5 กฎเหล็ก ทำแฟรนไชส์ให้อยู่รอด

ใครที่กำลังสนใจซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร จัดการ ดูแลเอง เพื่อหวังที่จะมีรายได้เสริม หรืออาจจะทำเป็นงานหลักเลยก็ตาม ต้องศึกษาแฟรนไชส์นั้นๆ อย่างถี่ถ้วน เพื่อให้การลงทุนในครั้งนี้เป็นไปอย่างถูกต้อง ไม่มีอะไรผิดพลาดแม้แต่นิดเดียว
เพราะการทำแฟรนไชส์ ก็คือ การทำธุรกิจ ความเสี่ยงย่อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การศึกษาและเข้าใจในแฟรนไชส์ และรู้ถึงปัจจัยหลัก ที่จะช่วยให้แฟรนไชส์ที่กำลังจะซื้ออยู่รอด และเอาชนะคู่แข่งที่มีอยู่มากมายได้ จะช่วยให้คุณตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ได้ง่ายขึ้น และเพิ่มโอกาสในการประสบความสำเร็จมากขึ้นเป็นเท่าตัว

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงอยากนำเสนอหลักทฤษฎี หรือว่า กฎเหล็ก ของการทำแฟรนไชส์ ให้อยู่รอด ธุรกิจมีการเติบโตอย่างมั่นคง มาดูพร้อมๆ กันเลยครับ

1.ความน่าเชื่อถือแบรนด์

กฎเหล็ก

ความน่าเชื่อถือในแบรนด์ของแฟรนไชส์เป็นสิ่งที่ต้องระวัง เพราะถ้าหากสาขาใดสาขาหนึ่งในแบรนด์นั้น เกิดทำอะไรที่ไม่ถูกต้อง หรือไม่น่าให้อภัย ลูกค้าก็จะไม่กล้าใช้บริการทุกสาขาที่มีเลย ถึงแม้จะไม่ใช่สาขาที่คุณบริหารก็ตาม เช่น หากเป็นแฟรนไชส์ร้านอาหาร แต่กลับเจอเศษอะไรสักอย่างปะปนมากับข้าวในจาน เป็นต้น

ดังนั้น ถ้าจะตัดสินใจซื้อก็ควรเช็คประวัติความน่าเชื่อถือ และความแข็งแรงของแบรนด์ด้วย เพราะการซื้อแฟรนไชส์เป็นการลงทุนด้านแบรนด์ทดแทน ที่คุณจะสร้างมันด้วยตัวเอง เพราะอาจต้องใช้ระยะเวลาและเงินลงทุน

2.จำนวนสาขา

oo2

จำนวนสาขาแฟรนไชส์มีความสำคัญ เพราะไม่ใช่ว่าแฟรนไชส์ที่คุณเห็นอยู่มากมาย ไปทางไหนก็เจอ มองทางไหนก็มี จะเป็นสิ่งที่ช่วยยืนยันความสำเร็จของแฟรนไชส์นั้น ทางที่ดีคุณต้องกล้าถามคนที่ซื้อแฟรนไชส์ แบรนด์ที่คุณจะทำนั้นว่า เขาต้องเจอกับอะไรบ้าง ต้นทุน เช่น ค่าโครงสร้าง ค่าจ้าง ค่าพื้นที่ ทั้งหมดที่ต้องเสียมันคุ้มกันหรือไม่

เขาต้องเผชิญหน้ากับความเสี่ยงอะไรบ้าง ความเสี่ยงนั้นเจ้าของแบรนด์ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาหรือไม่ หรือปล่อยให้เป็นชะตากรรมของคุณ การลงทุนแฟรนไชส์เป็นหลักแสน หลักล้านแล้วพอได้กำไรบ้างในระยะแรก

ปรากฏว่ามีสาขาเพิ่มขึ้นมาช่วยแบ่งส่วนกำไรของคุณไป ทำให้โอกาสในการเติบโตด้านกำไรของคุณลดลง มิหนำซ้ำอาจทำให้รายได้ลดลงจนต้องปิดกิจการไป สิ่งเหล่านี้ย่อมไม่คุ้มหากคุณต้องการสร้างกิจการสักอย่าง

3.ตลาดและเทรนด์

oo3

อีกเรื่องที่มองข้ามไปไม่ได้เลยก็คือเรื่องของตลาด แนวโน้มแฟรนไชส์เป็นอย่างไร มันจะเติบโตขึ้น หรือซบเซาลง ธุรกิจนี้กำลังมาหรือกำลังไป กลุ่มลูกค้าของคุณคือใคร มันยากง่ายกับคุณมากแค่ไหน เรื่องพวกนี้เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาแบบจริงจัง เนื่องจากการลงทุนในแฟรนไชส์ ไม่ใช่การลงทุนแค่บาทสองบาท คุณควรจะทำการบ้านมาให้ดี เพื่อให้มั่นใจว่าคุณลงทุนไปแล้วธุรกิจมันจะตรงกับความต้องการของคุณ ทำแล้วมีความสุข ธุรกิจอยู่รอด

4.ทำเลที่ตั้ง

oo4

ซื้อแฟรนไชส์มาแล้ว จะตั้งตรงไหน เป็นเรื่องใหญ่มากครับ หลายคนที่ตกม้าตาย มีทุกอย่างครบ แต่ไม่มีที่ตั้ง อย่าไปคิดทีเดียวนะว่า ทำเลไม่ใช่เรื่องสำคัญ ถ้าสินค้าดีจริง ที่ไหนคนก็ไปซื้อ นี่ก็มีส่วนถูก แต่ถูกเพียงบางส่วน มีคนไปซื้อ

แต่ถ้ามันลำบากมาก คิดเหรอว่าลูกค้าจะมาซื้อบ่อยๆ แล้วธุรกิจจะอยู่ได้อย่างไร ถ้าลูกค้าแวะเวียนมาแค่อาทิตย์ละครั้ง เดือนละครั้ง ดังนั้น ทำเลที่ตั้งจึงเป็นตัวแปรสำคัญในการซื้อแฟรนไชส์ ยิ่งหาง่ายเท่าไหร่ สะดวกสบายแค่ไหน ยิ่งดี

5.แฟรนไชส์ซอร์

oo5

เจ้าของแฟรนไชส์ ถ้าไม่มีใครสอนให้ผู้ซื้อเข้าใจอย่างถูกต้อง ถ่องแท้ มันก็ลำบากมากเหมือนกัน ถ้าเจ้าของแฟรนไชส์คิดแต่จะขายแฟรนไชส์ แต่ไม่คิดจะสอนงาน ไม่คิดจะช่วยเหลือ ช่วยโปรโมท ช่วยทำการตลาดให้แฟรนไชส์ซี เพื่อให้สาขาแฟรนไชส์ประสบความสำเร็จไปพร้อมกับเจ้าของแฟรนไชส์ อย่าได้คิดไปข้องเกี่ยวเลยทีเดียว

แฟรนไชส์ที่ดีจริง น่าซื้อมาทำธุรกิจของตัวเอง เจ้าของแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซอร์ จะต้องลงมาคลุกคลี ให้การช่วยเหลือ ให้การสนับสนุน และให้คำปรึกษากับแฟรนไชส์ซีทันที ที่คุณประสบปัญหา ซึ่งมันไม่ใช่แค่เรื่องของการจ่ายเงินให้กัน และจบไป มันเป็นเรื่องของการทำธุรกิจร่วมกัน เป็นหุ้นส่วนธุรกิจด้วยกัน และประสบความสำเร็จไปพร้อมกัน

ทั้งหมดเป็น 5 กฎเหล็ก ของการทำแฟรนไชส์ให้อยู่รอด และเติบโต ไม่ใช่ว่านักลงทุนหรือใครที่มีเงินอย่างเดียว คิดอยากจะซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ไหนมาทำธุรกิจ ก็ร่ำรวยแล้ว ถ้าคิดแบบนี้ถือว่าผิด เพราะการทำแฟรนไชส์ให้อยู่รอดต้องมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่ใช้ในการพิจารณาก่อนตัดสินใจจ่ายเงินให้กับเจ้าของแฟรนไชส์ ต้องใช้เวลาศึกษาให้ดีครับ

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ http://www.thaifranchisecenter.com/home.php
สนใจซื้อแฟรนไชส์แบรนด์ต่างๆ http://www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3hiGlZA

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช