ไขความลับ ทำไมพนักงาน MK ต้องเต้น!

ถ้าพูดถึงเรื่อง “ สุกี้ ” เชื่อว่าหลายๆ คน ก็คงนึกถึง MK สุกี้ ที่มีจำนวนสาขามากมายราวๆ 419 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงขายแฟรนไชส์ไปยังประเทศญี่ปุ่น เวียดนาม ลาว อีกด้วย

อาจเรียกได้ว่าร้าน MK สุกี้ ได้ผูกขาดในธุรกิจสุกี้ของเมืองไทยไปแล้ว เพราะเป็นร้านสุกี้ที่ได้รับความนิยมสำหรับทุกเพศ ทุกวัย ทุกกลุ่มเป้าหมาย ห้างสรรพสินค้าอยู่ที่ไหน MK ก็อยู่ด้วย

สุกี้

แล้วอยากรู้ไหมว่า รายได้ของ MK สุกี้ มากเท่าไหร่

  • ปี 2557 รายได้รวม 14,957 ล้านบาท กำไร 2,042 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้รวม 14,923 ล้านบาท กำไร 1,856 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้รวม 15,498 ล้านบาท กำไร 2,100 ล้านบาท

ได้เห็นรายได้ของ MK สุกี้ ไปแล้ว เชื่อว่าคุณผู้อ่านเกือบทุกคน คงเป็นลูกค้าของร้าน MK สุกี้ เรียบร้อยแล้ว แต่ที่หลายๆ คนได้เกิดความสงสัยในวันนี้ คือ ทำไมพนักงาน MK ต้องเต้น!

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com เลยหาคำตอบจากหลายๆ แหล่งมาเล่าให้คุณผู้อ่านได้เข้าใจ ซึ่งอาจเป็นคำตอบที่อยู่ในใจของใครหลานคนในตอนนี้ก็ได้

MK สุกี้ เกิดขึ้นได้อย่างไร

t5

MK Restaurant ก่อตั้งขึ้นโดย คุณป้าทองคำ เมฆโต (คุณแม่ของคุณยุพิน ธีระโกเมน ภรรยาของ คุณฤทธิ์ ธีระโกเมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน))

คุณป้าทองคำได้ทำกิจการร้านอาหารไทยร่วมกับ มาคอง คิงยี (Makong King Yee) ชาวฮ่องกง ซึ่งเป็นที่มาของ คำว่า “MK” แถวๆ สยามสแควร์ จนมาคอง คิงยี ต้องย้ายครอบครัวไปอยู่บอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกาและขายกิจการให้ป้าทองคำ

ซึ่งมีลูกสาว คือ คุณยุพิน ช่วยกันดำเนินกิจการและเป็นที่รู้จักชื่นชอบในหมู่นักกินทั้งหลาย อาหารขึ้นชื่อในสมัยนั้น ได้แก่ ข้าวมันไก่ เนื้อตุ๋น ผัดไทย ผัดขี้เมา เนื้อย่างเกาหลีเตาถ่าน ยำแซ่บๆ และเค้ก

กระทั่งในปี 2529 สัมฤทธิ์ จิราธิวัฒน์ เจ้าของเครือเซ็นทรัล กรุ๊ป ชวนป้าทองคำมาเปิดร้านอาหารไทยในเซ็นทรัล ลาดพร้าว ในชื่อร้านใหม่ “กรีน เอ็มเค” และอีก 2 ปีต่อมา เสนอพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร

เปิดร้านสุกี้เอ็มเค สาขาแรกในห้างเซ็นทรัล ลาดพร้าว โดยมีเงื่อนไขสำคัญ คือ ต้องเปลี่ยนจากหม้อสุกี้เตาแก๊สเป็นเตาไฟฟ้า ซึ่งคุณฤทธิ์แฟนของคุณยุพินลูกสาวป้าทองคำ ได้ใช้ความรู้ด้านวิศวกรรมวางระบบจนสามารถเปิดร้าน “สุกี้เอ็มเค” สาขาแรก

ทำไมพนักงาน MK ต้องเต้น!

t1

ภาพจาก goo.gl/d2X3EP

MK Restaurant มีสโลแกนว่า “ช่วงเวลาแห่งความอบอุ่น ช่วงเวลาแห่งความสุข” MK เปรียบตัวเองว่าเป็นเหมือนครอบครัวใหญ่ ผู้ปกครองมีภาวะผู้นำที่เข้มแข็ง มีการ “ให้” เป็นหลักในการบริหารจัดการ ทั้ง “ให้อาชีพ” คือ ให้ความมั่นคงในการทำงาน เพราะทำงาน MK แล้วเส้นทางการเติบโตในหน้าที่การงาน ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน

“ให้ครอบครัว” คือ สร้างบรรยากาศการทำงานแบบครอบครัว ตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงไปจนถึงพนักงานระดับปฏิบัติงาน และสุดท้าย “ให้โอกาส” คือ สมัครเป็นพนักงาน MK ไม่จำเป็นต้องมีประสบการณ์และความรู้ เข้าไปแล้ว MK จะสอนและพัฒนาความสามารถให้ดีขึ้น ด้วยหลักสูตรการฝึกอบรมที่มีอยู่หลากหลาย ถือเป็นเป็นลงทุนที่คุ้มค่าของ MK โดยมีเป้าหมายต้องการมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

MK มีวัฒนธรรมการทำงานแบบองค์กรไทยๆ เคารพผู้อาวุโสกว่า ให้เกียรติทุกคนที่มีอายุมากกว่า ถึงแม้ว่าจะมีตำแหน่งไม่เท่ากัน พนักงาน MK จะเรียกกันเองเป็น พี่ ป้า น้า อา ตามอาวุโส คือ ไม่มีการเรียกสรรพนามว่า บอส เจ้านาย หรือท่านในทุกระดับ

แต่จะเรียกชื่อ เช่น กรรมการผู้จัดการ ทุกคนจะเรียกว่า น้านิด ส่วนลูกสาวของคุณป้าทองคำ “คุณยุพิน” เรียกว่า พี่แจ๊ว เวลาอยู่ที่ทำงานหรือลงสาขาทุกคนจะเรียกสรรพนามกันแบบนี้ เพื่อสร้างบรรยากาศความเป็นพี่น้อง

มาถึงตรงนี้แล้ว อยากรู้ไหมว่า ทำไมพนักงาน MK ต้องเต้น!

t2

ภาพจาก goo.gl/1vdncY

ก่อนอื่นจะเล่าว่า พนักงาน MK จะเต้น 5 ช่วงเวลา คือ 12.00 / 13.00 / 18.00 / 19.00 / 20.00 น.ถือเป็นโครงการพัฒนาองค์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีทั้งการพัฒนางาน และการพัฒนาชีวิตการทำงานของพนักงานเอง แต่มีเป้าหมายใหญ่เดียวกัน คือ เพื่อคุณภาพการบริการที่ดีให้กับลูกค้า (แต่ถ้าใครไม่อยากดู ก็หลีกเลี่ยงใช้บริการช่วงเวลานี้ได้)

โครงการเต้นของพนักงานในสาขา MK เกิดขึ้นมาจากความเห็นของพนักงานระดับปฏิบัติการ ที่เห็นตรงกันกับคณะผู้บริหารว่า คุณภาพอาหาร (Food Quality) มีการให้บริการที่ดี (Good Service) แล้ว MK ยังขาดอะไรอีก ทุกคนก็เลยคิดว่ายังขาดเรื่อง การให้ความบันเทิงแก่ลูกค้า (Entertain) ทางพนักงานคิดอยากทำเพื่อเป็นตอบแทนให้กับลูกค้า

t4

จึงเป็นที่มาของการเต้นโชว์ ในช่วงแรกพนักงานอาจมีความเขินอายอยู่บ้าง แต่พอพัฒนาเป็นเวอร์ชั่นหลังๆ ก็จะมีการออกท่าทางมากขึ้น การเต้นโชว์ที่ร้าน แน่นอนว่าเป้าหมายสูงสุดของ MK คือ อยากทำให้ลูกค้ามีความสุข สนุกไปกับการเต้นของพนักงาน แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นการส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรง และสร้างความสุขให้กับพนักงาน MK

MK มองว่าการเต้นของพนักงานสาขา ที่ทุกคนต้องเต้นพร้อมกันหมด ทั้งน้องๆ พนักงานเสิร์ฟ ป้าๆ น้าๆ ที่อยู่ในครัว จะทำให้พนักงานทุกคน มีความสุขในการมอบความสุขให้กับลูกค้าที่เข้ามาทานสุกี้ในร้าน และผ่อนคลายจากการทำงานด้วย

ดังนั้น การเต้นของพนักงาน MK ก็คือ “การให้” ของ MK ที่เป็นวัฒนธรรมการทำงานมาตั้งแต่ คุณป้าทองคำ โดยต้องการให้กับลูกค้าและพนักงานทุกคน ให้อาชีพที่มั่นคง สามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวได้ รวมถึงการให้ความสุขกับลูกค้า

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ http://www.thaifranchisecenter.com/home.php
แหล่งข้อมูล https://goo.gl/wEQnsj

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช