Re-Franchise คืออะไร ทำไมต้องทำ?

หลายคนอาจจะไม่รู้ว่า Re-Franchise คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ต่อการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในยุคปัจจุบัน วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขออธิบายถึงความหมายของการรีแฟรนไชส์ มีประโยชน์อย่างไร ทำไมต้องทำ ซึ่งจริงๆ แล้ว การรีแฟรนไชส์ ก็มีลักษณะคล้ายๆ กันกับการ “รีแบรนด์ธุรกิจ รีแบรนด์สินค้า” ปรับเปลี่ยนให้มันดีขึ้น 

ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการรีแบรนด์ เพราะประสบปัญหาในด้านต่างๆ และต้องการกลับมายืนหยัดใหม่ได้อีกครั้ง แต่ก็มีแบรนด์อีกไม่น้อยเหมือนกัน ที่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น หรือเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

กรณีล่าสุด ร้านไก่ทอด “เคเอฟซี” แฟรนไชส์ร้านไก่ทอดจากอเมริกา ก็หันมาปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ สู่ระบบแฟรนไชส์ ขายสิทธิให้คนอื่นบริหารจัดการร้าน ขยายสาขาร้านเอง ก็ถือเป็นกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจแบบ “รีแฟรนไชส์” เพื่อต้องการลดต้นทุนในการขยายธุรกิจด้วยตัวเอง โดยที่บริษัทยัมฯ เป็นผู้ดูแลภาพลักษณ์และบริหารจัดการแบรนด์เคเอฟซี

โดยคนที่ซื้อไปได้ธุรกิจที่ดำเนินงานได้ทันที และจ่ายค่า Royalty fee หรือค่าสิทธิให้กับเจ้าของแบรนด์เป็นการขายแค่ “ร้านสาขา” แต่ไม่ได้ขายธุรกิจ พอรีแฟรนไชส์แล้ว KFC สามารถเอาเงินและเวลาไปพัฒนาสูตรอาหาร, ระบบการบริการ ศึกษาผู้บริโภคให้ดีมากขึ้นซึ่งจะส่งผลให้มีสินค้าดีๆ ออกมาสู่ตลาดมากขึ้น โดยมีพันธมิตรที่มีความชำนาญดูแลร้านสาขาแทน

Re-Franchise

ภาพจาก goo.gl/ffCcKM

ปัจจุบัน KFC ในไทยมีทั้งหมด 586 สาขา แบ่งเป็นของยัมฯ 244 สาขา สัดส่วน 42% ซีอาร์จี 219 สาขา สัดส่วน 37% และอาร์ดี 123 สาขา สัดส่วน 21% (จะเป็น 130 สาขาตามสัญญาเดิมในอีก 4 เดือนนี้) ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อปลายปีที่แล้ว ยัมฯ เพิ่งบรรลุข้อตกลงในการขายกิจการสาขาเดิมกว่า 130 สาขาให้กับแฟรนไชส์รายใหม่ คือ บริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลลอปเม้นต์ จำกัด หรือ อาร์ดี ตามนโยบายของบริษัทแม่ที่จะใช้กลยุทธ์ให้แฟรนไชส์เป็นผู้ดำเนินการแทน

ขณะที่ KFC มีสาขาอยู่ทั่วโลกประมาณ 18,875 สาขา ใน 118 ประเทศ โดย ยัม เรสเทอรองตส์ มีนโยบายเกี่ยวกับการเปิดสาขา KFC ในประเทศต่างๆ ที่แตกต่างกันออกไป บางประเทศก็เน้นเป็นเจ้าของร้านด้วยตัวเอง

แต่ส่วนใหญ่จะปล่อยแฟรนไชส์ให้ท้องถิ่นดูแล อาทิ ในฮ่องกงมี Birdland Ltd เป็นผู้ดูแล, ที่ญี่ปุ่นเป็น KFC Holdings Japan, Ltd ส่วนเกาหลีใต้อยู่ภายใต้เครือ Doosan Group องค์กรทางธุรกิจระดับ “แชโบล” ของทางเกาหลีใต้

kk3

ภาพจาก goo.gl/mteoSX

โดยช่วงหลัง ยัมฯ ได้ปรับกลยุทธ์ โดยทยอยขายกิจการให้แฟรนไชส์ท้องถิ่นเป็นคนดูแล อย่างล่าสุด ในเดือนกันยายน 2559 ประกาศขายกิจการสาขาในประเทศจีน ซึ่งยัมเคยถือครองอยู่ถึง 90% ให้แก่บริษัทไพรมาเวลา แคปปิทัล และบริษัทแอนท์จินหรง ซึ่งเป็นบริษัทประกอบธุรกิจการเงินการลงทุนภายใต้อาณาจักรอาลีบาบาของ “แจ็ค หม่า” ด้วยมูลค่า 460 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมูลค่าราว 15,000 ล้านบาท

ทำให้บริษัททั้งสองกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทยัม แบรนด์สประเทศจีน ด้วยหุ้นจำนวน 4 เปอร์เซ็นต์และ 6 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ โดยต้องจ่ายรายได้จำนวน 3 เปอร์เซ็นต์ให้แก่ยัม แบรนด์สเป็นค่าลิขสิทธิ์ในทุกๆ ปี

kk4

ภาพจาก goo.gl/ytJyMb

ทั้งนี้ การรีแฟรนไชส์ในธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ มักนิยมใช้กับแบรนด์ใหญ่ๆ ระดับโลก ที่ให้สิทธิแก่แฟรนไชส์ท้องถิ่นบริการจัดการสาขาแทน ตลอดจนการออกแบบตกแต่งร้าน สร้างภาพลักษณ์ และส่งต่อความรู้สึกที่ดีๆ ไปยังผู้บริโภค

นอกจากนี้ การรีแฟรนไชส์ยังทำให้มีการพัฒนาเมนูอาหารใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง สามารถขยายสาขาได้เป็นจำนวนมาก และรวดเร็ว เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อีกทั้งยังลดค่าใช้จ่ายในการลงทุนขยายสาขาด้วยตัวเอง แถมมีรายได้จากการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขาย ที่สำคัญแฟรนไชส์ซีท้องถิ่นสามารถให้บริการที่ดีกว่าเดิมด้วย

ได้เห็นแล้วว่า การรีแฟรนไชส์คืออะไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง ซึ่งเหมือนกับการรีแบรนด์ดิ้งสินค้า รีแบรนด์ดิ้งธุรกิจต่างๆ เพียงแค่เปลี่ยนมาเป็นระบบแฟรนไชส์ โดยผู้บริหารแบรนด์แฟรนไชส์แต่ละประเทศ แทนที่จะขยายสาขาด้วยตัวเอง ก็ขายสิทธิให้ผู้เชี่ยวชาญหรือบริษัทในระดับท้องถิ่นเป็นผู้ดูแลบริหารจัดแทน ทำให้ลดขั้นตอน และขยายสาขาได้รวดเร็วขึ้น

อ่านบทความแฟรนไชส์อื่นๆ goo.gl/QTr1jD
สนใจซื้อแฟรนไชส์ goo.gl/my5iVs

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3qD1Atb

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช