ธุรกิจเล็กก็เป็นใหญ่ได้! กาแฟแบรนด์ G7 ผู้ล้มยักษ์ในเวียดนาม

ปัจจัยสู่ความสำเร็จประการหนึ่งคือผู้ลงทุนต้องรู้จักการคิดบวก หมายถึงต้องมองว่าเรามีโอกาสที่จะทำได้ มีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จ คนอื่นทำได้เราก็ต้องทำได้ นั้นคือแรงผลักดันเบื้องต้นที่สร้างเสริมกำลังใจในการทำงานและก็เป็นปรัชญาของนักธุรกิจระดับโลกหลายคนที่ใช้ได้ผลมาเป็นอย่างดี

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ก็มีตัวอย่างของการทำธุรกิจที่เขาไม่สนว่าแบรนด์ตัวเองจะเล็กกว่าคู่แข่ง ไม่สนใจว่าจะเริ่มต้นทีหลัง รวมถึงไม่กังวลใจว่าจะทำตลาดสู้แบรนด์ใหญ่ไม่ได้ และด้วยความคิดนี้ที่ว่านี้ก็ทำให้ Dang Le Nguyen Vu กลายมาเป็นผู้ก่อตั้งบริษัท Trung Nguyen

ผลิตสินค้าสำคัญคือกาแฟแบรนด์ G7 แข่งกับยักษ์ใหญ่ในตลาดเวียดนามที่มีทั้ง แบรนด์ระดับโลกและแบรนด์ท้องถิ่นหลายราย แต่สุดท้าย G7 ก็ประสบความสำเร็จในเรื่องการส่วนแบ่งการตลาดและกลายมาเป็นแบรนด์กาแฟอันดับหนึ่งที่คนเวียดนามให้ความนิยมเป็นอย่างมาก

G7 แบรนด์กาแฟอันดับหนึ่งในประเทศเวียดนาม

กาแฟแบรนด์ G7

ภาพจาก goo.gl/pamdSQ

กาแฟที่ผลิตโดยบริษัท Trung Nguyen ภายใต้แบรนด์ G7 ถือเป็นของฝากท็อปฮิต ใครไปเวียดนามมักซื้อติดไม้ติดมือกลับมา นำมาซึ่งความภาคภูมิใจให้ให้ประเทศผู้ผลิตเนื่องจากเป็นแบรนด์เวียดนามแบรนด์แรกที่โกอินเตอร์และส่งไปจำหน่ายทั่วโลก แม้อายุของบริษัทจะเริ่มต้นได้เพียง 14 ปี

แต่ Trung Nguyen ก็สามารถต่อกรกับบริษัทยุโรปเก่าแก่นับร้อยปีอย่างเนสเล่และแบรนด์กาแฟท้องถิ่นที่เกิดขึ้นมาก่อนอย่างวีนากาแฟ โดยประวัติของ Dang Le Nguyen Vu ผู้ก่อตั้งบริษัทนั้นแม้จะจบการศึกษาจากโรงเรียนแพทย์ในเวียดนามแต่ก็สนใจในการทำธุรกิจมากกว่าจะเป็นหมอ และในยุคเริ่มต้นนั้นสัดส่วนการครองตลาดของเนสกาแฟและวีนากาแฟคือ60% และ 38.45% ตามลำดับ ที่เหลือก็เป็นแบรนด์เล็กแบรนด์น้อย

fg6

ภาพจาก goo.gl/pNdm66

แต่ระยะเวลาแค่ปีเดียวหลังวูแนะนำ G7 เข้าสู่ตลาด เขาสามารถชิงส่วนแบ่งมาได้ 21.8% ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงสำหรับแบรนด์น้องใหม่ ส่งผลให้ส่วนแบ่งของเนสกาแฟลดลงเหลือ 44% และวีนากาแฟเหลือ 28.95% นับจากนั้น ส่วนแบ่งของกาแฟ G7 ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กระทั่งปี 2011 หรือใช้เวลาเพียง 8 ปี G7 ก็ขึ้นแท่นผู้นำในตลาดด้วยส่วนแบ่ง 38% ขณะที่วีนากาแฟมีส่วนแบ่ง 31% และเนสกาแฟร่วงไปอยู่อันดับ 3 ที่ 27%

จากนั้นจนถึงปัจจุบัน G7 กลายเป็นกาแฟขายดีอันดับหนึ่งในเวียดนาม มีส่วนตลาดแบ่งเฉลี่ยที่ 40% และวางจำหน่ายตามร้านและซุปเปอร์กว่า 1,000 สาขาทั่วประเทศ ทั้งยังส่งไปขายในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก รวมถึงในซุปเปอร์มาร์เก็ตดังอย่าง Costco, Emart และ Walmart เป็นกาแฟที่ได้รับความนิยมอย่างมากในตลาดจีนและประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และต่อไปนี้คือแนวทางการทำธุรกิจสไตล์ Dang Le Nguyen Vu ทั้ง 5 ประการที่ต้องตั้งใจและทำจริงจึงประสบความสำเร็จได้

fg4

ภาพจาก goo.gl/PuZPqP

1.ถ้าเชื่อมั่นว่าเป็นธุรกิจที่ดีแม้จะดูบ้าบิ่นก็ให้ลงมือทำ

ในทศวรรษ 1990 หลังการเปิดประเทศได้ไม่นาน และเวียดนามเริ่มหันมาทดลองปลูกกาแฟเพื่อส่งออก ปี 1996 Vu ตัดสินใจเปิดร้านกาแฟเล็ก ๆ ชื่อ Trung Nguyen

ถือเป็นการตัดสินใจที่บ้าบิ่นเนื่องจากคนเวียดนามนั้นมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกับจีนคือดื่มชาเป็นหลัก แต่ Vu ก็เดินหน้าต่อไปกับร้านกาแฟของเขาและไม่ลืมที่จะสร้างความแตกต่างทางธุรกิจด้วยบริการ delivery ด้วยจักรยานคันเดียวที่มีอยู่

2.ทำธุรกิจต้องมองหาช่องทางเติบโตไปพร้อมกันด้วย

ระหว่างที่ขลุกอยู่กับร้านกาแฟเป็นเวลาหลายปี ตลาดส่งออกกาแฟของเวียดนามก็เติบโตส่อแววสดใส ซึ่ง Vu สังเกตว่าเวียดนามส่งเมล็ดกาแฟไปขายบริษัทต่างชาติในราคาถูก ๆ แล้วบริษัทเหล่านั้นนำไปผลิตที่อื่นแล้วส่งกลับมาขายในราคาแพง

เขาจึงตั้งคำถามว่าทำไมเวียดนามไม่เพิ่มมูลค่าด้วยการผลิตกาแฟเอง ทำไมต้องขายเมล็ดกาแฟราคาถูกๆ ปี 2003 Vu จึงตั้งบริษัท Trung Nguyen ขึ้นมาเพื่อผลิตกาแฟสำเร็จรูป

fg11

ภาพจาก goo.gl/928zoS

3.ต้องมีจิตวิญญาณของผู้ประกอบการเต็มเปี่ยม

ผู้ประกอบการที่ดีต้องกล้าที่จะท้าทายและเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ อย่างการผลักดันวัฒนธรรมการดื่มกาแฟให้เป็นที่นิยมในประเทศที่ผู้คนคุ้นชินกับการดื่มชามากกว่า นอกจากนั้น ผู้ประกอบการที่ดีไม่มุ่งหวังแต่ผลกำไรอย่างเดียว แต่ควรคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศชาติจะได้รับด้วย

4.ค้นหาจุดเด่นตัวเองและนำเสนอให้คนรับรู้

โดยการสร้างความแตกต่าง สินค้าที่ดีต้องเริ่มจากวัตถุดิบคุณภาพดี นอกจากคุณภาพที่ดีแล้ว ต้องพัฒนาให้แตกต่างจากคู่แข่ง โดยผู้บริโภคต้องบอกความต่างหรือจุดเด่นได้อย่างน้อย 1-2 อย่าง บริษัทอื่นอาจใช้กลยุทธ์ one size fits all คือกาแฟชนิดเดียวแต่วางขายทุกตลาดทั่วโลก แต่ G7 จะพัฒนาสูตรและปรับรสชาติให้ตรงกับรสนิยมผู้บริโภคในท้องถิ่นซึ่งดูจะได้ผลและถูกใจผู้บริโภคมากกว่า

fg1

ภาพจาก goo.gl/9lp1sH

5.ต้องเชื่อมั่นในสัญชาตญาณ

และเมื่อมีความเชื่อมั่นอย่างเต็มเปี่ยมแล้วก็ต้องเดินหน้าต่อไปให้สุดทาง และวันใดที่ประสบความสำเร็จขึ้นมาจอย่าลืมกลยุทธ์การตลาด คือทำอย่างไรก็ได้ที่สื่อให้เห็นว่า local brand ประสบความสำเร็จเพราะเกิดจากแรงสนับสนุนของผู้บริโภค จะทำให้ผู้บริโภครู้สึกภูมิใจและภักดีต่อแบรนด์ต่อไป

จะเห็นได้ว่าคีเวิร์ดสำคัญของการทำธุรกิจในลักษณะของการมาทีหลังใช่ว่าจะเสียเปรียบคู่แข่งทุกครั้งไป การเดินตามหลังก็ทำให้เรามองเห็นในจุดบกพร่องที่คนเดินหน้ามักมองข้ามและพยายามจับจุดนั้นมาเป็นจุดขาย

นั้นคือการพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องการของคนส่วนมากและรักษาคุณภาพสินค้านั้นให้ดีและต่อยอดให้ดียิ่งขึ้น การเป็นแบรนด์เล็กก็ใช่ว่าเราจะเล็กเสมอไป ทุกอย่างอยู่ที่แนวทางความคิดการบริหารจัดการไม่ว่าแบรนด์เล็กแค่ไหนก็มีสิทธิ์ยิ่งใหญ่ได้ทั้งนั้น
ขอบคุณข้อมูลจาก goo.gl/aqQ6bU

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด