ส่อง! แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ปี 2023 แฟรนไชส์ปีกระต่าย กลุ่มไหนรุ่ง กลุ่มไหนร่วง ผู้ซื้อแฟรนไชส์อายุน้อยลง กำลังซื้อกลับมา!

ผู้เชี่ยวชาญด้านแฟรนไชส์ของไทย มองปี 2566 เศรษฐกิจไทยเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศ ดันธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศเติบโต คาดกำลังซื้อแฟรนไชส์ดีดตัว คนรุ่นใหม่และวัยเกษียณกำเงินรอซื้อ แม้แฟรนไชส์จะโตแต่อาจประสบปัญหาเรื่องแรงงาน

แฟรนไชส์เชนใหญ่ขยายตัวได้ดี ส่วนรายเล็กลำบากเรื่องต้นทุน มีเข้า-มีออก ส่วนแฟรนไชส์มาแรงยังคงเป็นอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะกลุ่มสตรีทฟู้ดจะได้รับความนิยมในการทำแฟรนไชส์มากที่สุดในปี 2566

ปี 66 แฟรนไชส์ฟื้น รับกำลังซื้อดีดตัว

“นายสุทธิชัย พนิตนรากุล” นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA) และเจ้าของแฟรนไชส์ The Waffle เปิดเผยว่า จากการจัดงาน TFBO 2022 เริ่มเห็นทิศทางของอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ไทยสามารถเคลื่อนที่ได้ หลังจากได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ประกอบกับตนได้มีโอกาสเดินทางไปอิตาลีเมื่อเดือนก่อน ได้เห็นผู้คนได้ใช้ชีวิตแบบปกติทั่วไป ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการดำเนินธุรกิจ แม้แต่ในประเทศไทยเองได้เห็นแล้วว่าสถานการณ์ต่างๆ เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ

เห็นได้จากห้างสรรพสินค้าต่างๆ เปิดให้บริการตามปกติ มีคนไปเดินห้างมากขึ้น เพียงแต่ว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแฟรนไชส์ไทยได้มีการเตรียมความพร้อมสำหรับการเดินหน้าต่อไปหรือไม่ โดยเฉพาะแฟรนไชส์รายเล็กๆ ยังเดินไหวอยู่หรือไม่ ถ้ายังไหวก็สามารถประสานงานมาทางสมาคมฯ สมัครสมาชิก เพื่อทางสมาคมฯ จะได้ช่วยหาช่องทางในการฟื้นฟูกิจการ

ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 มากนัก กิจการยังแข็งแรงอยู่ ทางสมาคมฯ ก็จะให้การส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจแฟรนไชส์เหล่านี้ ด้วยการออกงานแสดงสินค้ารวมถึงโรดโชว์ให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้คนที่ไม่ได้อยู่ในวงการแฟรนไชส์ได้มองเห็นว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยยังสามารถเดินหน้าต่อและยังน่าลงทุนอยู่

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีสาขาจำนวนมากในประเทศไทย หากมุ่งหวังที่จะออกไปขยายตลาดในต่างประเทศ ทางสมาคมฯ ก็ได้มีการเตรียมแพลตฟอร์มในการออกไปโรดโชว์ในตลาดต่างประเทศช่วงปี 2566 ประมาณ 2-3 ครั้ง

สำหรับเทรนด์แฟรนไชส์ที่คาดว่าจะมาแรงและได้รับความนิยมในปี 2566 นายสุทธิชัย กล่าวว่า แฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มยังคงมาแรงโดยมีสัดส่วนมากกว่า 50-60% ตามมาด้วยแฟรนไชส์บริการ ขนส่ง สะดวกซัก ค้าปลีก ความงาม สปา รวมถึงแฟรนไชส์การศึกษา ที่ปัจจุบันหลายๆ แบรนด์ได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนไปสู่ระบบออนไลน์

ที่ผ่านมาแม้ว่าแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มอาจจะมีการล้มหายตายจากไปบ้าง แต่ยังเป็นแฟรนไชส์ที่มีโอกาสเติบโตมากกว่าแฟรนไชส์กลุ่มอื่นๆ แม้ว่าธุรกิจต่างๆ จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่แฟรนไชส์ร้านอาหารได้ปรับมาให้บริการเดลิเวอรี่ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้านอย่างเดียว เพียงแต่ต้องมีความสามารถในการทำ Digital Marketing

ส่วนแฟรนไชส์ต่างประเทศที่คาดว่าเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยปี 2566 ต้องมีมาสเตอร์แฟรนไชส์ที่เข็มแข็ง โดยเฉพาะเรื่องของเงินลงทุนและทีมงาน สมมติว่ามีคนต้องการนำเอาแบรนด์อาหารญี่ปุ่นมาเปิดในเมืองไทย ก็จะต้องมีความเข้มแข็งในเรื่องของเงินทุนเพียงพอ มีทำเลที่ตั้งในการเปิดร้านดีพอสอดรับกับธุรกิจ มีตลาดรองรับจริงๆ โดยคาดว่าแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศจะค่อยๆ ทยอยเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทย แต่จะมาเปิดพร้อมๆ กัน 30 สาขาเป็นไปได้น้อยมาก

สำหรับแนวโน้มกำลังซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ของนักลงทุนในปี 2566 นายสุทธิชัย กล่าวต่อว่า กำลังซื้อแฟรนไชส์ไม่เคยแผ่ว คนเกษียณอายุมีความต้องการในการลงทุนแฟรนไชส์มากขึ้น และมีหลายแสนคนต่อปี ส่วนเด็กเรียนจบใหม่ก็สนใจซื้อแฟรนไชส์ หลายคนอยากเป็นเถ้าแก่ด้วยการซื้อแฟรนไชส์ เพราะไม่ต้องเริ่มต้นจากศูนย์ เป็นทางลัดในการทำธุรกิจ เพราะฉะนั้นตลาดของผู้ซื้อแฟรนไชส์ไม่ได้แผ่วลงไป แต่สถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย เพราะการระบาดโควิด-19

แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มเข้าสู่สภาวะปกติ เชื่อว่ากำลังซื้อแฟรนไชส์จะกลับมาสู่ภาวะปกติ ไม่ว่าจะเป็นแฟรนไชส์ราคาหลักพัน หลักหมื่น ไปจนถึงหลักหลายๆ ล้าน เหมือนกรณีแฟรนไชส์กาแฟ “คาเฟ่ อเมซอน” พบว่ามีคนสนใจสมัครแฟรนไชส์หลายร้อยรายต่อเดือน เจ้าของแฟรนไชส์ไม่ต้องเหนื่อยในการหาลูกค้า ทำเพียงแค่คัดเลือกผู้ซื้อแฟรนไชส์เท่านั้น

เช่น เดียวกับแฟรนไชส์ร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven แต่ละปีมีคนสนใจซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก เพราะเป็นธุรกิจที่การันตีในเรื่องรายได้ ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์ต้องทำให้ธุรกิจของตัวเองขายได้ ถ้าธุรกิจยังขายไม่ได้ แม้แต่จะกวักมือเรียกให้ช่วยมาซื้อ ก็ไม่มีใครมา เพราะผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ต้องการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์ที่ปลอดภัย และมีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ถ้าธุรกิจของคุณขายดี ก็จะทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์เดินเข้ามาหาเอง เพราะเขามองว่าธุรกิจมีความน่าสนใจลงทุน

เพราะฉะนั้น โอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ไม่เคยหมดไป แต่ช่วงภาวะที่แผ่วลงเป็นไปตามสถานการณ์ไม่เอื้ออำนวย แต่พอสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย เราก็จะเห็นตลาดแฟรนไชส์มีความคึกคัก คนมีเงินลงทุนในปีที่แล้วแต่ไม่พร้อมลงทุน ก็จะมองหาโอกาสใหม่ๆ ในการลงทุนแฟรนไชส์ในปี 2566 เห็นได้จากงาน TFBO 2022 มีคนเดินในงานเพิ่มมากขึ้น คาดว่าปี 2566 จะมีธุรกิจแฟรนไชส์ร่วมออกบูธมากกว่าปี 2565 โดยเฉพาะแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศที่สนใจขยายตลาดเมืองไทย

แฟรนไชส์เชนใหญ่ขยายตัวดี รายย่อยลำบากบริหารต้นทุน

อ.เศรษฐพงศ์ ผดุงพิสุทธิ์ CFE, กรรมการผู้จัดการ บริษัท จีโนซิส จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2566 คาดว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย ดูได้จากข้อมูลของภาครัฐและบทวิจัยจากต่างประเทศ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ภาคการลงทุนต่างๆ มีต้นทุนสูงขึ้น ส่วนภาคการเงินนั้นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย น่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน กระทบนักลงทุนที่เตรียมจะซื้อแฟรนไชส์ด้วยการขอสินเชื่อธนาคาร อาจจะตัดสินใจชะลอการลงทุนไป

ในส่วนของเจ้าของธุรกิจที่จะทำแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซอร์ ก็จะได้รับผลกระทบในเรื่องต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนสินค้า-วัตถุดิบ ค่าขนส่ง ค่าแรง น่าจะปรับตัวสูงขึ้น จึงไปกดดันให้เจ้าของแฟรนไชส์อยากจะขายแฟรนไชส์ให้ได้มากขึ้น

ซึ่งจะไปขัดแย้งกับผู้ซื้อแฟรนไชส์ โดยเจ้าของแฟรนไชส์อยากจะขายแฟรนไชส์ แต่จำนวนผู้ต้องการซื้อแฟรนไชส์ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งนี้ เจ้าของธุรกิจที่อยากขายแฟรนไชส์ในปี 2566 ต้องให้ความสำคัญในเรื่องการบริหารจัดการเงินทุนหมุนเวียน กระแสเงินสด จะได้ทำให้แฟรนไชส์ดำเนินธุรกิจได้อย่างปลอดภัย

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่คาดว่าจะมาแรงและได้รับความนิยมในปี 2566 คาดว่าจะเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีการเตรียมความพร้อมและสามารถปรับตัวได้จากโควิด-19 ในช่วงปีที่ผ่านมา น่าจะเอาตัวรอดได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะธุรกิจร้านอาหารเชนใหญ่ๆ จะขยายตัวได้ดี ขณะที่รายย่อยน่าจะลำบากในเรื่องของการบริหารจัดการต้นทุนต่างๆ ที่เกิดขึ้น

ส่วนแนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่จะเข้ามาขยายตลาดในเมืองไทย คาดว่าน่าจะมีอยู่บ้างพอสมควร และยังมีอีกหลายๆ แบรนด์ที่จะเข้ามาหานักลงทุนไทยในช่วงไตรมาสแรกของปี 2566 แต่ปัญหาอยู่ที่ค่าเงินบาทอ่อนของไทยจะทำให้การลงทุนแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่ต้องใช้สกุลเงินดอลลาร์จะค่อนข้างแพงมากขึ้น แต่ถ้าไม่อยากลงทุนแฟรนไชส์ต่างประเทศในราคาแพงขึ้น ก็ต้องรอให้แบรนด์ต่างประเทศเข้ามาเปิดตลาดในเมืองไทยไปก่อน

ปี 66 แฟรนไชส์ไทยบูมสุดขีด ทำเลทองปั้มน้ำมัน

อ.สุภัค หมื่นนิกร ผู้ก่อตั้งสถาบันธุรกิจแฟรนไชส์อาหาร เปิดเผยว่า ปี 2566 แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยจะบูมอย่างมาก โดยเป็นการเติบโตทุกประเภทของการลงทุนแฟรนไชส์ ทั้งแฟรนไชส์ที่ใช้เงินลงทุนหลักหมื่น หลักแสน หลักล้าน จะมีการเติบโตทั้งหมด

ในส่วนแฟรนไชส์ลงทุนหลักหมื่นจะได้รับความนิยมลงทุนจากกลุ่มพนักงานที่ตกงานจากการระบาดโควิด-19 เพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ส่วนแฟรนไชส์หลักแสนจะได้รับความนิยมในกลุ่มคนทำงานในออฟฟิศ ผู้จัดการ ที่พอจะมีเงินเก็บค่อนข้างมาก จะเลือกลงทุนแบรนด์แฟรนไชส์ที่ค่อนข้างมีระบบมั่นคง รวมถึงอาจจะเลือกลงทุนแฟรนไชส์หลักล้านบาทขึ้นไปด้วย

จากปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลให้ทุกกลุ่มการลงทุนแฟรนไชส์มีการเติบโตกันหมด ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจของไทยในปี 2566 จะฟื้นตัวมากกว่าปี 2565 เพราะเปิดประเทศให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเมืองไทยมากขึ้น มีการเลือกตั้งรัฐบาลใหม่

รวมถึงภาคธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้ามีการลงทุนโปรโมทให้ประชาชนออกมาจับจ่ายใช้สอยกันมากขึ้น ขณะที่สถานีบริการน้ำมันค่ายต่างๆ เริ่มที่จะมีการโปรโมทธุรกิจร้านอาหารหันมาขึ้น โดยเฉพาะปั้มน้ำมันบางแบรนด์ก็มีการนำธุรกิจแฟรนไชส์อาหารไปร่วมเปิดให้บริการในปั้ม

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ดาวรุ่งในปี 2566 ยังคงเป็นกลุ่มอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสตรีทฟู้ด ราเมน สเต็ก เบอร์เกอร์ ดีเสิร์ทคาเฟ่ นอกจากนี้ยังมีธุรกิจร้านสะดวกซัก เพราะเป็นตลาดที่ยังเปิดกว้างให้กับนักลงทุนที่สนใจอยากมีรายได้เพิ่ม ขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบาย ไม่ค่อยมีเวลาในการซักเสื้อผ้าด้วยตัวเอง

ส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ดาวร่วงยังคงเป็นโรงเรียนกวดวิชา ที่ไม่ใช่การฝึกทักษะความรู้ความสามารถ เพราะพฤติกรรมผู้เรียนหันไปกวดวิชาทางออนไลน์ สำหรับทำเลเปิดร้านแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมในปี 2566 ก็คือ ปั้มน้ำมัน เพราะทุกๆ แบรนด์มีการปรับตัวและพัฒนาพื้นที่ภายในปั้มให้เหมาะสำหรับการทำธุรกิจแฟรนไชส์

ถัดมาเป็นทำเลแนวสตรีทฟู้ดและตลาด ถัดไปห้างสรรพสินค้ายังคงเป็นทำเลที่ได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการแฟรนไชส์อยู่เช่นเดิม สุดท้ายทำเลแบบฟู้ดทรัคเพราะผู้ประกอบการจะใช้เป็นพื้นที่ทดลองเปิดร้านขายก่อนที่ทำธุรกิจจริงๆ ตรงนี้จะทำให้ทำเลรูปแบบฟู้ดทรัคมีการเติบโตด้วยเช่นกัน

เศรษฐกิจไทยฟื้นตัว ดันแฟรนไชส์เติบโต

อ.สิทธิชัย ทรงอธิกมาศ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดเผยว่า ปี 2566 หลังจากรัฐบาลเปิดประเทศจะส่งผลให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ เริ่มฟื้นตัวขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยเติบโตค่อนข้างดี เพราะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนจากผู้ที่ต้องการซื้อแฟรนไชส์จำนวนมาก

หลังจากคนกลุ่มนี้ได้ชะลอการลงทุนไปตั้งแต่การระบาดโควิด-19 โดยแฟรนไชส์ที่จะมีการเติบโตมีทั้งแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ โดยแฟรนไชส์ขนาดเล็กและขนาดกลางจะมีการเติบโตได้ค่อนข้างง่าย เพราะใช้เงินลงทุนต่ำตั้งแต่หลักพันไปจนถึงหลักแสนบาท สามารถเปิดร้านได้เร็ว ทั้งเจ้าของธุรกิจที่อยากขายแฟรนไชส์ และคนที่อยากซื้อแฟรนไชส์

ส่วนแฟรนไชส์ขนาดใหญ่ได้มีการขยายตัวมาเรื่อยๆ เพราะมีเงินทุนในการปรับเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้ดึงดูดนักลงทุนได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะเชนแฟรนไชส์รายใหญ่ๆ ลงทุนหลักล้านบาท

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่มาแรงและได้รับความนิยมในปี 2566 ยังเป็นธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นแฟรนไชส์ที่มีสัดส่วนใหญ่ที่สุดในประเทศไทย อีกทั้งธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต

เพราะผู้คนมีการจับจ่ายใช้สอยเป็นประจำทุกวัน ที่สำคัญแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่มยังสามารถพลิกแพลงหรือปรับเปลี่ยนในรูปแบบต่างๆ ได้ง่าย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเมนูใหม่ ปรับเปลี่ยนเติมสูตรใหม่ หรือปรับรูปแบบโมเดลร้านใหม่ๆ โดยแบรนด์แฟรนไชส์ที่จะอยู่รอดและเติบโตได้จะต้องมีนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการบริหารจัดการธุรกิจ

แฟรนไชส์ฟื้นตัว อาหารของกินมาแรง

ดร.วิชัย เจริญธรรมานนท์ ผู้เชี่ยวชาญในวงการธุรกิจอาหารและแฟรนไชส์ เปิดเผยว่า ปี 2566 ธุรกิจแฟรนไชส์เริ่มจะฟื้นตัวหลังจากเปิดประเทศ ช่วงการบาดโควิดคนตกงานจำนวนมาก ทำให้ต้องมองหาธุรกิจแฟรนไชส์ในการลงทุนเริ่มต้นธุรกิจเพื่อหารายได้

เชื่อว่าธุรกิจแฟรนไชส์จะได้รับความนิยมจากนักลงทุนไปอีกหลายปี โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เด็กจบใหม่ รวมถึงคนที่อยากเกษียณอายุต้องการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยไม่อยากเสียเวลาในการสร้างธุรกิจขึ้นมาเอง

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะมาแรงและได้รับความนิยมมากที่สุดในปี 2566 คือ ธุรกิจร้านอาหาร ของกิน เบเกอรี่ และเครื่องดื่ม เพราะธุรกิจร้านอาหารตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ เหมือนกรณีประเทศสหรัฐอเมริกาหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่เราจะเห็นได้ว่าธุรกิจร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก

ส่วนประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมเมือง เห็นได้จากในตัวเมืองของแต่ละจังหวัดมีธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์เปิดให้บริการไปแล้ว โดยแฟรนไชส์ร้านอาหารเชนใหญ่ๆ จะได้รับความนิยมและขยายตัวได้ดีในปี 2566 แฟรนไชส์ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อก็จะมีการขยายตัวต่อเนื่องเช่นกัน รวมถึงแฟรนไชส์การศึกษาก็จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเช่นกัน

ปี 66 แฟรนไชส์เดินหน้าขยายสาขา ขาดแคลนแรงงาน

คุณกวิน กิตติบุญญา กรรมการผู้จัดการ บริษัท กวิน อินเตอร์เทรด จำกัด เปิดเผยว่า ปี 2566 ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวจากการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รัฐบาลเริ่มมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ห้างสรรพสินค้ากลับมาคึกคักเหมือนเดิม ขณะที่ผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้จ่ายมากขึ้น ส่วนภาคการท่องเที่ยวฟื้นกลับมาเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปีที่ผ่านมา

ในส่วนธุรกิจแฟรนไชส์ขนาดกลางและขนาดใหญ่เริ่มกลับมาวางแผนขยายสาขากันมากขึ้น โดยเฉพาะแฟรนไชส์เชนใหญ่ๆ ลงทุนตั้งแต่หลักแสนไปจนถึงหลักล้านบาทขึ้นไป ซึ่งแฟรนไชส์กลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะเป็นแบบ Business Format Franchise แฟรนไชส์ที่มีระบบเป็นมาตรฐาน ส่วนแฟรนไชส์ขนาดกลางลงมาใช้เงินลงทุนต่ำกว่า 5 หมื่นบาท ก็จะมีทั้งแบรนด์ที่สามารถขยายสาขาไปได้เรื่อยๆ และแบรนด์ที่ล้มเลิกกิจการไม่ประสบความสำเร็จ

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ได้รับความนิยมและมีการเติบโตในปี 2566 กลุ่มแรก คือ แฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีวันตาย ประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยเป็นประจำ กลุ่มสอง คือ ออโตเมชั่น ได้แก่ ร้านสะดวกซัก ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบาย, เวนดิ้ง แมชชีน, ตู้ซื้อสินค้าอัตโนมัติ และร้านล้างรถอัตโนมัติ

โดยเฉพาะแฟรนไชส์กลุ่มออโตเมชั่นจะเหมาะกับนักลงทุนที่มีเงิน แต่อยากมีรายได้เพิ่ม ส่วนแฟรนไชส์จากต่างประเทศจะเข้ามาขยายตลาดในประเทศไทยต่อเนื่องเช่นกัน อย่างไรก็ตามแม้ว่าธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยจะมีการเติบโตมากกว่าปีที่ผ่านมา แต่จะประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนแรงงาน

โดยเฉพาะแรงงานภาคการบริการ ท่องเที่ยว ร้านอาหาร ที่สำคัญจะมีปรากฏการณ์ควบรวมและซื้อกิจการในธุรกิจแฟรนไชส์มากขึ้นในปี 2566 โดยทำเลเปิดร้านแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมในปี 2566 จะเป็นปั้มน้ำมัน และตลาดที่เป็นแหล่งการทำธุรกิจครบวงจร

การบริโภคฟื้นตัว แฟรนไชส์ลงทุนต่ำกว่าล้านขายดี

ดร.รุ่งโรจน์ เจือสนิท อดีตผู้จัดการร้าน KFC คนแรกของประเทศไทย เปิดเผยว่า ปี 2566 แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยหลังจากเจอวิกฤตโควิด-19 มาเป็นเวลา 2 ปี คาดว่าภาพรวมธุรกิจแฟรนไชส์จะเติบโตขึ้น มีปัจจัยจากการระบาดโควิดเริ่มคลี่คลาย การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว รวมถึงการบริโภคของประชาชนเริ่มฟื้นตัว

ซึ่งจะส่งผลดีต่อแฟรนไชส์ในไทย สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมและเติบโตในปี 2566 แบ่งออกเป็นโมเดลลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท น่าจะขยายสาขาและเติบโตได้ต่อเนื่อง แต่โมเดลแฟรนไชส์ 2-5 ล้านบาท ถ้าเป็นเชนร้านอาหารใหญ่ๆ แบรนด์มีชื่อเสียงน่าจะเติบโตได้เรื่อยๆ เช่นกัน ส่วนแบรนด์ที่ลงทุนตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป คนจะลงทุนต้องเป็นแบรนด์ที่มีความมั่นคงและยั่งยืน

ปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ 1.แบรนด์คนรู้จัก มีชื่อเสียง มีสาขาเยอะ ลงทุนไปแล้วไม่มีความเสี่ยง 2.ระบบแฟรนไชส์ การบริหารคน การอบรม การสนับสนุน 3.การตลาดออนไลน์ ออฟไลน์ทำให้คนติดตามมากน้อยแค่ไหน 4.ซัพพลายเชน การสั่งวัตถุดิบ การขนส่ง 5.ระบบบัญชีที่มีมาตรฐาน รายรับ-รายจ่าย มีเทคโนโลยีมาช่วย เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในปี 2566 แบรนด์แฟรนไชส์ที่สร้างใหม่จะบริหารจัดการลำบากในเรื่องของต้นทุน ส่วนแบรนด์ใหญ่ๆ ในตลาดก็ต้องดูว่าจะมีการต่อยอดอย่างไร จะบริหารแบรนด์อย่างไรให้อยู่ในใจของลูกค้า

กลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์มาแรงและได้รับความสนใจลงทุน คือ กลุ่มร้านอาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก ร้านสะดวกซื้อ ร้านสะดวกซัก การบริการ ส่วนแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมน้อยก็จะเป็นแบรนด์ที่มีระบบการจัดการที่ไม่มีคุณภาพมาตรฐาน

แฟรนไชส์พร้อมขาย คนมีเงินพร้อมซื้อ

อ.สุชาติ กิติเฉลิมเกียรติ ที่ปรึกษาอาวุโส ธุรกิจ SME และแฟรนไชส์ เปิดเผยว่า ปี 2566 แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยค่อนข้างจะมีอนาคตสดใส โดยมีปัจจัยมาจากสภาวะเศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัวขึ้นมา แม้มีปัจจัยเสี่ยงโควิดจะยังไม่หายไป หรือสงครามรัสเซีย-ยูเครนยังไม่ยุติลง ที่สำคัญอัตราเงินเฟ้อของไทยไม่ได้สูงขึ้นเหมือนหลายๆ ประเทศในยุโรป

จากข้อมูลอัตราเงินไม่เฟ้อไม่น่าเกิน 6% ต่ำกว่ายุโรปอยู่มาก จากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลดีต่อธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย เจ้าของธุรกิจส่วนใหญ่อยากจะขายแฟรนไชส์ เพราะจะช่วยให้สามารถขยายกิจการได้รวดเร็ว ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็อยากมีธุรกิจเป็นตัวเอง

แต่ไม่อยากเสียเวลาในการสร้างธุรกิจ ไม่ต้องลองผิดลองถูก จึงมองหาธุรกิจแฟรนไชส์สำหรับการลงทุน โดยกลุ่มเป้าหมายในการซื้อแฟรนไชส์ ก็คือ กลุ่มเด็กจบใหม่ และกลุ่มคนที่ต้องการเกษียณอายุ ยิ่งหากแฟรนไชส์ซอร์มีความพร้อมก็น่าจะมีคนพร้อมซื้อแฟรนไชส์เช่นกัน

สำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ที่จะได้รับความนิยมในปี 2566 ยังคงเป็นกลุ่มแฟรนไชส์อาหาร เครื่องดื่ม เบเกอรี่ ถือเป็นกลุ่มแฟรนไชส์ที่สัดส่วนมากกว่า 50-60% นอกจากนี้ยังมีแฟรนไชส์บริการ การจัดส่งพัสดุ เดลิเวอรี่ และสะดวกซัก เป็นต้น

ทำเลที่เหมาะสำหรับการทำธุรกิจแฟรนไชส์ ต้องดูว่าทำเลนั้นๆ เหมาะกับธุรกิจแฟรนไชส์ของตัวเองหรือไม่ และธุรกิจมีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายในทำเลนั้นๆ หรือไม่ ที่สำคัญธุรกิจแฟรนไชส์จะต้องมีเอกลักษณ์และแตกต่างจากคู่แข่งในทำเลนั้นๆ

แฟรนไชส์ไทย-เทศ กลับมาบูมอีกรอบ

อ.อมร อำไพรุ่งเรือง ที่ปรึกษาธุรกิจแฟรนไชส์ เปิดเผยว่า ปี 2566 แนวโน้มธุรกิจแฟรนไชส์ในไทยจะเติบโตและบูมขึ้นอีกรอบ หลังจากปี 2565 แฟรนไชส์เริ่มตั้งไข่เตรียมพื้นตัวกลับมา โดยภาพรวมตลาดแฟรนไชส์น่ายังคงเติบโตเฉลี่ย 10-20% ทั้งแบรนด์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ และแบรนด์แฟรนไชส์ไทย จะมีโอกาสเติบโตและขยายกิจการอย่างแน่นอน

โดยธุรกิจแฟรนไชส์อาหารและเครื่องดื่ม ยังคงเติบโตและได้รับความนิยมมากกว่ากลุ่มอื่นๆ เพราะไทยถือเป็นครัวของโลก คนยังต้องกินต้องซื้อประจำ โดยประเภทอาหารที่น่ามีการนำมาทำแฟรนไชส์มากขึ้นในปี 2566 ก็คือ สตรีทฟู้ด ยำ ก๋วยเตี๋ยว อาหารที่ทานง่ายๆ สะดวกทาน สามารถทำแฟรนไชส์ได้ง่าย เปิดสาขาเดียวก็ทำแฟรนไชส์ได้แล้ว

ส่วนแฟรนไชส์เครื่องดื่ม ก็ยังคงเป็นกลุ่มชานมไข่มุกที่น่าจะกลับมาขยายตัวอีกเช่นเดิม ส่วนแฟรนไชส์ร้านสะดวกซักก็ยังมีตลาดรองรับและตอบโจทย์กลุ่มคนที่ชอบความสะดวกสบาย ไม่ค่อยมีเวลาซักผ้าให้ตัวเอง ขณะที่แฟรนไชส์ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุก็คาดว่าจะเริ่มได้รับความนิยมมากขึ้นในปี 2566 เพราะประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย

ไดเรคทอรี่แฟรนไชส์ไทย

  1. แฟรนไชส์อาหาร
  2. แฟรนไชส์เครื่องดื่มและไอศกรีม
  3. แฟรนไชส์เบเกอรี่
  4. แฟรนไชส์บริการ
  5. แฟรนไชส์การศึกษา
  6. แฟรนไชส์ความงาม
  7. แฟรนไชส์ค้าปลีก
  8. แฟรนไชส์งานพิมพ์
  9. แฟรนไชส์หนังสือ, วีดีโอ
  10. แฟรนไชส์อสังหาริมทรัพย์
  11. แฟรนไชส์โอกาสทางธุรกิจ

ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน

ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi

รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3jQfklp

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช