4 กลยุทธ์ McDonaldization การตลาดที่เราไม่เคยรู้ตัว!

อาหารฟาสฟู้ดต์ เชื่อว่าเราทุกคนต้องเคยรับประทาน ปัจจุบันกระแสของฟาสฟู้ดต์เองก็ดูเหมือนจะซึมซับเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตเราอย่างไม่รู้ตัว เรียกว่าไม่รู้ตัวกระทั่งว่ากลยุทธ์อาหารฟาสฟู้ดต์ที่เราคุ้นเคยนั้นได้เข้าไปเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราให้ทำอะไรแตกต่างออกไป

ในเรื่องนี้ George Ritzer ศาสตราจารย์ด้านสังคมวิทยาชาวอเมริกันผู้เขียนหนังสือ McDonaldization of Society – An Investigation into the Changing Character of Contemporary Social Life ได้ใช้ทฤษฏีของร้านฟาสฟู้ดต์ชื่อดังอย่าง McDonald มาเป็นกรณีศึกษาโดยเรียกว่าเป็นกลยุทธ์แบบ

McDonaldization ที่ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่ามีหลักความจริงอ้างอิงเกี่ยวข้องไม่น้อยแต่ที่เหนือสิ่งอื่นใดการที่แบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งจะทำให้เกิดเรื่องนี้ขึ้นได้ถือว่าต้องใช้เวลาในการสร้างการจดจำที่นานพอตัวทีเดียว

อะไรคือ McDonaldization?

อาหารฟาสฟู้ดต์

ภาพจาก goo.gl/o0FmGw

Ritzer อธิบายว่ามันคือปรากฏการณ์ที่ความคิดแบบร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดเข้ามาอิทธิพลต่อสังคมโลกมากอย่างคาดไม่ถึง โดยไม่สามารถชี้ชัดไปได้ว่าการเกิดขึ้นและการทำธุรกิจแบบ McDonald เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดความคิดแบบนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆ ความคิดแบบ McDonaldization

ซึ่งมีหลักการ 4 ข้อ ได้ส่งผลกระทบต่อระบบความคิดและพฤติกรรมของมนุษย์ในทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การดูแลสุขภาพ การท่องเที่ยว การอุปโภคบริโภค การเมือง หรือแม้กระทั่งเรื่องในครอบครัว พวกเราทุกคนล้วนนำความคิดแบบ McDonaldization มาใช้ในการตัดสินใจเหตุการณ์ตรงหน้าเพราะคิดว่าวิธีนี้เป็นวิธีที่ สมเหตุสมผล ที่สุดคือ

1.สร้างให้เราเป็นคนที่ชอบทำอะไรเร็วที่สุด และสั้นที่สุด

bb22

ภาพจาก goo.gl/gCFLwX

นั้นคือการเลือกวิธีที่ดีที่สุด สั้นที่สุด เร็วที่สุด ซึ่ง Ritzer ยกตัวอย่างว่าเวลาที่เราเข้าไปที่ McDonald’s สิ่งที่ต้องการอันดับแรกคืออิ่มท้องให้เร็วที่สุด โดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด ดังนั้น McDonald’s เองก็ต้องตอบสนองจุดนี้ให้ทันท่วงทีเช่นกัน

เรื่องนี้มีผลแม้กระทั่งเรื่องการเดินทางที่คนเรามักจะวางแผนแผนการเดินทางผ่าน Google Map ผ่านแอพฯ ทั้งหลายโดยเลือกเส้นทางที่ “สั้นที่สุด และรถติดน้อยที่สุด เพื่อไปถึงจุดหมายให้ไวที่สุด” ทั้งๆ ที่ความจริงเราอาจลืมไปว่าเรากำลังไปพักผ่อน

ซึ่งวิธีการเลือกแบบดีที่สุด สั้นที่สุด ที่กล่าวไปนี้ก็ต้องแลกมาด้วยการที่เราไม่เห็นในสิ่งที่ควรจะเห็นหรือทำให้มองข้ามบางเรื่องไป นั้นก็เป็นผลมาจากเรื่องของ McDonaldization เช่นกัน

2.ต้องการความคุ้มค่าแบบสุดๆ

bb23

ภาพจาก goo.gl/Jik8V0

“ในระบบความคิดแบบ McDonaldization ปริมาณมีความหมายเทียบเท่าคุณภาพ” ตัวอย่างสำคัญคือ เมื่อเราสั่งชุด Big Mac หรืออาหารเซ็ต พนักงานจะถามทุกครั้งว่า “เพิ่ม xxx บาทรับเฟรนฟรายกับโค้กแก้วใหญ่เลยไหมค่ะ” วินาทีนั้นเราไม่ได้คิดว่าอาหารเหล่านี้มีคุณภาพมากแค่ไหน ดีกับร่างกายแค่ไหน เราจะกินหมดหรือเปล่า แต่เราจะรู้สึกว่ามัน “คุ้ม” และเราจะเพิ่ม xxx บาทให้ทันทีโดยไม่ลังเล

ทั้งๆ ที่ถ้าไปเดินดูตามโต๊ะหลายครั้งเราจะเห็นเฟรนฟรายทานเหลืออยู่หลายโต๊ะทีเดียว อีกตัวอย่างในชีวิตประจำวันเราไม่ต้องไปดูอื่นไกล ดูความป็อบปูล่าของร้านบุฟเฟต์ก็พอแล้ว เราจะเห็นว่าเมื่อเราจ่ายเงินเข้าไปกิน

สายตาของเรามองเรื่องคุณภาพอาหารและความอิ่มเป็นเรื่องรอง แต่เราจะงดมื้อเช้า มื้อกลางวัน เพื่อไปกินให้เยอะที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะยิ่งกิน “เยอะ” เท่าไหร่ เงินที่เสียไปก็จะยิ่ง “คุ้ม” มากเท่านั้น

3.ต้องการความแน่นอนชดเชยสิ่งที่ไม่แน่นอน

bb24

ภาพจาก goo.gl/kq6qIa

ไม่ว่าคุณจะไปซื้อ Big Mac ที่สาขาใดก็ตามสามารถมั่นใจได้ว่า Big Mac จะเหมือนกัน นั้นทำให้ลูกค้าอุ่นใจว่าตนจะได้รับบริการและอาหารที่ตนคุ้นเคยเหมือนอยู่บ้าน และนั้นทำให้McDonalต้องเข้มงวดกับกฏ ระเบียบและวิธีการทำงานขององค์กร

ไม่เพียงเท่านั้น หากช่างสังเกตจะเห็นว่าการจัดร้านของMcDonal ทั่วโลกจะมีบางอย่างคล้ายคลึงกัน เช่น ห้องน้ำมีห้องเดียว เปิดประตูมาเจอเคาท์เตอร์ซื้ออาหารทันที หรือมีพี่โรนัลด์ยืนอยู่หน้าร้าน

มิตินี้คนไทยอาจยังไม่พบมากนักเพราะเรามีชีวิตที่คาดการณ์ไม่ได้ วันดีคืนดีบีทีเอสอาจจะเสีย รถไฟฟ้าใต้ดินประตูไม่ปิด รถติดสามชั่วโมงจนไปทำงานสาย แต่ในทางตรงกันข้าม เมื่อชีวิตเราไม่แน่นอนมนุษย์ก็ดิ้นรนให้เกิดความแน่นอนทางด้านจิตใจมาชดเชย เป็นต้น

4.ทำให้เรากลายเป็นคนเชื่อมั่นในเทคโนโลยีโดยไม่รู้ตัว

bb25

ภาพจาก goo.gl/kq6qIa

เมื่อเราก้าวเท้าเข้าไปในร้านแมคโดนัลด์ หลายคนไม่เชื่อว่าเรากำลังถูก “ควบคุม” ในทุกทาง ทั้งจากการต้องต่อแถวซื้อแฮมเบอร์เกอร์ รายการอาหารที่มีไม่กี่อย่าง และเก้าอี้ที่นั่งไม่สบาย สิ่งเหล่านี้เป็นอำนาจควบคุมจากผู้บริหารร้านให้คุณ eat and go ให้เร็วที่สุด ส่วนพนักงานก็ถูกฝึกให้ทำงานบางอย่างซ้ำๆ

และกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่เครื่องจักรทำงานไม่ได้เท่านั้นเอง สังเกตจากเครื่องกดน้ำอัดลมที่หยุดเองเมื่อน้ำเต็มแก้ว เครื่องทอดเฟรนฟรายตั้งเวลา เครื่องคิดเงินที่ตั้งโปรแกรมคำนวณราคาและปริมาณทุกอย่างเสร็จสรรพ ในแง่ของชีวิตประจำวันเราก็จะเห็นหลายบริษัทพยายามใช้เทคโนโลยีมาควบคุมมนุษย์

เช่น ระบบตอกบัตรในบริษัท ระบบตรวจเช็คบัญชีอัตโนมัติ และอื่นๆซึ่งเราไม่ค่อยตั้งคำถามกับเทคโนโลยีที่มาควบคุมเราแบบนี้เท่าไหร่เพราะเราเชื่อว่ามัน ถูกต้อง และ แม่นยำ กว่าเรามาก เมื่อนานไป สุดท้ายอะไรที่เป็นเทคโนโลยีเราก็จะคิดว่ามัน สุดเจ๋ง ซึ่งบางทีเรื่องนี้ก็อาจไม่ถูกต้องเสมอไป

แน่นอนว่าแนวคิดเรื่อง McDonaldization ไม่สามารถอธิบายสังคมไทยได้อย่างแม่นยำทุกพื้นที่ทุกเวลา แต่อย่างน้อย ก็เชื่อได้อย่างหนึ่งว่าทุกกลยุทธ์ที่ McDonal พยายามสร้างสรรค์ออกมานั้นได้กลายเป็นการตลาดที่เราซึมซับเอามาไว้อย่างไม่รู้ตัวกลายเป็น McDonaldization ที่มีผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน อย่างที่บอกสำหรับแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่งการที่จะก้าวมาถึงจุดนี้ได้ต้องใช้เวลาในการเข้าถึงผู้บริโภคนานพอตัวเลยทีเดียว

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด