“ไก่” ในงวง “ช้าง” อะไรก็เกิดขึ้นได้ เมื่อไทยเบฟฯ ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

ยี่ห้อนี้ไม่มีพลาดง่ายๆ เมื่อสะสมเงินทุนได้แล้ว โอกาสก็มาถึงมือของ “เจริญ ศิริวัฒนภักดี” อย่างเหมาะเจาะพอดี ด้วยการให้บริษัทย่อยในเครือไทยเบฟฯ ทำสัญญาซื้อขายสินทรัพย์ กับบริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อซื้อกิจการร้าน KFC ในประเทศไทย ที่มีอยู่กว่า 240 แห่ง และที่กำลังจะเปิดให้บริการอีก 2 แห่งในอนาคต

ด้วยมูลค่าประมาณ 11,300 ล้านบาท รวมถึงสาขาที่มีแผนจะเปิดให้บริการในอนาคตด้วย เพื่อให้กลุ่มบริษัทไทยเบฟฯ เข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม ที่เข้าถึงไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค ด้วยธุรกิจร้านอาหารแบบฟาสต์ฟู้ด ซึ่งคาดว่าการเข้าซื้อกิจการแฟรนไชส์ร้านอาหารไก่ทอด KFC ของไทยเบฟฯ จะเสร็จสมบูรณ์ในช่วงเดือนธันวาคม 2560

ย้อนกลับไปหากยังจำกันได้ เมื่อวันที่ 25 ม.ค.2560 บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ได้ประกาศหาผู้ที่สนใจเข้ามาซื้อกิจการสาขาของร้าน KFC ในไทยทั้งหมด ที่บริหารโดยยัมฯ 244 สาขา โดยได้แต่งตั้งให้บริษัท ไพร้ซ์ วอเตอร์ เฮาส์ เป็นที่ปรึกษาการซื้อขาย ซึ่งในเวลานั้นร้าน KFC ในไทยมีทั้งหมดเกือบ 600 สาขา

แบ่งออกเป็นของ ยัม เรสเทอรองตส์ ฯ 244 สาขา, บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (CRG) บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัล ซื้อแฟรนไชส์เปิดสาขาในเซ็นทรัลและโรบินสัน 219 สาขา และบริษัท เรสเทอรองตส์ ดีเวลลอปเม้นต์ จำกัด (RD) ซึ่งก่อตั้งโดยอดีตผู้บริหาร KFC เดิม อีก 130 สาขา

ในตอนนั้น บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ฯ ให้เหตุผลว่า ต้องการปรับกลยุทธ์มาสู่บทบาทของการเป็นผู้ให้บริการแฟรนไชส์ 100% โดยหลังขายกิจการแล้ว จะหยุดการลงทุนขยายสาขาด้วยตนเอง เพื่อปล่อยให้เป็นหน้าที่ของทางผู้ซื้อแฟรนไชส์

โดยบริษัท ยัมฯ จะมุ่งเน้นการบริหาร พัฒนาแบรนด์ และสนับสนุนแฟรนไชส์ เพื่อให้การขยายสาขา การตลาด การพัฒนาต่างๆ เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งทางผู้ซื้อแฟรนไชส์ (แฟรนไชส์ซี) จะเป็นผู้ลงทุนสาขา

ส่วนงบการตลาดนั้น จะมาจากการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายของแต่ละราย เพื่อเข้ากองกลาง โดยมีทีมการตลาดของยัมฯ เป็นผู้ดูแลบริหาร ตั้งเป้าหมายให้มีร้าน KFC ในไทยครบ 800 สาขาภายในปี 2563

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอบทวิเคราะห์ว่า ทำไม กลุ่มเบียร์ช้างต้องเข้ามาซื้อกิจการ KFC ที่เป็นธุรกิจแฟรนไชส์ สามารถต่อยอดธุรกิจในเครือได้อย่างไรบ้าง

ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์

ภาพจาก goo.gl/aFsQEA , goo.gl/MNSXmM

หากย้อนกลับไปดูตอนแรกๆ ก็มีหลายกิจการที่กลุ่มเบียร์ช้างซื้อมาบริหาร ล้วนแต่เป็นธุรกิจที่มีชื่อเสียง แบรนด์โด่งดัง ผูกขาดตลาด มียอดขาย สร้างรายได้มั่นคง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะเป็น การเทกโอเวอร์บิ๊กซี จากบริษัทฝรั่งเศสภายใต้ชื่อ “คาสิโนกรุ๊ป” ด้วยมูลค่ากว่า 120,000 ล้านบาท ในปี 2559, เทกโอเวอร์ โออิชิ กรุ๊ป (OISHI) ของ ตัน ภาสกรนที ปี 2549, ซื้อหุ้นยูนิเวนเจอร์ (UV) ปี 2550, ตึกเนชั่น เมื่อปี 2551, และบริษัทเสริมสุข ปี 2553 ที่จำหน่ายเครื่องดื่มเอสในปัจจุบัน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังการซื้อกิจการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน และธุรกิจโรงแรมดังชั้นนำของประเทศ อย่างเครืออิมพิเรียล และพลาซ่าแอทธินี และอีกหลายๆ โรงแรมดังในต่างประเทศมากมาย

ผลจาการซื้อกิจการที่ประสบความสำเร็จของไทยเบฟฯ กรณีการเข้าซื้อกิจการ “โออิชิ” ของ “ตัน” ถือเป็นการต่อยอดธุรกิจให้กลับกลุ่มไทยเบฟฯ อย่างมหาศาล โดยปี 2559 ปรากฏว่า ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของโออิชิ สามารถสร้างการเติบโตทั้งรายได้ และกำไรสุทธิสูงกว่าเป้าหมาย มีรายได้จากการขายรวมทั้งสิ้นกว่า 1.03 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 8%

แบ่งเป็นรายได้จากธุรกิจอาหาร 4,906 ล้านบาท ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มมีรายได้ 5,493 ล้านบาท เติบโต 17% ขณะที่กำไรสุทธิมีมูลค่า 887 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 90% จากปี 2558 แบ่งเป็นกำไรสุทธิจากธุรกิจอาหาร 88 ล้านบาท เติบโต 183% ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มมีกำไรสุทธิ 799 ล้านบาท เติบโต 83%

แน่นอนว่า เครื่องดื่มและชาเขียวภายใต้แบรนด์โออิชิ ย่อมขายดิบขาดีในร้านอาหารต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งอยู่ในภายใต้เครือบริษัทไทยเบฟฯ อาทิ ร้านโออิชิ แกรนด์, ร้านโออิชิ บุฟเฟต์, ร้านชาบูชิ และร้านโออิชิ ราเมน

kkk3

ภาพจาก goo.gl/9iaR9s

สำหรับการเข้าซื้อกิจการร้านอาหาร KFC จำนวน 240 สาขาจากบริษัทยัมฯ ในครั้งนี้ จะทำให้กลุ่มไทยเบฟฯ อยู่ในฐานะเป็นแฟรนไชส์ซี มีหน้าที่บริการจัดการร้าน KFC ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นตกแต่ง ออกแบบรูปแบบร้าน การให้บริการ การสร้างประสบการณ์ให้กับลูกค้า แต่จะต้องจ่ายค่าการตลาดให้กับยัมฯ จากยอดขายในแต่ละเดือน

โดยในการเข้าซื้อกิจการแฟรนไชส์ร้าน KFC ของไทยเบฟฯ มีความเป็นได้ว่า ไทยเบฟฯ จะใช้จำนวนร้านสาขา KFC ที่มีอยู่ ในมือ และที่ยังไม่ได้ขยายสาขาอีก ต่อยอดให้กับธุรกิจเครื่องดื่มต่างๆ ให้กับเครือบริษัท

โดยเฉพาะเครื่องดื่มชาเขียว รวมถึงเครื่องดื่มเบียร์ ที่หลายคนคาดการณ์ว่า อนาคตอาจมีจำหน่ายในร้าน KFC บางสาขา ที่เป็นของไทยเบฟฯ อีกด้วย ซึ่งในหลายๆ ประเทศที่มีร้านอาหารฟาสต์ฟู้ด ก็เริ่มหันมาจำหน่ายเครื่องดื่มเบียร์ร่วมด้วย

ปัจจุบัน ร้านแฟรนไชส์ไก่ทอด KFC คือ แบรนด์ร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดอันดับ 1 ของไทย สามารถให้บริการลูกค้าถึง 200 ล้านราย/ปี มีการเสิร์ฟอาหารถึง 350,000 มื้อต่อวัน ทั้งนี้ จากข้อมูลปี 2558 ตลาดไก่ทอดของประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 17,000 ล้านบาท KFC มีส่วนแบ่งตลาด 65% นั่นหมายถึงมียอดขายมากกว่า 11,000 ล้านบาท

นั่นแสดงให้เห็นว่า การเข้าซื้อกิจการร้านไก่ทอด KFC ของกลุ่มบริษัทไทยเบฟฯ ครั้งนี้ เพราะต้องการเป็นผู้นำตลาดอาหารและเครื่องดื่มที่ครบวงจร และกลุ่มไทยเบฟฯ ก็ยังถือครองสิทธิบริหารร้าน KFC มากกว่าแฟรนไชส์ซีรายอื่นๆ อีกด้วย ซึ่งการที่จะปรับปรุง เปลี่ยนแปลงโฉมร้าน KFC แบบใหม่ ก็อาจจะได้รับการอนุมัติจากยัมฯ ได้ง่ายขึ้นด้วย

สำหรับ “เจริญ สิริวัฒนภักดี” ล่าสุดนิตยสารฟอร์บส์ ได้จัดอันดับมหาเศรษฐีไทย ประจำนปี 2017 “เสี่ยเจริญ” เจ้าพ่อเบียร์ช้าง สามารถครองแชมป์ด้วยทรัพย์สินสูงถึงกว่า 1.58 หมื่นล้านดอลลาร์ (อันดับ 62 ของโลก) ขณะเจ้าสัว “ธนินท์ เจียรวนนท์” ครองอันดับ 2 ด้วยจำนวนทรัพย์สิน 9.7 พันล้านดอลลาร์

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/home.php

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/39SdJ7x

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช