3 สิ่งที่ต้องคิด เมื่อเห็นธุรกิจเขาดัง และอยากทำตาม

ปัจจุบันกระแสของธุรกิจมีจำนวนไม่น้อยที่โด่งดังในระดับโลกโดยเฉพาะในแวดวงของ IT ที่บางคนมองว่าการลงทุนไม่สูงมากอาศัยความรู้ทางเทคนิค ประกอบกับมีช่องทางการตลาดที่ดี น่าจะเป็นธุรกิจที่ทำตามได้ง่ายจนถึงขนาดบวกลบคูณหารจากธุรกิจของ IT Startup ที่คิดตรรกะแบบง่ายๆคือ “ลองทำได้สัก1 ใน 1000 ของเขา เราก็รวยแล้ว”

www.ThaiSMEsCenter.com มีประเด็นน่าสนใจเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งผู้รู้ในแวดวงของธุรกิจย้ำไว้ชัดเจนว่า “เห็นเขาทำแล้วได้ดี แต่อย่าคิดเลียนแบบเป็นอันขาด” แน่นอนว่าเมื่อถูกเบรกความคิดจนตัวโก่งขนาดนี้หลายคนต้องมีคำถามในใจก็คือ ทำไม? และ ทำไม?

Stefano Bernardi กูรูแห่งวงการกองทุนก่อตั้งธุรกิจใหม่ ยกตัวอย่างให้เห็นว่าธุรกิจไอทีระดับโลกที่ประสบความสำเร็จอย่างเช่น Google Search, Facebook, Instagram หรือแม้กระทั่ง Line ลองสังเกตให้ดีว่าธุรกิจเหล่านี้มักจะมี “ผู้ชนะเพียงรายเดียว”

นั้นคือการรวบตลาดเอาไว้เกือบทั้งหมด บิ๊กเนมเหล่านี้มักไม่แบ่งก้อนเค้กให้คนที่อยาก “ก็อปปี้” นี่คือตลาดที่ Stefano Bernardi ฟันธงเลยว่า “รายใหม่ไม่ควรอาจหาญวัดรอยเท้าเด็ดขาด!” และต่อไปนี้ก็คือสาเหตุว่าทำไมเราถึงไม่ควรคิดทาบรัศมีของธุรกิจไอทีระดับโลกเหล่านี้เด็ดขาด

1.เว็บและแอพฯ เหล่านี้เขามีฐานข้อมูลผู้ใช้ที่ใหญ่มากอยู่แล้ว

สิ่งที่ต้องคิด

ภาพจาก google

และมันก็เป็นเรื่องง่ายมากสำหรับเขา ที่จะเพิ่มฐานผู้ใช้ใหม่ๆ โดยเปลี่ยนภาษาไปในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ นั้น กว่าจะสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก สร้างการยอมรับจากผู้ใช้ สร้างนิสัยการใช้งาน สะสมจำนวนผู้ใช้ให้มากพอ ฯลฯ ก็ต้องลงทุนกันสูงมากๆ ทั้งเงินทั้งเวลา แถมยังไม่มีอะไรการันตีด้วยว่าจะทำสำเร็จรึเปล่า

2.ผู้ใช้ส่วนใหญ่รู้สึกว่าบริการของเจ้าตลาดเดิมก็ดีอยู่แล้ว

o2

ภาพจาก goo.gl/rTJVuH

คุณคิดว่าพวกเขาจะมาลองใช้ ‘ของใหม่ที่เหมือนกัน’ ไปเพื่ออะไร? ยกตัวอย่างเช่น บริการของ Google Plus ที่แม้ว่าจะลงทุนไปมหาศาล ถึงตอนนี้ก็ยังเงียบเหงาเศร้าสร้อย และถูกเจ้าตลาดอย่าง Facebook ทิ้งห่างชนิดไม่เห็นฝุ่นอยู่ดี

3.ธุรกิจเหล่านี้มักจะไม่สนใจในการซื้อกิจการของบริษัทเล็กๆแต่กลับดิ้นรนไปขอซื้อกิจการที่ทำในสิ่งที่ต่างออกไป

o3

ภาพจาก goo.gl/92xLX5

ทั้งนี้ก็เพื่อจะมาเสริมกำลัง เสริมทัพ หรือเพื่อขจัดคู่แข่งในอนาคต ดังเช่นในกรณีที่ Facebook เข้าซื้อธุรกิจของ Instagram ตั้งแต่ในช่วงตั้งไข่ เป็นต้น แต่ทั้งนี้ใครที่บอกว่างานนี้อยากจะทำธุรกิจแบบนี้จริงๆ ก็ยังพอมีทางออกเล็กๆ อยู่ 3 ทางคือ

1.ทำเว็บหรือแอพฯ ที่มีข้อจำกัดทางกฏหมายหรือมีการควบคุมเฉพาะในแต่ละท้องถิ่น

o5

ภาพจาก goo.gl/GA3VMw

อาทิเช่น Stripe หรือ iZettle ที่ต้องอิงกับระบบการเงินการธนาคาร หรืออย่าง Uber ที่ต้องอิงกับกฏหมายท้องถิ่นและระบบราชการที่ไม่เหมือนกัน ในกรณีเช่นนี้การที่เราจะสร้างเว็บหรือแอพฯ อันใหม่ขึ้นในประเทศของเรา ก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่า

2.ทำเว็บหรือแอพฯ ที่ต้องทำข้อตกลงกับผู้ประกอบการท้องถิ่นจำนวนมาก

o6

ภาพจาก goo.gl/sG7RbV

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเห็น Opentable หรือ TaskRabbit ประสบความสำเร็จในเมืองนอก แล้วเราอยากจะทำตามบ้าง ในกรณีนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้ เพราะโมเดลของธุรกิจนี้จำต้องติดต่อกับคนท้องถิ่นจำนวนมาก

ซึ่งการเป็น ‘คนใน’ ก็ย่อมได้เปรียบกว่าอยู่แล้วที่สำคัญหากเราทำได้ดีก็มีความเป็นไปได้ว่าบริษัทข้ามชาติจะมาขอซื้อกิจการต่อจากเราเพราะยังไงมันก็ง่ายกว่าการที่บริษัทเหล่านั้นจะมาลงทุนเองยกตัวอย่างเช่นกรณีของ LivingSocial ที่เข้าซื้อธุรกิจ Ensogo เป็นต้น

3.ทำเว็บหรือแอพฯ ในตลาดแบบ B2B (Business to Business)

o7

ภาพจาก goo.gl/l7URvJ

โดยธรรมชาติแล้วตลาดองค์กรจะไม่มีลักษณะแบบ ‘Single Winner Market’ (มีผู้ชนะเพียงรายเดียวที่กวาดส่วนแบ่งไปเกือบทั้งตลาด) ฉะนั้น Online B2B จึงเป็นตลาดที่ค่อนข้างเปิดกว้าง สำหรับคนที่คิดจะทำ ‘ของเหมือนๆ กัน’ ออกมาแข่งกันเอง

ทั้งนี้เพราะหัวใจของธุรกิจ B2B ก็คือผู้ประกอบการจะต้องเผชิญกับรายละเอียดปลีกย่อยด้านการค้าที่เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเข้าประมูล การนำเสนอขาย การบริการหลังการขาย การปรับแต่งสินค้าให้เข้ากับองค์กรลูกค้า ฯลฯ ซึ่งเรื่องพวกนี้จะทำให้บริษัทอินเตอร์ฯ สูญเสียความได้เปรียบลงไปมาก ถ้าหากพวกเขาไม่มีหุ้นส่วนอยู่ในท้องถิ่นนั้น

ทั้งนี้ก็คือมุมมองของการทำธุรกิจที่สะกิดใจให้คนรู้ว่าเห็นใครทำแล้วดีก็ใช่ว่าจะทำตามได้ทุกอย่าง เพราะทุกธุรกิจก็ต้องมีการป้องกันตัวเองที่ไม่ให้มีคู่แข่งเกิดตามมาได้ง่ายๆ ทางที่ดีเพื่อการเป็นผู้นำก็สร้างตลาดใหม่ๆให้แตกต่างแม้จะเป็นเรื่องยากแต่ถ้าทำได้ธุรกิจใหญ่ๆก็อาจจะต้องมาง้อขอซื้อรูปแบบกิจการของเราก็เป็นไปได้

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด