5 ข้อชี้ชัด! เปิดร้านแบบนี้กี่ปีๆ ก็ไม่รวย

คำว่า “ เปิดร้าน ” ได้เหมารวมทุกอย่างที่ไม่ได้หมายความแค่ร้านอาหารเพียงอย่างเดียว แม้ปัจจุบันธุรกิจร้านอาหารถือว่าเป็นการลงทุนที่น่าสนใจที่สุดเพราะต่อให้คนมีรายได้มากน้อยแค่ไหน

ยังไงก็ต้องกิน เหตุนี้ร้านอาหารในเมืองไทยจากผลการสำรวจเมื่อต้นปี 2561 พบว่ามีจำนวนถึง 205,709 (ฐานข้อมูลจาก Wongnai) แยกย่อยเป็นทั้งร้านอาหาร ร้านก๋วยเตี๋ยว ร้านกาแฟ และอื่นๆ

และการเปิดร้านไม่ว่าจะร้านอาหารหรือว่าร้านค้า ร้านบริการอื่นใดก็ตาม เป็นสิ่งที่คนสนใจลงทุนมากเนื่องการเรื่องการค้าขายเป็นสิ่งที่ง่ายกับการเริ่มต้นทำธุรกิจมากที่สุด

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนที่ลงทุนแล้วจะประสบความสำเร็จ มีปัจจัยกระทบหลายเรื่องที่หากไม่ศึกษามาดีจริง แทนที่จะได้กำไรอาจกลายเป็นขาดทุน เหตุนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มีผลการศึกษา 5 ข้อที่ชี้ชัดว่าไม่ควรทำเพราะหากเป็นแบบนี้เปิดร้านค้าจะนานกี่ปีก็ไม่มีทางรวยแน่นอน

1.อย่าคิดแค่อยากจะรวย

เปิดร้าน

ค่านิยมคนไทยถูกปลูกฝังเรื่อง “เงิน” มากเกินไป ทุกวันนี้พ่อแม่มักสอนลูกเสมอว่า “รวยแล้วดี” “รวยแล้วสบาย” “รวยแล้วจะทำอะไรก็ได้” แม้แต่หนังสือตามร้านก็มีแต่ประเภทสอนรวยด้วยสารพัดวิธีการต่างๆ การจะเปิดร้านค้าใดๆ ก็ตามอย่าตั้งเป้าด้วยคำว่า “อยากรวย” เพราะนั่นจะทำให้เรายึดติดกับเป้าหมายที่ผิดเพี้ยน กลายเป็นว่าเราจะทุ่มเททำทุกอย่าง

ทุกวิถีทางที่จะให้ร้านค้าเรามีกำไรโดยมองข้ามปัจจัยอื่นๆ ไปหมด ซึ่งในการเปิดร้านค้าสมัยก่อนคือการสืบทอดของรุ่นต่อรุ่น จากพ่อส่งต่อให้ลูก ลูกก่อนจะโตมาเป็นพ่อค้าก็ต้องเรียนรู้การขายจากพ่อ รู้จักฐานลูกค้าเก่าๆ รู้จักวิธีการขาย

เมื่อโตมาสืบทอดกิจการก็เข้าใจหลักการในการสานสัมพันต่อเนื่อง ลูกค้าก็ยังไม่หนีหาย แต่ทุกวันนี้เราคิดแค่อยากรวย ใคร ๆ ก็พากันเข้ามาเปิดร้านค้า โดยไม่ได้คิดถึงเหตุผลอื่นประกอบ ไม่น่าแปลกใจที่บางร้านเปิดตัวสวยหรูแต่เจ๊งไม่เป็นท่า นั้นเพราะในสมองเขามีแค่คำว่า “อยากรวย” แต่ขาดทักษะที่ควรจะมี

2.ปรับตัวไม่เป็นก็พัง

z6

สมัยก่อนร้านโชห่วยคือจุดศูนย์รวมของคนในหมู่บ้าน เป็นเหมือนสภากาแฟให้คนมารวมตัวกันนั่งพูดนั่งคุยแลกเปลี่ยนข่าวสาร ต่อมายุคสมัยเปลี่ยนร้านสะดวกซื้อเข้ามาแทนที่ ร้านโชห่วยที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องปิดกิจการไป

หลังจากนั้นก็เป็นยุคโซเชี่ยลที่การตลาดออนไลน์มีผลกระทบรุนแรง ร้านค้าหรือธุรกิจไหนที่ยังยึดมั่นถือมั่นกับวิธีการขายเดิมๆก็พากันเจ๊งไม่เป็นท่าเหมือนร้านค้าปลีกในสหรัฐที่เคยมีข่าวว่าทยอยปิดสาขากันระนาว นั้นหมายความว่า “ร้านค้าที่ก้าวตามยุคสมัยเท่านั้นคือผู้ที่จะอยู่รอด” เมื่อยุคสมัยเปลี่ยน ร้านค้าก็ต้องปรับตัว ช่องทางไหนที่ไม่เคยมีไม่เคยทำก็ต้องทำและเรียนรู้ให้ไม่ตกยุค

ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่แค่การรู้จักว่า Facebook Line หรือ Youtube ใช้งานยังไงแต่บางทีเราควรจะจ้างบริษัทที่เชี่ยวชาญในการทำตลาดออนไลน์นี้แน่นอนว่าอาจเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นแต่หากมองแล้วคุ้มค่าก็ต้องเสี่ยงที่จะทำยังไงก็คงดีกว่าเจ๊งไม่เป็นท่า

3.คิดจะขายแต่ไร้กลุ่มเป้าหมาย

mm1

น่าจะเป็นโจทย์ใหญ่ของคนทำร้านค้าที่บางทีโฟกัสมาแต่สินค้าและบริการแต่ไม่ได้โฟกัสเรื่องกลุ่มเป้าหมายว่าควรจะเน้นกลุ่มไหนอย่างไรเป็นหลัก การทำตลาดแบบหว่านแห หวังให้ใครก็ได้มาซื้อสินค้ากลายเป็นจุดจบของร้านค้ามานักต่อนัก การที่เราจะรู้ว่าขายใคร ไม่ใช่แค่รู้เบื้องต้นเกี่ยวกับกลุ่มเป้าหมายเท่านั้น มันต้องรู้ไปถึงความคิด ความรู้สึก ว่าจริงๆแล้วเค้าเป็นคนแบบไหน ต้องการทำอะไร

อยากใช้ชีวิตแบบไหน ลึกไปถึง Lifestyle การใช้ชีวิตของคนกลุ่มนั้น ๆ การที่เรามีกลุ่มตลาดที่แน่นอนจะทำให้เราประหยัดงบในการโฆษณาและเจาะจงขายสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั้นหมายถึงเราสามารถสร้างโปรโมชั่นให้ถูกใจกลุ่มเป้าหมายของเราได้โดยเฉพาะ ซึ่งการโฟกัสที่ถูกต้องคือเครื่องมือของร้านค้ายุคนี้ที่ดีกว่าการขายแบบหว่านแหสะเปะสะปะ

4.ไม่มีการสร้างอารมณ์ให้คนรู้สึกดีต่อสินค้า

z7

ถ้านึกไม่ออกให้คิดถึงแบรนด์จากญี่ปุ่น สินค้าจากประเทศนี้ทำไมขายดีไม่ว่าจะเป็นชิ้นเล็กชิ้นใหญ่หากบอกว่าเมดอินเจแปนคนมักนิยม บางชิ้นคุณภาพไม่ได้ดีกว่าคนไทยผลิต แต่ที่ดีกว่าคือ “Story” ที่ทำให้คนมีอารมณ์ร่วมต่อสินค้ารู้สึกว่าสินค้าดูมีคุณค่า

ซึ่งร้านค้าเมืองไทยส่วนใหญ่มักไม่มี “อารมณ์ร่วมของสินค้า” แบบนี้ ดูง่ายๆ สินค้า OTOP ของไทยเรารู้ว่าคือของดีและทั้งที่สินค้าเหล่านี้ก็มีหน้าร้านออนไลน์แต่ทำไมส่วนใหญ่ถึงขายได้เฉพาะตอนออกงานอีเว้นท์เท่านั้น

สิ่งที่ขาดหายไปคือ การสร้างความรู้สึกที่ดีของลูกค้าที่ทำให้เค้ารู้สึกดี มั่นใจ และพร้อมจะซื้อสินค้าเรา ถ้าตอนนี้ใครคิดเปิดร้านค้าอย่าลืม Story ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องผิวเผินแต่มันคือกุญแจที่บอกว่าร้านค้าเราจะไปได้ใกล้หรือไกลแค่ไหนด้วย

5.ในหัวมีแต่คำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”

z5

คำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า” นิยามของคำนี้ทำให้เราในฐานะเจ้าของธุรกิจรู้สึกว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เราต้องเอาอกเอาใจลูกค้าทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เงินจากลูกค้า ซึ่งถือเป็นความคิดที่อันตรายมาก ในมุมมองของธุรกิจอาจเป็นดีลธุรกิจที่ win-win แต่เชื่อได้เลยว่า ความสำเร็จของธุรกิจไม่ได้เกิดจากลูกค้าเท่านั้น

สังเกตง่ายๆบริษัทไหนที่ทำธุรกิจโดยเอาเงินจากลูกค้าเป็นตัวตั้งแม้เจ้าของจะรวย แต่ลูกน้องจะไม่มีความสุขเพราะในขณะที่เอาใจแต่ลูกค้าลูกน้องเราเองกลับเป็นเหมือนชนชั้นที่ 2 ที่ต้องรองรับอารมณ์ต่างๆ นานาเพียงเพราะคำว่า “เขาคือลูกค้า” สิ่งที่ดีที่สุดคือต้องให้ทั้งสองเรื่องนี้เดินไปด้วยกันอย่างสอดคล้อง

ลูกค้าสำคัญ แต่ลูกน้องก็สำคัญไม่ต่างกัน อย่างคนญี่ปุ่นจะให้ความสำคัญกับเรื่องการให้บริการมากถึงมากที่สุด เพราะสิ่งที่เค้าทำเค้าไม่ได้ทำเพื่อเงิน แต่เค้าทำเพื่อให้ลูกค้าของเค้ามีประสบการณ์ที่ดีและมีความสุข รวมถึงแม้ลูกน้องจะทำงานหนักแต่เขาก็ได้รับในสิ่งที่เขาควรจะได้รับซึ่งมันคือความหมายของคำว่า Win-Win ในการดีลธุรกิจอย่างแท้จริง

สรุปโดยหลักใหญ่ใจความการลงทุนเปิดร้านค้าหรือทำธุรกิจในยุคนี้จะอาศัยเพียงแค่ความคิดความเข้าใจของตัวเองไม่ได้อีกต่อไปต้องมองการเปลี่ยนแปลงของสังคม มองความต้องการของลูกค้า แสวงหาเครื่องมือให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย และนอกจากรักษา

ลูกค้าต้องรู้จักรักษาพนักงานให้มีกำลังใจทำงานด้วย ทำธุรกิจไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือทำง่ายๆ ต้องคิดวิเคราะห์วางแผนให้รอบคอบ ยิ่งในยุคที่เงินทองหายากหากลงทุนผิดพลาดสักครั้งอาจหมายถึงหายนะในระยะยาวของตัวเองก็ได้


SMEs Tips

  1. อย่าคิดแค่อยากจะรวย
  2. ปรับตัวไม่เป็นก็พัง
  3. คิดจะขายแต่ไร้กลุ่มเป้าหมาย
  4. ไม่มีการสร้างอารมณ์ให้คนรู้สึกดีต่อสินค้า
  5. ในหัวมีแต่คำว่า “ลูกค้าคือพระเจ้า”

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด