5 กลยุทธ์แต่งร้าน ให้เรียกเงิน “ล้าน” ได้ง่ายขึ้น

สิ่งหนึ่งที่เป็นกลยุทธ์สำคัญของการตลาดคือ วิธีการดึงดูดลูกค้าให้มาสนใจ แน่นอนว่าในเทคนิคการตลาดย่อมมีวิธีการมากมายที่ให้บรรลุเป้าหมายนั้น แต่ทว่าการ แต่งร้านให้ได้ผลดีที่สุดมีหลักสำคัญเพียงไม่กี่ประการ แต่ผลที่ได้จากการทำตามทฤษฏีเหล่านั้นให้ผลดีเป็นอย่างมาก

www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมเอา 5 กลยุทธ์แต่งร้าน เพื่อให้ผู้ลงทุนสามารถเรียกเงินล้านเข้ามาสู่ธุรกิจได้เร็วยิ่งขึ้น บางครั้งการเรียนรู้ทฤษฏีที่ถูกต้องอาจทำให้เราไม่ต้องเสียเงินจำนวนมากในการจ้างมัณฑนากรมาออกแบบเท่ากับเป็นการประหยัดต้นทุนทางหนึ่งที่ทำให้เราเข้าใกล้เงินล้านได้ง่ายกว่าเดิมอีกด้วย

ทฤษฏีที่สำคัญเกี่ยวกับการแต่งร้านให้ได้เงินล้านคือการคือใช้ “Brand Story” ซึ่งหมายถึงการเล่าเรื่องราวความเป็นมาเป็นไปในอนาคตของตัวเราที่จะเชื้อเชิญให้กลุ่มเป้าหมายรู้สึกดีและมีส่วนร่วมไปกับวงจรชีวิตของธุรกิจเรา

หรือสรุปแบบย่อๆคือเอาแก่นแท้ของธุรกิจที่เราสร้างมาเป็นจุดดีไซน์ในการแต่งร้านนั่นเอง ซึ่งคำว่า Brand Story ประกอบไปด้วย 5 ส่วนสำคัญที่เราควรจะต้องเรียนรู้คือ

1.Brand Concept หรือ Brand Theme

4

หากจะให้เข้าใจง่ายขึ้นก็ใช้คำว่า “Shop Concept” หมายถึงรูปแบบแนวความคิดของร้านที่อยากจะเล่าผ่านการขายในองค์รวม ต้องเล่าให้ได้ก่อน ตีโจทย์ให้แตกว่าใครๆ ก็ตามที่ก้าวแรกเข้ามาควรเข้าใจได้เลยว่าร้านนี้ คืออะไร มีที่มาที่ไปอย่างไร

พร้อมกับคำตอบว่า ขายอะไรในบัดดล! เพราะนี่คือหัวใจของร้านที่สืบเนื่องมาจากที่มาของการตั้งชื่อแบรนด์ และร้านค้า ยิ่งถ้าได้ตั้งชื่อร้านค้าให้มีความสมดุลต่อการเข้าใจในการถ่ายทอด Brand Story ได้ก็จะยิ่งดีต่อผู้เข้าร้านมากขึ้น

เช่นร้านอาหารอีสานแห่งหนึ่งแถวบางกะปิใช้ชื่อร้านว่า “เรื่องลาว” คอนเซปต์ของร้านคือความอบอุ่นในแบบฉบับของภาคอีสานจึงจัดวางร้านด้วยโทนสีส้ม เหลือง แดง ที่เป็นสีสันธรรมชาติ คนที่เข้ามาในร้านอาหารจะรับรู้ได้ถึง Concept ที่เจ้าของร้านต้องการสื่อสารถึงผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี

2.Brand Decoration

3

คือการตกแต่ง จัดแต่ง ทุกองค์ประกอบ ทุกพื้นที่ของร้านให้มีภาพรวมพอเหมาะพอเจาะ ไม่หลงประเด็น หลงบุคลิก เพี้ยนรสนิยมในเชิงความสวยงาม

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล คือความสวยงามที่เหมาะสมอย่างพอเพียงที่อยู่ในกรอบของ Brand Decoration ที่ทำให้คนเข้าใจจิตวิญญาณของแบรนด์ได้อย่างง่ายๆ เพราะสิ่งเหล่านี้จะมีส่วนสัมพันธ์กันทั้ง ชื่อ ตราสัญลักษณ์ และความสวยงามของการตกแต่งร้าน

ยกตัวอย่างร้านกาแฟแนวอินดี้ทั้งหลายที่เน้นการใช้ทุกพื้นที่ใช้สอยให้เกิดประโยชน์สูงสุดรวมถึงการจัดวางอุปกรณ์ทุกอย่างที่เอื้อประโยชน์ต่อการใช้สอยรวมถึงสีสันของร้านที่จะเน้นแบบเรียบง่ายแต่ว่าคลาสสิคเห็นแล้วสบายตาสบายใจเหมาะสำหรับนั่งชิลๆจิบกาแฟโดยแท้

3.Brand Senses หรือ Brand Feels

2

หมายถึง รูป รส กลิ่น เสียง และความรู้สึกที่ดีหรือไม่ดี เมื่อพ้นออกจากการเยี่ยมร้านของเราไปแล้ว หากยังนึกไม่ออก ลองนึกเทียบกับตัวว่า เราเคยไปร้านไหน แล้วรู้สึกประทับใจอะไรบ้าง หรือชอบอะไรบ้าง นั่นจะเป็นข้อสอบในการประเมินผลให้กับเสน่ห์ของร้านเรา

ส่วนใหญ่สิ่งที่จะช่วยเสริมเติมแต่งให้ร้านเรียกเงินล้านได้ นอกจากของที่ขายจะต้องมีราคาสมเหตุสมผลตามคุณภาพแล้ว ก็คือ บรรยากาศว่าสามารถมัดใจ มัดความรู้สึกได้นานแค่ไหน ยิ่งตรึงลูกค้าได้นานเท่าไร เงินในกระเป๋า ก็จะหมุน เวียนมาที่ลิ้นชักได้มากขึ้นเท่านั้น

แต่การสร้างความรู้สึกในเชิงสัมผัสของร้านนั้น ต้องอยู่ในกรอบของ Brand Story นะครับ เช่น ร้านยามีบุคลิกดูน่าเชื่อถือ มีตำนานกว่า 50 ปี แต่พอก้าวเข้าไป กลับได้ยินเสียงเพลงป๊อปในปัจจุบัน ได้กลิ่นตะไคร้ที่สปาชอบใช้กัน แบบนี้ก็คงผิด ต่อความรู้สึก

ร้านที่ทำแนวนี้แล้วได้ผลดีก็เช่น Sky Moon Bar & Bistro บริเวณดาดฟ้าของโครงการ Vanilla Moon ที่เป็นแหล่งแฮงค์เอ้าที่น่าสนใจใช้ภูมิทัศน์ของกรุงเทพฯมาเป็นตัวกระตุ้นรสชาติของอาหาร รวมถึงกลิ่นหอมเฉพาะในร้านที่น่าสนใจทำให้บรรยากาศรูป รส กลิ่น เสียง ส่งเสริมให้ร้านดูโดดเด่นเป็นอย่างมาก

4. Brand on Stage

4

ก็คือการโชว์ของโดยใช้ทฤษฎีร่วมกับ Brand Story ที่ว่า ของทุกชิ้นมีตัวตนที่แตกต่างน่าสนใจ ดูโดดเด่น และช่างสะดุดตาในทีแรกที่พบเห็น และสะดวกต่อการให้ถูกหยิบ ถูกจับ ถูกสัมผัส เข้าถึงง่าย ไม่ใช่ดูแต่ตา มือจับต้องไม่ได้ และที่สำคัญ การจัดวางสำหรับการโชว์ของนั้น ต้องมีระยะพอสมควร ให้รู้สึกสบายทั้ง 2 ฝ่าย

ไม่ว่าจะเป็นร้านแบบไหนก็ตาม และที่ขาดไม่ได้คือ ต้องคำนึงเสมอว่าอะไรคือจุดขาย อะไรคือตัวเด่นของร้าน อะไรที่ต้องอธิบาย ต้องอยู่ในสายตาของทุกคนแบบเป็นกันเอง เข้าใจง่าย ไม่ต้องผลักภาระให้ลูกค้าถาม ยิ่งถามมาก ลูกค้ายิ่งไม่มั่นใจ จุดนี้อยากให้จำไว้เป็นอย่างยิ่ง

ยกตัวอย่างง่ายเช่นร้านสินค้าต่างๆควรใช้พื้นที่หน้าเคาเตอร์ให้เกิดประโยชน์ด้วยการจัดวางสินค้าให้ดูโดดเด่นและสะดุดตา สินค้าตัวไหนที่อยากให้คนซื้อมากที่สุดก็มาจัดเรียงไว้ด้านหน้าให้ดูโดดเด่นที่สุด สิ่งที่ตามมาคือคนจะสนใจสิ่งที่เรานำเสนอเป็นอย่างมากทำให้โอกาสในการซื้อขายก็เพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

5. Brand Host

3

คือการใช้อัธยาศัย กาลเทศะ ให้ถูกต้องตามกรอบที่วางไว้และเหมาะสมกับวัฒนธรรมหรือสังคมนั้นๆ อาจจะเป็นองค์ประกอบของ Brand Story ที่ไม่เกี่ยวกับวัตถุ

แต่ต้องไม่ลืมว่าจัดวางทุกอย่างดีเพียงใดแต่คนขายก็ต้องสำคัญกว่าของทุกอย่างเสมอ ถ้าพูดดี อัธยาสัยดี ก็จะเอื้อหนุนให้ทุกสิ่งที่เราดีไซน์มาเป็นสุดยอดแห่งการแต่งร้านที่เรียกเงินล้านจากลูกค้าจำนวนมากได้แน่นอน

แท้ที่จริงการจัดร้านให้มีประสิทธิภาพทางการตลาดนั้นไม่ใช่เรื่องยาก องค์ประกอบอาจดูเหมือนมากแต่หัวใจจริงๆ คือสีสันและเสน่ห์ซึ่งแต่ละร้านจะมีสิ่งเหล่านี้ไม่เหมือนกันถ้าเรารู้และดึงสิ่งเหล่านั้นออกมาใช้ได้มากโอกาสสำเร็จเห็นเงินล้านก็อยู่ไม่ไกลเกินความสามารถของเราแต่อย่างใด

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3aWw6az

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด