10 วิธีพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ

ใน สภาวะเศรษฐกิจ ที่ถดถอยฝืดเคืองเช่นยุคปัจจุบัน บางบริษัทจำเป็นต้องปิดตัวลง เนื่องจากขาดสภาพคล่องทางการเงิน ไม่มีลูกค้า ขายสินค้าไม่ได้ ทำให้เกิดอัตราการว่างงานเพิ่มขึ้นมากมาย ส่งสัญญาณให้บริษัทที่กำลังประคองตัวอยู่ในขณะนี้ เริ่มมองหากลยุทธ์และวิธีการพยุงธุรกิจให้อยู่รอด และประคองตัวต่อไปให้พ้นจากสภาวะวิกฤต

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com มี 10 วิธีพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ มาฝากเจ้าของธุรกิจ ผู้ประกอบการต่างๆ ให้นำเอาไปเป็นแนวทางประคับประคองธุรกิจของตนเอง ให้สามารถยืนหยัดฝ่าฟันวิกฤตไปให้ได้ครับ

สภาวะเศรษฐกิจ

1.การหาลูกค้าใหม่ๆ เพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้น

ควรเริ่มหาลูกค้ารายใหม่ๆ ให้กับบริษัท ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ทำได้ยากในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ก็เป็นสิ่งสำคัญที่สุดเหมือนกันในสภาวะเศรษฐกิจดังกล่าว โดยอาจจัดตั้งทีมขึ้นมาสักหนึ่งทีม

ทำหน้าที่เสมือนกับพนักงานขายในห้างสรรพสินค้า แต่มีอะไรที่เหนือมากกว่าพนักงานขายทั่วไป ทำหน้าที่ค้นหาและสร้างลูกค้ารายใหม่ขึ้นมา ซึ่งการได้ลูกค้ารายใหม่เข้ามา จะทำให้สามารถกำหนดและสร้างตลาดในกลุ่มใหม่ๆ ได้อีกด้วย

ทั้งนี้ ยังเป็นผลดีกับทางบริษัทเป็นอย่างมาก เพราะการที่บริษัทมีลูกค้าใหม่เข้าเพิ่มมากขึ้นก็เปรียบเสมือนกับการขยายฐานพีระมิดที่จะช่วยสร้างความมั่นคงให้กับทางบริษัท จำไว้ว่า ยิ่งเศรษฐกิจมีภาวะถดถอยมากเท่าไร ยิ่งต้องหาลูกค้ารายใหม่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

2. การจัดการเรื่องการเงิน

การจัดการเงิน เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ต้องดู โดยเฉพาะกระแสเงินสด หรือ Cash Flow อย่างที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าสิ่งสำคัญที่สุดในการประกอบธุรกิจคือเรื่องของเงิน ซึ่งในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเงินจะเป็นสิ่งที่หายากมาก

การจัดการควบคุมการใช้จ่ายเงินต้องทำอย่างรัดกุมและคุ้มค่า หากกระแสเงินสดขาดสภาพคล่อง ควรรีบหาเงินมาสำรองจ่ายไปก่อนในทันที เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจที่อาจหยุดชะงัก ซึ่งหมายถึงรายได้ที่จะหายตามไปด้วย

ww2

3.การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย

การกำหนดเป้าหมายและวิธีปฏิบัติที่ชัดเจนมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพราะเปรียบเสมือนการวางแผนการล่วงหน้าอย่างคร่าวๆ ซึ่งสิ่งแรกที่ต้องทำก่อนคือกำหนดเป้าหมายปลายทางที่ต้องการจะไปถึง

เช่น ถ้าเป็นการขายผลิตภัณฑ์หรือสินค้าประเภทต่างๆ ก็ควรกำหนดยอดที่ควรขายให้ได้เอาไว้ล่วงหน้าให้ชัดเจนเพื่อสร้างแรงกระตุ้น อีกทั้งยังสามารถนำมาคำนวณตัวเลขรายรับทางบัญชีได้ล่วงหน้าอีกด้วย

4. เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย

การค้นหาเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมสมัยใหม่ๆ เข้ามาช่วยในการผลิตสินค้า หรือนำมาประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์ให้เกิดความเหมาะสม ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยสร้างความเจริญเติบโตก้าวหน้าให้บริษัท เพราะจะช่วยทำให้เรามีเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย สามารถผลิตสินค้าได้ครั้งละมากๆ ต้นทุนการผลิตสินค้าต่อหน่วยถูกลงกว่าเดิม

อีกทั้งจัดให้พนักงานของบริษัทได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรบริษัทไปในตัวอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบริษัทที่ต้องการประสบความสำเร็จ

ww3

5.ปรับปรุงการบริการลูกค้า

หลายคนมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนว่าการปรับปรุงการบริการลูกค้าไม่ใช่สิ่งสำคัญที่ควรทำในช่วงเศรษฐกิจขาลง ควรหันไปให้ความสนใจเรื่องอื่นๆ ในการประคับประคองธุรกิจให้อยู่รอดน่าจะดีกว่า ซึ่งถ้าคำตอบคือแค่ต้องการประคองธุรกิจให้อยู่รอด เหตุผลที่ให้มาก็คงเหมาะสมกันดี แต่ถ้าคิดจะให้ธุรกิจเจริญเติบโต ความคิดข้างต้นถือเป็นความคิดที่แย่มาก

ทั้งนี้ เพราะตลอดเวลาที่ผ่านมาลูกค้าเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่คอยหล่อเลี้ยงบริษัทของเราให้อยู่รอดมาโดยตลอด ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนมักไม่อยากลงทุนและไม่ใช้สินค้าหรือบริการที่สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมากนัก ซึ่งจากเหตุผลดังกล่าวยิ่งต้องทำให้บริษัทต้องเร่งปรับปรุงและดูแลเอาใจใส่ลูกค้าให้มากขึ้นกว่าเดิมอีก เพื่อเป็นการรักษาลูกค้าเดิมที่เป็นรายได้หลักเอาไว้นั่นเอง

6.การฝึกอบรม พนักงาน

การพัฒนาพนักงานก็เป็นการเพิ่มศักยภาพของบริษัทอีกทางหนึ่ง การฝึกอบรมพนักงานถือเป็นการพัฒนาและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้กับบริษัทอีกทางหนึ่ง

เพราะพนักงานที่ผ่านการฝึกอบรมจะมีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นที่จะนำวิชาความรู้ที่ได้มาจากการอบรมอีกด้วย

ww6

7.จัดระบบการจัดการผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่าย

การค้าขายสินค้าทั่วไปนั้น ตัวแทนจำหน่ายหรือ Supplier มีอิทธิพลและอำนาจในการต่อรองค่อนข้างสูง เช่น อาจขึ้นราคาวัตถุดิบที่เราต้องการนำมาใช้ผลิตสินค้า หรือการตั้งเงื่อนไขในการจำหน่ายสินค้าให้เรา

ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการจัดการคือ พูดคุยตกลงกันในเรื่องต่างๆ ให้แต่ละฝ่ายมีผลประโยชน์ที่ไปด้วยกันได้ ซึ่งบางทีตัวแทนจำหน่ายอาจช่วยเหลือเราทางด้านเทคนิคต่างๆ หรือแม้แต่กระทั่งด้านการเงินก็เป็นไปได้

8.ลดการเบิกในรายจ่ายที่ไม่จำเป็น

วิธีนี้เหมาะสำหรับการควบคุมดูแลด้านค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นสำหรับบุคลากรในบริษัทที่รักการเอาเปรียบคนอื่น ทานข้าว, ดูหนังกับสาวๆ ก็เขียนใบเบิกเป็นยอดเลี้ยงลูกค้า เดินทางไปประชุม สัมมนาที่ต่างจังหวัดด้วยรถทัวร์

แต่เบิกเป็นค่าน้ำมันรถส่วนตัว เป็นต้น บุคลากรประเภทนี้ควรจะต้องทำการปรับปรุงตัวเองใหม่ เพื่อมีส่วนร่วมในการปรับลดค่าใช้จ่ายของบริษัท จำไว้ว่าเขาอยู่ได้ คุณก็อยู่ได้ และหากเขาล่มเมื่อไหร่คุณก็จะต้องล่มด้วยเช่นกัน

ww5

9.บริหารและเคลียร์สินค้าค้างสต็อก

ช่วงเวลาที่เศรษฐกิจย่ำแย่แบบนี้ มีอะไรค้างอยู่ในสต็อกก็ควรขนออกมาระบาย ด้วยการจัดลดราคา โดยเลือกใช้กลยุทธ์ที่ดึงดูด แต่ไม่กินทุน ควรบวกค่าพนักงาน ค่าสถานที่ก่อนตัดสินใจตั้งส่วนลดทุกครั้ง การโละสินค้าเก่าในครั้งนี้จะช่วยให้คุณมีเงินทุนหมุนเวียน เพื่อซื้อสินค้าใหม่เข้าคลัง

หรืออาจจะนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์กับองค์กร ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่าคิดว่าการลดราคาจะทำให้ขาดทุน แต่ควรคิดว่าหากขายไม่ได้คุณจะไม่ได้อะไรเลยแม้แต่เงินทุนกลับคืนมา

10.ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

ช่วงเวลาที่คุณตั้งรับอยู่นั้น ก็ควรทำการติดตามสถานการณ์และสำรวจแนวโน้มความเป็นมาของเศรษฐกิจอย่างสม่ำเสมอ โดยต้องคำนึงถึงความต้องการของตลาด เพื่อการเตรียมความพร้อม และมองหาโอกาสที่จะขยายธุรกิจอย่างสม่ำเสมอ เพื่อที่วันหนึ่งเมื่อโอกาสมาถึง จะได้ไม่พลาดที่จะได้ลงทุนสร้างความเติบโตให้กับธุรกิจของคุณ

คุณจึงต้องสำรวจความต้องการของตลาดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อดูว่าสินค้าที่คุณมีอยู่ ยังมีคนต้องการอีกหรือไม่ หรือมันเก่าไปแล้วตกยุคไปแล้ว และคุณก็ต้องหาโอกาสใหม่ๆ ที่จะขยายธุรกิจ โดยคุณอาจจะฟังจากความเห็นของลูกค้า หรือคุยกับคู่ค้าของคุณ หรือสอบถามพนักงานที่อยู่หน้างานของคุณ

ทั้งหมดเป็น 10 วิธีช่วยพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในสภาวะเศรษฐกิจฝืดเคือง เจ้าของสินค้าและผู้ประกอบการธุรกิจ ลองเอาแนวทางข้างต้นไปปรับใช้ดูครับ ไม่แน่จากที่ธุรกิจของคุณต้องเอาตัวรอด อาจสร้างยอดขายได้มากมายในช่วงนี้ก็ได้ครับ

อ่านบทความธุรกิจอื่นๆ goo.gl/gCI8Mw
สนใจซื้อแฟรนไชส์เพื่อความสำเร็จ goo.gl/gM4fqz


Tips

  • การหาลูกค้าใหม่ๆ เพื่อขยายฐานให้กว้างขึ้น
  • การจัดการเรื่องการเงิน
  • การกำหนดกลุ่มเป้าหมาย
  • เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย
  • ปรับปรุงการบริการลูกค้า
  • การฝึกอบรม พนักงาน
  • จัดระบบการจัดการผู้ขายหรือตัวแทนจำหน่าย
  • ลดการเบิกในรายจ่ายที่ไม่จำเป็น
  • บริหารและเคลียร์สินค้าค้างสต็อก
  • ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจ

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช