15 ข้อ ถ้าตอบไม่ได้! อย่าเปิดร้านกาแฟสด

กาแฟยังเป็นเครื่องดื่มที่ฮิตตลอดกาล สถิติชี้ชัดว่าคนไทยดื่มกาแฟเฉลี่ย 300 แก้ว/คน/ปี และตัวเลขนี้ยังเพิ่มสูงได้อีก ในปีที่ผ่านมาตลาดกาแฟมีมูลค่าสูงกว่า 60,000 ล้านบาท ในจำนวนนี้ประมาณ 17,000 ล้านบาท คือมูลค่าของธุรกิจร้านกาแฟในรูปแบบ coffee shop และร้านกาแฟในรูปแบบต่างๆ

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่ามีหลายคนที่อยากเปิดร้านกาแฟเพราะมองเห็นโอกาสที่จะเติบโตได้ แม้จะยอมรับว่าต้องเจอคู่แข่งจำนวนมาก อย่างไรก็ดีลองมาสำรวจตัวเองสักนิดกับคำถามน่าสนใจที่หากคิดจะเปิดร้านกาแฟก็ควรตอบคำถามเหล่านี้ให้ได้ก่อน

1.อยากเปิดร้านกาแฟเพื่ออะไร?

15

เราต้องเข้าใจตัวเองก่อนว่าทำไมถึงอยากเปิดร้าน อาจจะเพราะความชอบ อยากมีรายได้เพิ่ม หรืออยากเปิดเพราะเห็นคนอื่นขายดีมีกำไร การตั้งคำถามว่าเราเปิดร้านกาแฟเพื่ออะไรจะทำให้เรามีเข็มทิศในการทำธุรกิจที่ชัดเจน เพื่อให้ทำได้โดยไม่หลงทาง ซึ่งสำคัญมากในยามที่ต้องตัดสินใจ เช่น ควรเปิดร้านต่อไปไหม ควรย้ายที่ไหม หรือควรลงทุนเพิ่มเท่าไร การรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร จะช่วยหาคำตอบตอนยากลำบากหรือไม่แน่ใจได้

2.มีใจรักในงานบริการมากพอหรือเปล่า?

12

ร้านกาแฟในยุคนี้มีหลายรูปแบบแต่ที่หลายคนต้องการคือร้านกาแฟในรูปแบบ coffee shop ที่ต้องรวมถึงงานบริการในร้านด้วย ถือเป็นธุรกิจแบบ Service Mind ที่ลูกค้าคาดหวังจะได้เห็นบริการที่ดี การยิ้มแย้มแจ่มใส ความกระตือรือร้นของพนักงาน บริการที่รวดเร็ว ก่อให้เกิดความประทับใจ และแน่นอนว่างานบริการเหล่านี้ต้องเจอลูกค้าหลายประเภท หลายอารมณ์ จึงต้องถามตัวเองก่อนว่ามีใจรักในงานบริการแค่ไหนและจะรับมือกับลูกค้าได้ดีมากพอหรือไม่

3.มีความพร้อมด้านเงินทุนแค่ไหน?

14

ไม่ว่าจะเป็นการเปิดร้านริมทาง ร้านขนาดเล็ก หรือร้านขนาดใหญ่ก็ต้องสำรวจว่าเรามีเงินทุนมากแค่ไหน เพื่อให้คำนวณเรื่องการลงทุนได้ชัดเจน โดยปกติหากเป็นร้านกาแฟมักมีต้นทุนเช่น เงินสำหรับหมุนเวียนใช้จ่ายภายในร้านสำหรับซื้อของเข้าร้าน ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่า และค่าใช้จ่ายอื่นๆ และควรมีเงินฉุกเฉิน คือเงินที่ต้องเตรียมไว้สำหรับใช้ในกรณีฉุกเฉินที่จำเป็นต่างๆ เช่น ซ่อมแซมร้านหรืออุปกรณ์ในร้าน การรู้ว่าตัวเองมีความพร้อมด้านเงินทุนแค่ไหนก็ทำให้เรากำหนดรูปแบบร้านได้ชัดเจนขึ้นด้วย

4.รูปแบบร้านของเราเป็นอย่างไร?

5

เมื่อสำรวจเรื่องเงินทุนแล้วก็ต้องมีรูปแบบร้านที่อยู่ในใจโดยส่วนใหญ่ร้านกาแฟมี 3 ประเภทคือ

  • ร้านกาแฟแบบเคาน์เตอร์เล็กๆ เริ่มต้นที่หลักหมื่น มักตั้งอยู่ใกล้ อาคารสำนักงาน รถไฟฟ้า สถานศึกษา
  • ร้านกาแฟแบบมุมกาแฟ เริ่มต้นที่หลักแสน ลักษณะคล้ายเคาน์เตอร์บาร์ อาจมีโต๊ะเล็กๆ เพื่อให้ลูกค้านั่งรอกาแฟ มักจะอยู่ภายในห้างสรรพสินค้าหรือ Community Mall
  • ร้านกาแฟแบบ Stand Alone ร้านแบบนี้ลงทุนค่อนข้างสูง ตั้งแต่หลายแสนบาทไปจนถึงหลักล้าน ลักษณะเป็นร้านเดี่ยวๆดัดแปลงจากที่พักอาศัย อาคารพานิชย์

หรือถ้าเงินทุนน้อยก็อาจเลือกลงทุนแบบร้านริมทางทั่วไปที่ใช้เงินทุนในการเริ่มต้นน้อยกว่า ทั้งหมดนี้ก็อยู่ที่การโฟกัสว่าเราต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าแบบไหนเป็นสำคัญด้วย

5.จะตั้งชื่อร้านกาแฟอย่างไร?

2

หลักการคือเน้นอ่านง่าย เข้าใจได้ทันที แต่ไม่ควรเป็นชื่อที่เรียบง่ายเกินไปควรให้มีจุดสังเกตและสะดุดหูคนฟังบ้าง ที่สำคัญควรหลีกเลี่ยงการตั้งชื่อเลียนแบบ หากจะให้ดีควรใช้ชื่อร้านที่ตั้งตามอารมณ์และความรู้สึกที่แท้จริงเพื่อสื่อไปถึงคอนเซ็ปต์ร้าน และต้องไม่ลืมว่าการตั้งชื่อร้านใดๆ ก็ตามต้องให้ง่ายต่อการทำตลาด หรือสามารถตั้งเป็นชื่อเว็บไซต์ หรือนำไปใช้เป็นชื่อเพจในโซเชี่ยลมีเดียได้ง่าย และแน่นอนว่านอกจากชื่อร้านก็ต้องพูดไปถึงโลโก้ของร้านที่ต้องสื่อถึงตัวตนของร้านให้คนจำง่ายด้วย ชื่อร้านที่น่าสนใจเช่น Café of Love, Sweet Coffee, Coffee for you เป็นต้น

6.อะไรคือจุดเด่นของร้าน?

8

ปัจจุบันร้านกาแฟมีเยอะมาก ดังนั้นก่อนคิดจะเปิดร้านต้องหาจุดเด่นตัวเองให้เจอ ไม่จำเป็นต้องหมายถึงหน้าตาของร้านเสมอไป แต่รวมไปถึงความตั้งใจของคนทำที่ยากจะเลียนแบบกันได้ และทำให้ร้านของเราแตกต่างและมีความโดดเด่น เทคนิคน่าสนใจคือการสร้าง Story ของร้าน หรือการคัดสรรเมล็ดกาแฟที่มีจุดเริ่มต้นความเป็นมา หรือมีการจัดร้านแต่งร้านในสไตล์ไม่เหมือนใคร ยิ่งทำให้คนพูดถึงมีการแชร์ออกไปได้มาก ยิ่งเป็นเรื่องดีกับการทำธุรกิจมากขึ้น

7.ลงทุนเองหรือเลือกลงทุนในระบบแฟรนไชส์ ?

9

ปัจจุบันมีระบบแฟรนไชส์ให้เลือกลงทุนเพื่อสร้างธุรกิจร้านกาแฟให้สำเร็จได้รวดเร็วโดยมีแฟรนไชส์น่าสนใจเช่น กาแฟพันธุ์ไทย , สตาร์คอฟฟี่ ข้อดีของการลงทุนแฟรนไชส์คือมีแพคเกจลงทุนให้เลือก มีทีมงานมืออาชีพให้คำปรึกษา มีการสอนเทคนิคเปิดร้าน การสนับสนุนวัตถุดิบอุปกรณ์พร้อมเปิดร้าน สามารถต่อยอดสร้างรายได้ทันที ในกรณีที่ต้องการลงทุนเองมีข้อดีคือสามารถสร้างจุดเด่น เอกลักษณ์สินค้าได้ตามต้องการ และในอนาคตมีโอกาสต่อยอดพัฒนาให้เป็นระบบแฟรนไชส์ภายใต้แบรนด์ของตัวเองได้

8.มีความรู้ในเรื่อง “เครื่องชงกาแฟ” มากแค่ไหน?

1

เครื่องชงกาแฟ ถือเป็นหัวใจสำคัญของการเปิดร้านกาแฟ บางคนเลือกใช้เครื่องที่ไม่เหมาะสมกับร้าน ก็ทำให้ทุนหายกำไรหดได้ เช่นหากเป็นร้านขนาดเล็กรองรับลูกค้าวันละไม่เกิน100แก้ว ควรเลือกใช้เครื่องชงกาแฟขนาดเล็ก 1 หัวชง เพราะลูกค้าที่เดินผ่านก็จะเห็นว่าราคาไม่น่าจะแพงจะตัดสินใจเดินเข้าร้านง่ายขึ้น แต่หากเป็นร้านกาแฟขนาดใหญ่ รับลูกค้าได้มากควรเลือกใช้เครื่องชงกาแฟ 2 หัวชงที่มีต้นทุนเครื่องสูงขึ้นด้วยยังไม่รวมอุปกรณ์อื่น ๆสำหรับเปิดร้าน และวัตถุดิบที่ใช้ทำเครื่องดื่มต่างๆ งบประมาณลงทุนโดยรวมมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับขนาดร้าน ทำเล และการตกแต่งเป็นสำคัญ

9.รู้วิธีการคัดเลือก “เมล็ดกาแฟ” ที่ใช้ในร้าน?

6

เมล็ดกาแฟคือวัตถุดิบสำคัญมาก การซื้อเมล็ดกาแฟที่ดีก็ควรจะต้องดู วันเดือนปีผลิตและวันหมดอายุ ปกติกาแฟเมื่อเก็บในถุงฟอยด์ ที่วางขายจะมีอายุในช่วง สูงสุด 6 – 12 เดือน ขึ้นกับชนิดของถุงที่บรรจุ เพราะคุณภาพจะลดลงตามการเวลา โดย กาแฟจะหอมที่สุดเมื่อคั่วได้ 5 วัน และจะค่อยลดระดับลงเรื่อยๆ คนที่จะเปิดร้านต้องมีความรู้ในเรื่องเมล็ดกาแฟอย่างดีเช่น กาแฟที่ระบุว่า Single Origin พร้อมชื่อเมืองต่างๆ แสดงว่าเป็นอราบิก้าของที่นั้น มีเทคนิคการคั่วที่ดี และเป็นรสชาติพิเศษ

หรือเมล็ดกาแฟที่ระบุว่า Medium Roast คือ เมล็ดกาแฟที่คั่วระดับกลาง ดื่มได้เรื่อยๆ เหมาะสำหรับเสิร์ฟในสถานการณ์ที่ไม่รู้ว่าผู้ดื่มชอบรสแบบไหน เป็นต้น ทั้งนี้ควรมีความรู้ในเรื่องการจัดเก็บเมล็ดกาแฟด้วย เช่นอย่าเก็บเม็ดในตู้เย็นเพราะว่าเมื่อออกจากตู้เจออากาศร้อนเมล็ดกาแฟจะชื้น ทำให้ติดกับเครื่องบดและมีกลิ่นจากตู้เย็นติดมาด้วย เป็นต้น

10.มีความเข้าในเรื่องการออกแบบร้านกาแฟดีแค่ไหน?

4

เราอาจจ้างคนออกแบบได้ก็จริงแต่เราก็ควรมีความรู้เบื้องต้นเพื่อให้ร้านมีประสิทธิภาพมากขึ้น สิ่งที่ควรรู้เบื้องต้นเช่นโต๊ะบาร์ต้องสูงเท่าไหร่บาริสต้าถึงจะทำงานได้สะดวก , พื้นที่หน้าบาร์ที่จะต้องเหลือไว้แค่ไหนสำหรับการทำงานหลังจากวางเครื่องชงกาแฟและอุปกรณ์อื่นๆ , ถังน้ำแข็งและซิงค์น้ำควรอยู่มุมไหนเพื่อลดการเดินและหมุนตัวของบาริสต้า เป็นต้น

11.มีแผนธุรกิจที่ดีหรือเปล่า?

11

การวางแผนธุรกิจที่ดีจะทำให้เริ่มต้นธุรกิจอย่างมีระบบ รู้ว่าธุรกิจที่จะทำคืออะไร มีวัตถุประสงค์อะไร กลุ่มลูกค้าคือใครวางแนวทางที่จะบรรลุวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง สามารถวิเคราะห์ตลาดอย่างละเอียด ศึกษาทำเลที่ตั้ง และตั้งงบประมาณการลงทุนเบื้องต้น เงินทุนหมุนเวียน และการศึกษาจุดคุ้มทุน เช่น วันหนึ่งควรขายได้กี่แก้ว เป็นต้น การทำแผนธุรกิจจะทำให้มองเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้น เป็นสิ่งที่ควรมีก่อนตัดสินใจเริ่มธุรกิจ

12.เข้าใจคำว่า “ระยะเวลาคืนทุน”ดีแค่ไหน?

10

แม้การเปิดร้านกาแฟจะขายได้มากแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะคืนทุนได้เลยทันที ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราลงทุนไปเท่าไหร่ โอกาสในการขายของเราเป็นอย่างไร เช่น ลงทุนเปิดร้าน 400,000 บาท (รวมทุกอย่างหมดแล้ว) ขายกาแฟแก้วละ 40 บาท ถ้าคิดว่าต่อวันเราขายได้ 100 แก้ว รายได้ต่อเดือนคือ (40×100) x30 = 120,000 บาท

หักต้นทุนต่อแก้วเฉลี่ย 12 บาท ต้นทุนต่อเดือนประมาณ (12×100) x30 = 36,000 บาท เราจึงมีรายได้ก่อนหักค่าดำเนินการอื่นๆ อยู่ที่ 120,000 – 36,000 บาท = 84,000 บาท ซึ่งค่าดำเนินการก็เช่น ค่าเช่าพื้นที่ , ค่าจ้างพนักงาน , ค่าน้ำค่าไฟ , จิปาถะต่างๆ หากคิดเบ็ดเสร็จหักหมดทุกอย่างเหลือกำไรต่อเดือนจริงๆ ประมาณ 20,000 บาท ก็เท่ากับว่าใช้ระยะเวลาในการคืนทุนประมาณ 14 เดือนเป็นอย่างน้อย

13.รู้ความต้องการของลูกค้าในทำเลที่จะเปิดร้านหรือไม่?

7

การเปิดร้านทุกคนก็ต้องเลือกทำเลที่ดีที่สุดเสมอแต่สิ่งที่ต้องรู้คือความต้องการของคนในพื้นที่นั้น ไม่ใช่เปิดเพราะคิดเองว่านี่คือสิ่งที่ลูกค้าต้องการ เช่นเปิดร้านกาแฟในย่านที่มีออฟฟิศอยู่มาก ถ้าไม่รู้ว่าอะไรคือความต้องการอาจตั้งราคาที่แพงเกินจริง ใช้วัตถุดิบแบบพรีเมี่ยมมากเกินไป เป็นสินค้าที่แทนจะดึงดูดลูกค้าแต่กลับสวนกระแสความต้องการของคนที่อยากได้กาแฟในราคากลางๆ แต่ต้องการบรรยากาศในร้านที่ประทับใจ ถ้าเปิดร้านโดยที่ไม่รู้ความต้องการที่แท้จริงของลูกค้าก็อาจเป็นการลงทุนที่สูญเปล่าได้เช่นกัน

14.มีความเข้าใจเรื่องกลยุทธ์การตลาดมากพอ?

3

ถ้าเปิดร้านกาแฟในยุคที่คู่แข่งเยอะมากแล้วไม่เข้าใจไม่มีความรู้ด้านการตลาดโอกาสเสี่ยงเจ๊งมีสูง สิ่งที่ควรรู้คือจะทำอย่างไรให้ลูกค้าต้องเจาะจงมาซื้อกาแฟกับร้านของเรา ต้องเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อออนไลน์แบบไหน ต้องจัดโปรโมชั่นอย่างไร หรือจะเลือกใช้บริการเดลิเวอรี่ที่ไหนในการเพิ่มรายได้ สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญมาก เพราะต่อให้กาแฟอร่อย บรรยากาศร้านดี แต่โฆษณาไม่เป็น ก็สร้างยอดขายที่ดีในยุคนี้ไม่ได้

15.มีแผนสำรองในกรณีฉุกเฉินอย่างไรบ้าง?

13

ทุกการลงทุนมีความเสี่ยงแม้เราจะมีแผนการตลาดอย่างดี สำรวจข้อมูลก่อนเปิดร้าน มั่นใจในสินค้าและบริการอย่างมาก แต่เมื่อเริ่มดำเนินธุรกิจย่อมต้องมีปัญหาตามมาเช่นการเพิ่มขึ้นของราคาวัตถุดิบ , กำลังการซื้อที่ลดลง , การตัดราคา , การถูกโจมตีจากคู่แข่ง รวมถึงปัญหาอื่น ๆ อีกมากสิ่งเหล่านี้ควรต้องมีแผนสำรองเอาไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน เป็นการคิดและเตรียมแผนเผื่อไว้ล่วงหน้าในกรณีที่เกิดปัญหาจะได้แก้ไขได้ทันท่วงที

คำถามเหล่านี้ล้วนแต่สำคัญและจำเป็น คนอยากเปิดร้านกาแฟควรมีคำตอบของคำถามเหล่านี้อยู่ในใจ และไม่ใช่แค่นั้นการลงทุนเปิดร้านก็ควรมีวิสัยทัศน์มีมุมมองการตลาด มีแนวคิดในการต่อยอดที่ดี เพราะทุกการลงทุนมาคู่กับความเสี่ยง จะเสี่ยงมากเสี่ยงน้อย ก็อยู่ที่แผนดำเนินธุรกิจที่เราควรชัดเจนตั้งแต่เริ่มต้น

สำหรับผู้ที่ต้องการเปิดร้านค้าขาย , ร้านค้าขนาดเล็ก, SMEs, แฟรนไชส์” และสนใจเช่าพื้นที่ “หน้าโลตัส/ Lotus’s” ทั่วประเทศ
คลิก https://forms.gle/V4r1VYTWVU8zdEsWA

หรือธุรกิจใดต้องการสร้างระบบภายในร้าน สามารถใช้บริการ FoodStory
คลิก https://forms.gle/NXsbPMRY9UfitLNM9


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3SjVStZ , https://bit.ly/377UYu2 , https://bit.ly/3enaLtz , https://bit.ly/3eUrSSJ , https://bit.ly/3xUvP4i , https://bit.ly/3xVgvV3 , https://bit.ly/2M4I6M8https://bit.ly/3dGzN9L

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3DXMIie

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด