7 เหตุผลทำไมคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รวย!

คนไทย มีประมาณ 67 ล้านคน และปัญหาใหญ่คือ “ความเหลื่อมล้ำเรื่องรายได้” ข้อมูลระบุว่า สังคมไทยผู้ที่มีรายได้มากที่สุดแตกต่างจากผู้ที่มีรายได้น้อยสุดกว่า 20 เท่า โดยมีกลุ่มคนชนชั้นกลางอยู่ประมาณ 35% สะท้อนถึงการกระจุกตัวของรายได้ในกลุ่มบน

และการแบ่งปันผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ทั่วถึงไปสู่คนกลุ่มล่าง โดยข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ปี 2562 ระบุว่ามีคนจนจำนวน 4.3 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนคนจน 6.24 % ของประชากรทั้งประเทศขณะที่ครัวเรือนยากจนมีรายได้เดือนละ 3,016 บาทต่อคน ในปี 2562

www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าปัญหาความยากจนคือปัญหาใหญ่ที่สังคมไทยยังแก้ไขไม่ได้ คำว่า “รวยกระจุก จนกระจาย” ยังคงเป็นความจริงที่เราต้องยอมรับ ซึ่งคำว่า “คนจน” ตามนิยามโดยธนาคารโลกที่ใช้เกณฑ์ผู้มีรายได้เฉลี่ยต่ำว่า 1.9 เหรียญสหรัฐต่อวัน หรือวันละราว 60 บาท

หากใช้เกณฑ์ดังกล่าวประเทศไทยจะมีคนจนเพียง 0.04 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่ในความเป็นจริงนั้นสวนทางทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำคนไทยอยู่ที่ประมาณ 350 บาท/วัน นั้นหมายความว่าหากยึดเอารายได้นี้เป็นเกณฑ์ทำงานทุกวันใน 1 เดือนจะมีรายได้ 10,500 บาท ซึ่งรายได้แค่นี้ไม่เพียงพอกับการดำรงชีวิต และบางคนไม่ได้ทำงานทุกวันดังนั้นรายได้จึงไม่ถึง 10,000 บาท ตรงนี้คือนิยามของคนที่ “มีรายได้น้อย” และถึงขั้น “ยากจน”

7 สาเหตุความยากจนของคนไทย

คนไทย

ภาพจาก bit.ly/33ggg7x

เราเชื่อว่าไม่มีใครอยากจน ทุกคนก็อยากเกิดมาเป็นคนรวย หรือหากแม้ไม่ถึงกับรวย ก็ขอให้มีกินมีใช้ไม่ขัดสน แต่เราก็ต้องยอมรับว่าความจริงกับความฝันบางทีมันก็สวนทางกันอย่างสิ้นเชิง และหากมาลองวิเคราะห์สาเหตุว่ามีอะไรบ้างที่เป็นปัจจัยทำให้เกิดความยากจน พบว่ามีปัจจัย 7 ประการได้แก่

1.โครงสร้างระบบเศรษฐกิจ

10

ภาพจาก bit.ly/361MjK1

คำว่า “จน” เพราะมีรายได้ไม่เพียงพอ ต่อให้ภาครัฐขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเพราะเมื่อประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ราคาสินค้าก็ดันขยับตามขึ้นไปด้วย แทนที่รายได้เราจะเพิ่มขึ้นสุดท้ายก็เท่าเดิม ยกตัวอย่างค่าแรงขั้นต่ำวันละ 350 บาท ทำงาน 30 วันไม่หยุดรายได้ 10,500 บาท ต้องจ่ายอะไรบ้าง

ค่าเช่าห้อง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าอาหาร จิปาถะต่างๆ เฉลี่ยรายจ่ายต่อเดือนบางทีเกือบ 10,000 บาท ยังไม่รวมคนที่มีครอบครัว มีลูกต้องดูแล ไม่รวมค่าป่วย ค่ารักษาพยาบาลแบบฉุกเฉิน ดังนั้นโครงสร้างระบบเศรษฐกิจ (ปิรามิดยอดแคบ ฐานกว้าง) นี่แหละคือปัญหาอย่างหนึ่งที่ อาจไม่ใช่แค่ปัญหาในเมืองไทยแต่เป็นปัญหาของความยากจนของคนในอีกหลายประเทศทั่วโลก

2.การศึกษา

11

ภาพจาก bit.ly/3pXXQCc

คุณภาพของการศึกษายังมีส่วนกำหนดระดับของปัญหาความเหลื่อมล้ำของรายได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่าประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาสูงมักจะมีความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้น้อย เช่น ประเทศฟินแลนด์ ญี่ปุ่น และสวีเดน และที่สำคัญหลักสูตรการศึกษาของเมืองไทยไม่เอื้อให้เราคิดเป็นทำเป็น

แต่ส่วนใหญ่ออกแนวนกแก้วนกขุนทอง สอนให้ท่องจำ จนกลายเป็นสิ่งที่ปลูกฝังให้คนไทยส่วนใหญ่คิดอะไรนอกกรอบไม่เป็น การอยู่แต่ในกรอบแคบๆ เดิมๆ ก็ทำให้มีโอกาสในการพัฒนาได้น้อย หากมีการพัฒนาด้านการศึกษาให้คนไทยมากขึ้น ปัญหาความยากจนก็อาจลดลงได้มากขึ้น

3.ติดเหล้า-ติดหวย-ติดพนัน

12

ภาพจาก bit.ly/2KvFdoS

ปัญหาความยากจนส่วนหนึ่งมาจาก “ตัวเราเอง” บางคนรายได้น้อยทำงานได้วันละ 350 แต่ตกเย็นกินเหล้า กินเบียร์ เดี๋ยวนี้ราคาเหล้าเบียร์ก็ไม่ธรรมดา เบียร์1ขวดราคากว่า 60 บาท ส่วนเหล้าไม่ต้องพูดถึงแพงถึงหลักร้อยแล้วแต่ยี่ห้อ คนที่ต้องกินเหล้าก็มีเหตุผลว่า “จน” “เครียด” ไม่รู้จะหาทางออกยังไงดี หรือแม้แต่คนที่เล่นหวย ทั้งใต้ดินบนดิน แต่ละเดือนเสียค่าหวยเดือนละ 500 – 1,000 หรือบางทีก็มากกว่านั้น

ไม่นับรวมคนที่ติดการพนัน ไม่ว่าจะบอล ไพ่ หรืออะไรก็ตามแต่ ความหวังของคนที่เล่นหวย เล่นพนัน ก็เผื่อฟลุ๊คจะได้มีเงินก้อนใหญ่เอาไว้ใช้ แต่การเล่นพนันมีโอกาสที่จะ “จน” มากกว่า “รวย” หลายคนก็รู้ดีแต่ยังเลิกไม่ได้ ข้อมูลจากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน หรือ CGS ระบุว่าในปี 2562 นี้ ตัวเลขคนไทยที่เล่นการพนันอยู่ที่ 57% หรือประมาณ 30.42 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 จำนวน 1.49 ล้านคน และในนี้มีกลุ่มผู้เล่นหน้าใหม่ถึง 7.2 แสนคน

4.ความคิดที่ยึดติดกับ “ความเชื่อ”

13

ภาพจาก bit.ly/3l5d18U

คนไทยมี “ความเชื่อ” ในสิ่งลี้ลับ อำนาจที่มองไม่เห็น จนบางทีเข้าขั้น “งมงาย” การที่คนไทยบางส่วนมีรายได้น้อย ไม่มีเงินเก็บ ก็เพราะ “ความเชื่อ” เช่นการขูดเลขขอหวยกับต้นไม้ การกราบไหว้สัตว์ที่มีผิดปกติ การบูชาบวงสรวงร่างทรงต่างๆ แม้สิ่งเหล่านี้วิทยาศาสตร์จะไม่สามารถพิสูจน์ได้ทั้งหมด

แต่ “ความเชื่อ” ที่งมงายมากเกินไปก็ทำให้ “ความคิด” เราหยุดชะงัก หลายคนแทนที่จะคิดทำธุรกิจ หาไอเดียลงทุนเพื่อหารายได้เพิ่ม กลับงมงายกับการหาเลขเด็ด ทรงเจ้าต่างๆ กระบวนที่ก่อให้เกิดรายได้ในระหว่างนี้จึงลดลง เป็นเหตุผลที่แม้จะไม่ใช่สาเหตุหลักแต่ก็เป็นปัจจัยประการหนึ่งที่ทำให้คนไทยมีรายได้น้อยลง

5.การผูกขาดของระบบนายทุน

14

ภาพจาก bit.ly/2HzyWYn

เป็นเรื่องที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวเอง แต่เป็นปัญหาทั้งระบบ กับการผูกขาดทางธุรกิจที่บางทีไม่เอื้อให้ผู้ประกอบการรายเล็กได้ลืมตาอ้าปาก คนเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ เงินน้อย ทุนน้อย สายป่านไม่ยาว ไม่อาจสู้กับพวกนายทุนเงินหนา ประสบการณ์เยอะ หนทางรอดของคนตัวเล็กคือต้องพยายามแตกไอเดียที่แตกต่างเพื่อให้ไม่เหมือนใครและเป็นจุดขายให้กับตัวเอง

หลายคนที่ลงทุนแบบตรงๆ ทื่อ ๆ ไม่มีพลิกแพลง เล่นไปตามเกมส์ธุรกิจส่วนใหญ่มักไปไม่รอด เพราะอำนาจในการซื้อจะไหลไปอยู่ที่กลุ่มนายทุนมากกว่า ปัญหาเรื่องนี้ก็ทำให้โอกาสเกิดใหม่ของคนธรรมดาที่จะแจ้งเกิดในเวทีธุรกิจมีน้อย แถมบางคนลงทุนผิดพลาดจากคนธรรมดากลายเป็นคนจนหมดเนื้อหมดตัวเลยก็มี

6.ความสามารถในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน

15

ภาพจาก bit.ly/3fJ7cgF

คนส่วนใหญ่อยากลงทุนแต่ก็ “ไม่มีเงินทุน” แม้หลายธนาคารจะปล่อยสินเชื่อให้เรากู้ได้ แต่ส่วนใหญ่ก็ต้องมีหลักประกัน บางครั้งต่อให้เรามีโปรเจคดีแค่ไหน แต่หากไม่มีเงินทุนก็ยากที่จะสานต่อ บางคนพูดถึงว่าให้ทำแบบ start-up

แต่ใช่ว่าจะเป็นเรื่องง่ายที่เราจะได้ทุนจาก venture capital หรือ angel investor เพราะกลุ่มเงินทุนเหล่านี้ก็เป็นธุรกิจหนึ่งเช่นกัน หากไอเดียที่เรานำเสนอดูไม่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ก็กลายเป็นแค่โปรเจคในกระดาษธรรมดาๆ ที่ไม่มีใครกล้าลงทุนให้อย่างเด็ดขาด

7.โครงสร้างด้านสวัสดิการทางสังคม

16

ภาพจาก bit.ly/3fy3UMU

หลายประเทศที่เรามองว่าอยู่ในกลุ่มพัฒนาเขามีสวัสดิการทางสังคมที่ชัดเจน เช่นบางประเทศมีการศึกษาฟรี รักษาพยาบาลฟรี มีเงินเลี้ยงดูยามแก่ชรา เป็นต้น แต่สำหรับประเทศไทย สวัสดิการที่เห็นหากไม่ใช่ข้าราชการก็เห็นจะมีแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค ที่ต้องไปใช้สิทธิในโรงพยาบาลของรัฐ การรักษาส่วนใหญ่ก็บอกว่าไม่มีคุณภาพมากนัก

แต่จะให้ไปเสียเงินรักษาแพงๆ คนรายได้น้อยก็ไม่มีทางทำได้ ก็ต้องทนใช้สิทธิที่ว่านี้กันไป หรือแม้แต่คนทำงานที่บอกว่ามีประกันสังคมดูแล มีเงินเก็บสะสมยามแก่ชรา ก็ยังไม่ชัดเจนว่าเมื่อถึงเวลาจะสามารถเบิกจ่ายได้จริงหรือเปล่า คำว่าสวัสดิการทางสังคมจึงเป็นสิ่งที่สังคมไทยมีน้อยมาก การดูแลจากภาครัฐไปยังประชาชน “ทุกคน” ไม่ทั่วถึง

คนส่วนใหญ่จึงต้องปากกัดตีนถีบหาเงินเลี้ยงตัวเองและครอบครัว แบ่งปันรายได้ส่วนหนึ่งไว้ดูแลตัวเองในยามฉุกเฉิน ซึ่งหากสวัสดิการทางสังคมมีความชัดเจน เราก็จะอยู่ในสังคมได้อย่างสบายใจ รายได้ส่วนหนึ่งก็จะกลายเป็นเงินเก็บได้มากขึ้น แต่เราก็เข้าใจดีว่าหากต้องการสวัสดิการที่ดีก็อาจต้องมีการจ่ายภาษีที่มากขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วเขามีการจ่ายภาษีในอัตราที่สูงแต่ผลตอบแทนที่ประชาชนในประเทศนั้นได้รับก็ถือว่าคุ้มค่ามากเช่นกัน

ทั้งนี้ผลสำรวจ Gallop World Poll ระบุว่าชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทย ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา จํานวนคนที่ตอบว่าชีวิตความเป็นอยู่แย่ลงมีมากขึ้น เกือบ 40% ตอบว่าไม่มีเงินพอที่จะใช้จ่ายเรื่องที่อยู่อาศัย และกว่า 40% ตอบว่ามีเงินไม่พอซื้ออาหาร เทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน

ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนลดลงและเป็นประเทศเดียวที่อัตราความยากจนเพิ่มสูงขึ้น แม้แผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติฉบับปัจจุบันจะมีนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนแต่จนแล้วจนรอด คนไทยส่วนใหญ่ก็ยังมีรายได้แบบชักหน้าไม่ถึงหลัง คนจนก็ยังมีอยู่และดูเหมือนจะมีเพิ่มมากขึ้นในระยะหลังด้วย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล goo.gl/Io5k2S , https://bit.ly/3m0LsPA , https://bit.ly/396EyVj , https://bit.ly/33dBP8F , https://bit.ly/35Wi6fC , https://bit.ly/2Ja7HUo , https://bit.ly/2UVCjfm , https://bit.ly/2UWomO0 

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2J7fAdB

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด