เริ่มต้นปลูกผักบนคอนโด ไลฟ์สไตล์ใหม่คนเมือง !

สังคม คนเมือง ธรรมชาติเป็นสิ่งที่เราขาดไม่ได้ยิ่งโลกมีความเจริญก้าวหน้าเราก็จะยิ่งเห็นความสำคัญของธรรมชาติมากขึ้นกลายเป็นเทรนด์ที่ปรากฏในปัจจุบันกับการสร้างธรรมชาติในสังคมเมือง

เพื่อให้เกิดทัศนียภาพที่ผ่อนคลายกับการทำงานที่มีแต่ความเครียด สีเขียวๆของต้นไม้ใบหญ้าช่วยให้หลายคนอารมณ์ผ่อนคลายไปได้เยอะทีเดียว

สิ่งที่เป็นผลพลอยได้นอกจากความสบายตาและสบายใจเรายังสามารถมีผักสดๆที่ปราศจากสารพิษไว้เก็บกินและอาจจะขายได้บ้างถ้ามีมากพอแต่นั้นก็ไม่สำคัญเท่ากับเรื่องสุขภาพที่สวนน้อยๆในตึกใหญ่ๆให้ประโยชน์เรื่องนี้ได้อย่างเต็มที่

คอนโด

แนวคิดนี้จึงเรียกว่ามาแรงแต่ก็ใช่จะทำกันได้ง่าย ด้วยปัจจัยของคำว่าเมืองอาจทำให้สวนสวยในฝันไม่เป็นอย่างที่ใจคิด ลองมาดูเทคนิคดีๆ วันนี้ที่ www.ThaiSMEsCenter.com พร้อมนำเสนอให้ทุกท่านได้ลองทำกันตามนี้แล้วสวนสวยในจินตนาการจะออกมาสวยงามในโลกของความจริงได้แน่นอน

uu52

 

1. เตรียมความพร้อมของพื้นที่ดาดฟ้า

อันดับแรกคือการลงน้ำยากันซึมเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาน้ำรั่วลงไปชั้นล่างได้ พร้อมกันนี้ดาดฟ้าควรมีความลาดเอียงเล็กน้อยและมีท่อระบายน้ำขนาดใหญ่เพื่อป้องกันการอุดตัน

ซึ่งตามปกติการรองรับน้ำหนักของดาดฟ้าโดยทั่วไปพื้นที่ 1 ตร.ม. จะรับน้ำหนักได้ 200 กิโลกรัม ส่วนบนคานจะรับน้ำหนักได้กว่า 400-600 กิโลกรัม ดังนั้นการออกแบบแปลงผักก็ควรคำนึงถึงหลักการตรงนี้ด้วย

2. การออกเเบบวางผังสวนเกษตรดาดฟ้า

องค์ประกอบสำคัญของสวนเกษตรดาดฟ้าที่ควรมี ได้แก่ เสาปูน ตาข่ายพรางแสง ซุ้มผักหรือต้นไม้กันลม แปลงปลูก เรือนอนุบาลต้นกล้า แปลงเพาะกล้า ก๊อกน้ำและถังสำหรับรองน้ำ โดยมีรายละเอียด คือ

เสาปูน สามารถทำง่ายๆจากล้อยาง และนำเสาปูนมาใส่ แล้วเทปูนลงไป คล้ายเสาตะกร้อ ใช้สำหรับเป็นหลักยึดตาข่ายพรางแสง โดยอาจจะทำข้างละ 2 เสา ทั้งนี้ดูตามความเหมาะสมของขนาดพื้นที่

ตาข่ายพรางแสง เนื่องจากบนดาดฟ้าจะมีแสงแดดค่อนข้างแรง อาจส่งผลกระทบต่อผักได้ ดังนั้นจึงควรถึงเชือกเป็นตาข่ายขึงไว้ด้านบน โดยใช้ท่อพีวีซี และเหล็กสลิงช่วยยึด เพื่อสร้างความแข็งแรง ทนทานต่อลมฝน หากใช้เชือกอย่างเดียวอาจเกิดความเสียหายง่ายเกินไป

uu50

ซุ้มผัก หรือ ต้นไม้กันลมเพราะปัญหาเรื่องลมเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการปลูกผักบนดาดฟ้าลมที่ว่านี้อาจทำให้ดินแห้งเร็วเกินไปและส่งผลกระทบต่อผักที่ปลูก จึงควรมีซุ้มผัก เพื่อช่วยกันลม อาจทำจากท่อพีวีซี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ควรใช้ไม้ไผ่คาดเป็นโครงด้านข้างด้วย เพื่อความแข็งแรง หากใช้ท่อพีวีซีทั้งหมด หากลมพัดแรงซุ้มผักอาจพังได้

โดยพืชที่เลือกมาปลูกในซุ้มก็คือพืชเถาเลื้อย อย่างพวกบวบ ฟัก น้ำเต้า ซึ่งใบจะไม่ทึบมากนั้น ทำให้ลมบางส่วนสามารถผ่านลอดใบมาได้ หากปลูกพืชที่ใบหนาทึบจนเกินไป อาจเกิดปัญหาเรื่องลมปะทะแรงเกิน ก่อให้เกิดความเสียหายตามมาได้

แปลงปลูก หลักสำคัญของการทำแปลงปลูกคือควรกว้างประมาณ 1 เมตร เพื่อให้สะดวกในการทำงาน สามารถเอื้อมมือได้ถึง สูงประมาณ 20-30 เซนติเมตร ส่วนความยาวดูตามความเหมาะสม ที่สำคัญควรเว้นระยะห่างระหว่างแปลงเพื่อให้สามารถขนดิน ขนปุ๋ย รดน้ำ รวมถึงปลูกลงแปลงได้สะดวก

ก๊อกน้ำ และถังรองน้ำ ระบบน้ำสำหรับรดผักก็มีความสำคัญเช่นกัน ดังนั้นหากใช้น้ำประปาก็ต้องมีการต่อท่อขึ้นไป และควรมีถังรองพักน้ำไว้ ก่อนรดน้ำผัก เพราะในน้ำประปาจะมีคลอรีนมาก ทำให้ผักเติบโตได้ไม่ดีเท่าที่ควร

3.วัสดุปลูก

เนื่องจากพื้นปูนมีความร้อนสูง ประกอบกับความสามารถในการรองรับน้ำหนักของตึกเป็นปัจจัยที่ต้องระวัง ดังนั้นวัสดุปลูกควรมีส่วนผสมของกาบมะพร้าวมากๆคือในอัตราส่วนของกาบมะพร้าว 2 ส่วน และดิน 1 ส่วน เพื่อให้กาบมะพร้าวช่วยกรองความร้อนจากพื้นปูน และช่วยดูดซับความชื้นไว้ ที่สำคัญช่วยทำให้แปลงมีน้ำหนักเบาขึ้น ไม่เป็นอันตรายต่อโครงสร้างตึก

uu51

4. การวางแผนการปลูก

หลักสำคัญคือการปลูกพืชหมุนเวียนและการปลูกพืชต่างชนิดกันในแปลงใกล้กันเพื่อป้องกันปัญหาแมลงและโรคพืช เช่นหากปลูกคะน้าไปแล้ว ก็จะต้องเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่นอย่างน้อย 2 รอบ จึงจะกลับมาปลูกคะน้าได้อีก และแปลงที่อยู่ข้างๆแปลงคะน้า ก็ควรปลูกพืชชนิดอื่นที่ไม่ใช่คะน้าด้วยเช่นกัน

และเพื่อให้การปลูกดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อนำต้นกล้าปลูกลงแปลงแล้ว ต้องเพาะกล้าใหม่ไว้ทันที เพื่อให้มีลงปลูกทดแทนสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้อย่างต่อเนื่องซึ่งการปลูกผักหมุนเวียนนี้เพื่อให้ดินมีสภาพสมบูรณ์ที่สุดควรปลูกผัก 4 ประเภทคือ

  1. ผักกินใบ เช่นคะน้า กวางตุ้ง ผักกาดขาวปลี
  2. ผักกินหัวและราก เช่นหัวไชเท้า แครอท
  3. ผักกินผล เช่นมะเขือเปราะ มะเขือยาว แตงกวา
  4. พืชตระกูลถั่ว เช่นถั่วฝักยาว ถั่วเหลือง

เพราะผักแต่ละประเภทมีความยาวของรากที่ต่างกัน การดูดซึมอาหารจากดินก็ต่างกัน การปลูกแบบนี้เพื่อเป็นการรักษาดินไม่ให้เสื่อมสภาพ และพืชตระกูลถั่วก็จะช่วยเพิ่มไนโตรเจนให้กับดินได้อีกด้วย

uu53

ทริป

สำหรับพืชล้มลุกอายุยืนอย่างกระเพรา โหราพา แมงลัก ควรปลูกแยกต่างหากและควรปลูกห่างกัน เพื่อให้สะดวกในการดูแลรักษาและป้องกันการผสมพันธุ์กันโดยควรหมั่นตัดแต่งอยู่เสมอเพราะพืชชนิดนี้หากตัดแล้วจะแตกใหม่สามารถใช้ได้ตลอดที่สำคัญไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนมีดอกแก่เพราะอาจจะทำให้มีแมลงวันทองมารบกวน และแพร่กระจายไปยังต้นอื่น ยกเว้นแต่ว่าตั้งใจจะเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ปลูกต่อ

การสร้างสวนสวยในสังคมเมืองนี้ไม่ใช่แค่ความเพื่อสุขภาพ หรือ ความสบายใจเท่านั้น แต่ถ้าใครคิดจะจับเอาแฟชั่นธรรมชาตินี้มาเป็นทางเลือกในการทำธุรกิจ ก็ดูจะกิ๋บเก๋เท่ห์ไม่หยอกแนวโน้มของตลาดก็ทิศทางสดใสเพราะอย่างไรมนุษย์ก็อยู่ห่างธรรมชาติไม่ได้แน่นอน

 

อ้างอิงจาก thaicityfarm.com 

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด