับแบรนด์ใหญ่เพราะเชื่อว่าศักยภาพนั้นต่างกันซึ่งแท้จริงสิ่งที่ต่างคือความคิด ในที่นี้เรามีตัวอย่างดีๆของคนที่ต้องการทำธุรกิจให้สำเร็จ

โดย www.ThaiSMEsCenter.com ใช้บทเรียนสำคัญของ Jollibee ที่ถือว่าเป็นธุรกิจฟาสฟ้ดส์อันดับหนึ่งในฟิลิปปินส์ที่เอาชนะคู่แข่งตัวฉกาจอย่างแมคโดนัลด์ได้ขาดลอย

โดยJollibee เป็นหนึ่งในแบรนด์ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ Jollibee Foods Corporation (JFC) ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของธุรกิจอาหารอื่นๆ เช่น Greenwich Pizza ร้านพิซซ่าและสปาเกตตี Chowking ร้านอาหารจีน ยังไม่รวมอีกหลายแบรนด์

เช่น Red Ribbon, MangInasal, Bee Happy, Yumburger, Chickenjoy, Amazing Aloha รวมถึง Hongzhuangyuan, San Pin Wan, Yonghe King ซึ่งเป็นธุรกิจในจีน ผลสำรวจล่าสุดระบุ JFC เป็นบริษัทฟิลิปปินส์แห่งเดียวที่ติดอันดับท็อป 20 นายจ้างดีเด่นของเอเชีย โดยอยู่ในลำดับที่ 16 และติดอันดับ 3 บริษัทเอเชียที่ได้รับความชื่นชมมากที่สุดเมื่อปี 2543 และต่อไปนี้คือเรื่องราวแห่งความสำเร็จที่เราควรศึกษาไว้ว่าหนทางธุรกิจแท้ที่จริงไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่ใจเราคิด

จุดเริ่มต้นแห่งธุรกิจฟาสฟู้ดส์ Jollibee

สู้แบรนด์ใหญ่

ภาพจาก goo.gl/1IDO6I

Jollibee เป็นธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มแนวฟาสฟู้ดส์ในฟิลิปปินส์มานานกว่า 40 ปี และเป็น 40 ปีที่มีการรักษามาตรฐานในการบริการได้อย่างดีเยี่ยมจนกลายเป็นบริษัทฟาสต์ฟูดระดับแนวหน้าของเอเชีย

โดยจุดเริ่มต้นของ Jollibee นั้นมาจากการบริหารงานของ Tony Tan Caktiong ที่แม้จะเรียนจบทางด้านวิศวกรรมเคมี แต่ Tony ก็มุ่งหวังจะเอาดีทางด้านการทำธุรกิจซึ่งเป็นเหมือนสายเลือกจากรุ่นพ่อที่อพยพจากเมืองจีนมาตั้งรกรากที่ฟิลิปปินส์เละเริ่มต้นอาชีพด้วยการเปิดร้านอาหาร

ในปี 2518 Tony ในวัย 22 ปีเขาได้รับแรงบันดาลใจจากการไปดูงานที่โรงงานผลิตไอศกรีม จึงคิดทำธุรกิจไอศกรีม เขาและสมาชิกครอบครัวเห็นพ้องว่าหนทางที่ง่ายสุด คือการซื้อแฟรนไชส์ไอศกรีมแมกโนเลีย แดรี่ โดยเปิดร้านจำหน่าย 2 ร้านด้วยกัน การณ์กลับกลายเป็นว่าลูกค้ามักถามถึงเมนูอาหารคาว

ทางร้านจึงตอบสนองด้วยการเพิ่มเมนูแซนด์วิช และอาหารร้อน ผลปรากฏยอดขายแซงหน้าไอศกรีม โทนี่เปิดร้านไอศกรีมควบคู่การขายอาหารอยู่ 3 ปี ก็ได้รับคำแนะนำจากมานูเอล ลัมบา ที่ปรึกษาทางธุรกิจให้หันไปเน้นอาหารฟาสต์ฟูด เนื่องจากตลาดฟาสต์ฟูดมีขนาดใหญ่กว่าและความต้องการในตลาดสูงกว่า

เปิดตัว Jollibee ครั้งแรกในเมืองเกซอน ฟิลิปปินส์

r4

หลังจากที่ Tony ได้คำแนะนำดีๆเขาก็ตัดสินใจยกเลิกแฟรนไชส์ไอศกรีมแมกโนเลีย แล้วหันมาทุ่มเทให้ธุรกิจฟาสต์ฟูดทันที ปี 2521 ร้าน Jollibee ก็เปิดตัวครั้งแรกในเมืองเกซอน อาหารที่จำหน่ายเป็นประเภทเบอร์เกอร์ ฮอตดอก อาหารฟิลิปปินส์บางเมนู เครื่องดื่ม และมีแผนกเบเกอรีเป็นของตัวเอง

ปีแรกที่เปิดร้านทำยอดขายได้น่าประทับใจ 2 ล้านเปโซ ปีถัดมา ทางร้านเพิ่มเมนูสปาเกตตี และเริ่มขายแฟรนไชส์เป็นครั้งแรก ณ ช่วงเวลานั้น ยังไม่มีฟาสต์ฟูดข้ามชาติยักษ์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์เข้ามา Jollibee จึงเติบโตรวดเร็วขยายไป 10 สาขา ในระยะเวลาอันสั้น

งัดกลยุทธ์การตลาดสู้กับแมคโดนัลด์ด้วยมาสคอต Smiling Red Bee

r10

ครั้นแมคโดนัลด์เปิดตัวในฟิลิปปินส์ เมื่อปี 2524 สงครามธุรกิจฟาสต์ฟูดระหว่างแบรนด์นอกอย่างแมคโดนัลด์กับเจ้าถิ่นอย่าง Jollibee ก็เริ่มขึ้น Ollibee ใช้วิธีเพิ่มเมนูใหม่ๆ ปรับรสชาติให้เป็นไปตามลิ้นผู้บริโภค อัดโฆษณา และถือโอกาสเปิดตัว Smiling Red Bee แมสคอตสัญลักษณ์ของร้าน ซึ่งเป็นผึ้งแดงหน้าตาเป็นมิตร เหตุผลที่ใช้ผึ้ง

เพราะผึ้งเป็นสัญลักษณ์ของการทำงานหนัก และผลลัพธ์ของการทำงานนำมาซึ่งน้ำผึ้งอันเป็นความหอมหวานในชีวิต และจากแผนการตลาดทั้งหลายนั้นส่งผลให้ Jollibee เบียดแมคโดนัลด์ ขึ้นแท่นเจ้าตลาดฟาสต์ฟูดฟิลิปปินส์ด้วยส่วนแบ่งตลาดที่มากถึง 31 เปอร์เซ็นต์ ก่อนจะขยับมาครองมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ นับจากนั้น Jollibee ก็เติบโตอย่างต่อเนื่อง

r9

เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เริ่มแตกไลน์ไปเซกเมนต์อื่น เช่น พิซซ่า และอาหารจีน ช่วงที่ขึ้นสู่จุดสูงสุดทางธุรกิจ Jollibee ได้สยายปีกไปยังตลาดต่างประเทศ เริ่มที่บรูไน ก่อนข้ามสหรัฐฯ หลายประเทศในเอเชีย และตะวันออกกลาง รวมถึงมีแผนรุกเข้าออสเตรเลีย แคนาดา อังกฤษ โอมาน และบางประเทศในเอเชียด้วย

และเมื่อเทียบกับแมคโดนัลด์ที่มีสาขาในฟิลิปปินส์ 400 กว่าแห่ง Jollibee มีสาขากว่า 750 แห่ง Jollibee สามารถครองตลาดฟาสต์ฟูดในประเทศถึง 56 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะหมวดหมู่อาหารประเภทเบอร์เกอร์มีส่วนแบ่งสูงถึง 75 เปอร์เซ็นต์นั้นก็หมายความว่าแบรนด์ใหญ่อย่างแมคโดนัลด์ที่เอาชนะทุกแบรนด์ในหลายประเทศแต่ในฟิลิปปินส์ยังเป็นได้แค่เบอร์ 2 รองจาก Jollibee เท่านั้น

3 ปัจจัยสู่หมายเลขหนึ่งธุรกิจฟาสฟู้ดส์ของ Jollibee

r8

1. Customized to Local Tastes

แม้ว่าจะเป็นอาหารฟาสฟู้ดส์เหมือนกันแต่ Jollibee นั้นได้ปรับรสชาติตามรสนิยมของผู้บริโภคในท้องถิ่น Jollibee เข้าใจตลาดและรู้ว่าผู้บริโภคชอบหรือไม่ชอบอะไร จึงสนองความต้องการได้ตรงจุด

เช่น แฮมเบอร์เกอร์ที่ปรุงด้วยกระเทียมและซอสถั่วเหลือง และยังมีเมนูทางเลือกสำหรับคนที่ไม่ชอบขนมปัง เช่น ก๋วยเตี๋ยว และข้าวเสิร์ฟพร้อมเมนูปลา ฟิลิปปินส์ขึ้นชื่อเรื่องปลาบังงุส หรือปลานวลจันทร์ทะเลที่รสชาติดี ถือเป็นปลาประจำชาติของประเทศ การเติบโตของ Jollibee จึงมาจากอาหารที่มีรสชาติอร่อยถูกปาก ส่งผลต่อความพึงพอใจที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์

w10

2. Service Standard

นอกจากความสะอาดของอาหาร และสถานที่ Jollibee ยังเน้นสภาพแวดล้อมการทำงานแบบครอบครัวสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ปลูกฝังให้พนักงานมีความสามัคคี ปฏิบัติต่อกัน และต่อลูกค้าเสมือนสมาชิกในครอบครัว

เมื่อลูกค้าเดินเข้าร้านจึงได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นและเป็นมิตร จึงไม่แปลกที่ Jollibee จะขึ้นแท่นหนึ่งในแบรนด์ที่ได้รับการจดจำมากที่สุด และเป็นแบรนด์ยอดนิยมในฟิลิปปินส์

r21

3. Franchising

ธุรกิจ Jollibee เติบโตอย่างรวดเร็วส่วนหนึ่งเป็นผลจากระบบแฟรนไชส์ โดยกว่าครึ่งของจำนวนสาขาทั้งหมดเป็นร้านแฟรนไชส์ ข้อดีของแฟรนไชส์คือเหมือนมีหุ้นส่วนมาช่วยทำให้ธุรกิจขยาย

โดยที่บริษัทไม่ต้องลงทุนมาก Jollibee ดูแลด้านการออกแบบและตกแต่งร้าน ควบคุมคุณภาพสินค้าและบริการ ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ลงทุนเม็ดเงิน และเป็นแขนขาในการบริหาร เรียกว่าต่างสมประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย

เป้าหมายของ Jollibee มองไว้ว่าภายในปี 2563 จะเพิ่มสาขา Jollibee ให้ถึง 4,000 แห่ง และ Tonyได้พูดถึงธุรกิจที่เขาและครอบครัวริเริ่มว่า “ปัจจุบันแบรนด์ Jollibee มีมูลค่าหลายพันล้านเปโซ เครื่องหมายการค้าเป็นสิ่งที่เพิ่มมูลค่าให้ธุรกิจเราอย่างมาก

r20

ในสายตาลูกค้า Jollibee คือความไว้เนื้อเชื่อใจในแบรนด์ พอเห็นเครื่องหมายการค้าผึ้งยิ้ม เขาจะนึกถึงอาหารอร่อย สาขาเยอะ บริการทั่วถึง ลูกค้าจะรู้สึกภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของแบรนด์ ความสำเร็จของ Jollibee

จึงเป็นความสำเร็จที่ไม่ใช่เฉพาะสำหรับบริษัทหากยังถือเป็นความสำเร็จของชาวฟิลิปปินส์ทั้งชาติ เพราะหากไม่ได้ลูกค้าสนับสนุน เราก็ไม่อาจมาถึงจุดนี้ได้”

และเรื่องนี้น่าจะเป็นแรงบันดาลใจทางธุรกิจของใครหลายคนที่คิดว่าสู้กับตลาดผู้นำไม่ได้ หากเรามีวิธีคิดที่ถูกต้องทำธุรกิจอย่างมีแบบแผนชัดเจนรวมถึงตั้งใจที่จะทำจริงๆ เชื่อว่าย่อมมีช่องทางให้เราเดินหน้าได้อยู่ที่ว่าเราจะกล้าทำหรือจะหยุดความคิดนั้นไว้แค่ในสมองของเรา

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

ภาพจาก facebook.com/JollibeePhilippines

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด