7 คำถาม! ถามธุรกิจ(SMEs) ขาลงเพราะ COVID 19 จริงหรือ?

ถ้าถามว่าการแพร่ระบาดของเชื้อ COVID 19 ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักจริงหรือ? ตอบเลยแบบไม่ต้องคิดว่า “จริง!” แต่กระนั้นถามในมุมกลับ หากไม่มีการแพร่ระบาดของ COVID 19 เศรษฐกิจไทยจะโตไปถึงระดับไหน จะมีกิจการไปไม่รอดในช่วงนี้มากน้อยอย่างไร

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าการแพร่ระบาดของ COVID 19 คือสาเหตุหลักที่ทำให้ทุกวันนี้เราต้องเผชิญกับมรสุมชีวิต ตกงาน ขาดรายได้ กิจการบางแห่งต้องปิดชั่วคราว บางแห่งปิดถาวร ประเทศสูญเสียรายได้มหาศาล

แต่จะเหมารวมว่าหลายกิจการไปไม่รอดเพราะพิษของ COVID 19 อย่างเดียวก็ดูจะเป็นการโยนแพะให้รับบาป ทั้งที่ความจริงผู้ประกอบการหลายคนมีสัญญาณไม่ดีเกี่ยวกับธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่ ไม่แน่ว่าต่อให้ไม่มี COVID 19 เข้ามากิจการเหล่านี้ก็อาจจะไปไม่รอดอยู่แล้ว ดังนั้นลองมาตั้งคำถาม ถามตัวเองดูว่าทุกวันนี้ธุรกิจของเราขาลงเพราะ COVID 19 จริงหรือเปล่า?

ธุรกิจไปไม่รอดเพราะปรับตัวไม่ได้เอง? หรือผลกระทบจาก COVID 19

 ขาลงเพราะ COVID 19

ปีเตอร์ ดรักเกอร์
ภาพจาก bit.ly/3a4owbv

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ เคยกล่าวไว้ว่า “ความผิดพลาดที่ซีเรียสที่สุดไม่ได้เกิดจากคำตอบที่ผิด แต่หายนะที่แท้จริงเกิดจากการตั้งคำถามที่ผิด” จากภาวะเศรษฐกิจถดถอยมักทำให้เราเห็นข้อบกพร่องของกลยุทธ์การดำเนินงาน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถหาข้อบกพร่องของธุรกิจของตัวเองเจอและแก้ได้ทุกจุด และก็ไม่ใช่ทุกคนที่เจอจุดอ่อนของธุรกิจแล้วแน่ใจว่าใช่จุดอ่อนจริงๆ

ปัญหาที่เกิดจาก COVID 19 คือกำลังซื้อของคนน้อยลง คนออกมาจับจ่ายน้อยลง รวมถึงมาตรการสั่งปิดกิจการชั่วคราวและปัญหาด้านการนำเข้า ส่งออก ต่างๆ สิ่งเหล่านี้ถูกมองว่าคือ “ปัญหา” ที่นำไปสู่คำว่า “ขาลง” แต่บรรดาธุรกิจ SMEs อาจจะลืมไปว่า สิ่งที่ธุรกิจทำอยู่ก่อนหน้านี้คือทิศทางที่ถูกต้องแล้วหรือยัง หากยังไม่ใช่แล้วเผอิญเกิดปัญหาการแพร่ระบาดของ COVID 19 ก็เลยทำให้สิ่งที่เป็นปัญหากลายเป็นปัญหาหนักขึ้น ดังนั้น ธุรกิจเองจึงควรตั้งคำถามกับตัวเองดังนี้

1. ลูกค้าที่แท้จริงในธุรกิจเราคือใคร?

57

ภาพจาก facebook.com/McThai

เป็นคำถามพื้นฐานของคนเริ่มทำธุรกิจที่ต้องโฟกัส “กลุ่มเป้าหมายของธุรกิจ” ให้ได้เพื่อจะได้ดำเนินกลยุทธ์การตลาดให้สอดคล้อง ก่อนหน้าที่ COVID 19 จะแพร่ระบาดหลายธุรกิจอาจโฟกัสเรื่องนี้ผิดพลาดมาแต่ต้น การโฟกัสที่ผิดจุดก็เหมือนการเดินที่ผิดพลาดทำให้ธุรกิจต้องเสียเวลาและเสียงบประมาณไปโดยไม่จำเป็น

ยกตัวอย่างของแมคโดนัลด์ที่โฟกัสลูกค้าได้ชัดเจน โดยในปี 2010 มีสาขาทั่วโลกประมาณ 32,000 แห่ง มีคนมาใช้บริการเกือบ 60 ล้านคนทั่วโลก ในช่วงปี 1980 – 1990 แมคโดนัลด์ตระหนักดีว่าลูกค้าไม่ใช่คนที่มากินร้านอาหาร แต่เป็นนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเจ้าของแฟรนไชส์ ทำให้แมคโดนัลด์เปิดสาขาได้เพิ่มอีกปีละ 1,700 สาขา ซึ่งหัวหน้าสาขาของแมคโดนัลด์นั่นแหละคือลูกค้า” ทำให้แมคโดนัลด์แต่ละสาขามีเมนูที่ปรับไปตามรสนิยมของลูกค้าในพื้นที่ จนลูกค้าที่มากินพอใจ

2. ค่านิยมของบริษัทชัดเจนพอหรือยัง?

56

ภาพจาก freepik

คนทำธุรกิจต้องรู้ว่าลูกค้า พนักงานบริษัท หรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ตกลงใครกันแน่ที่บริษัทให้ความสำคัญ และประโยชน์ของใครกันแน่ที่ต้องมาก่อน? บางธุรกิจอาจจะตอบว่า ท้ายที่สุดพนักงานของบริษัทต้องมาก่อนเสมอ

เพราะถ้าเราให้ความสำคัญ ดูแลพนักงานของเราอย่างดี พนักงานของเราก็จะดูแลลูกค้าของเราอย่างดี และนั่นก็หมายถึงสิ่งดีๆที่จะได้กลับมาสู่พนักงาน ซึ่งคำตอบนั้นไม่มีถูกผิด แต่การสื่อสารคำตอบที่ได้ให้กับคนในและนอกบริษัทต่างหากที่สำคัญกว่าตัวคำตอบเสียอีก และนั่นก็ช่วยให้เราตัดสินใจในเรื่องใหญ่ๆสำหรับธุรกิจได้

3. การวัดศักยภาพทางธุรกิจของตัวเองถูกต้องแค่ไหน?

55

ภาพจาก bit.ly/39Oo2Gc

บางคนรู้แต่ทฤษฎีแต่เอาเข้าจริง คนทำธุรกิจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะใช้ข้อมูลตรงไหนที่ชี้วัดศักยภาพทางธุรกิจของตัวเองได้ หลายคนโฟกัสข้อมูลที่เป็นตัวเลขซึ่งไม่จำเป็นกับธุรกิจก็เป็นเหตุผลว่าทำไมมองดูธุรกิจแล้วไม่เติบโตเท่าที่ควร ยกตัวอย่างดีๆ

เช่น Amazon ที่โฟกัสไปที่รายได้ต่อคลิก (Revenue per click) และรายได้ต่อเว็บเพจ (Revenue per page turn) สองตัวนี้ที่จะบอกได้ว่า Customer Experience หรือประสบการณ์ที่ลูกค้ามีต่อบริการของ Amazon นั้นมีคุณภาพมากน้อยแค่ไหน

4. ตั้งเป้าการเติบโตชัดเจนแค่ไหน?

54

ภาพจาก bit.ly/2JShrQw

คนทำธุรกิจต้องรู้ “ขอบเขต” ของการทำธุรกิจตัวเอง แบบไหนที่ควรจะ “พอ” แบบไหนที่ควรจะ “ไปต่อ” เราต้องมีขอบเขตที่ชัดเจนแบบไหนที่เรียกว่า “สูงสุด” แบบไหนที่เรียกว่ายัง “ไปต่อได้อีก” การไม่รู้ขอบเขตก็เหมือนต้นไม้ที่แตกกิ่งก้านแบบไม่จำเป็นทั้งที่บางธุรกิจมีศักยภาพที่จะโตได้ในระดับนี้ แต่การตั้งเป้าที่ไม่ชัดเจนก็ทำให้มีปัญหากับการทำธุรกิจ ยกตัวอย่างการตั้งเป้าที่ชัดเจน

เช่น การที่ สตีฟ จอบส์ เคยบอกว่า Apple จะไม่ทำ PDA ออกมาขายอย่างแน่นอน จอบส์ได้พูดไว้ว่า “คนมักจะคิดว่าการโฟกัสคือการเห็นด้วยกับสิ่งที่เราใส่ใจ แต่มันไม่ได้หมายความแค่นั้น การโฟกัสมันยังหมายถึงการปฏิเสธไอเดียดีๆหลายๆอย่างด้วย”

5. ฝึกลูกน้องให้ทำงานเหมือนเป็นเจ้าของธุรกิจได้หรือเปล่า?

53

ภาพจาก freepik

หนึ่งในกลยุทธ์ของธุรกิจที่อยู่รอดในทุกสถานการณ์คือ การมีลูกน้องที่คิด “แบบเจ้านาย” พนักงานหลายแห่งคิดเสมอว่าตัวเองคือลูกจ้าง ตัวเองคือพนักงาน เรื่องความอยู่รอดของบริษัทคือหน้าที่ของ “เจ้านาย” ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤติหรือมีปัญหาคนเหล่านี้จะ “หยุดคิด” และ “รอคำสั่ง” จากเจ้านาย

การทำให้ธุรกิจอยู่รอดเราต้องถามตัวเองด้วยว่า “เคยฝึกให้ลูกน้องคิดแบบเจ้านายได้หรือเปล่า” สิ่งเหล่านี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละบริษัท ที่จะสร้างสรรค์อย่างไรให้พนักคิดทุ่มเทแรงกายแรงใจและจงรักภักดีกับองค์กร

6. เคยฝึกให้พนักงานทำงานเป็นทีมบ้างหรือเปล่า?

52

ภาพจาก freepik

ธุรกิจใดก็ตามที่พนักงานไม่ร่วมมือกันคิดว่าเรามีหน้าที่แค่มาทำงาน เช้ามา เย็นกลับ พนักงานเหล่านี้จะไม่สนใจเรื่องการทำงานเป็นทีม ไม่สนใจสิ่งที่อยู่รอบตัว แค่คิดว่ามาทำงานตามหน้าที่ จ้างแค่ไหนก็ทำแค่นั้น

ดังนั้นเวลาเกิดปัญหาพนักงานเหล่านี้จะไม่พยายามช่วยเหลือคนอื่นที่มีหน้าที่โดยตรงในการแก้ไขปัญหาคิดว่าไม่ใช่หน้าที่ของตน ผลก็คือบริษัทไม่มีคำว่าทีมเวิร์คที่จะร่วมด้วยช่วยกันฝ่าวิกฤติให้ได้

7. เคยคิดวางแผนรับมือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นไว้บ้างไหม?

51

ภาพจาก freepik

ก่อนจะไปโทษว่าที่ธุรกิจไปไม่รอดเพราะพิษเศรษฐกิจ เพราะผลกระทบจาก COVID 19 เราควรหันมาถามตัวเองก่อนว่าเคยวางแผนรับมือสถานการณ์เสี่ยงๆ ไว้บ้างหรือเปล่า บางคนคิดแต่จะหากำไร หารายได้ แต่ไม่เคยวางแผนสำรองในกรณีฉุกเฉิน

คำว่าแผนสำรองต้องมีอย่างน้อย 2-3 แผน เผื่อไว้ในหลายๆ สถานการณ์ และแผนรับมือเหล่านั้นต้องนำไปปฏิบัติใช้ได้จริง เผื่อในยามฉุกเฉินจะได้มีวิธีรับมือ แม้ไม่อาจจะช่วยให้ธุรกิจมีกำไรมากขึ้นแต่อย่างน้อยก็พอให้ประคับประคองตัวให้อยู่ได้ตลอดรอดฝั่งในยามที่เกิดวิกฤติต่างๆ

การแพร่ระบาดของ COVID 19 ไม่ต่างจากแบบทดสอบที่เอาไว้ประเมินศักยภาพในการทำธุรกิจของแต่ละคน แน่นอนว่าตอนนี้ทุกธุรกิจต่างได้รับผลกระทบเหมือนกันแต่ผลที่เกิดขึ้นในแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน ในขณะที่บางแห่งร้องโอดโอยว่าแย่แล้ว กิจการจะปิดแล้ว บางแห่งกลับยังดำเนินธุรกิจให้ประคับประคองต่อไปได้

แม้ตัวแปรของธุรกิจจะไม่เหมือนกันแต่โดยหลักการแล้วคนทำธุรกิจก็ต้องมีการวางแผน และมีการวางรากฐานให้ธุรกิจแข็งแกร่งรับมือได้ในทุกสถานการณ์ ไม่ใช่พอเกิดปัญหาทีก็ร้องขอให้คนช่วย แต่ตัวเองกลับไม่เคยช่วยตัวเองเลยสักครั้งเดียว


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/3ecx43h

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด