ไม่รุ่งแต่ร่วง! 7 Startup ที่ไปไม่ถึงดวงดาวตามที่ต้องการ

การทำธุรกิจทุกคนต้องมีความฝันที่จะสร้างผลกำไรให้เป็นกอบเป็นกำและวาดหวังถึงการเติบโตอย่างยิ่งใหญ่ในอนาคต แต่ในความเป็นจริงก็มีหลายธุรกิจที่ไปไม่ถึงดวงดาวแม้บางธุรกิจจะสามารถเริ่มต้นได้อย่างคึกคักเป็นธุรกิจที่ดูดีมีอนาคตไกลแต่จู่ก็ได้ยินข่าวปิดกิจการกันลงไป

ยิ่งในยุคที่คำว่าสตาร์อัพกำลังเฟื่องฟูคนมีไอเดียใหม่แนวคิดใหม่ก็ขายฝันนี้ผ่านการระดมทุนซึ่งก็มีธุรกิจจำนวนมากที่ฝ่าฝันผ่านออกไปและกลายเป็นธุรกิจที่เติบโตแบบสุดโต่งแต่เมื่อเหรียญย่อมมีสองด้านนั้นก็หมายถึงว่าอีกด้านก็มีธุรกิจที่ไปไม่รอดเช่นกัน

โดย www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมเอา 7 สตาร์ทอัพที่เริ่มต้นได้ดีแต่งานนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เอาไว้เป็นกรณีศึกษาให้สำหรับคนที่ต้องการลงทุนได้เข้าใจสัจธรรมการทำธุรกิจว่าสิ่งสำคัญที่ทำให้อยู่รอดนั้นไม่ใช่แค่เงินทุนในการตั้งต้นเท่านั้น

1.Beepi (เริ่มก่อตั้งก่อตั้งปี 2013 – ปิดตัวกุมภาพันธ์ ปี /2017)

Startup

Beepi เว็บไซต์ที่รวบรวมผู้ซื้อและผู้ขายรถยนต์ใช้แล้ว ดูท่าจะไปได้สวยเพราะระดมทุนตั้งต้นได้ถึง 150 ล้านเหรียญ ส่วนมูลค่าเคยพุ่งไปถึง 560 ล้านเหรียญ จนทำให้ Fair.com

และ ตัวแทนจำหน่ายรถยนต์อย่าง DGDG ขอซื้อกิจการ แต่ Beepi ก็ไม่ขาย สุดท้ายธุรกิจนี้ก็ไปไม่รอดเพราะหมดเงินดำเนินการต่อจึงต้องปิดกิจการลงไป

2. Quixey (เริ่มก่อตั้งปี 2009 – ปิดตัวกุมภาพันธ์ ปี 2017)

cc2

Quixey แอพพลิเคชั่นค้นหาข้อมูลสารพัดบนมือถือ ด้วยความเชื่อที่ว่าในยุคนี้ผู้คนค้นหาสิ่งต่างๆ ผ่านมือถือกันมากขึ้น สตาร์ทอัพรายนี้ระดมทุนตั้งต้นได้ 133 ล้านเหรียญ

และมีมูลค่าพุ่งไปถึง 600 ล้านเหรียญในเวลาต่อมา แต่เมื่อดำเนินกิจการต่อไปเรื่อยๆ พบว่า ไม่มีรายได้ที่มั่นคง ส่วนในปี 2016 ก็มีการเปลี่ยนตัว CEO สุดท้ายไปไม่รอดเช่นกัน และได้ปิดกิจการเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

3. Yik Yak (เริ่มก่อตั้งปี 2013 – ปิดตัวเมษายน ปี 2017)

cc3

Yik Yak เป็นแอพพลิเคชั่นสังคมออนไลน์ชนิดหนึ่ง ความพิเศษอยู่ที่การแชทคุยกับคนที่ไม่รู้จักแบบไม่ต้องระบุตัวตน ตอนเริ่มต้นนั้นประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนเรื่องเงินนั้นเคยระดมทุนได้ถึง 73 ล้านเหรียญ

แถมยังมีมูลค่าสูงถึง 400 ล้านเหรียญมาแล้ว แต่ด้วยเหตุผลกลใดไม่อาจทราบแต่ที่รู้ๆคือธุรกิจนี้ปิดตัวเองไปเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้เอง

4. Maple (เริ่มก่อตั้งปี 2014 – ปิดตัวพฤษภาคม ปี 2017)

cc4

Maple บริการจัดส่งอาหารเดลิเวอรี่ในนิวยอร์คซิตี้ สตาร์ทอัพรายนี้ได้รับการสนับสนุนจากเชฟไฮเอนด์ชื่อดังคือ David Chang ระดมทุนตั้งต้นที่ 29 ล้านเหรียญ มูลค่าสูงสุดอยู่ที่ 115 ล้านเหรียญ แต่ก็มีปัญหาในเรื่องการบริหารงานเกี่ยวกับใบโปรชัวร์คุกกี้ และก็กลายเป็นอีกธุรกิจดาวรุ่งแต่พุ่งไม่แรงและต้องปิดกิจการตัวเองลงไป

5. Sprig (เริ่มก่อตั้งปี 2013 – ปิดตัวพฤษภาคม ปี 2017)

cc5

สตาร์ทอัพรายนี้ก็เป็นอีกหนึ่งในบริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ และแน่นอนก็ล้มเหลวเช่นกัน Sprig ให้บริการในซานฟรานซิสโก แต่เน้นไปที่อาหารคุณภาพสูงและอาหารในท้องถิ่น และบอกเลยว่าจะส่งอาหารภายใน 15 นาที แต่สุดท้ายไปไม่ไหวเพราะรูปแบบธุรกิจไม่ยั่งยืน

เพราะสู้กับคู่แข่งที่มีราคาต่ำกว่าอย่าง Seamless ไม่ได้ ส่วนการระดมทุนของรายนี้อยู่ที่ 57 ล้านเหรียญ มีมูลค่าสูงสุดถึง 110 ล้านเหรียญ Gagan Biyani ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ Sprig ได้พูดถึงเรื่องนี้ไว้ว่าธุรกิจส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ไม่ใช่งานง่ายและมีความซับซ้อนมากและมากเกินกว่าที่ Sprig จะสู้ได้

6. Hello (เริ่มก่อตั้งปี 2012 – ปิดตัวมิถุนายน ปี 2017)

cc6

Hello เป็นบริษัทที่อยู่เบื้องหลังผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบมาเป็นเซ็นเซอร์เพื่อติดตามการนอน แรกๆ ดูเหมือนว่าจะไปได้สวย เพราะเปิดตัวอย่างมาดีสามารถระดมทุนได้ 40 ล้านเหรียญ มีมูลค่าสูงไปถึง 300 ล้านเหรียญ แต่จากสถานการณ์ที่ดูเหมือนจะเป็นดาวรุ่งแต่การดำเนินงานได้เพียง 5 ปีธุรกิจนี้ก็แปรสภาพเป็นหนึ่งในกิจการที่ต้องปิดตัวเองไป

7. Jawbone (เริ่มก่อตั้งปี 1997 – ปิดตัวกรกฎาคม ปี 2017)

cc7

Jawbone รายนี้ก่อตั้งมานานและเป็นที่รู้จักกันดี เรียกได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกในวงการอุปกรณ์สวมใส่สำหรับการออกกำลังกาย มากกว่านั้น สตาร์ทอัพรายนี้ยังพุ่งไปอยู่จุดที่เรียกว่าเป็น “สตาร์ทอัพยูนิคอร์น” เพราะได้ระดมทุน 1 พันล้านเหรียญ

และมีมูลค่าสูงไปถึง 3 พันล้านเหรียญอีกด้วย แต่ธุรกิจนี้ก็มีอันต้องพับไปเช่นกันเนื่องจาก Hosain Rahman ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ ได้ไปเริ่มต้นบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า Jawbone Health Hub โดยจะเน้นการพัฒนาฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ไปพร้อมๆ กันเพื่อให้ทันกับยุคสมัยมากขึ้นด้วย

แน่นอนว่าหากเราสืบค้นกันให้ละเอียดจะพบว่ามีหลายสตาร์ทอัพที่พยายามเกิดแต่ก็ไม่เป็นผล ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจมีอันต้องพังทลายไปถ้าตัดเรื่องเงินในการลงทุนออกไป ก็ยังเหลือปัจจัยใหญ่ๆทั้งวิสัยทัศน์ในการบริหาร การวางแผนการตลาด

การพัฒนาสินค้าตามยุคสมัย การตั้งราคา แนวทางของผลิตภัณฑ์ ทุกอย่างล้วนแต่มีเหตุผลเกี่ยวเนื่องกับความอยู่รอดคนทำธุรกิจจึงควรศึกษาทิศทางเหล่านี้ให้รอบด้านเพื่อประโยชน์ในการทำธุรกิจที่ยั่งยืนต่อไป

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก goo.gl/UCe61m , goo.gl/VxvH7P

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด