ปั้นแฟรนไชส์ไทยโกอินเตอร์ บุญประเสริฐ พู่พันธ์ นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (FLA)

ปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ได้รับความนิยมอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการธุรกิจที่อยากขยายธุรกิจหรือกิจการของตัวเอง รวมถึงบุคคลทั่วไปที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาสร้างธุรกิจขึ้นมาด้วยตัวเอง จึงไม่แปลกที่ตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทยจะเติบโตอย่างมาก มีมูลค่ากว่า 3 แสนล้านบาท

แม้ว่าประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้ เพื่อสร้างความเข้มแข็งและเติบโตให้กับธุรกิจแฟรนไชส์ไทย แต่ปัจจุบันได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ช่วยส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโตขยายไปต่างประเทศ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีโอกาสสัมภาษณ์นายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ “คุณบุญประเสริฐ พู่พันธ์” เกี่ยวกับสถานการณ์ธุรกิจแฟรนไชส์ในเมืองไทย รวมถึงแนวทางการพัฒนาแฟรนไชส์ไทย ให้สามารถเติบโตและขยายสาขาไปในต่างประเทศได้เพิ่มมากขึ้น เรื่องราวจะเป็นอย่างไร ติดตามได้เลย

สถานการณ์แฟรนไชส์ในไทย

บุญประเสริฐ

คุณบุญประเสริฐ ได้ประเมินสถานการณ์แฟรนไชส์ในประเทศไทย จากการจัดงาน TFBO 2018 ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีการหดตัวลง ขณะที่ธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศมีการเติบโตขึ้น เพราะว่านักลงทุนชาวไทยเปิดใจให้กับแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศ ที่สำคัญคนไทยนิยมซื้อมากกว่าการสร้าง เพราะมองว่าการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศทำได้ง่าย

ประกอบกับประเทศไทย ยังไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ จึงส่งผลให้ผู้ประกอบการที่อยากขยายธุรกิจ หันมาทำแฟรนไชส์กันได้ง่าย และนำเข้าแบรนด์แฟรนไชส์ต่างประเทศก็ง่าย ที่สำคัญประเทศไทยมีการเปิดกว้างเสรีในการทำธุรกิจ จึงทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ต่างประเทศเข้ามาได้ง่าย

โดยปัจจุบันตลาดธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทยมีมูลค่ากว่า 300,000 ล้านบาท แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น คือ ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยขยายสาขาออกไปต่างประเทศยังน้อย มีไม่กี่แบรนด์เท่านั้นที่สามารถออกไปเปิดสาขาในต่างประเทศได้

การสนับสนุนแฟรนไชส์ของภาครัฐ

62

ส่วนการให้ความช่วยเหลือและสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐ คุณบุญประเสริฐ บอกว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานรับผิดชอบอย่าง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ทำหน้าที่ในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้มีมาตรฐานและเติบโต ส่วนเรื่องของการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยออกไปตลาดต่างประเทศ ยังไม่หน่วยงานรัฐให้การสนับสนุนอย่างเป็นรูปธรรม

คุณบุญประเสริฐ ในฐานะนายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ ก็จะเข้าไปเชื่อมโยงกับกรมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ในการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ไทยออกไปตลาดต่างประเทศมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาภาพของแฟรนไชส์ไทยยังเป็นการส่งของ ส่งวัตถุดิบไปต่างประเทศ แต่ไม่ได้ส่งออกในเรื่องของแบรนด์แฟรนไชส์เหมือนสหรัฐอเมริกา

แฟรนไชส์ คือ อาวุธส่งออกของสหรัฐฯ

63

คุณบุญประเสริฐ ยังบอกด้วยว่า GDP ของธุรกิจแฟรนไชส์ในสหรัฐอเมริกา ใหญ่กว่า GDP ทั้งประเทศของอังกฤษ เพราะสหรัฐอเมริกาให้ความสำคัญกับธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นประเทศต้นกำเนิดระบบแฟรนไชส์ของโลก

อาจกล่าวได้เลยว่าธุรกิจแฟรนไชส์เป็นอาวุธสำคัญในการส่งออกของสหรัฐอเมริกา แฟรนไชส์ถือเป็นทรัพย์สินที่เพิ่มมูลค่าขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะสหรัฐอเมริกาทำแฟรนไชส์มายาวนานกว่า 60 ปี จึงทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์มีความแข็งแกร่ง และมีการพัฒนาอย่างจริงๆ จังๆ

โดยเฉพาะภาครัฐให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ขณะที่ภาคเอกชนก็มีความเข้มแข็งในการพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ให้เติบโต ที่สำคัญคนทั่วโลกให้การยอมรับในแบรนด์แฟรนไชส์ของสหรัฐอเมริกา

ธุรกิจไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง แต่ติดไม่ทำแฟรนไชส์

อันที่จริงธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศไทย มีชื่อเสียงโด่งดังติดอันดับโลกหลายๆ ชนิด เช่น มัสมั่น ต้มยำกุ้ง สปา มวยไทย โดยเฉพาะมวยไทยนั้น ถือเป็นธุรกิจที่ได้รับความนิยมจากต่างชาติ ถ้าหากธุรกิจมวยไทยมีการทำในรูปแบบแฟรนไชส์ ก็จะสามารถขยายออกไปต่างประเทศได้ง่ายกว่าการออกไปเปิดเปิดสาขาหรือทำธุรกิจด้วยตัวเอง

ระบบแฟรนไชส์ถือว่าสุดยอดอย่างมากของการดำเนินธุรกิจในยุคนี้ เพราะสามารถขยายสาขาได้อย่างรวดเร็ว ประหยัดงบประมาณในการลงทุน ที่สำคัญตอบโจทย์กลุ่มนักลงทุนรุ่นใหม่ ที่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง

FLA พี่สอนน้อง พัฒนาระบบแฟรนไชส์ไทย

64

ในฐานะนายกสมาคมฯ จึงได้มีโครงการ “FLA สอนน้องเพื่อพัฒนาระบบแฟรนไชส์” เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับแฟรนไชส์โดยกูรูที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องแฟรนไชส์ มีการโค้ชชิ่งอย่างใกล้ชิด มุ่งเน้นผู้ประกอบการแฟรนไชส์ปฏิบัติจริง รวมถึงให้คำปรึกษาด้านต่างๆ เพื่อพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้สามารถออกกไปเปิดตลาดในต่างประเทศได้

คุณบุญประเสริฐ ยังมองว่า มวยไทยถือเป็นธุรกิจที่สามารถออกไปเปิดตลาดในต่างประเทศได้ ถ้าทำในรูปแบบแฟรนไชส์ เพราะมวยไทยมีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นที่ชื่นชอบของชาวต่างชาติ ใครๆ ก็อยากจะนำเอาไปเปิดสาขาในประเทศของตัวเอง โดยการทำธุรกิจมวยไทยให้เป็นแฟรนไชส์ อาจจะเป็นการให้ความรู้และฝึกแบบมืออาชีพ

มีการจัดอบรมเป็นคลาสในเมืองไทย เหมือนกับว่าทำให้ชาวต่างชาติได้ซึมซับบรรยากาศของความเป็นไทย มีการมอบวุฒิบัตร มีการต่อยโชว์ ที่สำคัญต้องทำเป็น Story บอกเล่าเรื่องราวมวยไทยผสมผสานกับวัฒนธรรมของไทย ไม่ใช่ว่าจะเอาชาวต่างชาติมาฝึกชกมวยอย่างเดียว ต้องมีการจัดแข่งขัน มอบวุฒิบัตร มีการจัดอันดับให้กับเขาด้วย

ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า ธุรกิจมวยไทยที่ออกไปต่างประเทศ จะอยู่ในรูปแบบของการส่งโค้ชออกไป แต่ถ้าทำในรูปแบบแฟรนไชส์ ก็จะต้องส่งแบรนด์พร้อมกับโค้ช โดยต้องใช้นวมไทย น้ำมันนวดของไทยด้วย มีการทำสัญญาแฟรนไชส์ เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานมวยไทยในแต่ละสาขาในต่างประเทศ

“ผมจะพยายามพัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ไทยให้สามารถออกไปต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น เพราะปัจจุบันธุรกิจดีๆ ของไทยมีโอกาสอีกมากในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมไทย เช่น มวยไทย สปา ถือเป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียงโด่งดังติดอันดับโลก แต่ธุรกิจเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกการ Format รวมถึงการเล่าเรื่องให้น่าสนใจเท่านั้น”

ต่างชาติไม่สนแฟรนไชส์ไทย แต่แอบชอบสินค้าไทย

65

สำหรับแบรนด์แฟรนไชส์ไทยในสายตาต่างชาติ คุณบุญประเสริฐ บอกว่า นักลงทุนต่างชาติไม่ค่อยมองระบบแฟรนไชส์ของไทย แต่ชอบสินค้าของไทย เหมือนกับแบรนด์ “ชาไทย” ที่ดำเนินธุรกิจในประเทศฟิลิปปินส์

หรือข้าวแกงไทยที่มีในสิงคโปร์ ซึ่งจริงๆ แล้วในต่างประเทศเขาอยากได้ แต่ไทยไม่มีของส่งออกให้กับเขา จึงทำให้ผู้ประกอบการต่างชาติสร้างแบรนด์ขึ้นมาเอง โดยอ้างอิงชื่อของคนไทย เช่นเดียวกับซอสศรีราชาของเวียดนาม

ฟิลิปปินส์ระบบแฟรนไชส์แข็งแกร่งสุดๆ

สำหรับสมาคมแฟรนไชส์ในประเทศอาเซียน ที่มีความเข้มแข็งที่สุด คือ ประเทศฟิลิปปินส์ เพราะเอารูปแบบของสหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่าง มีการจัดงานแฟรนไชส์ระดับอาเซียนอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ที่สำคัญธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์ของฟิลิปปินส์เริ่มที่จะมาขายแฟรนไชส์ในเมืองไทยแล้ว

FLA กับการพัฒนาแฟรนไชส์ไทย

66

สำหรับแนวทางพัฒนาแฟรนไชส์ไทย คุณบุญประเสริฐ บอกว่า

  1. การโค้ชชิ่ง เป็นพี่เลี้ยงให้กับธุรกิจแฟรนไชส์รุ่นน้อง เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตขึ้น
  2. ศูนย์ความรู้ โดยดึงเอากูรู้ด้านแฟรนไชส์ชั้นนำของประเทศ มาเป็นที่ปรึกษาในทุกด้านที่เกี่ยวกับแฟรนไชส์
  3. การจัดแม็ทชิ่งกับธุรกิจด้านซัพพลายเออร์ แลนด์ลอร์ด รวมถึงสถาบันการเงิน ให้มาร่วมสนับสนุนและพัฒนาธุกิจแฟรนไชส์ไปพร้อมๆ กับสมาคมฯ เพื่อทำให้แฟรนไชส์ไทนมีความเข้มแข็งขึ้น
  4. การจัด Franchise Day เป็นการมองรางวัลดีเด่นให้กับแฟรนไชส์ซอร์ แฟรนไชส์ซี รวมถึงบุคลากรด้นอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในระบบแฟรนไชส์
  5. การจัดทำ Standard Franchise โดยสมาคมฯ มองว่าจุดอ่อนของแฟรนไชส์ไทย คือ การไม่มีกฎหมายแฟรนไชส์ที่เกี่ยวข้อง กับแฟรนไชส์โดยตรงมาบังคับใช้ จึงทำให้ผู้บริโภคถูกหลอกลวง มีกลุ่มมิจฉาชีพเอาคำแฟรนไชส์ไปใช้ในการหากินมากขึ้น เมื่อผู้บริโภคถูกหลอกมากขึ้น ก็อาจเลิกลงทุนในระบบแฟรนไชส์ไทย แต่หันไปลงทุนแบรนด์แฟรนไชส์ต่างชาติที่มีมาตรฐาน คนทั่วโลกให้การยอมรับ

ดึงคนไทยหันมาซื้อแฟรนไชส์ไทย

67

สำหรับวิธีการทำให้นักลงทุนชาวไทยหันมาสนใจซื้อแบรนด์แฟรนไชส์ของไทย คุณบุญประเสริฐ บอกว่า อย่างแรกผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยต้องปรับปรุงตัวเองก่อน โดยธุรกิจต้องสามารถทำกำไรได้จริง ขยายสาขาได้จริง และสามารถเก็บค่า Royalty Fee ได้จริง ที่สำคัญต้องทำแฟรนไชส์ของตัวเองมีมาตรฐาน

อย่ามองความสำเร็จของธุรกิจแฟรนไชส์ที่จำนวนสาขา ให้มองความสำเร็จของลูกค้าแฟรนไชส์เป็นที่ตั้ง เพราะจำนวนสาขาที่มาก ถือว่าไม่ใช่ความสำเร็จของระบบแฟรนไชส์ แต่ความสำเร็จจริงๆ ของแฟรนไชส์ คือ แบรนด์แฟรนไชส์นั้นๆ สามารถขยายสาขาได้ 2-3 สาขา โดยแต่ละสาขาแฟรนไชส์มีการเติบโตไปด้วยกัน

พอผู้ประกอบการแฟรนไชส์ทำการปรับปรุงตัวเองแล้ว หลังจากนั้นต้องให้ความรู้แก่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ในการลงทุน เพราะคนรุ่นใหม่มีความฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากเป็นลูกจ้าง ประกอบกับยุคสมัยนี้เหมาะกับการขยายสาขาแฟรนไชส์อย่างมาก กล่าวคือ ความต้องการของคนรุ่นใหม่อยากมีธุรกิจเป็นของตัวเอง พ่อแม่ก็ให้การสนับสนุนด้วย

แต่ปัญหาของคนรุ่นใหม่ ก็คือ ยังไม่มีความรู้เรื่องของแฟรนไชส์ดีพอ ส่วนใหญ่ยังมองว่าการลงทุนแฟรนไชส์เป็นเหมือนกับการซื้อสินค้าทั่วไป มีการต่อรองราคา เมื่อราคาถูกถึงจะซื้อ ดังนั้น แฟรนไชส์ซอร์ต้องให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องของการลงทุนแฟรนไชส์แก่เด็กรุ่นใหม่หรือผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ โดยให้มองว่าการลงทุนแฟรนไชส์ไม่ใช่การซื้อของ จะถูกหรือแพงไม่ได้อยู่ที่ราคา แต่อยู่ที่ผลตอบแทนที่จะได้รับกลับคืนมา

สุดท้ายคุณบุญประเสริฐ ได้ฝากถึงภาครัฐและสถาบันการเงินด้วยว่า ปัจจุบันแฟรนไชส์เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้มหาศาล ไม่อยากให้มองแฟรนไชส์ว่าเป็นร้านก๋วยเตี๋ยว ที่สำคัญรัฐบาลต้องเร่งออกกฎหมายแฟรนไชส์ให้เร็วที่สุด เพราะจะทำให้ระบบแฟรนไชส์ของไทยมีความเข้มแข็งมากขึ้น ผู้บริโภคได้ประโยชน์จากการที่แฟรนไชส์มีคุณภาพมาตรฐาน

ที่สำคัญคำว่า “แฟรนไชส์” จะมีความศักดิ์สิทธิ์มากขึ้น ถ้าประเทศไทยมีกฎหมายแฟรนไชส์บังคับใช้

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com
อ่านจดหมายข่าวอื่นๆ goo.gl/wZCieN

หน่วยงานสนับสนุน : สมาคมแฟรนไชส์ และไลเซนส์ 

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3aW2GuR

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช