7 กับดักในธุรกิจอาหาร รู้ไว้ไม่เจ๊ง!

อาหาร ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ ทุกวันนี้มองไปรอบตัวมีร้านอาหารสารพัดรูปแบบ หลายคนบอกว่าโอกาสเกิดใหม่ของร้านอาหารยุคนี้นั้นเป็นไปได้ยาก

แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่ทำให้เราอยู่รอดในธูรกิจนี้ไม่ใช่คู่แข่งแต่คือตัวของผู้ลงทุนเองที่บางครั้งหลงทางไปกับแนวคิดผิดๆและเลือกเดินในเส้นทางที่เสี่ยงๆ จนนำไปสู่คำว่าทุนหายกำไรหดด้วยเหตุนี้

www.ThaiSMEsCenter.com จะพาทุกท่านไปรู้จักกับ 7 กับดักสำคัญในธุรกิจร้านอาหารที่เป็นคีย์เวิร์สำคัญว่าจะทำให้เราอยู่รอดต่อไปได้หรือไม่

1.อย่าลืมตัวถ้าเริ่มต้นได้อย่างฮือฮา

กับดักในธุรกิจ

ร้านอาหารยุคใหม่มักขายไอเดียควบคู่ไปด้วย ดังนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกหากเมนูของร้านจะดึงดูดลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ ส่วนใหญ่ร้านอาหารที่มีเมนูโดดเด่นมักจะฮือฮาในการเปิดตัวครั้งแรก

ยิ่งยุคกระแสโซเชี่ยลมาแรงยิ่งกระพือให้เรื่องนี้ติดลมบนได้ง่ายขึ้น ปัญหาก็คือ เจ้าของร้านอย่ากระหยิ่มยิ้มย่องว่านี่คือความสำเร็จของร้านอาหารเรา เพราะต้องไม่ลืมว่ากระแสโซเชี่ยลที่นำพาลูกค้าจำนวนมากมาหาเราเป็นเพียงแค่วูบเดียว

ซึ่งในฐานะร้านอาหารเราต้องสร้างลูกค้าประจำของเราให้ได้ไม่ใช่ตื่นเต้นดีใจไปกับลูกค้าที่เป็นขาจร บางคนถึงขนาดสั่งวัตถุดิบเพิ่ม รีบขยายสาขาเพิ่ม สุดท้ายกลายเป็นต้นทุนที่เพิ่มในยามที่กระแสร้านเราเริ่มซบเซาและคนแห่ไปตื่นเต้นกับร้านอื่นที่เปิดใหม่นี่คือกับดักขั้นแรกที่เราต้องระวังให้ดีในฐานะเจ้าของร้านอาหาร

2.สาขาแรกให้แข็งแรงก่อนคิดมีสาขาที่ 2 และ 3

5

บางคนกล้าได้กล้าเสียเกินไป ถือคติแบบผิดๆว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก แต่สำหรับร้านอาหารแล้วการเติบโตเร็วเกินไปโดยที่สาขาต้นแบบยังไม่แข็งแรงแทนที่จะเรียกว่าเติบโตกลับกลายเป็นการฉุดกันลงเหวซะมากกว่า

การมีสาขาที่ 2 นั่นหมายถึงระบบในการบริหารจัดการสต็อคสินค้า การจัดส่งวัตถุดิบ เมนูอาหาร คุณภาพในการบริการ ฯลฯ ทุกอย่างต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน เพราะในขณะที่ใช้ชื่อร้านเดียวกันแต่หากร้านสาขาทำให้เสียชื่อเสียง ร้านต้นแบบก็จะได้รับผลกระทบไปด้วย

3.สาขามากไม่ได้หมายถึงกำไรมาก

3

เป็นความคิดที่ไม่อาจถูกต้องนักถ้าพูดว่ามีสาขามากก็จะมีกำไรมากขึ้น ถ้าอธิบายตามหลักของตรรกะก็คงเป็นแบบนั้นถ้าร้านแรกมีกำไร 1 แสน การมี 3 สาขาก็ต้องมีกำไร 3 แสน

แต่ในความเป็นจริงการมีสาขามากคือการกระจายความเสี่ยงเนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคในแต่ละทำเลนั้นแตกต่างกัน ประโยชน์ของการขยายสาขาไม่ใช่เพื่อเพิ่มกำไรแต่เป็นการสร้างฐานลูกค้าให้มากขึ้นให้คนเห็นสินค้าเรามากขึ้น ดังนั้นบางสาขาอาจไม่กำไรเท่าไหร่ซึ่งเราก็ควรพิจารณาให้ดีว่าควรขยายสาขาเข้าไปในพื้นที่เหล่านั้นหรือไม่

4.การรักษามาตรฐานเป็นเรื่องยากที่สุด

4

ร้านอาหารแข่งขันกันที่คุณภาพและบริการ เจ้าของกิจการบางคนตัดสินใจไม่ทำสาขาเพิ่มเนื่องจากไม่มั่นใจว่าสาขาอื่นที่เปิดใหม่จะให้บริการและคุณภาพสินค้าได้ดีเท่าร้านต้นแบบหรือไม่

และในยุคที่การสื่อสารโซเชี่ยลมีผลอย่างมากการทำดีนั้นคนเห็นน้อยแต่พอมีชื่อเสียหายสักครั้งคนจะจดจำได้รวดเร็ว ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างของร้านอาหารมากมายที่ได้ผลกระทบจากสื่อโซเชี่ยลเหล่านี้

5.แข่งกับตัวเองไม่ต้องแข่งกับคนอื่น

9

ยุคนี้คิดจะเปิดร้านอาหารก็เชื่อได้ว่ามีคู่แข่งเปิดมารออยู่แล้วเพียบ ถามว่าจะทำอย่างไรให้ร้านอาหารของเราประสบความสำเร็จได้เหนือคู่แข่ง ก่อนอื่นต้องอธิบายว่าสิ่งที่ควรโฟกัสไม่ใช่คู่แข่งแต่เป็นกิจการร้านอาหารของเราเองที่ต้องทำให้ดีมีคุณภาพ หาสิ่งที่ทำให้ลูกค้าประทับใจ

อย่าไปคิดแข่งกับร้านอื่นหาตัวตนของร้านตัวเองให้เจอและพัฒนาไปในแนวทางนั้น โดยการมีคู่แข่งก็เหมือนเป็นดาบสองคมคืออาจทำให้เกิดการแชร์ส่วนแบ่งการตลาดไปมากแต่ในทางกลับกันก็หมายถึงความนิยมของลูกค้าที่มีมาก ขึ้นอยู่กับว่าใครจะดึงลูกค้าเข้าร้านได้มากกว่ากัน

6.วิธีบริหารจัดการต้องลงทุนให้ต่ำอย่างมีคุณภาพ

8

หลายคนมักทุ่มเทกับการลงทุนที่มีมูลค่าสูง ซึ่งบางทีก็กลายเป็นกับดักกลับมารัดคอตัวเอง หากคิดจะลงทุนสูงก็ต้องประเมินศักยภาพในพื้นที่ก่อนว่ากำลังซื้อจะมีมากตามไปแค่ไหน อีกทั้งพฤติกรรมการบริโภคของคนยุคใหม่ก็เปลี่ยนแปลงเร็วมาก

สินค้าที่เราลงทุนไปในเบื้องต้นอาจกลายเป็นสินค้าตกยุคคนไม่ต้องการ การเปิดร้านอาหารที่ดีต้องให้สอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภคและพยายามควบคุมต้นทุนให้น้อยที่สุดโดยเฉพาะค่าเช่า

หากยึดติดกับทำเลทองก็อาจเสียค่าเช่าแบบแพงและได้ไม่คุ้มเสียในทางกลับกันค่าเช่ามหาศาลที่เราเสียไปหากเราใช้พื้นที่บ้านเราเองแต่รีโนเวทให้ดีอาจไม่ใช่ทำเลทองแต่โอกาสคืนทุนมีกำไรก็ง่ายกว่า

7.ลูกค้ายุคใหม่เน้นความคุ้มค่า

7

คนในยุคนี้มีตัวเลือกมากมายลูกค้าสามารถเลือกสินค้าแบบที่ตัวเองต้องการได้ การกำหนดราคาอาหารต้องให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่ากับเงินที่เสียไป บางทีราคาอาหารเราอาจจะแพงกว่าร้านอื่นแต่ประเมินจากคุณภาพในแต่ละเมนู วัตถุดิบที่ใช้ บริการที่ดี

ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่าก็จะไม่พูดถึงว่าราคาเท่าไหร่ ในทางกลับกันราคาอาจจะถูกกว่าแต่บริการไม่ดี สินค้าไม่มีคุณภาพ ลูกค้าจะเสียความรู้สึกและจะบอกว่าไม่คุ้มกับเงินที่เสียไป เมื่อความรู้สึกเสียไปลูกค้าก็ไม่หวนกลับมามิหนำซ้ำอาจเล่ากันแบบปากต่อปากกลายเป็นดึงดูดให้คนอื่นไม่เข้าร้านได้อีกด้วย

การเปิดร้านอาหารในยุคใหม่ต้องคิดทุกแง่มุมให้ละเอียดรอบคอบ และการทำธุรกิจร้านอาหารก็ไม่ใช่มุ่งแต่จะขายอาหารแต่ต้องขายไอเดียความแปลกใหม่ให้คนรู้สึกว่าเป็นสินค้าที่น่าสนใจไม่จำเจ การเปิดร้านอาหารเราต้องเจอคู่แข่งจำนวนมากซึ่งถือเป็นเรื่องธรรมดาแต่เราก็ควรมีจุดเด่นที่เหนือกว่านั่นคือโอกาสในการสร้างกำไรของร้านอาหารในยุคนี้


SMEs Tips

  1. อย่าลืมตัวถ้าเริ่มต้นได้อย่างฮือฮา
  2. สาขาแรกให้แข็งแรงก่อนคิดมีสาขาที่ 2 และ 3
  3. สาขามากไม่ได้หมายถึงกำไรมาก
  4. การรักษามาตรฐานเป็นเรื่องยากที่สุด
  5. แข่งกับตัวเองไม่ต้องแข่งกับคนอื่น
  6. วิธีบริหารจัดการต้องลงทุนให้ต่ำอย่างมีคุณภาพ
  7. ลูกค้ายุคใหม่เน้นความคุ้มค่า

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด