10 เรื่องที่คุณเข้าใจผิด! เปิดร้านในห้างสรรพสินค้า

ถ้าพูดถึงทำเลค้าขายหลายคนต้องนึกถึง “ ห้างสรรพสินค้า ” เนื่องจากเป็นจุดศูนย์รวมของคนจำนวนมาก เราจึงเห็นร้านค้ามากมาย แต่ปัญหาคือยังมีความไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิดในอีกหลายเรื่องสำหรับการติดต่อเข้าค้าขายในห้างสรรพสินค้า

ซึ่งความเข้าใจผิดเหล่านี้ เป็นสาเหตุให้หลายคนไม่อาจเปิดร้านหรือเพิ่มยอดขายได้ตามต้องการ ทั้งที่ความจริงสินค้า และร้านค้าของเราเองอาจเป็นที่ต้องการของห้างสรรพสินค้าด้วยเช่นกัน

www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวม 10 เรื่องที่เราเข้าใจผิด เกี่ยวกับการเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า เพื่อให้เราเข้าใจได้ถูกต้อง ถูกทางและอาจเปิดโอกาสค้าขายได้มากขึ้นด้วย

1. คิดว่าต้องเปิดร้านขนาดใหญ่เท่านั้น

15

คนมักเข้าใจผิดว่าห้างสรรพสินค้ามักรับแต่แบรนด์ดังเท่านั้น การที่ผู้ลงทุนอาจเป็นเพียงร้านเล็กๆ คงไม่สามารถนำร้านเข้าไปอยู่ได้ ซึ่งความจริงแล้ว พื้นที่เช่าของห้างสรรพสินค้าแบ่งเป็น 4 แบบคือ

  1. พื้นที่สำหรับร้านค้าขนาดใหญ่ พื้นที่ตั้งแต่ 50 ตร.ม.ขึ้นไป ค่าเช่าคิดเป็นตารางเมตร ราคาขึ้นอยู่กับแต่ละห้าง
  2. พื้นที่สำหรับร้านค้าขนาดกลางและขนาดเล็ก พื้นที่ตั้งแต่ 15-36 ตร.ม. คิดค่าเช่าเป็นรายเดือน
  3. ล็อคขายสินค้า บูธ และคีออสขนาดเล็ก พื้นที่ตั้งแต่ 4-6 ตร.ม. คิดค่าเช่าเป็นรายเดือน
  4. บูธขายสินค้าในลานโปรโมชั่น สำหรับคนอยากออกบูธ โปรโมทสินค้าในเวลาสั้นๆ พื้นที่ 2-4 ตร.ม.

ดังนั้นไม่ว่าเราจะเป็นร้านเล็ก ร้านใหญ่ ร้านแบบคีออส หรือบูธธรรมดาก็สามารถเช่าพื้นที่ค้าขายในห้างสรรพสินค้าได้

2. มีกฎ ระเบียบ ข้อบังคับที่ยุ่งยาก

18

อีกสาเหตุที่ทำให้เจ้าของร้าน ยังไม่ตัดสินใจที่จะนำร้านเข้ามาเปิดในศูนย์การค้า ส่วนหนึ่งเพราะคิดว่าศูนย์การค้ามีกฎ ระเบียบ และข้อบังคับที่ต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่า ยังไม่พร้อมที่จะยอมรับในกฎต่างๆ ที่ศูนย์การค้ากำหนด โดยเฉพาะกับร้านที่เปิดแบบ Stand Alone มาก่อน ซึ่งแบบนั้นอาจจะไม่ได้มีข้อบังคับในบางเรื่อง ทำให้เจ้าของร้านบางคนรู้สึกว่ามีอิสระมากกว่า ไม่ต้องอยู่ในกฎ ข้อบังคับ

ตัวอย่างเช่น ระเบียบ ข้อบังคับในเรื่องของความปลอดภัย ในแง่ของการก่อสร้าง ก็จำเป็นต้องมีถังดับเพลิง เพื่อความปลอดภัยอยู่แล้ว การเปิดร้านนอกศูนย์การค้าก็ต้องมีถังดับเพลิง และอุปกรณ์ในการรักษาความปลอดภัยเหมือนกัน เพียงแต่อาจจะไม่มีใครบังคับ ซึ่งศูนย์การค้าจะมีข้อกำหนดที่บอกไว้อย่างละเอียดและต้องทำตาม เพราะหากเกิดเหตุการณ์เพลิงไหม้ขึ้นมา ก็คงไม่คุ้มกับความเสียหายที่ตามมา

3. ต้องใช้เงินลงทุนที่สูงมาก

12

เป็นความคิดติดอันดับต้นๆ ที่ทำให้เจ้าของร้านถอดใจตั้งแต่ยังไม่เริ่มในการเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าคือ เรื่องของเงินลงทุน เพราะคิดว่า ต้องมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ซึ่งถ้าหากเจ้าของร้านมีความต้องการ และตั้งใจจริงที่จะเปิดร้านในศูนย์การค้า แต่ยังกังวลในเรื่องของเงินลงทุน กับค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จะตามมา แนะนำให้เจ้าของร้านเข้ามาพูดคุย หรือปรึกษากับทางห้างสรรพสินค้าก่อน เนื่องจากภายในห้างสรรพสินค้านั้นมีพื้นที่ และทำเลที่มีความหลากหลาย ทางห้างสรรพสินค้าจะได้ช่วยวิเคราะห์ หาพื้นที่ที่เหมาะกับเงินลงทุนของคุณได้ ไม่จำเป็นที่จะต้องถือเงินลงทุนก้อนโตเท่านั้นถึงจะเปิดร้านได้

ค่าใช้จ่ายหลักๆที่จะเจอ เช่น สัญญา 1 ปี คิดเงินประกัน 3 เดือนของค่าเช่า ซึ่งเงินประกันทางห้างจะเก็บไว้ เมื่อสัญญาสิ้นสุดสัญญจะคืนให้ หรือ สัญญา 3 ปี คิดเงินประกัน 6 เดือนของค่าเช่า เป็นหลักเกณฑ์ที่ห้างส่วนใหญ่ใช้ ดังนั้นเจ้าของร้านควรมีเงินหมุนเวียนสำหรับส่วนนี้ด้วย

4. ทำการตลาดได้ยาก

14

เจ้าของร้านบางคนอาจจะคิดว่า ถ้าเปิดร้านในห้างสรรพสินค้า การทำการตลาดอาจเป็นเรื่องยากแน่ๆ แต่ในความจริงแล้วทางห้างสรรพสินค้าจะมีทีม Marketing Support ที่จะคอยให้คำปรึกษา และช่วยเหลือด้านการตลาดเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับร้าน

ทั้งในช่องทางออนไลน์ เช่น เว็บไซต์, เฟสบุ๊ก, อินสตาแกรม โดยเจ้าของร้านสามารถเข้ามาโปรโมทร้านของตัวเองได้ และช่องทางออฟไลน์ เช่น สื่อ LED, บิลบอร์ด, ป้ายโฆษณาต่างๆ ที่อยู่ภายในศูนย์การค้า ภายในระยะเวลาที่กำหนด

5. อยากเปิดร้านอะไรก็ได้ขอแค่มีเงินจ่ายค่าเช่า

13

บางคนอาจมีเงินมากพอและอยากเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าและคิดว่าจะเปิดร้านอะไรแบบไหนก็ได้ ซึ่งในความจริงเจ้าของร้านต้องสำรวจความพร้อมด้าน Brand Profile ของร้าน การทำ Brand Profile เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำ

เพื่อนำมาเสนอให้ห้างสรรพสินค้าพิจารณาก่อน ว่าสินค้าหรือบริการของเราเป็นประเภทไหน ขายอะไร มีจุดเด่นอะไร ราคาขายเท่าไหร่ ต้องการพื้นที่กี่ตารางเมตร ต้องชี้แจงรายละเอียดสิ่งที่ต้องการทั้งหมด แล้วทางห้างสรรพสินค้าจะพิจารณาสินค้าของเรา รวมถึงพิจารณาว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะสม ตามที่ร้านต้องการ และดูกลุ่มลูกค้าให้ตรงกับประเภทร้านด้วย

6. คิดว่าเช่าพื้นที่ในห้างสรรพสินค้าจะมีแต่ค่าเช่าเท่านั้น

13

ค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่ค้าขายในห้างไม่ได้มีแต่ค่าเช่าพื้นที่เท่านั้น ยังมีอีกหลายค่าใช้จ่ายที่เราควรรู้ เริ่มจากค่าใช้จ่ายส่วนกลาง ซึ่งราคาจะแตกต่างกันไปในแต่ละห้างสรรพสินค้า นอกจากนี้ยังมีค่าที่จอดรถ บางที่อาจคิดเป็นรายเดือน หรือบางที่อาจให้สิทธิจอดรถได้ 1 คัน ค่าใช้จ่ายในส่วนอื่นๆ ที่สำคัญ

เช่น ค่าภาษีมูลค่าเพิ่ม (มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับแต่ละกิจการ) , ค่าภาษีรายได้ , ค่าภาษีโรงเรือน โดยส่วนใหญ่ผู้เช่าจะต้องรับภาระการจ่ายอยู่ที่ 12.5% ของค่าเช่า และยังมีข้อตกลงของบ้างห้างสรรพสินค้าในการขอความร่วมมือค่าใช้จ่ายด้านการจัดกิจกรรมของห้าง เช่นการที่ทางห้างจัดโปรโมชั่นลดราคาต่างๆ แล้วขอให้เราซึ่งเป็นร้านค้าเข้าร่วมรายการ ทำให้ร้านอาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนราคาขายที่ลดลงด้วย

7. มีหลายช่องทางในการติดต่อเช่าพื้นที่ภายในห้าง

16

หลายคนอาจคิดว่าเราต้องติดต่อทางห้างโดยตรงเท่านั้น ซึ่งในความเป็นจริงการติดต่อสำนักงานขายของทางห้างก็เป็นเรื่องที่ดีที่เราจะได้ความชัดเจนทันที แต่ในความเป็นจริงมีวิธีการติดต่อเช่าพื้นที่ค้าขายในอีกหลายช่องทาง

เช่น การติดต่อผ่านเว็บไซต์ประกาศให้เช่าซึ่งอาจเป็นบริษัทเอกชนที่มารับช่วงต่อเช่าพื้นที่ขนาดใหญ่กับห้างสรรพสินค้า หรือบางทีเราอาจติดต่อผ่านทางบริษัทออแกไนซ์สำหรับการเปิดร้านในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้คนรู้จักสินค้าเรามากขึ้น ซึ่งออแกไนซ์บางแห่งได้เช่าพื้นที่กับทางห้างเอาไว้และได้แบ่งให้ร้านค้ามาเช่าพื้นที่ค้าขายได้ในเวลาสั้นๆ

8. ต้องเตรียมเอกสารหลายอย่าง

17

หลายคนฟังต่อมาอีกทีว่าการเตรียมเอกสารนั่นยุ่งยากวุ่นวายแต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้วุ่นวายอย่างที่เข้าใจ สำคัญๆ ที่ต้องเตรียมเช่น หนังสือรับรองใบอนุญาตประกอบการ , ข้อมูลสินค้าที่ต้องการเปิดร้าน ,ประวัติความเป็นมาของร้าน , รูปแบบร้าน แบบแปลน ภาพร่างของร้านค้า หากมีภาพถ่ายรูปแบบร้านที่จัดเป็นตัวอย่างก็สามารถเอามาประกอบการพิจารณากับทางห้างสรรพสินค้าได้

9. การลงทุนในห้างมีแต่การเช่าพื้นที่เท่านั้น

10

อันนี้เป็นเรื่องที่หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าอยากลงทุนเปิดร้านในห้างมีแต่วิธีเช่าพื้นที่เปิดร้านอย่างเดียว แต่ในความเป็นจริงการลงทุนในห้างมี 2 แบบคือ

  1. ขายฝาก ป็นการตกลงจ่ายค่าส่วนลดให้กับห้างสรรพสินค้า จากราคาปกติประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับว่าเป็นสินค้าอะไร และทางห้างจะคอยเช็คยอดขายว่าสินค้าเราขายดีแค่ไหน ถ้าขายดีก็มีโอกาสได้ค้าขายกันต่อไปแต่ถ้าขายไม่ดีส่วนใหญ่ก็จะยกเลิกสัญญาได้
  2. การเช่าพื้นที่ คือรูปแบบบทั่วไปที่เราเข้าใจกัน มีพื้นที่ในการเช่าแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับขนาดของร้านที่เราต้องการเปิดกิจการ

10. เปิดร้านในห้างสรรพสินค้า เป็นการขายแบบตัวใครตัวมัน

8

สิ่งที่หลายคนคิดคือในห้างสรรพสินค้าเราต้องแลกกับค่าเช่าพื้นที่ซึ่งค่อนข้างสูง และยังต้องเจอคู่แข่งมากมาย ทางห้างก็ไม่ได้สนับสนุนอะไรแค่กินค่าเช่าเราไปวันๆ ทำให้หลายคนคิดว่าการขายของในห้างก็ไม่ต่างจากการขายของข้างนอกแค่ในห้างเป็นจุดศูนย์รวมของคนจำนวนมากกว่าก็เท่านั้น

แต่ในความเป็นจริงห้างสรรพสินค้าเองเขามีทีมกลยุทธ์ มีทีมการตลาด สิ่งที่เห็นคือแคมเปญการตลาดต่าง ๆ การจัดอีเว้นท์ การจัดกิจกรรม การจ้างดารานักแสดงมาเป็นพรีเซนเตอร์ต่างๆ เรื่องเหล่านี้เราจะไม่เจอถ้าเราไปเปิดร้านนอกห้างสรรพสินค้า การที่เราคิดว่าห้างกินค่าเช่าแล้วไม่ทำอะไรจึงเป็นความเข้าใจที่ผิด สิ่งที่ห้างสรรพสินค้าทำคือการดึงดูดลูกค้าจากทั่วสารทิศให้เข้ามาใช้บริการ เท่ากับเปิดโอกาสให้เราขายของได้มากขึ้นด้วย

สิ่งสำคัญของการเปิดร้านในห้างสรรพสินค้าควรเน้นที่คุณภาพสินค้า การบริการที่ดี สินค้าต้องมีความเป็นพรีเมี่ยม หรือมีไอเดียแปลกใหม่ และเหนือสิ่งอื่นใดควรทำการตลาดออนไลน์ควบคู่กันไปด้วย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการค้าขายได้ดีในยุค New Normal มากขึ้น


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3e9VVDj , https://bit.ly/3iAZbuV , https://bit.ly/31Sswen , https://bit.ly/2Cdq5bw , https://bit.ly/3f75vIC

อ่านบทความเพิ่มเติม https://bit.ly/2ZcBQs4

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด