กรอบความคิดเรื่อง การออม เพื่อการลงทุนที่ยั่งยืน นำไปสู่การเป็น นักลงทุน เต็มตัว

จะเห็นได้ว่า “ การออม เร็วมีโอกาสรวยเร็ว” ที่เราได้ยินกันมาบ่อย ๆ เป็นเรื่องจริง คนทำงานพนักงานบริษัท หรืออาชีพอิสระต่างรู้ดีว่าเมื่อไหร่ที่หยุดงานหรือเลิกทำงาน รายได้ก็จะหายไป

ซึ่งใครที่เคยฟังตารางสี่ช่องของนักขายตรงหลาย ๆ ท่านมักจะบอกตรงกันว่า พนักงานหรือ Employee นั้นมีความเสี่ยงเรื่องการเงินสูง สำหรับผู้ที่ทำอาชีพอิสระค้าขายต่าง ๆ จัดอยู่ในกลุ่ม Self Employed คือ จ้างตัวเองทำงาน หยุดงานก็ไม่ได้เงิน ดีขึ้นมาหน่อยก็เป็นเจ้าของกิจการหรือ Owner ใช้เวลาทำเงินจากการบริหารงาน ปฏิบัติการให้ผู้อื่นทำ มีกลุ่มหนึ่งซึ่งน่าสนใจและเป็นความต้องการของคนหลาย ๆ คน เพียงแต่มีคนไม่กี่คนจากร้อยคนที่ประสบความสำเร็จ นั่นคือกลุ่มของนักลงทุน หรือ Investor

การออม

นักลงทุน (Investor)

ชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นคนลงทุนแต่ไม่ได้เป็นคนทำงาน ดังนั้นสิ่งแรกที่ นักลงทุน ต้องมีคือเงินลงทุน ฟังถึงขณะนี้อาจคิดกันใหญ่โตว่าเงินลงทุนนั้นมีขนาดใหญ่แค่ไหน หลักล้านหรือเปล่า ถ้ามีเงินล้านขอซื้อบ้านก่อน จริง ๆ แล้วเงินทุนมีแค่ไหนก็สามารถเรียกว่าเป็นเงินทุนได้ คุณสามารถเปิดพอร์ตหุ้นไทยได้ด้วยเงินสามพันบาท หรือถ้าจะอินเตอร์เปิดพอร์ทซื้อขายแนสแด็คก็ยังได้

ดังนั้นประเด็นเงินทุนน้อยไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล แต่สิ่งที่ต้องกังวลและใส่ใจคือต้องรู้ว่าจะลงทุนอะไรเพื่อให้ได้ผลงอกเงยขึ้นมาได้
แต่ทว่าการมีเงินลงทุนน้อยอาจหวังผลในแง่ผลกำไรหรือที่เป็นน้ำเป็นเนื้อได้ค่อนข้างลำบาก ถ้าเงินทุนสามพันและสามารถทำให้งอกเงยได้ปีละ 30% สิ้นปีก็จะมีเงินในกระเป๋าราว 3,900 บาท รีเทิร์น 30% นั้นถือว่าสูงมากไม่ได้ทำกันได้ง่าย ๆ แต่ 900 บาทที่งอกเงยขึ้นมานั้นคงจะทำอะไรไม่ได้มาก แต่ถ้ามีเงินทุน 100,000 บาท มีรีเทิร์นจากการลงทุน 15% เป็นเงิน 15,000 บาท ซึ่งมากพอที่เราจะจัดสรรเงินส่วนกำไรนี้ไปทำในสิ่งที่ต้องการได้ แต่จะว่าไปแล้วก็ไม่มากพอ แต่ถ้ามีเงิน 5,000,000 บาท หากมีรีเทิร์น 7% หมายความว่าเราจะได้เงินส่วนกำไรปีละ 350,000 บาท (5,000,000 x 7%) หากเราทบดอกเบี้ยไปเป็นเงินลงทุนอีก ปีถัดไปเราจะมีเงินรวม 5,724,500 บาท ถ้าลงทุนต่อไปเรื่อย ๆ

โดยการนำผลกำไรทบเพิ่มการลงทุน เพียงสิบปีนิด ๆ เงินรวมทั้งก้อนของคุณจะทวีคูณเป็น 10,000,000 บาท ซึ่งมากพอนำไปใช้จ่ายในวัยเกษียณได้อย่างปลอดภัยในระดับหนึ่ง แสดงว่าเงินลงทุนยิ่งมากยิ่งดีจริงหรือไม่ คำตอบคือจริงบางส่วน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย แต่จากตัวอย่างด้านบน มีตัวเลขประกอบอยู่แค่ 2 ส่วน คือเงินลงทุนกับอัตราผลตอบแทน อีกหนึ่งข้อที่สำคัญคือวินัยในการลงทุน หากมี 3 อย่างนี้ได้พร้อมกัน เงินก็จะสามารถเติบโตและอยู่กับเราได้ตลอดไป

z10

เงินลงทุน (Investment)

ต้องเรียกว่า Investment จึงจะถูกต้อง ไม่เรียกว่า Capital เพราะ Capital มักถูกกล่าวถึงเงินทุนเพื่อประกอบธุรกิจ แต่ Investment เป็นคำใหญ่กว่า ซึ่งหมายรวมถึงเงินลงทุนลักษณะเงินต่อเงินด้วย Investment นี้ คือเงินตั้งต้นเพื่อการลงทุน แหล่งที่มาของเงินทุนอาจเป็นเงินออมสะสมเป็นหลักใหญ่ เป็นเงินทุนที่ปราศจากภาระ เพราะหากเป็นเงินทุนที่เกิดจากการกู้ย่อมต้องมีภาระดอกเบี้ย ถ้านำไปลงทุนใด ๆ แล้วอัตราผลกำไรไม่มากพอจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ถือเป็นการคิดลงทุนที่ผิดพลาดตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม ดังนั้นการออมเพื่อการลงทุนย่อมปลอดภัยที่สุด

อัตราผลตอบแทน (Return)

มักเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อให้เห็นความแตกต่างของการลงทุนหลาย ๆ ประเภทและเพื่อเทียบกับดอกเบี้ยธนาคารและอัตราเงินเฟ้อด้วย เนื่องด้วยเพราะการลงทุนมีหลากหลายรูปแบบให้เลือกลงทุน อาจลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงิน เช่น กองทุนเปิด กองทุน RMF LTF ประกันชีวิตแบบต่าง ๆ หรือลงทุนใน Precious Material เช่น ทองคำ เงิน แพลทตินั่ม บางคนถนัดเรื่องอสังหาริมทรัพย์ อาจลงทุนที่ดินเก็งกำไร ซื้อคอนโดปล่อยเช่าหรือขาย แต่ก็มีหลายคนอีกเช่นกันที่ลงทุนในหุ้น ทั้งตลาดหุ้นไทยและต่างประเทศ ใครไม่มีความรู้หรือไม่กล้าเสี่ยง อาจเลือกลงทุนโดยการซื้อพันธบัตรรัฐบาลหรือแม้แต่ฝากเงินกับธนาคาร

ทั้งนี้ทุกรูปแบบการลงทุนที่กล่าวมานั้น ล้วนต้องอาศัยความรู้ความชำนาญและการศึกษามาเป็นอย่างดี เช่น ถ้าหากคุณไม่รู้เรื่องหุ้นเลย แต่บังเอิญเพื่อนเล่น เลยเล่นตามเพื่อน ใครบอกซื้ออะไรก็ซื้อ ตอนหุ้นขึ้นไม่กล้าขายกลัวขาดทุนกำไร ตอนหุ้นลงยิ่งไม่กล้าขายเพราะไม่อยากขาดทุน หุ้นลงอีกติดดอยไปไหนไม่ได้ เงินทุนจม แถมหดหายไปตามกาลเวลา คนเล่นหุ้นนอกจากต้องมีความรู้และศึกษาหุ้นเป็นอย่างดีแล้ว ต้องมีความกล้าได้กล้าเสีย หากคุณเป็นคนไม่มีความรู้ (และไม่คิดจะศึกษาเพิ่มเติม) และคุณเป็นคนกล้าได้ แต่ไม่กล้าเสีย คุณควรออกไปจากสังเวียนหุ้น แล้วไปลงทุนประเภทอื่นแทน ทั้งนี้การลงทุนทุกรูปแบบ ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ในการลงทุนด้วย

z9

 วินัยทางการเงิน (Discipline)

การจะมีวินัยทางการเงินได้นั้นจะต้องมีแผนทางการเงินเสียก่อน นั่นคือมีการวางแผนสมการของเงินสี่ก้อนชัดเจน ทั้งรายจ่าย รายรับ การออม และการลงทุน ถึงแม้สัดส่วนก้อนเงินทั้ง 4 ก้อนจะมีความเปลี่ยนแปลงแปรผันตามช่วงเวลาของชีวิต แต่การกำหนดแผนและมีวินัยทางการเงินที่ดี ย่อมทำให้ความมั่นคงทางการเงินมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า

จะเห็นได้ว่า “การเริ่มออมเร็วมีโอกาสรวยเร็ว” ที่เราได้ยินกันมาบ่อย ๆ เป็นเรื่องจริง แต่การจะรวยได้อย่างถาวรนั้น ย่อมต้องมีปัจจัยเรื่อง “การเลือกการลงทุน” เพื่อผลตอบแทนเป็นไปตามอัตราที่น่าพอใจ ครอบคลุมเงินเฟ้อและหลักประกันยามฉุกเฉิน ซึ่งประเภทการลงทุนย่อมต้องอาศัยความรู้ความสามารถ การลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยง เสี่ยงมากก็ได้มาก เสี่ยงน้อยก็ได้น้อย ถ้ากล้าและมั่นใจพอก็ไปลงทุนกับโป๊กเกอร์ 1 เกม อาจทำให้รวยหลายเท่าตัวหรือเงินลงทุนอาจจะหายหมดภายในระยะเวลาไม่ถึง 5 นาที

แต่คงไม่มีใครกล้าเสี่ยงขนาดนี้แน่ เพราะการพนันไม่มีตัวแปรไหนที่เราจะควบคุมเองได้เลย เปรียบเหมือนการลงทุนที่ขาดทักษะความชำนาญ เมื่อเลือกการลงทุนที่ถูกต้องตรงจริตกับตัวเราแล้ว การเดินหน้าต่อด้วยวินัยและแผนการที่ชัดเจน คือ หนทางไปสู่ความสำเร็จที่ไม่ยากเย็นนัก เพียงปล่อยให้เงินทำงานร่วมกับเวลา ออกดอกออกผลให้เราเก็บกินโดยไม่ต้องทำงานใด ๆ แค่นี้ก็อาจจะเพียงพอแล้ว

 

อ้างอิงข้อมูลจาก : https://moneyhub.in.th/

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต