5 คำถามพลิกชีวิต ! เปลี่ยนคนอยากลาออกให้พร้อมทำงานต่อ

ปัญหาสำคัญของหลายบริษัทนั้นคือการรักษาคนที่มีคุณภาพใน การทำงาน ไว้ไม่ได้ ยิ่งปัจจุบันเรื่องของค่าจ้างที่ไหนจ่ายแพงกว่าก็อาจดึงตัวพนักงานเก่งๆ ให้ออกไปร่วมงานได้ง่ายขึ้น ในฐานะที่ www.ThaiSMEsCenter.com นั้นก็อยู่กับแวดวงของธุรกิจมานานจึงมองเห็นว่าธุรกิจที่แข็งแกร่งต้องเริ่มจากการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเอาไว้ให้ได้ในอันดับแรกเพื่อการสานต่อธุรกิจที่ได้คนซึ่งเข้าใจในระบบการทำงาน ระบบการบริหารและสามารถคิดต่อยอดสิ่งดีๆให้กับธุรกิจได้อย่างตรงจุดที่สุด

แต่สิ่งสำคัญคือเมื่อคนเหล่านี้ต้องการที่จะลาออกบริษัทหรือว่าเจ้าของธุรกิจมีวิธีการอย่างไรที่จะเปลี่ยนความคิดเขาเหล่านั้นให้กลับมาพร้อมทำงานต่อกับบริษัทเราได้ จึงเป็นที่มาของ 5 คำถามพลิกชีวิต เปลี่ยนคนที่อยากลาออกให้ตัดสินใจใหม่แน่นอนว่าคนเหล่านี้คือบุคลากรที่บริษัทเห็นค่าและอยากรักษาเอาไว้เพื่อช่วยกันทำธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ต่อไปในอนาคต

1.คุณยังมีใจรักในงานที่ทำอยู่หรือไม่

คำถามพลิกชีวิต

สำหรับพนักงานรายใดที่เราเห็นว่าเขายังมีความสำคัญแต่ด้วยปัญหาใดๆก็ตามที่ทำให้เขาตัดสินใจยื่นใบลาออก หากเรายังต้องการจ้างคนที่มีความสามารถเช่นนี้ไว้ เราก็มักจะต้องขึ้นต้นด้วยคำถามว่า ตัวเขาเองนั้นยังมีใจรักงานที่ทำอยู่หรือไม่ คำตอบของคำถามนี้จะเป็นการเปิดใจว่าเขาคิดอย่างไรกับหน้าที่การงานที่ทำอยู่และมีอะไรที่ทำให้เขาต้องอึดอัดใจกับการทำงานบ้าง

รวมถึงยังเป็นคำถามชี้นำไปยังเรื่องอื่นๆได้ โดยการถามหากเขาตอบว่าใช่และมีใจรักเพียงแต่มีเหตุผลอื่นที่ทำให้อยู่ไม่ได้เราก็ค่อยมาแก้ไขปัญหาที่เขามีกันทีละเรื่องแต่อย่างน้อยก็ให้เขาได้พูดถึงสิ่งที่เขาทำอยู่จะเป็นการตอกย้ำให้เขาเริ่มเห็นคุณค่าและรู้สึกว่าเขาเองก็คือคนสำคัญของบริษัทนั้นเช่นกัน

2.คุณลองเล่าเรื่องสนุกหรือประทับใจที่มีในการาทำงานให้ฟังสักหน่อย?

t2

โดยส่วนหนึ่งของการลาออกของพนักงานที่มีความสำคัญของบริษัทถ้าตัดเหตุผลส่วนตัวหรือเรื่องทางบ้านออกไปและไม่ใช่เพราะว่าเขาได้งานใหม่ที่มีเงินเดือนสูงกว่าเหตุผลหลักๆก็อาจจะมาจากความไม่พอใจในทีมงานหรือว่ากฏระเบียบของบริษัทบางประการหรือว่ามาจากความอึดอัดบางเรื่องที่ทำให้เขาต้องตัดสินใจลาออก

การเปิดใจคุยกันเรื่องนี้แบบที่เป็นธรรมชาติมากที่สุดคือการให้เขาได้เล่าเรื่องความประทับใจที่เกิดจากการทำงานโดยอาจจะเป็นเรื่องสนุกๆ ขำขัน หรือว่าอะไรก็ตามที่เป็นความทรงจำที่เขามีกับบริษัท ในทางจิตวิทยาแล้วการชี้นำด้วยคำถามนี้จะทำให้ผู้ตอบคำถามเกิดความรู้สึกด้านบวกได้มากขึ้นและเริ่มมองเห็นอีกด้านของความรู้สึกที่อาจจะทำให้เขาเริ่มรู้สึกลังเลกับการตัดสินใจในทีแรกก็เป็นได้

3.คุณเคยใช้ความสามารถในการทำงานแบบเต็มที่แล้วหรือยัง?

t6

อาจมองดูเหมือนเป็นคำถามเชิงลบที่กระทบจิตใจคนตอบได้มากที่สุด แน่นอนว่าถ้าเราถามด้วยคำถามนี้ส่วนใหญ่ต้องตอบกลับมาว่าที่ผ่านมาเขาก็ได้พยายามและใช้ความสามารถได้เต็มที่แล้ว ซึ่งจุดประสงค์ของคำถามนี้ไม่ได้ต้องการตอกย้ำให้พนักงานต้องรู้สึกด้อยค่า แต่เราจะเสริมคำตอบในตอนท้ายหลังจากที่เขาพูดว่าได้ใช้ความสามารถเต็มที่แล้ว

หัวหน้างานหรือเจ้าของต้องพูดอย่างจริงว่าเขาเชื่อว่าพนักงานยังไม่ได้ใช้ความสามารถที่มีอยู่ทั้งหมด ซึ่งทางบริษัทเองก็มีโปรเจคใหญ่ที่จะเหมาะสมกับความสามารถและต้องการคนระดับนี้เท่านั้นมาร่วมงานในโปรเจคดังกล่าว แน่นอนเช่นกันว่าผู้ตอบคำถามย่อมต้องรู้สึกตั้งคำถามย้อนกลับไปในตัวเองว่าแท้ที่จริงเราใช้ความสามารถหรือตั้งใจมากน้อยแค่ไหน

นอกจากนี้ยังทำให้พนักงานรู้สึกถึงคุณค่าที่บริษัทต้องการที่เหลือก็คือการตกลงในรายละเอียดว่าการทำงานที่ใหญ่ขึ้นมากขึ้น พนักงานจะได้อะไรตอบแทน ส่วนใหญ่ถ้าผ่านจุดนี้ไปได้โอกาสรักษาพนักงานเก่งๆ ไว้ก็มีมากเช่นกัน

4.คุณเคยรู้สึกไหมว่าคุณเป็นที่ชื่นชมของพนักงานคนอื่นเสมอ

t7

นอกเหนือจากเรื่องความสามารถในการทำงานเรื่องของกำลังใจก็มีผลสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าเราจะเป็นคนเก่งหรือมีความสามารถมากแค่ไหนแต่หากไม่เคยมีใครมาชมหรือให้กำลังใจเราแต่กลับไปชื่นชมหรือให้กำลังใจอีกคนหนึ่งที่เขาคิดว่าไม่ได้เก่งไปกว่าตัวเองเช่นนี้ก็อาจเป็นแผลเล็กๆในใจที่ทำให้หมดกำลังใจและไม่อยากทำงานอีก

ทางที่ดีคือหัวหน้างานหรือว่าเจ้าของธุรกิจต้องตั้งคำถามให้เขารู้สึกว่าที่ผ่านมาแม้จะไม่มีใครชื่นชมเขาโดยตรงแต่ในความเป็นจริงแล้วมีคนแอบชื่นชมเขาเป็นอย่างมาก รวมถึงตัวหัวหน้างานหรือว่าเจ้าของธุรกิจเองก็เช่นกัน โดยอาจยกตัวอย่างว่าเราเคยยกตัวอย่างให้พนักงานใหม่เห็นว่าเราทำงานเก่ง ทำงานดีเพียงใด

รวมถึงยกย่องให้พนักงานนั้นเป็นโมเดลของการทำงานที่ดี ซึ่งแน่นอนว่าอาจเป็นเรื่องเมคเซ้นท์ขึ้นมาหรือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงก็ตามแต่อย่างน้อยก็จะทำให้พนักงานรู้สึกได้ว่าตัวเองนั้นไม่ได้ด้อยค่าและมีคนเห็นความสำคัญอยู่ตลอดเวลา

5.ในฐานะพนักงานด้วยกันมีคนให้ความเคารพคุณมากนะ

tt1

และไม่ใช่แค่เรื่องกำลังใจเพียงเท่านั้นที่ต้องการ ยิ่งทำงานนานเท่าไหร่ก็ยิ่งต้องการให้ตัวเองเป็นที่เคารพของพนักงานรุ่นหลังรวมถึงการถูกยอมรับจากเพื่อนร่วมงานในรุ่นราวคราวเดียวกัน

หลายคนที่ตัดสินใจลาออกหรือรับไม่ได้กับการทำงานเพราะรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจที่มีพนักงานรุ่นใหม่ทำผลงานได้ดีกว่าหรือรู้สึกว่าทีมงานตัวเองทำงานได้ไม่มีประสิทธิภาพซึ่งเป็นผลมาจากการที่พนักงานไม่ได้เป็นที่เคารพเท่าที่ควรจะเป็น การตั้งคำถามในลักษณะนี้เพื่อตอกย้ำให้เขาเข้าใจว่าที่ผ่านมากับสิ่งที่เขาคิดนั้นเป็นเรื่องที่ผิดเพราะในความจริงมีคนเคารพและยกย่องการทำงานของเขามาก

รวมถึงอาจชี้แจงให้เห็นภาพว่าหากย้ายที่ทำงานใหม่ไปเจอสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ ต่อให้เรามีประสบการณ์จากที่นี่แต่ก็ใช่ว่าจะเป็นที่ยอมรับได้โดยง่าย พนักงานเก่าจากที่หนึ่งก็คือพนักงานใหม่ในอีกที่หนึ่งซึ่งแน่นอนว่าต้องใช้เวลาในการสร้างบารมีขึ้นมาใหม่ซึ่งแน่นอนว่าถ้ายังทำงานที่เดิมเรื่องนี้เรามีข้อได้เปรียบที่ชัดเจนอยู่แล้ว

เหตุผลนานาประการกับคำตอบหลายอย่างที่หัวหน้างานจะพยายามโน้มน้าวใจพนักงานที่มีความสำคัญนั้นก็เพราะเขามองเห็นในประสิทธิภาพการทำงานและต้องการรักษาสมดุลของบริษัทไว้ให้ดี เพราะในความเป็นจริงการรักษาบุคลากรที่มีความสามารถเป็นเรื่องยาก

องค์กรใดธุรกิจใดที่ต้องการความมั่นคงแข็งแรงจำต้องรักษาทีมงานที่ทำงานกันมานานและมีความสามารถเอาไว้ซึ่งดีกว่าการจ้างคนใหม่ไปเรื่อยๆ ซึ่งถือว่าไม่มีความต่อเนื่องและไม่มีความผูกพันกับองค์กรซึ่งในระบบธุรกิจยุคใหม่เรื่องนี้มีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งทีเดียว

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

ขอบคุณข้อมูลจาก goo.gl/E6lQ2I

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด