10 เรื่องต้องห้าม สงกรานต์ปีนี้อย่าทำ

สงกรานต์เป็นเทศกาลใหญ่ประชาชนมีการเดินทางและการทำกิจกรรมต่างๆ จำนวนมาก สิ่งที่ต้องระวังคือความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ซึ่งทุกปีภาครัฐก็จะรณรงค์เรื่องความปลอดภัยและออกกฏเกณฑ์ที่เป็นข้อห้ามเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

ในสงกรานต์ 2562 นี้ก็เช่นกัน www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวมเอา 10 เรื่องต้องห้ามมาไว้เป็นข้อมูลให้ทุกคนได้อ่านทำความเข้าใจเพื่อการเที่ยวสงกรานต์ปีนี้จะได้ไม่เสี่ยงต่อการทำผิดกฏหมาย

โดยเฉพาะกรุงเทพฯเจ้าหน้าที่ตำรวจได้การเฝ้าระวังในหลายจุด ทั้งนี้ มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจได้สรุปสถานที่การจัดงานสงกรานต์ ประจำปี 2562 ในพื้นที่ บช.น. มีจำนวน 49 แห่ง ประมาณการประชาชนเข้าร่วมงานรวม 128,900 คน กำลังเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประมาณ 1,923 คน

โดยคาดว่าประชาชนจะเดินทางมาเล่นน้ำที่ถนนสีลมมากที่สุด ประมาณ 60,000 คน ถนนอาร์ซีเอ ประมาณ 14,000 คน งาน S2O ถนนพระรามเก้า ประมาณ 10,000 คน นอกจากนี้ ยังมีที่เดอะสตรีท รัชดาฯ เซ็นทรัลเวิลด์ และสยามสแควร์ ที่ละ 5,000 คน ซึ่งสิ่งที่ประชาชนควรเรียนรู้ในสิ่งที่เป็นข้อห้ามของสงกรานต์ปีนี้คือ

1.สงกรานต์ 62 โพสต์ภาพไม่เหมาะสม เสี่ยงผิดกฎหมาย

เรื่องต้องห้าม

ภาพจาก https://bit.ly/2Uat0Fe

ในยุคโซเชี่ยลการเล่นน้ำสงกรานต์จึงอดไม่ได้ที่จะมีการโพสต์ภาพต่างๆ แต่ในปี 2562 นี้ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ฝากเตือนถึงการโพสต์ภาพอนาจาร หรือภาพไม่เหมาะสมเช่นโป๊ เปลือย แต่งกายไม่สุภาพ หรือแม้แต่โพสต์ชวนดื่มเหล้า เหล่านี้จะมีความผิดพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14(4) และ (5) มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนบุคคลในภาพหรือคลิป อาจถูกดำเนินคดีในข้อหากระทำอนาจารต่อหน้าธารกำนัลด้วย

2.ห้ามเล่นปารตี้โฟมเด็ดขาด

2

ภาพจาก https://bit.ly/2P2jymC

จากเหตุการณ์ในสงกรานต์ปีที่ผ่านๆมากับการจัดปาร์ตี้โฟมและปรากฏว่ามีผู้เสียชีวิตจากการถูกไฟฟ้าช็อตซึ่งเกิดซ้ำซากในหลายพื้นที่ สงกรานต์ปี 2562 นี้จึงได้มีการออกกฎชัดเจน ย้ำ “ห้ามจัดปาร์ตี้โฟม” อย่างเด็ดขาดเพื่อเป็นการป้องกันชีวิตและเหตุผลด้านความปลอดภัยของผู้เข้าร่วมงาน

3.เมาแล้วขับถูกแจ้งข้อหาพยายามฆ่า

3

ภาพจาก https://bit.ly/2D7mKs8

สำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า จากสถิติสงกรานต์ ปี 2561 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,724 ครั้ง บาดเจ็บ 3,897 คน และเสียชีวิต 418 คน โดยแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนประมาณ 20,000 กว่าคนต่อปี คิดเป็นวันละกว่า 60 ศพ สาเหตุหลักมาจากการดื่มแล้วขับ

ยิ่งดื่มมากมีโอกาสเกิดอุบัติเหตุสูง ทาง สสส. จึงรณรงค์ผลักดันการใช้กฎหมายต่อผู้ดื่มแล้วขับอย่างจริงจัง เพื่อควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ สำหรับในปี 2562 นอกจากบทลงโทษ เมาแล้วขับเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย จำคุก 3-10 ปี ปรับ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เพิกถอนใบอนุญาต ยังอาจโดนข้อหาพยายามฆ่าได้อีกด้วย

4.ห้ามเล่นปืนฉีดน้ำแรงดันสูง

4

ภาพจาก https://bit.ly/2VBA1AL

คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ สคบ. แจ้งเตือนผู้บริโภคหากพบเห็นการขายสินค้าที่เป็นอันตราย โดยเฉพาะเครื่องเล่นฉีดน้ำที่มีลักษณะเป็นกระบอกสูบและใช้แรงอัดกระแทกน้ำในกระบอกสูบโดยตรง ซึ่งเป็นสินค้าอันตรายที่ สคบ.มีคำสั่งห้ามขาย

ตั้งแต่ปี 2550 ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่เพื่อจับกุมได้ทันที เพื่อสร้างความปลอดภัย ทั้งนี้ การขายสินค้าอันตรายที่มีคำสั่งห้ามขายนั้น มีโทษหนัก คือ ผู้ขายมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากเป็นผู้ผลิตหรือนำเข้า หรือเป็นต้นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตราย มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5.ห้ามการแต่งกายไม่สุภาพ

5

ภาพจาก https://bit.ly/2Ut8LHX

เรื่องการแต่งกายเป็นการรณรงค์ทุกปีที่ไม่อยากให้มีการแต่งตัวล่อแหลมอันเป็นเหตุไปสู่อาชญากรรม ในปีนี้ก็เช่นกันภาครัฐกระตุ้นให้แต่งตัวแบบมิดชิดใส่เสื้อลายดอกไม่แต่งตัวโป๊ ล่อแหลม

ซึ่งหากพบเห็นบทลงโทษของผู้ฝ่าฝืนทั้งการแต่งตัวโป๊เปลือย หรือแสดงออกเชิงอนาจาร หากพบจับปรับทันทีไม่เกิน 1,000 บาท การทำลวนลามอนาจาร จำคุกไม่เกิน 10ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6.ห้ามยิงปืนขึ้นฟ้า ห้ามพกพาอาวุธ

6

ภาพจาก https://bit.ly/2G3xMzl

จะเรียกว่าเป็นการเฉลิมฉลองหรืออะไรก็ตามที แต่กฎหมายห้ามชัดเจนเกี่ยวกับการพกพาอาวุธไปในที่สาธารณะและการยิงปืนขึ้นฟ้า ซึ่งถือเป็นความผิดต่อชีวิตและร่างกาย ฐานกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่หากกระทำการโดยประมาทเป็นเหตุผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส

มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6,000 บาท และหากประมาทจนทำให้ผู้อื่นเสียชีวิตมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

7.ห้ามขับรถกระบะบรรทุกน้ำเข้าไปในที่ชุมชนหรือบริเวณจัดงาน

7

ภาพจาก https://bit.ly/2UyepZl

กรุงเทพมหานครได้มีการกำหนดโซนเล่นน้ำเมืองกรุง และห้าม “รถกระบะบรรทุกน้ำ” วิ่งเด็ดขาดใน 50 ถนนสำคัญ สำหรับถนนข้าวสารสามารถเล่นน้ำได้แต่ห้ามรถยนต์ทุกชนิดเข้าในระหว่าง 10.00 – 22.00 น. ซึ่งถนน 50 สายที่ห้ามรถบรรทุกน้ำ

และห้ามจอดรถเปิดเครื่องเสียงเช่น ถนนจักรพงษ์ , ถนนราชินี , ถนนพระอาทิตย์ , ถนนสรงประภา , ถนนสายไหม , ถนนเคหะร่มเกล้า , ถนนนาคนิวาส , ถนนลาดพร้าว 101 , ถนนสุขุมวิท 93 ฯลฯ หากมีการฝ่าฝืน โทษ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท

8.ห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในบริเวณที่มีการจัดงาน

8

ภาพจาก https://bit.ly/2VDJO98

เรื่องเมาแล้วขับเป็นการรณรงค์ที่เกิดขึ้นทุกปีในปี 2562 นี้ก็เช่นกัน ภาครัฐได้กำชับเน้นย้ำเรื่องการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ถึงขนาดที่มีคนคิดมาตรการงดขายเหล้าในเทศกาลสงกรานต์แต่ก็ดูว่ายังเป็นแค่แนวคิด

แต่อย่างไรก็ดีสิ่งที่ชัดเจนคือการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์นอกเวลาและสถานที่ที่กำหนด ซึ่งจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท และห้ามการขายสุราริมทางหรือในสถานที่ที่ไม่ได้รับอนุญาต

เพราะเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์เหล่านี้ก่อนขายต้องมีการขอใบอนุญาติชัดเจน ว่าขายโดยใคร สถานที่ใด ถ้าขายในร้านก็ต้องระบุเลขที่ร้านให้ชัดเจน ว่าเป็นร้านประเภทใด หรือหากขายในตลาดนัดก็ต้องระบุชื่อตลาดนัดให้ชัดเจน ว่าที่ไหน ขายล็อคที่เท่าไหร่ ซึ่งหากผิดจากนี้ถือว่าผิดกฎหมายมีโทษปรับ 5,000 บาท

9.ห้ามเล่นน้ำที่มีสิ่งเจือปน แป้ง น้ำแข็ง และโฟม

9

ภาพจาก https://bit.ly/2GhNsR7

เพื่อให้การเล่นสงกรานต์เป็นไปอย่างเรียบร้อย ทุกปีเช่นกันเราก็จะได้ยินแคมเปญรณรงค์การเล่นสงกรานต์อย่างปลอดภัย ไม่ผสมน้ำแข็ง แป้ง หรือสิ่งเจือปนใด ๆ ในระหว่างการเล่นสงกรานต์อันจะนำมาซึ่งอันตรายต่อผู้อื่นได้ ซึ่งบทลงโทษของการเล่นสงกรานต์ที่ไม่คำนึงถึงความปลอดภัยนี้และการแสดงออกเชิงอนาจาร หากพบจับปรับทันทีไม่เกิน 1,000 บาท

10.ต้องกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมที่ชัดเจน ป้องกันเหตุยามวิกาล

10

ภาพจาก https://bit.ly/2KqFBVf

ทั้งนี้ทางภาครัฐเองยังได้กำหนดให้ทุกพื้นที่ที่มีการจัดงานในช่วงเทศกาลสงกรานต์ต้องมีการกำหนดเวลาในการจัดกิจกรรมที่ชัดเจนว่าเริ่มตั้งแต่ตอนไหนและสิ้นสุดตอนไหน อันเป็นการป้องกันเหตุยามวิกาลและส่วนใหญ่ให้กำหนดเวลาในการเลิกกิจกรรมไม่เกิน 20.00 น.ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่เหมาะสมและสมควรแก่ความสนุกสนาน ส่วนพื้นที่ใดที่มีกิจกรรมในยามค่ำคืนต้องมีการขออนุญาติชัดเจนว่าจะสิ้นสุดตอนไหน

เราจะเห็นได้ว่าภาครัฐเองก็มีความพยายามที่จะรักษาความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน แต่ความที่คนไทยเองมักชอบทำอะไรตามใจตัวเองเป็นสำคัญและไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง มักเอาตัวเองให้รอดให้สบายไว้ก่อน สิ่งเหล่านี้ที่เรียกว่าความมักง่ายจึงนำมาซึ่งความยุ่งยากไม่สิ้นสุด ที่ดีที่สุดคือการใส่ใจในข้อกำหนดที่ภาครัฐต้องการและท่องเที่ยวด้วยความระมัดระวังให้มากที่สุด


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด