5 ธุรกิจที่คนคิดว่าง่าย! หลายคนทำแล้ว “ไม่รอด”

มีตัวอย่างมาให้เห็นบ่อยๆ เวลาเห็นใครทำอะไรแล้วคิดว่าดี คิดว่าง่าย เราเองก็ทำได้ แต่พอทำจริงๆ กลับเจ๊งไม่เป็นท่า ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าปัจจัยหลักของการลงทุนใดๆ ไม่ใช่แค่ “คิดว่าทำได้”

แต่เราต้องศึกษาแนวทางการลงทุน วางแผนการลงทุนให้มีคุณภาพ รวมถึงต้องมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ โดย 5 ธุรกิจที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นธุรกิจที่เราเห็นกันทั่วไปแต่ถ้าไม่วางแผนการลงทุนให้ดีมีสิทธิ์ “ไม่รอด” ได้เช่นกัน

1. ร้านกาแฟ

ธุรกิจที่คนคิดว่าง่าย

ภาพจาก freepik

เป็นการลงทุนอันดับหนึ่งที่ก่อนลงทุนเราเชื่อว่ายังไงก็ขายได้ ดูจากอะไร ก็จากความชอบ ความนิยม และคิดว่ากาแฟของเราจะสู้กับคู่แข่งอื่นๆได้ ซึ่งบางทีหากไม่เตรียมทำการบ้านมาให้ดี ร้านกาแฟที่ตั้งใจจะปราบเซียนได้ไม่รู้ตัว อย่าลืมว่าร้านกาแฟยุคนี้ถ้าเราเลือกเปิดเป็น Shop หรือ Café ยิ่งต้องชนกับแบรนด์ดังมากมาย หรือจะเลือกเปิดเป็นคีออสเล็ก ๆในตลาดเราก็มีคู่แข่งในกลุ่มเดียวกันอีกมากเช่นกัน

ลองคิดกันเล่นๆ ว่าเลือกลงทุนแบบ Café ให้เข้ากับกระแสนิยมของคนยุคนี้ ตัวเลขกลมๆทั้งการลงทุนในด้านสถานที่ อุปกรณ์ เบ็ดเสร็จมีไม่ต่ำกว่า 700,000-1,000,000 บาท โดยเราตั้งเป้าขายได้ 100 ถ้วย/วัน ราคาถ้วยละ 60 บาทจะมีรายได้ประมาณ 180,000 บาท หักต้นทุนคิดเฉลี่ยที่ 18 บาท เท่ากับกำไรขั้นต้นประมาณ 126,000 บาท ตัวเลขนี้ดูเหมือนจะดี แต่อย่าลืมว่าเรายังมีรายจ่ายจากค่าเช่าสถานที่ , ค่าจ้างพนักงาน , ค่าน้ำค่าไฟ คิดตัวเลขกลมๆ ก็น่าจะไม่ต่ำกว่า 100,000 บาท/เดือน

นั่นหมายความถ้าเราลงทุนที่ประมาณ 1 ล้านบาทการคืนทุนของเราจะประมาณ 3-4 ปี เป็นอย่างน้อย และในระหว่างนั้นเราต้องเจอกับตัวแปรมากมายทั้งคู่แข่ง เศรษฐกิจ กำลังซื้อของผู้บริโภค จึงเป็นเหตุผลว่าหากผู้ลงทุนไม่มีสายป่านที่ดี ไม่มีการวางแผนที่ดี รับรองว่า “ปราบเซียน” แน่นอน

2. ร้านขายเสื้อผ้า

31

ภาพจาก freepik

ไม่ลงทุนกับเครื่องดื่มแต่คิดจะเดินสู่ธุรกิจเสื้อผ้า ก็ระวังจะโดนปราบเซียนได้เช่นกัน แม้ข้อมูลจะสวนทางว่าตลาดแฟชั่นเมืองไทยเติบโตเพิ่มขึ้น 4.1% อันเนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของเทคโนโลยีออนไลน์ที่ทำให้เกิดพ่อค้าแม่ค้าหน้าใหม่แบบไม่ต้องเปิดหน้าร้าน แต่ก็ใช่ว่าจะไปได้สวยงามเสมอ ถ้าหันไปดูในตลาดจะพบว่ามีทั้งที่รอดและไม่รอด

ในทางทฤษฏีบอกว่าเราต้องใจรัก เราต้องศึกษาแฟชั่นเป็นอย่างดี เราต้องมีกลยุทธ์การตลาดที่ดึงดูด ซึ่งในความจริงก่อนลงทุนเราเชื่อว่าทุกคนก็วางแผนมาอย่างดี แต่สิ่งที่ทำให้ไปไม่รอดในการขายเสื้อผ้าคือ “เทรนด์การแต่งตัวของคนที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว”  นั่นหมายถึงเราต้องมีเงินทุนหมุนเวียนในการซื้อสินค้าให้ตรงกับความต้องการลูกค้าต่อเนื่อง เบ็ดเสร็จในการเปิดร้านขายเสื้อผ้า เราอาจมีเงินทุนเริ่มต้นที่ 20,000-50,000 บาท สำหรับร้านขนาดไม่ใหญ่นัก

อย่างไรก็ตามการที่ในตลาดมีตัวเลือกมากมายก็เป็นปัญหาว่าเราจะดึงดูดลูกค้าได้อย่างไรให้สนใจร้านเรา บางคนบอกไม่ต้องกลัวไม่ต้องคิดมากเราขายออนไลน์ไม่มีต้นทุนมากมาย ขายได้ก็ดี ขายไม่ได้ก็ไม่เป็นไร แต่นั่นคือคำปลอบใจตัวเอง หากลองขายไม่ได้ติดต่อกันสัก 1-2 เดือน เชื่อว่าคุณก็ไม่อยากทำธุรกิจนี้ต่อไป การลงทุนที่ทำไปก็เท่ากับสูญเปล่า ปราบเซียนได้เหมือนกัน

3. ขายของออนไลน์

30

ภาพจาก freepik

โลกยุคดิจิทัล เราอาจมองว่าขายของออนไลน์คือช่องทางสร้างรายได้แบบไม่ต้องมีต้นทุนอะไรมาก จึงไม่น่าแปลกที่เราจะเห็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เกิดขึ้นมากมาย ทั้งพวกที่เอาจริง กับพวกที่อยากลองทำเล่นๆ สุดท้ายธุรกิจจะคัดกรองเอาคนที่ใช่ที่สุดให้อยู่รอดส่วนคนที่ไม่รอดก็โดน “ปราบ” ไปตามระเบียบ

ต้นทุนของการขายของออนไลน์ยุคนี้เราไม่ต้องสต็อคสินค้า เรามีระบบ Dropship ที่เป็นเหมือนตัวกลางให้ลูกค้าสั่งของผ่านเราและทางเจ้าของสินค้าจะจัดส่งให้ลูกค้าในนามของเรา ฟังดูเหมือนไม่มีอะไรแต่สิ่งสำคัญคือเราจะทำอย่างไรให้ลูกค้ารู้จัก และสั่งสินค้าของเราได้ ในเมื่อมีพ่อค้าแม่ค้ามากมาย และเราก็ไม่ใช่ตัวแทนเจ้าเดียวจากฝั่งเจ้าของสินค้า จึงเป็นเหตุผลว่าทำไมบางคนทำแล้วมีรายได้ดี ในขณะที่บางคนทำเหมือนกันแต่กลับไม่มีรายได้เข้ามาเลย

4. ยูทูปเบอร์

29

ภาพจาก freepik

สมัยหนึ่งการเป็น Yotuber คือการสร้างรายได้ที่ดี มีรายได้หมุนเวียนเข้ามาถึงขนาดที่สร้างเนื้อสร้างตัวกับการเป็น Yotuber ได้เลยทีเดียว แต่เป็นสัจจธรรมของโลกเมื่ออะไรที่ว่าดีก็มักจะมีคนเข้ามาทำตาม ก่อให้เกิดกระแส Yotuber ฟีเวอร์ นั่นคือใคร ๆก็จ้องเข้ามาหารายได้จากการเป็น Yotuber ที่ว่านี้ ทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทาง Yotube เองก็กำหนดกฎเกณฑ์ใหม่เข้ามาป้องกัน ไม่ให้มีเนื้อหาที่ไร้สาระปรากฏขึ้นใน Yotube มากเกินไป

ด้วยข้อกำหนดใหม่ที่ว่านี้ ทำให้ Yotuber หน้าใหม่มีโอกาสเกิดได้น้อยมาก คนที่จะทำได้ก็คือคนที่ตั้งใจและอยากทำ อยากเป็น Yotuber จริงๆ นั่นก็เพื่อการรักษาคุณภาพของ Yotube ให้น่าสนใจ กลายเป็นอีกหนึ่งอาชีพปราบเซียนที่ใครจะลักไก่เข้ามาทำแล้วหวังรวยแบบง่ายๆ ไม่ได้อีกต่อไป

5. ร้านอาหาร

28

ภาพจาก freepik

ถ้าคิดตามหลักว่า อาหารคือปัจจัย 4 ต่อให้ยากดีมีจนยังไง คนเราก็ยังต้องกิน เหตุผลนี้ทำให้ปัจจุบันมีร้านอาหารทั้งขนาดเล็กและใหญ่เกิดขึ้นในประเทศเป็นจำนวนมาก ข้อมูลจากการสำรวจระบุว่าในปี 2561 มีร้านอาหารในประเทศไทยรวมกว่า 205,709 ร้าน กระจายตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งในความเป็นจริงการเปิดร้านอาหารให้รอดปลอดภัย อาจไม่ถึงกับว่าเป็นไปไม่ได้ แต่คนที่จะทำได้ต้องมีวิธีการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพจริงๆ

ต้นทุนทำร้านอาหารแปรผันไปตามขนาดของร้าน ค่าเช่าสถานที่ รูปแบบของร้าน ในกรณีที่เลือกเปิดร้านขนาดเล็กประเภทอาหารตามสั่งทั่วไป ในกรณีที่ใช้พื้นที่หน้าบ้านตัวเองอาจมีค่าใช้จ่ายไม่สูงมาก เฉลี่ย 5,000-10,000 บาท แต่สิ่งที่ต้องแลกกันคือทำเลที่อาจไม่ดี การดึงดูดลูกค้าอาจไม่มากนัก ก็เท่ากับว่ายอดขายเราจะไม่สามารถคาดหวังได้ หากมองในเชิงธุรกิจที่หวังการเติบโตก็จำเป็นต้องเสี่ยงลงทุนมากขึ้น ซึ่งถ้าไม่มีประสบการณ์ด้านนี้จะค่อนข้างลำบากโดยเฉพาะคนที่ทำการตลาดไม่เก่งพอ

ในความเป็นจริงคำว่า “ธุรกิจปราบเซียน” อาจไม่ได้จำเพาะแค่อาชีพที่เราพูดถึงเหล่านี้ ไม่ว่าจะลงทุนอะไรก็ตาม มีโอกาส “ปราบเซียน” ได้ทั้งนั้นยิ่งหากไม่รู้จักก้าวตามกระแสยุคใหม่ให้ทัน วางแผนการบริหารจัดการไม่ดี ลงทุนอะไรก็เสี่ยงทั้งนั้น

สุภาษิตโบราณกล่าวไว้ว่า “เห็นช้างขี้อย่าขี้ตามช้าง” เขาหมายถึงว่าให้เราประเมินศักยภาพตัวเองว่ามีแค่ไหน เราสามารถทำอะไรได้มากเท่าไหร่ ถ้าเห็นคนอื่นทำได้ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้เหมือนเขา สิ่งที่เราเห็นแล้วคิดว่าง่าย แต่พอลงมือทำจริง มีปัญหาให้เราต้องแก้ไขมากมาย ถ้าเราไม่มีการวางแผนที่ดีแม้จะเป็นธุรกิจสินค้ายอดฮิตแค่ไหน ก็อาจทำให้การลงทุนของเรา “ไม่รอด”


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3dYIolu

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด