อยู่ญี่ปุ่นไม่ต้องกลัวอด! ธุรกิจ ร้านสะดวกซื้อ ยุคเฟื่องฟู บริการทุกอย่างครบวงจร

ร้านสะดวกซื้อ ในเมืองไทยเป็นสิ่งที่เราคุ้นตากันมานาน เดินไปทางไหนก็พบเจอ บางคนบอกว่านี่คือปัจจัยที่ 5 ที่ขาดไม่ได้ต้องใช้บริการกันแทบทุกวัน หลายคนก็สงสัยว่าถ้าเป็นประเทศญี่ปุ่น ชนชาติที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นตำหรับลำดับต้นๆของโลกร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นจะล้ำนำสมัยและมีจำนวนมากน้อยเพียงใด

www.ThaiSMEsCenter.com พาทุกท่านไปเจาะตลาดร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นตามข้อมูลระบุว่ามีเจ้าตลาดอยู่ 3 แบรนด์คือ7-eleven, Lawson และ Family Martด้วยส่วนแบ่งทางการตลาดของทั้ง 3 แบรนด์ใหญ่มีเกินกว่า 80% ที่เหลือคือร้านสะดวกซื้อทั่วไปเช่น Circle K Sunkus, Ministop, Popular, Three-F เราลองมาดูความน่าสนใจของ 3 แบรนด์ใหญ่ที่ว่านี้ว่ามีอะไรพิเศษบ้างเผื่อไปญี่ปุ่นเมื่อไหร่จะได้ใช้บริการได้อย่างมืออาชีพ

1.เซเว่น อีเลฟเว่น

ร้านสะดวกซื้อ

ภาพจาก : http://goo.gl/KhnQJ2

เซเว่น-อีเลฟเว่นในประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี1973 ปรัชญาการขายของเซเว่นอีเลฟเว่นในญี่ปุ่นคือเน้นการเอาสิ่งของใกล้ตัวไม่ต้องแปลกใหม่แต่เข้าถึงคนกลุ่มมากรวมถึงให้ความสำคัญเรื่องวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภคผ่านระบบคอมพิวเตอร์อย่างละเอียด ตั้งแต่เพศ ความชอบ และอายุ เพื่อดูว่าสินค้าประเภทไหนได้รับความนิยมจากผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม และจำหน่ายสินค้าตามพฤติกรรมของผู้บริโภคในแต่ละสาขา

จำนวนสาขาของ เซเว่น-อีเลฟเว่นสำรวจเมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ทั่วโลกอยู่ที่ 56,677 สาขา ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนมากที่สุดคือ 18,000 สาขามีอัตราการเปิดสาขาในญี่ปุ่นอยู่ที่ ปีละ 1,200 – 1,500 สาขานี่คือตัวเลขที่ถือว่ามากกว่าผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมเดียวกันคือ Lawson และ Family Mart ซึ่งมี 11,000 และ 10,000 สาขา ตามลำดับ

2. Lawson

p21

ภาพจาก : http://goo.gl/AwIJQQ

“Lawson”เปิดตัวในประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2518 สาขาแรกคือ “ร้าน Sakurazuka” (Minamisakurazuka, Toyonaka City, Osaka) โดยมีบริษัท DAIEI ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ Lawson ณ ขณะนั้นเข้าทำสัญญาที่ปรึกษากับบริษัท CONSOLIDATED FOOD และมีการตั้งระบบแฟรนไชส์ที่เป็น Know how เฉพาะตัว ขึ้นมาซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาระบบแฟรนไชส์อย่างแท้จริง

หลังจากนั้น ก็มีการวางระบบที่มีลักษณะเฉพาะของตัวเองในญี่ปุ่น เช่น ระบบการพัฒนาสินค้าที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้า, ระบบกระจายสินค้าให้ทันในเวลาที่กำหนด หรือระบบ IT ที่เชื่อมโยงระหว่างสาขากับสำนักงานใหญ่ พร้อมทั้งยังได้พัฒนาไปสู่ร้านค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันปัจจุบันมีมากกว่า 11,000 สาขาในญี่ปุ่น

3. Family Mart

p11

ภาพจาก : https://goo.gl/aPfWBS

Family Mart ร้านสะดวกซื้อที่เป็นสัญชาติญี่ปุ่นโดยแท้ในเครือเซซันกรุ๊ป ซึ่งเป็น เครือข่ายที่ใหญ่ที่สุดในประเทศญี่ปุ่น เปิดตัวครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2518 Family Mart ถือเป็นหนึ่งในสามผู้นำของธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่มีส่วนแบ่งการตลาดเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยรูปแบบธุรกิจที่แข็ง แกร่งแถมยังสมบูรณ์แบบในทุกด้าน ทั้งภาพลักษณ์ที่ดูทันสมัย ครบครันไปด้วยสินค้ามากมาย บวกกับการบริการที่สุภาพนอบน้อม

ยุทธศาสตร์สำคัญคือการเน้นขายสินค้าในกลุ่มอาหารที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนญี่ปุ่นอย่างชัดเจน มีทั้งอาหารจานหลัก อาหารแช่เย็น อาหารแช่แข็ง อาหารพร้อมทาน รวมถึงของว่างต่างๆ และบริการทั่วไปแบบครบวงจรสิ่งที่ครองใจคนญี่ปุ่นคือความใกล้ชิดและเป็นกันเองถือเป็นเอกลักษณ์ที่ Family Mart ใช้เป็นนโยบายสำคัญในการขยายกิจการแฟรนไชส์นี้ไปทั่วโลกกว่า 20,000สาขาใน 9ประเทศ นับเฉพาะในญี่ปุ่นมีไม่ต่ำกว่า 10,000 สาขาเลยทีเดียว

บริการที่แปลกและแตกต่างเมื่อได้ไปเยือนร้านสะดวกซื้อที่ญี่ปุ่น

1.สินค้าแบรนด์พรีเมี่ยมแบบต่างๆและ catalogue ต่าง ในการสั่งสินค้า

p13

ภาพจาก : http://goo.gl/sZXs3f

เรื่องนี้อาจจะยังไม่แปลกนักถ้าเทียบกับประเทศไทยเพราะร้านสะดวกซื้อในบ้านเราเองก็มีแบรนด์ของตัวเองที่เราคุ้นเคยกันก็เช่น 7 Select แต่ที่ญี่ปุ่นจะล้ำหน้าไปอีกขั้นคือมีสินค้าทั้งแบบ Premium และ Gold ที่ให้ผู้บริโภคเลือกซื้อได้ตามความเหมาะสม รวมถึงสามารถสั่งรายการสินค้าที่สนใจใน catalogueให้มาจัดส่งได้ถึงบ้าน เป็นการสั่งล่วงหน้าที่ทำได้ตั้งแต่ 7-30 วันกันเลยทีเดียว

2.มีระบบธนาคารจำลองสามารถทำธุรกกรรมการเงินเบื้องต้นได้

p14

ภาพจาก : https://goo.gl/XliYCC

ที่ญี่ปุ่นมีการจำลองรูปแบบธนาคารมาไว้ในร้านสะดวกซื้อ ที่สำคัญคือไม่เสียค่าธรรมเนียมสามารถทำได้ทั้งการฝาก ถอน โอน และพิเศษกว่าคือสามารถขอสินเชื่อส่วนบุคคลเพิ่มเติมได้อีกด้วย รูปแบบของธนาคารจำลองก็คล้ายกับ ATMแต่จะมีบริการที่ครบวงจรมากกว่าและมีแบบนี้เฉพาะในร้านสะดวกซื้อเท่านั้น

3.เครื่องถ่ายเอกสาร ที่เป็นมากกว่าเครื่องถ่ายเอกสาร

p18

ภาพจาก : http://goo.gl/gRKku4

จะเป็นลักษณะของ Copy Machine ซึ่งไม่ใช่แค่ถ่ายเอกสารเท่านั้นแต่ยังสามารถสั่ง Print จากสื่อต่างๆไม่ว่าจะสมาร์ทโฟนหรือว่าแท็บเล็ต นอกจากนี้ใน Copy Machine ของญี่ปุ่นยังเชื่อมต่อกับฐานข้อมูลประชากรทำให้สั่งพิมพ์เอกสารราชการสำคัญส่วนตัวเช่นทะเบียนบ้าน พร้อมกันนี้ในเครื่องเดียวกันนนี้ยังสามารถสั่งจองตั๋วคอนเสิร์ตหรือสวนสนุกต่างๆได้อีกด้วย

4.บริการ ซักรีด (Laundry)

p17

ภาพจาก : http://goo.gl/gRKku4

เป็นลักษณะของตู้รับฝาก ส่งต่อให้ร้านที่เปิดบริการด้านนี้โดยเฉพาะเมื่อทำการซักอบรีดจะนำมาส่งไว้ที่ตู้เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้มารับสินค้ากลับ ร้านสะดวกซื้อบางสาขายังเพิ่มความน่าสนใจด้วยการรับส่งพัสดุทั่วประเทศอีกด้วย

5.บริการ Tax Free

p16

ภาพจาก : http://goo.gl/eOToXX

เป็นบริการที่คนซื้อสินค้าในร้านสะดวกซื้อสามารถขอเงินภาษีคืนได้ตามที่กฎหมายญี่ปุ่นกำหนด ต้องมียอดรวมในการซื้อสินค้าเกินกว่า 5400 เยนจะได้ภาษีคืน 8 % แต่เป็นบริการที่มีเฉพาะบางสาขา เช่นที่ เซเว่น-อีเลฟเว่นสาขา Asakusa หน้าวัด Sensoji มีเคาน์เตอร์แยกในการจัดการเรื่อง Tax Free ไว้อย่างชัดเจน

ความพิเศษในด้านอื่นๆที่น่าสนใจก็เช่นการอำนวยความสะดวกในเรื่องของที่นั่งสำหรับรับประทานอาหารหรือบางสาขาก็มีห้องน้ำให้บริการ และยิ่งถ้าเป็นสาขาในต่างจังหวัดอาจเพิ่มเติมด้วยที่จอดรถจำนวนมาก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริกรได้อย่างเต็มที่

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวน่าสนใจในธุรกิจเกี่ยวกับร้านสะดวกซื้อของประเทศญี่ปุ่น หลายสิ่งหลายอย่างดูคล้ายกับประเทศไทยแต่มีการปรับปรุงให้คุณภาพนำหน้าไปมากพอสมควร ซึ่งงานนี้ถ้าใครอยากเห็นด้วยตาก็ไม่ใช่เรื่องยากลองบินไปญี่ปุ่นดูสักครั้งแล้วคำตอบจะชัดเจนทันทีว่าที่เราพูดทั้งหมดนี้เป็นความจริงที่เกิดในร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นล้วนๆ

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด