โอกาส แฟรนไชส์ใน ประเทศลาว

ประเทศลาว แม้มีประชากรอยู่เพียง 6.8 ล้านคน และในเมืองหลวงเวียงจันทร์ ก็มีเพียง 5-7 แสนคนเท่านั้น ทำให้ดูไม่น่าสนใจในการไปเปิดตลาดค้าขายที่นี่

แต่จุดแข็งของลาว คือ ประเทศลาวกำลังอยู่ในภาวะเศรษฐกิจขาขึ้น และมีกลุ่มชนชั้นที่มีฐานะ ที่จ่ายได้ไม่อั้น ที่นั่นจึงยังมีโอกาสลงทุนธุรกิจแฟรนไชส์เพื่อเติบโตไปพร้อมๆกับประเทศนี้ และมีอนาคตรออยู่

สำหรับแฟรนไชส์ไทย ในวันนี้ ได้เปิดขึ้นแล้วที่ลาวแล้วหลายยี่ห้อ เช่น พิซซ่าคอมพานี สเวนเซ่นส์ ตำมั่ว ฮอทพอท ไก่ย่างห้าดาว ทรูคอฟฟี่ คอฟฟี่เวิลด์ แบล็คแคนย่อน เดอะวาฟเฟิล ไก่ย่างห้าดาว ชายสี่หมีเกี๊ยว กาแฟอเมซอน เชสเตอร์ สมาร์ทเบรน คาร์แล็ค 68 เป็นต้น

แต่แฟรนไชส์ในลาวนั้น มีทั้งที่ประสบความสำเร็จ และไม่ประสบความสำเร็จ เป็นเพราะอะไร ทำอย่างไร จึงจะประสบความสำเร็จ และ แฟรนไชส์อะไรยังมีโอกาสที่เปิดขึ้นได้อีก

เรื่องนี้มีนักธุรกิจลาววิเคราะห์ให้ฟัง โดยทางสมาคมแฟรนไชส์ไทย ได้สรุปในแต่ละประเด็นมาได้ ดังนี้

กำเงินไว้ ไม่มีที่ใช้

แม้ว่าประชากรของลาวโดยส่วนใหญ่ จะมีกำลังซื้อไม่สูงมากก็จริง แต่ยังมีกลุ่มคนรวยอยู่ส่วนหนึ่ง ที่อาจประมาณ 5% ของประชาชากรทั้งหมด ซึ่งมีฐานการเงินแข็งมาก และกล้าใช้จ่าย กล้าลงในธุรกิจใหม่ๆ นอกจากนี้ก็ยังมี กลุ่มนักธุรกิจจีน และ เวียดนาม ที่มีความใกล้ชิดกับรัฐบาลลาวอย่างเหนียวแน่น เข้าลงทุนธุรกิจในประเทศลาวหลายประเภท ที่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อที่สูงมาก

นอกจากนี้แล้ว ประชาชนลาวที่ทำการค้าขายทั่วไป เช่น ขายวัสดุก่อสร้าง ขายอาหาร ขายรถยนต์ ขายทอง ทำธุรกิจท่องเที่ยว ฯลฯ ก็เป็นกลุ่มที่ได้รับอนิสงค์จากการค้าขายที่เติบโตขึ้นมาโดยตลอด ทั้ง 3 กลุ่มนี้อาจจะเรียกได้ว่า เป็นกลุ่มที่กำเงินเอาไว้มาก แต่ไม่มีที่จะใช้ เพราะร้านค้าในเวียงจันทร์ ยังไม่ตอบโจทย์ และยังไม่เจอสินค้าและบริการที่ถูกใจ เงินที่กำเงินเอาไว้ พร้อมที่จะจับจ่าย สำหรับสินค้าและบริการที่ยกระดับขึ้นมาที่ตอบสนองได้ตรงจุด

เราจะเห็นได้ว่า แม้สภาพของเมืองต่างๆในลาว ดูยังไม่เจริญมากนัก มีถนนลาดยางน้อย การคมนาคมยังไม่สะดวก แต่ปรากฏว่า มีรถยนต์หรูวิ่งกันทั่วเมือง และร้านทองมีจำนวนมาก และมีคนซื้อทองกันเหมือนกับซื้อสินค้าประจำวันทั่วไป และ โรงเรียนอินเตอร์มีค่าเทอมที่สูงลิบ ประมาณกว่า 5 แสนบาทต่อเทอม ก็ยังได้รับความนิยม สินค้าแบรนด์แนม ที่ของแท้ ก็เป็นสินค้าที่ขายได้ นี่เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า สถานการณ์ธุรกิจในลาวเป็นเช่นไร

ราคา สมกับคุณภาพ

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ร้านหรูเพียงอย่างเดียวจะสำเร็จได้ง่ายๆ ความสำเร็จในการเปิดการค้าขายในลาว ก็ต้องมีความลงตัวหลายด้าน เราสามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ของผู้ที่เก็บกระเป๋ากลับบ้านไปแล้วเช่น มีร้านอาหารแฟรนไชส์ หลายแบรนด์ที่เปิดขึ้นในลาว แต่ก็ต้องปิดตัว ซึ่งมีสาเหตุมาจาก

ด้านรสชาติ

ไม่ตอบโจทย์ อย่างเช่น น้ำก๋วยเตี๋ยว หรือซุป คนลาวส่วนใหญ่ไม่คุ้นเคยกับรสออกหวานแบบบ้านเรา แต่จะมีความเค็มเล็กน้อย หรือ ส้มตำ และลาบ ของลาวจะไม่มีรสเปรี้ยว ซึ่งแปลกสำหรับคนไทย ดังนั้นก่อนที่จะขายแฟรนไชส์อาหารในลาว อาจต้องทำความเข้าใจ เข้าถึง รูปแบบ และรสชาติที่ถูกใจของคนที่นั่นให้แน่ใจเสียก่อน

ราคาที่ตั้งไว้สูง

เป็นเรื่องแปลกที่ค่าครองชีพของลาวสูงกว่าไทย เช่น ก๋วยเตี๋ยวราคาเฉลี่ยประมาณชามละ 60-80 บาท มากว่าเท่าตัวเมื่อเทียบกับเมืองไทย แต่มีปริมาณที่มากกว่าด้วย และเมื่อแฟรนไชส์อาหารไทยไปที่นั่น มักจะตั้งราคาที่สูงกว่าที่ขายในไทย ทำให้ลูกค้าลาวไม่ต้องการจ่าย เพราะรู้สึกไม่คุ้มค่าเงินที่จ่ายไป

คุณภาพไม่สม่ำเสมอ

ร้านแฟรนไชส์บางราย เปิดใหม่ๆ ได้รับความนิยมสูงมาก แต่เมื่อนานไป กลับเงียบเหงา นั่นเป็นเพราะการให้บริการไม่สม่ำเสมอ ทั้งในด้านคุณภาพของอาหาร และการบริการที่หย่อนวินัยลง ซึ่งมีส่วนมาจากการได้คู่ค่าแฟรนไชซี่ที่ไม่ได้เอาใจใส่ในกิจการอย่างจริงจัง และระบบการดูแลมาตรฐานร้านของบริษัทแม่ไม่แข้มแข็ง

โอกาส ของแฟรนไชส์ไทย

ผู้เชี่ยวชาญ ชาวลาว วิเคราะห์ว่า หากธุรกิจอาหารที่มาเปิดในลาว เมื่อด้านรสชาติที่ผ่านคนลาวแล้ว ทำราคาสมกับคุณภาพ หรือให้ราคาเท่ากับที่ประเทศไทยได้ ก็อาจจะประสบความสำเร็จได้ไม่ยาก เพราะ…..

ธุรกิจของไทยเป็นที่ต้องการของลาวอยู่แล้ว และนักธุรกิจลาวต้องการศึกษาระบบงานที่มีมาตรฐาน การบริการที่มีคุณภาพ การตกแต่งร้านที่สวยงาม สะอาด และอาหารที่ดูดี มีระดับ มีการสร้างเบรนด์ที่ดี ดังนั้นแฟรนไชส์ใด ที่มีคุณสมบัติครบ จะสามารถหาคู่ค้าได้ไม่ยาก เนื่องจากนักธุรกิจชาวลาวมีความพร้อมทางด้านการเงิน และสนใจทำกิจการใหม่ๆอยู่แล้ว มีกิจการแฟรนไชส์ที่ไปเปิดในลาวแล้วหลายแบรนด์แล้วนั้น เจ้าของกิจการ 1 ราย ก็จะเป็นเจ้าของแฟรนไชส์หลายแบรนด์

ชี้ช่อง เปิดแฟรนไชส์ในลาว

แฟรนไชส์ ที่ดูดี มีแบรนด์ คือ แฟรนไชส์ที่ใช่ในตลาดลาว แฟรนไชส์ประเภท อาหาร เครื่องดื่ม ค้าปลีก และ ด้านบริการ ที่ดูดี มีระบบมาตรฐาน และมีแบรนด์ หรือ มีความเท่ห์ ยังเป็นที่ต้องการ หากแฟรนไชส์ใดเข้าข่ายในลักษณะนี้ อาจลองหาคู่ค้านักธุรกิจชาวลาวดู เพื่อสร้างโอกาสใหม่ๆในตลาดที่กำลังเติบโต

มีข้อแนะนำดีๆ สำหรับผู้ที่สนใจการทำกิจการในลาว คือ ทดลองเปิดที่จังหวัดอุดร หรือ จังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับลาวก่อน เพราะคนฝั่งลาวจะนิยมข้ามฝากเข้ามาช้อปปิ้ง กินอาหาร ใช้บริการต่างๆในไทย เป็นประจำ และหากกิจการใดได้รับการตอบรับที่ดี ก็มั่นใจได้ว่าจะเปิดขึ้นที่ลาวสำเร็จได้ไม่ยาก

แต่อย่างไรก็ตาม ต้องตอกย้ำว่า การตั้งราคาให้เท่าหรือใกล้เคียงกับฝั่งไทย หรือราคาสุดคุ้ม การมีคู่ค้าที่เอาจริง การรักษาคุณภาพสินค้าและบริการให้สม่ำเสมอ การเข้าใจพฤติกรรมความชอบของคนลาว คือปัจจัยของความสำเร็จ

สร้างโอกาสใหม่ ในประเทศเศรษฐกิจ ขาขึ้น

ตลาดลาว เวียดนาน จีน และพม่า เป็นกลุ่มที่ชื่นชอบสินค้าและบริการของไทย และมีเศรษฐกิจขาขึ้น จึงเป็นโอกาสดี ที่ธุรกิจใหม่จากไทยจะได้รับการตอบรับ ทางสมาคมแฟรนไชส์ไทย มีวัตถุประสงค์ ที่จะส่งเสริมกิจการของคนไทยที่มีศักยภาพ และประเทศเพื่อนบ้านของเราต้องการ ไม่ว่าเป็น ธุรกิจด้านอาหาร บริการความงาม สุขภาพ เป็นต้น ซึ่งในต้นเดือน พฤศจิกายน นี้ ทางสมาคมแฟรนไชส์ไทยมีการเปิดอบรม สร้างระบบแฟรนไชส์ 30 ชั่วโมง เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้การพัฒนาธุรกิจของตนเองให้เป็นแฟรนไชส์ เพื่อเตรียมความพร้อม กระจายสินค้าและบริการสู่ประเทศเพื่อนบ้านในอนาคตด้วยระบบแฟรนไชส์

ผู้สนใจสามารถสอบถามการอบรม การสร้างระบบแฟรนไชส์ 30 ชั่วโมง ได้ที่

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : pr. franchise <pr.fcfocus@gmail.com>

กองบรรณาธิการเว็บไซต์

ยินดีสนับสนุน SMEs ไทยทุกแบรนด์ ที่ต้องการสร้างความเข้มแข็ง อยากเรียนรู้ พัฒนาธุรกิจ ส่งเสริมความเข้าใจในการตลาด มีความคิดสร้างสรรค์ แบ่งปันเพื่อสังคม ต่อยอดธุรกิจ ให้ประสบความสำเร็จในอนาคต