10 ขั้นตอนสู่การเป็นเจ้าของตลาดนัด

การลงทุน ทำตลาดนัด นั้นมีทั้งหมด 2 แบบ คือ การลงทุนบนที่ดินเปล่าของตัวเอง หรือดำเนินการบนที่ดินของคนอื่น ซึ่งต้องยอมรับว่าปัจจุบันตลาดนัดมีเกิดใหม่จำนวนมากที่อยู่รอดก็เยอะที่เจ๊งไม่เป็นท่าก็มีไม่น้อยบางที่ติดป้ายเตรียมเปิดตลาดแต่จนแล้วจนรอดก็ไม่ได้เปิดสักที

www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าการลงทุนทำตลาดนัดแม้จะเป็นการลงทุนที่ดีแต่คนที่คิดจะลงทุนในธุรกิจนี้ก็ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหลักการเบื้องต้นดีพอสมควรเลยทีเดียว

1.สำรวจตัวเองว่ามีเงินทุนเพียงพอ

10 ขั้นตอนสู่การเป็นเจ้าของตลาดนัด

ก่อนจะทำธุรกิจก็ต้องคิดก่อนว่าตัวเองมีเงินทุนแค่ไหน ไม่ใช่แค่เงินที่จะลงทุนแต่ต้องรวมถึงเงินสดหมุนเวียนที่ต้องมีใช้ให้เกิดสภาพคล่องในระหว่างก่อร่างสร้างตัว เพราะทุกธุรกิจช่วงแรกรายจ่ายจะมากกว่ารายรับ

หากสายป่านตรงนี้ยังไม่มีโอกาสเกิดก็ยาก โดยเฉพาะการทำตลาดยุคนี้ที่ไม่ใช่แค่การหาพื้นที่แล้วปล่อยให้พ่อค้าแม่ค้ามาขายกันสะเปะสะปะ ตลาดยุคนี้ต้องมีการบริหารจัดการ การปรับปรุงพื้นที่ การก่อสร้างในสิ่งที่สำคัญและจำเป็น เบ็ดเสร็จเงินลงทุนขั้นต่ำไม่รวมค่าเช่าพื้นที่ควรมีไม่น้อยกว่า 500,000 บาท

2.มีเงินก็ต้องมีทำเล

v9

ถ้าแน่ใจว่ามีเงินเพียงพอซึ่งส่วนใหญ่จะใช้วิธีหาหุ้นส่วนในการลงทุนขั้นต่อไปคือการหาทำเลหากเรามีที่ดินของตัวเองอยู่แล้วก็ง่ายหน่อยแต่ถ้าไม่มีก็ต้องมองหาที่ดินเปล่าที่เจ้าของปล่อยให้เช่า

ซึ่งโดยส่วนใหญ่ทำเลดีๆในกรุงเทพฯหรือต่างจังหวัดมักจะมีนายทุนเป็นผู้ถือครองที่ดินเหล่านั้นอยู่ การเช่าพื้นที่มาทำตลาดส่วนใหญ่จึงค่อนข้างมีอัตราที่สูง หรือหากเราใช้เทคนิคที่จะดึงให้เจ้าของที่ดินมาเป็นหุ้นส่วนร่วมกันในการทำตลาดก็อาจจะทำให้ต้นทุนส่วนนี้ลดน้อยลงได้ด้วย

3.ร่างสัญญาและบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรให้ชัดเจน

v11

ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจาพูดคุยที่เรื่องสัญญามีความสำคัญมากไม่ว่าเจ้าของที่ดินจะเป็นหุ้นส่วนกับเราหรือไม่ก็ตาม เราควรจะมีการร่างสัญญาที่ชัดเจนว่าใครจะมีรายได้จากตรงไหน เท่าไหร่ ระยะเวลาเป็นอย่างไร อะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้

งานนี้ต้องพึ่งนักกฎหมายเข้ามาร่างสัญญาให้ชัดเจน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในกรณีบางทีตลาดเกิดบูมคนติดมากกำไรเยอะเจ้าของที่ดินจะเล่นแง่ด้วยการยกเลิกสัญญาเพื่อมาบริหารเอง เป็นต้น

4.วางแบบแปลนตลาดให้ชัดเจน

v2

ที่ดินสำหรับการทำตลาดควรมีพื้นที่ไม่น้อยกว่า 2 ไร่ที่สำคัญต้องจัดสรรพื้นที่สำหรับเป็นลาดจอดรถของพ่อค้าแม่ค้าและส่วนของลูกค้าแยกให้ชัดเจน ตลาดไหนที่ไม่มีที่จอดรถ เตรียมเจ๊งตั้งแต่เริ่มได้เลย

การวางแปลนตลาดควรกำหนดปริมารแผงว่าต้องมีเท่าไหร่จึงจะเหมาะสม ไม่น้อยเกินไป ไม่แออัดเกินไป และควรแยกโซนให้ชัดเช่น ขายผัก ขายเนื้อสัตว์ ขายอาหารสำเร็จรูป อย่าลืมช่องทางเดิน ห้องน้ำ และอาคารอำนวยการด้วย

5.ขออนุญาติในการเปิดตลาดกับเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อย

v6

ถ้าเรามีแบบแปลนในการก่อสร้าง มีเงินทุน มีรายละเอียดที่ชัดเจนก่อนจะลงมือก่อสร้างก็ควรจะขออนุญาตกับทางเจ้าหน้าที่ให้เรียบร้อยส่วนใหญ่มักจะต้องไปติดต่อที่สำนักงานเขตในพื้นที่นั้นๆ โดยจะเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบของฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาลในการออกใบอนุญาติต่างๆ

ซึ่งหลักฐานที่ต้องนำมาใช้เพื่อขออนุญาตในการจัดตั้งตลาดคือ

  1. สำเนาบัตรประชาชนผู้ขออนุญาต
  2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ขออนุญาต
  3. ทะเบียนบ้านของสถานที่ที่จะใช้ประกอบการ
  4. สัญญาเช่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้าง พร้อมหลักฐานของผู้ให้เช่า
  5. สำเนาใบอนุญาตปลูกสร้างอาคารที่แสดงว่าเป็นอาคารที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบการ

ซึ่งโดยส่วนใหญ่หน่วยงานราชการจะใช้เวลาในการตรวจสอบหลักฐานและตรวจสอบพื้นที่ว่าถูกต้องตามมาตรฐานและได้สุขลักษณะที่กำหนดไว้หรือไม่ซึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วัน

6.กำหนดธีมของตลาดว่าเป็นอย่างไร

v8

การจะเป็นตลาดที่คนฮิตและสนใจเจ้าของตลาดต้องสำรวจชีวิตประจำวันของคนในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร มีโรงงาน มีการเลิกงานช่วงไหน เคล็ดลับคือต้องกำหนดเวลาในการเปิดปิดตลาดให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและต้องยึดถือเป็นเวลานั้นอย่างสม่ำเสมอ

เช่นวันศุกร์-อาทิตย์ ช่วงเย็น ,วันพุธ-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 17.00-24.00 น. หรือจะเปิดตลอด 7 วัน ก็ต้องแน่ใจว่าพ่อค้าแม่ค้าจะไม่มีปัญหาในการเอาสินค้ามาลงขายในตลาดด้วย

7.กำหนดค่าเช่าล็อคอย่าแพงเกินไป

v4

เป็นทริคของนักลงทุนส่วนใหญ่ที่ในระยะแรกบางตลาดเปิดให้พ่อค้าแม่ค้าเข้ามาขายฟรีเพื่อเรียกให้คนสนใจ แต่ปัญหาก็คือเมื่อระยะเวลาผ่านไปหากจะปรับเปลี่ยนมาเป็นแบบคิดราคา พ่อค้าแม่ค้าบางส่วนหายทันที

เรื่องนี้สำคัญมาก การพูดคุยกับพ่อค้าแม่ค้าให้เข้าใจตั้งแต่ครั้งแรกว่าจะปล่อยขายฟรีกี่เดือน หลังจากนั้นคิดค่าเช่าเท่าไหร่ แนะนำว่าไม่ควรแพงให้พ่อค้าแม่ค้าได้รู้สึกว่าพอมีกำไรจากการขายอยู่บ้าง

8.อย่าลืมเรื่องการดูแลรักษาความปลอดภัย

v3

ตลาดนัดเดี๋ยวนี้สังเกตให้ดีจะมีเจ้าหน้าที่คอยโบกรถให้ความสะดวกในการจราจร ในลานจอดรถบางตลาดก็มีเจ้าหน้าที่คอยแนะนำว่าให้จอดตรงไหน รวมถึงบางที่มีการติดตั้งกล้องวงจรปิด จะเป็นการเพิ่มความอุ่นใจให้กับลูกค้าที่มาเดินตลาดสามารถช็อปปิ้งได้อย่างสบายใจมากขึ้น แม้เราจะต้องมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้นบ้างก็ตาม

9.การโปรโมทตลาดเป็นสิ่งจำเป็น

v7

งบส่วนหนึ่งของการทำตลาดเราต้องจัดสรรมาให้กับการโปรโมทให้ตลาดเป็นที่รู้จัก การประชาสัมพันธ์พื้นฐานเช่นแผ่นพับ ใบปลิว ป้ายโฆษณา หรือแม้แต่การวิ่งรถประชาสัมพันธ์จะทำให้คนรู้จักตลาดเรามากขึ้น

หรือหากจะให้ดีควรมีการจัดกิจกรรมพิเศษเพื่อดึงดูดคนให้สนใจตลาดเช่นการจัดคอนเสิร์ต หรือการจัดแข่งขันทำอาหาร หรือมีการจัดกิจกรรมตามเทศกาลต่างๆ ก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้ตลาดเรามากขึ้น

10.ตลาดฮิตคนติดต้องขยาย

v10

เรียกว่าเป็นการเติบโตของธุรกิจบางตลาดเริ่มต้นด้วยพื้นที่แค่ 1-2 ไร่แต่หากผ่านไปสักพักตลาดเริ่มเป็นที่รู้จักคนเริ่มมาตลาดมากขึ้น พ่อค้าแม่ค้าเริ่มมากขึ้น ในฐานะเจ้าของตลาดควรมองเรื่องการต่อขยายตลาดให้มีพื้นที่เพิ่มมากขึ้นด้วยดังนั้นการหาพื้นที่สำหรับทำตลาดต้องมองถึงอนาคตไว้ด้วย

การลงทุนทำตลาดใช้เงินทุนค่อนข้างสูงเหนือสิ่งอื่นใดเราต้องสำรวจพื้นที่โดยรอบก่อนว่าหากเปิดพื้นที่ทำตลาดแล้วจะคุ้มค่าการลงทุนหรือไม่แล้วตลาดที่เปิดใหม่จะตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนในพื้นที่ได้ดีแค่ไหนด้วย


SMEs Tips

  1. สำรวจตัวเองว่ามีเงินทุนมากพอ
  2. หาทำเลที่ดีที่เหมาะสมกับการทำตลาดได้
  3. มีการทำสัญญากับเจ้าของที่ดินชัดเจน
  4. วางแบบแปลนตลาดให้เหมาะสม
  5. ทำเรื่องขออนุญาตกับหน่วยงานราชการในพื้นที่
  6. กำหนดรูปแบบของตลาดให้มีเอกลักษณ์
  7. ดึงดูดพ่อค้าแม่ค้าให้สนใจด้วยการคิดค่าเช่าที่เป็นธรรม
  8. มีระบบรักษาความปลอดภัยในตลาด
  9. มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดต่อเนื่อง
  10. มีแผนสำหรับการเติบโตในอนาคต

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมาย ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด