6 วิธีเลือกซื้อแฟรนไชส์ ไม่ให้โดนลอยแพ

การมีธุรกิจเป็นของตัวเองกลายเป็นหนึ่งในความฝันของใครหลายๆ คน โดยเฉพาะคนทำงานประจำที่เริ่มเบื่อกับชีวิตมนุษย์เงินเดือน แต่หากจะเริ่มธุรกิจด้วยตัวเอง โดยยังไม่มีประสบการณ์ ไม่มีความรู้ในการบริหารจัดการธุรกิจ รวมถึงทุนยังน้อย ก็ค่อนข้างเสี่ยงที่จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยตัวเอง

ข้อจำกัดต่างๆ เหล่านี้ จึงทำให้การเริ่มต้นธุรกิจด้วยวิธีการซื้อแฟรนไชส์ เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจในยุคปัจจุบัน เพราะการซื้อแฟรนไชส์ สามารถเป็นเจ้าของกิจการได้ แม้ยังไม่มีความรู้ด้านธุรกิจมากเท่าที่ควร

เนื่องจากธุรกิจแฟรนไชส์ส่วนใหญ่มีเทคนิค ขั้นตอนในการทำธุรกิจสำเร็จรูปอยู่แล้ว ทำให้โอกาสสำเร็จย่อมมีมากกว่าการสร้างธุรกิจด้วยตัวเอง แต่ก็มีธุรกิจแฟรนไชส์หลายๆ แบรนด์ หลายๆ ประเภท เมื่อซื้อไปแล้วไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่คิด เจ้าของแฟรนไชส์ไม่ให้การดูแล ไม่ให้การสนับสนุน ปล่อยให้ทำธุรกิจตามมีตามเกิด สุดท้ายก็เจ๊ง

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงอยากจะบอกวิธีเลือกซื้อธุรกิจแฟรนไชส์ โดยไม่ต้องกลัวว่าจะโดนหลอก หรือโดนลอยแพในภายหลัง เพียงแต่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องมุ่งมั่นตั้งใจบริหารธุรกิจอย่างเต็มที่ ก็จะประสบความสำเร็จแน่นอน

1.ดูเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์

6 วิธีเลือกซื้อแฟรนไชส์

บทบาทของเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์มีส่วนสำคัญอย่างมาก ต่อความสำเร็จของแฟรนไชส์ซี เจ้าของแฟรนไชส์ที่ดีควรมีบทบาทในการเอาใจใส่ผู้ซื้อแฟรนไชส์ และต้องดูด้วยว่าเจ้าของแฟรนไชส์มีประสบการณ์ ลองผิด ลองถูก ครบถ้วนหรือยัง

เจ้าของแฟรนไชส์ที่ดี ไม่ใช่แค่ต้องการขายแฟรนไชส์ เอาค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์แรกเข้าอย่างเดียว แล้วเน้นการขายวัตถุดิบให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ แต่ไม่สนใจว่าผู้ซื้อแฟรนไชส์จะประสบความสำเร็จหรือไม่ มีปัญหาระหว่างการขายอย่างไร ที่สำคัญต้องดูว่าเจ้าของแฟรนไชส์มีเป้าหมายในการนำพาธุรกิจให้มีความเป็นเลิศหรือไม่

2. ดูสัญญาแฟรนไชส์

ดูสัญญาแฟรนไชส์

ก่อนผู้สนใจแฟรนไชส์จะเลือกซื้อแฟรนไซส์อะไรไปนั้น จะต้องดูและอ่านสัญญาคู่ค้าของเจ้าของแฟรนไชส์ (สัญญาแฟรนไชส์) ก่อนเลย ว่าเอาเปรียบผู้ซื้อหรือไม่ บริการต่างๆ นั้นเป็นไปโดยยุติธรรมหรือเปล่า เพราะบางเจ้านั้นโปรโมทอย่างดิบดี ได้อย่างนั้น ได้อย่างนี้ แต่พอเอาเข้าใจ สิ่งที่บอกว่ามีกลับไม่มี ของหมดบ้าง ของขาดบ้าง ทำให้เสียโอกาสทางการค้าไป ดังนั้น ผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรสละเวลาอ่านสัญญาแฟรนไชส์อย่างละเอียดสักนิด จะได้ไม่โดนเอาเปรียบในภายหลัง

3. ดูทำเลที่ตั้งในพื้นที่

ดูทำเลที่ตั้ง

ส่วนใหญ่แล้วแฟรนไชส์จะมีการกำหนดพื้นที่ตั้งของแต่ละสาขา เพื่อป้องกันการขายทับที่กัน หรือร้านติดกัน โดยจะห่างกันกี่เมตรกี่กิโลก็ว่าไป และในบางแฟรนไชส์จะช่วยเลือกพื้นที่ทำเล หากมองแล้วไม่คุ้มก็จะไม่ขายให้ ซึ่งก็เป็นเรื่องดี เพราะหากเราซื้อแฟรนไชส์มาแล้วขายไม่ได้ ก็เจ๊งเหมือนกัน ดังนั้น ควรดูข้อกำหนดพื้นที่ในสัญญาแฟรนไชส์ด้วย

นอกจากนี้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ควรดูรายละเอียดต่างๆ เล็กๆ น้อยๆ ในเรื่องของการตกแต่งภายใน เพราะว่าในบางแบรนด์แฟรนไชส์จะต้องใช้อุปกรณ์ของทางเจ้าของแฟรนไซส์เท่านั้น ซึ่งต้องดูข้อกำหนดด้วยว่า เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้เสีย จะได้รับการซ่อมฟรีหรือไม่ หรือของชำรุดเสียหาย ผู้ซื้อแฟรนไซส์จะต้องรับผิดชอบเอง ต้องดูตรงนี้ให้ละเอียดด้วย

4. ดูสินค้าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย

ดูสินค้า

ผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องดูสินค้าหรือบริการมีความแตกต่างจากคู่แข่ง และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับว่าประสบความสำเร็จจริง ไม่ใช่สินค้าตามกระแสที่มาเร็ว ไปเร็ว ที่ใครๆ ก็ก็อปปี้ได้ ถ้าเป็นอาหารก็ต้องมีสูตรเฉพาะที่ไม่เหมือนใคร

และการเลือกทำเลในการประกอบธุรกิจต้องให้เหมาะกับสินค้าที่ขาย เหมาะกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เพราะหากอยู่ในทำเลที่ไม่เหมาะสมกับสินค้าและกลุ่มเป้าหมายแล้ว ต่อให้สินค้ามีจุดเด่นแค่ไหน การคืนทุนก็คงทำได้ยาก

5. ดูการพัฒนาธุรกิจและปรับปรุงตลอดเวลา

ดูการพัฒนาธุรกิจ

เพื่อให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค และสภาพตลาดการแข่งขัน เจ้าของแฟรนไชส์ที่ดีต้องมีการพัฒนาสูตร หรือ ออกสินค้าใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงอาจจะมีกิจกรรมเพื่อดึงดูดผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มด้วย

โดยผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถดูจากประวัติการดำเนินงานที่ผ่านมาของเจ้าของแฟรนไชส์ได้ ว่ามีการปรับปรุงสิ่งต่าง ๆ ให้ดีขึ้นหรือไม่ เช่น มีสินค้าใหม่ออกมาไหม มีการพัฒนาระบบให้ทันสมัยขึ้นหรือไม่ หรือได้แต่อยู่กับที่ ไม่มีการพัฒนา

6. ดูการลงทุนและระบบการสนับสนุน

ดูการลงทุน

เจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดีควรมีบริการหลังการขาย และให้คำปรึกษาผู้ซื้อแฟรนไชส์อย่างใกล้ชิด ผู้ซื้อแฟรนไชส์จึงควรศึกษาในเรื่องสัญญาและข้อตกลงอย่างละเอียด บางธุรกิจก็อาจจะช่วยในเรื่องเบื้องต้น การหาพนักงาน การวางระบบ และการบริหารจัดการภายในร้าน แต่หากเกิดปัญหาตามมาภายหลังนั้น ในบางแฟรนไชส์ก็อาจจะไม่ได้สนใจในเรื่องนี้เลยก็เป็นได้ ที่สำคัญผู้ซื้อแฟรนไชส์ต้องศึกษารายละเอียด การคืนทุนให้รอบคอบด้วยว่า มีเงื่อนไขใดซ่อนเร้นหรือไม่

ธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีระบบคุณภาพมาตรฐาน จะต้องใช้งบการลงทุนค่อนข้างสูง ทั้งค่าแฟรนไชส์แรกเข้า และการตกแต่งร้าน รวมถึงต้องมีค่า Royalty Fee ที่เรียกเก็บรายเดือนด้วย รวมถึงมีระบบการสนับสนุนแฟรนไชส์ซีตลอดอายุสัญญาแฟรนไชส์ ไม่ว่าจะเป็น การทำการตลาด คิดค้นสินค้าใหม่ๆ ทำโฆษณาประชาสัมพันธ์ หาทำเลที่ตั้ง ระบบปฏิบัติการ ฯลฯ

โดยเจ้าของแฟรนไชส์จะเรียกเก็บค่าบริการให้การสนับสนุนจากแฟรนไชส์ซีในรูปแบบ เรียกเก็บเป็นเปอร์เซ็นต์ของยอดขายในแต่ละเดือน (Royalty Fee) ซึ่งปัจจุบันธุรกิจแฟรนไชส์ที่เรียกเก็บ Royalty Fee ล้วนแต่ประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียง เติบโตต่อเนื่อง ถือเป็นธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี มีคุณภาพ ซื้อไปแล้วประสบความสำเร็จแน่นอน ไม่โดนลอยแพแน่ครับ

จะเห็นได้ว่า ไม่ใช่เรื่องยากเลย ที่จะซื้อแฟรนไชส์ที่ดี ไม่โดนหลอก ไม่โดนลอยแพ แต่ปัญหาที่สำคัญของคนส่วนใหญ่ ก็คือ ไม่ลงสนามสำรวจของจริง ถือเป็นข้อผิดพลาดอย่างหนึ่ง จึงเกิดผลเสียหายตามมาอย่างที่เราเห็นกัน แต่ที่จริงแล้วถ้าคุณได้ปฏิบัติตาม 6 ข้อข้างต้นแล้ว เชื่อมั่นได้ว่า คุณจะได้คนพบกับธุรกิจแฟรนไชส์ที่ดี และไม่มีทางโดนลอยแพอย่างแน่นอน


อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ http://www.thaifranchisecenter.com/home.php
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี ทำธุรกิจ http://www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php

Franchise Tips

  1. ดูเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์
  2. ดูสัญญาแฟรนไชส์
  3. ดูทำเลที่ตั้งในพื้นที่
  4. ดูสินค้าและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  5. ดูการพัฒนาธุรกิจและปรับปรุงตลอดเวลา
  6. ดูการลงทุนและระบบการสนับสนุน

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3pzU2WD

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช