8 ข้อควรปฏิบัติ มนุษย์เงินเดือนก็รวยได้

ไม่ว่าเราจะเป็นใครทำงานหรือว่ามีธุรกิจส่วนตัว สิ่งที่ต้องการไม่ต่างกันคือ อำนาจในการ จับจ่ายใช้สอย ที่ทำให้ชีวิตไม่เดือดร้อนหรือถ้ามีมากหน่อยก็เรียกว่าเป็นเศรษฐีแต่หลายคนพูดเหมือนกันว่าถ้ายังเป็นแค่พนักงานหรือว่ามนุษย์เงินเดือนโอกาสที่จะร่ำรวยนั้นแทบเป็นไปไม่ได้

งานนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงมีวิธีการเปลี่ยนมนุษย์เงินเดือนให้มีโอกาสเข้าใกล้คำว่าเศรษฐีได้ง่ายขึ้นแต่ทุกอย่างต้องอยู่ที่ความพยายามของตัวเองเป็นสำคัญการมีวินัยเป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก และแม้หลายคนที่ทำตามอย่างเคร่งครัดอาจไม่ทำให้รวยแบบฟู้ฟ่าแต่อย่างน้อยก็มีเงินจับจ่ายใช้สอยแบบไม่เดือดร้อนมากมายนัก

จับจ่ายใช้สอย

1. รู้จักการเก็บออมเงินทุกเดือน

วิธีนี้ก็น่าจะเป็นเรื่องที่หลายคนบอกว่าทำเป็นประจำทุกเดือนอยู่แล้วตามแต่ว่าเงินเดือนจะมากหรือน้อย เมื่อหักค่าใช้จ่ายจิปาถะแล้วบางคนบอกว่าไม่เหลือให้เก็บเลยจะทำอย่างไร ทางออกที่ดีของเรื่องนี้เราใช้วิธีหักดิบกันเลยว่าเราต้องเก็บเงินเอาสักเดือนละ 10-30 % เช่นเงินเดือน 10,000 เก็บทุกเดือนประมาณ 100-300 บาท

แน่นอนว่าเงินจำนวนนี้อาจไม่มากมายนักและการเก็บแบบนี้ก็ต้องใช้เวลาสะสมนานพอสมควรสมมุติว่าเราทำได้ทุกเดือนต่อเนื่องกัน 1 ปีจะมีเงิน 3,600-10,800 บาทต่อปี ถ้าทำต่อเนื่องได้อีก 10 ปีก็จะมีเงิน 36,000-108,000 บาท อย่างน้อยก็พอให้เรามีเงินจับจ่ายใช้สอยได้บ้างละงานนี้

2. ใช้ประโยชน์จากบัญชีรายรับรายจ่าย

เรื่องนี้หลายคนเมินหน้าหนี บางคนเคยทำแล้วก็เลิกทำ เพราะไม่เห็นผลอะไรทำไปเงินก็ไม่งอกเงยขึ้นมาแถมเสียเวลามานั่งจดๆให้วุ่นวาย แต่หารู้ไม่ว่าพลังของบัญชีรายรับรายจ่ายแม้ไม่ทำให้เงินงอกเงยแต่ก็ทำให้เราอุดรอดรั่วทางการเงินได้มากขึ้น

เพราะทันทีที่เราทำบัญชีอย่างละเอียดเราจะเห็นช่องทางการเงินของเราว่าไหลมาเทมาไปทางไหนบ้างคราวนี้เราก็จะมากำหนดเส้นทางการเงินของเราได้ว่าควรทำอะไรไม่ควรทำอะไร แม้ไม่ทำให้มีเงินมากขึ้นแต่อย่างน้อยก็ทำให้ระบบการเงินของเรามั่นคงยิ่งขึ้น

yy31

3.วางเป้าหมายในชีวิตให้ชัดเจนและเริ่มลงมือทำตามเป้าหมายนั้น

อย่าดูถูกพลังของเป้าหมายเด็ดขาดแม้กระทั่งธุรกิจระดับโลกเองเขาก็ยังต้องกำหนดเป้าหมายให้ตัวเองว่าต่อจากนี้อีก 5 ปี 10 ปีบริษัทเขาควรอยู่ในระดับไหน คนทำงานเป็นมนุษย์เงินเดือนก็กำหนดเป้าหมายให้ตัวเองได้เช่น อีก 2 ปีฉันจะไปเที่ยวญี่ปุ่น คราวนี้เราก็จะมาดูว่าค่าใช้จ่ายถ้าจะไปญี่ปุ่นอยู่ประมาณเท่าไหร่

และจะต้องเก็บเงินเดือนละเท่าไหร่เพื่อให้ทันกำหนด 2 ปี เมื่อมีแรงบันดาลใจมีเป้าหมายก็จะทำให้เรามีแรงขับเคลื่อนแม้เงินเดือนอาจไม่เพียงพอให้เก็บก็อาจทำให้เราออกไปหารายได้เสริมอื่นๆมาเพิ่มเติมทำแบบนี้ซ้ำๆกันไปก็อาจทำให้เรามีเงินเพิ่มมากขึ้นเกินกว่าที่ตั้งใจไว้ด้วยซ้ำ

4. เงินเดือนไม่พอเก็บก็เลือกลงทุนสักอย่างที่เหมาะสม

เป็นกลยุทธ์ทางการเงินที่คนยุคนี้ก็ใช้กันไม่น้อย การลงทุนที่ว่านี้มีหลายแบบให้เราเลือก เอา ที่ตัวเองถนัดและสบายใจจะดีที่สุดไม่ว่าจะเป็นการลงทุนกองทุน การเล่นหุ้น ทำธุรกิจส่วนตัว ออกเงินกู้ หรือว่าพันธบัตรรัฐบาล

แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะเลือกตัดสินใจทำอะไรลงไปก็ควรศึกษารายละเอียดให้ดีก่อนที่จะลงมือทำเพื่อให้เงินก้อนนั้นที่เราลงไปแปรเปลี่ยนเป็นกำไรคืนกลับมาได้มากกว่าเดิม

yy36

5. รู้จักการใช้สิทธิตามกฎหมายให้เป็นประโยชน์

ข้อกำหนดของการเป็นนายจ้างลูกจ้างคือลูกจ้างทุกคนต้องได้รับสิทธิคุ้มครองจากการทำงานผ่านรูปแบบของประกันสังคมที่หลายคนมองว่าเงินส่วนหนึ่งที่ตัดจากเงินเดือนเราไปทุกเดือนๆ นั้นสูญเปล่าแต่ความจริงแล้วไม่ได้สูญเปล่าอย่างที่คิดอย่างน้อยเวลาเจ็บไข้เข้าโรงพยาบาลสิทธิประกันสังคมก็ยังพอช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้

หรือในบางกรณีก็มีเงินชดเชยในหลายๆอย่างเช่น ชดเชยจากการว่างงาน เงินสำหรับจ่ายเป็นค่านม ค่าทำคลอด ซึ่งสิทธิเหล่านี้เราต้องศึกษาและนำมาใช้กับชีวิตของเราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

6.อย่าใช้จ่ายบัตรเครดิตจนเกินตัว

กลายเป็นอีกหนึ่งช่องโหว่ทางการเงินของมนุษย์เงินเดือนในยุคนี้โดยแท้ มนุษย์เงินเดือนบางคนสมัครบัตรเครดิตแทบจะทุกบริษัทเหตุผลส่วนหนึ่งก็คือไว้จับจ่ายซื้อของแต่บางครั้งก็ไม่จำเป็นที่จะต้องจ่ายสุดท้ายก็กลายเป็นหนี้พอกเกินตัวเงินเดือนออกมาก็ไม่พอจ่ายค่าบัตรเครดิตเป็นปัญหายุ่งยากมากในสังคมตอนนี้

และถ้าหากหลีกเลี่ยงการใช้บัตรเครดิตไม่ได้ก็ควรใช้ให้เหมาะสม และใช้ให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ หรือถ้าใช้ไปแล้วกลายเป็นหนี้ก็ควรชำระหนี้ให้ตรงเวลาดอกเบี้ยจะได้ไม่ทบต้นทบดอก อันจะเป็นภาระหนี้ที่เกินตัวมากๆ

yy34

7. ไม่จำเป็นก็อย่าไปช็อปปิ้งมากนัก

ต้นเดือนสำหรับมนุษย์เงินเดือนคือเวลาที่หน้าชื่นตาบานที่สุดหลายคนเงินเดือนออกก็หมดไปกับการเดินช็อปปิ้งตามห้างหรือถ้าเป็นคุณผู้ชายก็ตามสถานที่ท่องเที่ยวราตรีต่างๆ หากใครอยากจะรวยและมีเงินจากการทำงานประจำเช่นนี้ก็ต้องมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกันสักหน่อยลดการช็อป การเที่ยวให้น้อยลง

โดยกำหนดไปเลยว่าแต่ละเดือนเราจะไปจับจ่ายกี่ครั้งและก็ลิสต์รายการที่จะซื้อแบบที่จำเป็นๆ เท่านั้นและก็ซื้อของตามรายการนั้นโดยเฉพาะเพื่อให้เรามีวินัยในการเงินมากขึ้นเพื่อโอกาสที่เราจะมีเงินเก็บได้มากขึ้นด้วย

8. ค่าใช้จ่ายไหนที่ไม่ใช่ไม่จำเป็นตัดทิ้งไปเลย

เรื่องนี้จะไปสัมพันธ์กับการทำบัญชีในข้อ 2 ที่เราจะพบว่าช่องโหว่ของเราคืออะไร รายจ่านส่วนไหนที่ไม่จำเป็น หากตรวจพบแล้วหน้าที่ของเราคือกำจัดจุดอ่อนนั้นออกไปให้หมดเหลือไว้แต่รายจ่ายหลักๆที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต

ซึ่งหากสำรวจดีๆ จะพบว่าในแต่ละเดือนเรามีเงินรั่วไหลไปกับเรื่องไร้สาระมากพอสมควร หากเป็นไปได้ก็แยกเงินมาเป็นส่วนๆ เลือกใช้ตามแต่ละส่วนที่มีจำกัดอยู่เช่นกำหนดมาเลยว่าเดือนนี้งบสำหรับการซื้อของใช้เข้าบ้าน 1,000 บาท เวลาไปตลาดก็ใช้งบแค่ที่มีหรือถ้าเดือนนั้นใช้ไม่หมดงบที่ตั้งไว้ก็เอาไปทบต่อในเดือนหน้าก็จะทำให้เงินแต่ละส่วนมียอดเพิ่มขึ้นได้ด้วย

ก็เป็นสารพัดวิธีการที่จะทำให้มนุษย์เงินเดือนได้รู้จักกับคำว่าร่ำรวยซึ่งอาจจะเป็นเรื่องยากทฤษฏีพูดได้แต่ปฏิบัตินั้นลำบากแต่ว่าหากมีวินัยในตัวเองมากพอและรู้จักการบริหารเงินให้ดีๆ มีการวางแผนเป็นขั้นเป็นตอน ก็จะทำให้ในอนาคตเรามีความเป็นอยู่ที่มั่นคงอาจไม่ถึงกับร่ำรวยแต่ก็น่าจะพอให้มีเงินไว้จับจ่ายใช้สอยได้มากขึ้น

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด