5 คาถาป้องกัน ธุรกิจแฟรนไชส์เจ๊ง!

แม้ว่า ธุรกิจแฟรนไชส์ จะได้รับความนิยมอย่างมากในปัจจุบัน ผู้ประกอบการหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก บ้างก็ประสบความสำเร็จและล้มเหลว

ดังนั้น ท่านใดที่กำลังสนใจเข้ามาในธุรกิจนี้ โดยเฉพาะเจ้าของแฟรนไชส์ (Franchisor) ที่คิดว่าธุรกิจที่ตัวเองทำอยู่นั้นเหมาะสำหรับทำแฟรนไชส์ หรือต้องการขยายธุรกิจด้วยการขายแฟรนไชส์ อย่าพึ่งด่วนตัดสินใจไป ควรศึกษาข้อมูลแฟรนไชส์ให้เข้าใจ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ได้มีคาถาป้องกันธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ให้เกิดความล้มเหลวมาฝากเจ้าของธุรกิจที่กำลังจะทำแฟรนไชส์ทุกท่านครับ

5 คาถาป้องกัน

1.แฟรนไชส์ไม่ใช่สินค้า อย่าด่วนขายไม่เลือกคน

การทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ แม้ว่าจะเป็นช่องทางช่วยให้คุณขยายธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จเสมอไป เจ้าของธุรกิจหลายรายที่เร่งรีบขายแฟรนไชส์ให้กับคนอื่นต่างก็ประสบกับความล้มเหลวไปแล้วหลายราย เพราะไม่ได้ทำการศึกษาคนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ให้ถ่องแท้ เจ้าของแฟรนไชส์บางคนไม่รู้ด้วยว่าคนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์ไปนั้น มีความรู้เรื่องระบบแฟรนไชส์มากน้อยแค่ไหน

แฟรนไชส์ซีบางคนมาซื้อแฟรนไชน์เพราะอยากจะรวย แต่บริหารธุรกิจไม่เป็น ไม่เอาใจใส่ ปล่อยให้ลูกน้องทำเอง สุดท้ายก็เจ๊ง ดังนั้น เจ้าของแฟรนไชส์พึงคิดเสมอว่า แฟรนไชส์ไม่ใช่สินค้า ใครจะมาซื้อก็ขายให้ ควรไตร่ตรอง และคัดเลือกคนที่จะมาซื้อแฟรนไชส์จากคุณไปด้วย เพราะถ้าเขาบริหารธุรกิจเป็น เอาใจใส่เป็นอย่างดี ธุรกิจแฟรนไชส์คุณก็เติบโต

uu82

2.ควบคุมระบบไม่ได้ อย่าด่วนลงทุน

ระบบธุรกิจแฟรนไชส์ประกอบด้วยวิธีการหลายๆ ด้าน ถ้าเจ้าของธุรกิจแฟรนไชส์บริหารงานหรือควบคุมระบบแฟรนไชส์ไม่ได้ ก็ไม่ควรที่จะเร่งด่วนในการลงทุน เจ้าของแฟรนไชส์อาจจะต้องมีการสร้างระบบบริหารธุรกิจที่เป็นแบบอย่างที่ชัดเจน

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างทีมงาน สาขา บัญชี ระบบการตรวจสอบ ควบคุมการผลิตสินค้าให้มีมาตรฐาน รวมถึงกระบวนการทำตลาด โฆษณาประชาสัมพันธ์ และอื่นๆ อีกมากมาย สิ่งเหล่านี้เป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์คุณประสบความสำเร็จ คุณจะต้องควบคุมให้ได้

uu83

3.ตลาดไม่ใหญ่พอ อย่าเสียเวลาเร่ขาย

ธุรกิจของคุณที่คิดจะขยายการเติบโตในรูปแบบของแฟรนไชส์ สินค้าหรือบริการของคุณจะต้องเป็นที่ต้องการของตลาดในแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน ผู้บริโภคส่วนใหญ่ต้องรู้จัก และมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง แต่ถ้าคุณยอมรับว่าสินค้าและบริการของคุณยังไม่เป็นที่รู้จักในตลาด คุณก็จะต้องแก้ไขหากลยุทธ์ แก้ความบกพร่องในเรื่องนี้ เพื่อเสริมสร้างความเป็นไปได้ในการสร้างระบบแฟรนไชส์

มันไม่ยุติธรรมเลยถ้าคุณไม่เคยลงทุนโปรโมทแบรนด์ของคุณมาก่อน ดังนั้น ธุรกิจของคุณถ้ามีตลาดไม่ใหญ่พอ ก็อย่าไปเสียเวลาเร่ขาย ยกตัวเช่น ธุรกิจเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ไม่เหมาะที่จะทำระบบแฟรนไชส์ เนื่องจากมีความต้องการของตลาดอย่างจำกัด

uu84

4.ความรู้เฉพาะ อย่าถ่ายทอด

ระบบบริหารที่ต้องอาศัยพรสวรรค์ หรือความรู้เฉพาะบุคคลเป็นลักษณะธุรกิจที่ไม่เหมาะที่จะทำแฟรนไชส์ (Franchise) เช่น การวาดรูป ถ้าคุณพิจารณาดูแล้วว่าธุรกิจของคุณจำเป็นต้องอาศัยพรสวรรค์พิเศษเฉพาะบุคคล คุณก็ตัดสินใจได้ว่าทำแฟรนไชส์ไม่ได้ หรือไม่ก็ถ้าธุรกิจคุณสามารถทำแฟรนไชส์ได้

ถ้าจะถ่ายทอดให้คนอื่นจะต้องไม่ใช่ความรู้เฉพาะที่คุณรู้คนเดียว อาจจะเป็นการถ่ายทอดระบบการบริหารงานอย่างอื่นแทนก็ได้

uu85

5.อย่าปล่อย Franchise บริหารเอง

แน่นอนว่าเมื่อคุณขายแฟรไชส์ให้กับคนอื่นไปแล้ว คุณจะต้องมีระบบการบริหารธุรกิจให้กับคนที่ซื้อแฟรนไชส์จากคุณไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการอบรมพัฒนาบุคลากรให้กับแฟรนไชส์ซีอย่างต่อเนื่อง รวมถึงบริหารงานด้านการทำตลาดและโฆษณาประชาสัมพันธ์

คุณอย่าปล่อยให้แฟรนไชส์ซีบริหารธุรกิจเอง เพราะถ้าบริหารไม่เป็น อาจมีปัญหาตามมากระทบต่อธุรกิจคุณและแฟรนไชส์ซีอื่นๆ ด้วย ยิ่งถ้าคุณบริหารระบบแฟรนไชส์ได้ดี ธุรกิจของคุณก็จะเติบโตไปพร้อมๆ แฟรนไชส์ซี คุณก็จะอยู่ได้อย่างมั่นคงในตลาด

ผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจนี้ หรือคนที่กำลังคิดจะทำธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ต้องศึกษาข้อมูลให้ถ่องแท้และเข้าใจอย่างลึกซึ้ง เพื่อที่จะดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงในตลาด และประสบความสำเร็จในธุรกิจแฟรนไชส์ได้อย่างที่ตั้งใจไว้

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3kXsHvy

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช