6 เทคนิค SMEs บริหารเงินให้สตรอง

สภาวะเศรษฐกิจที่ไทยกำลังเผชิญอยู่นี้ ได้ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคิดหนักการ บริหารเงิน เนื่องจากขายของไม่ค่อยได้ เพราะผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อ

การตัดสินใจซื้อก็ยากลำบากมากขึ้น เพราะต่างต้องรัดเข็มขัดกันทุกคน แต่ก็มีธุรกิจ SMEs บางรายที่ยังพอขายได้ ก็ต้องมาเจอกับการขอยืดเวลาการจ่ายเงินของคู่ค้า หรือแย่สุดคือเก็บเงินไม่ได้เลย ซึ่งทำให้เงินที่ใช้หมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจสะดุดตามไปด้วย

โดยข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการจดทะเบียนนิติบุคคลทั่วประเทศ จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ระบุว่า นิติบุคคลจัดตั้งใหม่มีจำนวน 5,598 ราย เทียบกับเดือนมกราคมลดลง 151 ราย คิดเป็นร้อยละ 3 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 พบว่ามีจำนวนลดลง 33 ราย

ซึ่งส่วนมากเป็นการจดทะเบียนในภูมิภาคจำนวน 3,638 ราย คิดเป็นร้อยละ 65 ของการจัดตั้งนิติบุคคลทั่วประเทศ

ขณะเดียวกันข้อมูลยังระบุด้วยว่า นิติบุคคลจดทะเบียนเลิกกิจการในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 มีจำนวน 922 ราย เทียบกับเดือนมกราคมลดลง 547 ราย และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2558 มีจำนวนลดลง 191 ราย

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีเทคนิคการบริหารจัดการเงิน และการใช้เงินอย่างมีสติ ท่ามกลางมรสุมเศรษฐกิจ มาฝากท่านผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ให้สามารถฟันฝ่าวิกฤตและดำรงอยู่ได้อย่างสตรอง

บริหารเงินให้สตรอง

1.ลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมากสำหรับธุรกิจ SMEs เพราะมีข้อจำกัดเรื่องของเงินทุนและสายป่าน วิธีการทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจ อย่างแรกต้องลดต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น

ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ต้องรู้จักการจัดลำดับความสำคัญให้ได้ ว่าสิ่งไหนควรลดหรือไม่ลด ถ้าสิ่งไหนยังไม่จำเป็นก็ลดการใช้จ่าย อะไรที่ประหยัดได้ก็ควรประหยัด เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเดินทาง หรือการสต๊อกวัตถุดิบ เป็นต้น การมีสภาพคล่องทางการเงินในช่วงเศรษฐกิจซบเซาเช่นนี้เป็นสิ่งจำเป็นมาก นอกจากนี้การบริหารจัดการต้นทุนในการผลิตที่ดี ก็จะช่วยให้ผู้ประกอบการลดค่าใช้จ่ายลงได้

3

2.ดูแลกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด

กระแสเงินถือเป็นเลือดที่คอยหล่อเลี้ยงธุรกิจให้สามารถดำเนินต่อไปได้ ถ้าเมื่อไหร่พบว่าการไหลเข้ามาของกระแสเงินสดมีน้อยกว่าการไหลออกของกระแสเงินสด ธุรกิจ SMEs มีปัญหาแน่นอน

ดังนั้น ผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ต้องมีการดูแลกระแสเงินสดอย่างใกล้ชิด ด้วยการเดินบัญชีอย่างสม่ำเสมอ หรือการทำบัญชีรายรับรายจ่าย เพื่อจะทำให้คุณสามารถรับรู้ถึงรายได้และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริงในการดำเนินธุรกิจ

รวมถึงสถานการณ์ทางการเงินของธุรกิจ ว่ามีเงินหมุนเวียนเพียงพอหรือไม่ จะได้วางแผนการเงินไว้รองรับ เพื่อรักษาสมดุลระหว่างรายรับและรายจ่าย

4

3.ชะลอการลงทุน

การดำเนินธุรกิจช่วงภาวะเศรษฐกิจตกสะเก็ด ผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ควรที่จะทำการประเมินความจำเป็นให้รอบด้าน เพราะช่วงหน้าสิ่วหน้าขวานแบบนี้ไม่ควรเสี่ยงที่จะลงทุน

แต่หากพิจารณาแล้วว่าเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจก็ควรคว้าไว้ แต่ก็ควรกลั่นกรองวางแผนอย่างรอบคอบ ที่สำคัญอย่านำเงินไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ ผู้ประกอบการธุรกิจหลายรายอาจมองว่าการนำเงินตรงนี้ไปโปะตรงนั้นนิดหน่อยเป็นเรื่องไม่เสียหายอะไร

แต่ควรรู้ไว้ว่ามันส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้อย่างมหาศาล เพราะลืมคิดไปว่าเงินที่ว่านี้ก็คือสภาพคล่องของธุรกิจ ซึ่งหากการลงทุนพังก็ทำให้ธุรกิจชะงักงันได้ทันที

5

4.คัดสรรลูกค้าประวัติดี

ช่วงมรสุมเศรษฐกิจ การดำเนินธุรกิจในนาทีนี้ว่ากันว่า ถ้าหากสามารถขายของออกไปแล้วได้เงินสดกลับมาถือว่าอุ่นใจที่สุด เพราะความไม่แน่นอนจากการขายเชื่อมีสูงกว่า และคุณจะรู้ได้อย่างไรว่าขายสินค้าไปแล้วจะเก็บเงินได้หรือไม่ได้ เพราะธุรกิจ SMEs ไม่สามารถเลือกได้ว่าจะขายเงินสดแต่เพียงอย่างเดียว

ดังนั้นคุณต้องจัดสรรความเสี่ยงตรงนี้ให้สมดุล นอกจากนี้ต้องรู้จักเลือกลูกค้า หรือลูกหนี้ โดยเลือกลูกค้าเก่าที่ค้าขายคุ้นเคยกันอยู่แล้ว หรือหากเป็นลูกค้าใหม่ ก็พิจารณาที่มีความน่าเชื่อถือ มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ประวัติดี

ซึ่งข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้สามารถสอบถามจากคนในท้องที่ได้ หรือหากเป็นคู่ค้าใหม่ในต่างประเทศ ก็ตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นได้จากหน่วยงานราชการ

6

5.ยืดระยะเวลาการชำระหนี้ตามจำเป็น

หากผู้ประกอบการธุรกิจ SMEs ขายของออกไปแล้วแต่ยังไม่ได้รับเงินสดกลับมา ถือว่าเสียหายแล้ว แต่บังเอิญว่าต้องมีภาระค่าใช้จ่ายหนี้ให้กับคู่ค้าคนอื่นๆ หากมีความจำเป็นจริงๆ คุณควรเจรจากับคู่ค้า เพื่อต่อรองขอยืดระยะเวลาการจ่ายเงินออกไปก่อน เพื่อให้มีเงินหมุนเวียนใช้จ่ายในกิจการ

นอกจากนี้หาก SMEs มีภาระผ่อนเงินกู้กับสถาบันการเงิน แต่เงินหมุนเวียนไม่ทันจริงๆ ในกรณีนี้ SMEs ควรเข้าไปปรึกษาสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้ไปตามตรง เพื่อร่วมกันแก้ไขหาทางออกก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป ต้องคิดไว้เสมอว่า การรักษาเครดิตเป็นสิ่งสำคัญต่อการทำธุรกิจอย่างมากครับ

7

6.ติดตามข่าวสารเป็นประจำ

ธุรกิจ SMEs จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องติดตามข่าวสารบ้านเมือง และข่าวสารความเคลื่อนไหวทางด้านเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นอย่างไม่คาดคิด

ไม่ว่าเหตุการณ์จะเลวร้ายแค่ไหนถ้ามีความรู้และรับรู้ล่วงหน้า ก็อาจสามารถแก้ปัญหาที่เกิดกับธุรกิจได้ง่ายขึ้น รวมถึงการติดตามข่าวสารประจำจะทำให้ SMEs รับรู้ถึงข้อมูลข่าสาร และมาตรการความช่วยเหลือต่างๆ โดยเฉพาะการเข้าถึงแหล่งเงินกู้จากรัฐบาลด้วย

คุณจะเห็นว่าในช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคืองเช่นนี้ หัวใจสำคัญในการทำธุรกิจก็คือการบริหารเงิน หรือสภาพคล่องอย่างมีสติ และเตรียมตัวให้พร้อมกับทุกสถานการณ์ แล้ว SMEs อย่างคุณจะยืนหยัดผ่านพ้นวิกฤตไปได้อย่างแน่นอน

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช