โอกาสของระบบธุรกิจแฟรนไชส์ไทยในตลาด AEC

ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ได้ส่งผลให้ธุรกิจต่างๆ รวมไปถึงธุรกิจในระบบแฟรนไชส์ ต่างต้องเร่งขยับแข้งขยับขากันมากพอสมควร ทั้งเตรียมแผนตั้งรับและรุก กับสิ่งต่างๆ ที่จะหลั่งไหลเข้ามา

ขณะเดียวกันผู้ประกอบการเองยังต้องเร่งศึกษาศิลปวัฒนธรรม ภาษา รสนิยม รวมไปถึงทัศนคติต่างๆ ของคนในแต่ละประเทศ โดยเฉพาะอย่าลืมว่าการกระโดดออกไปทำธุรกิจในต่างแดนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หากพลาดท่าธุรกิจอาจจบลงได้ง่ายๆ ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องเตรียมความพร้อม

โดยในปี 2559 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า และสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ มีแผนที่จะนำผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไทยไปขยายตลาดในต่างประเทศ 11 ประเทศ ประกอบด้วย 9 ประเทศในกลุ่มอาเซียน จีน และญี่ปุ่น

เพื่อผลักดันให้ธุรกิจแฟรนไชส์ไทยขยายธุรกิจออกไปในต่างประเทศให้ได้ 30 บริษัทภายในปีนี้ จากปัจจุบันที่ขยายกิจการไปแล้ว 22 บริษัท โดยคาดว่าจะทำเงินจากการบริหารจัดการและค่าธรรมเนียมต่างๆ ในสาขาต่างประเทศเข้าประเทศปีละ 7-8 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ เป็นกลุ่มแฟรนไชส์อาหาร ธุรกิจเสริมความงาม และธุรกิจการศึกษา

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จึงมองเห็นโอกาสการเติบโตจากการขยายธุรกิจแฟรนไชส์ไปต่างประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศอาเซียนด้วยกัน ที่มีพฤติกรรมการบริโภค ภาษา และวัฒนธรรม ที่คล้ายคลึงกัน ไปดูกันเลยครับว่าโอกาสของธุรกิจแฟรนไชส์ในการขยายตัวไปกลุ่มประเทศอาเซียน มีอะไรบ้าง

AEC

1.ตลาดมีขนาดใหญ่ขึ้น

จากการรวมตัวกันหลายประเทศ โดยมีจำนวนประชากรรวมกันมากกว่า 600 ล้านคน ทำให้ธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยมีโอกาสที่จะเจาะตลาด

ขยายสาขาไปในแต่ละประเทศได้ง่ายขึ้น มีกลุ่มลูกค้ามากขึ้น แต่ผู้ประกอบการต้องทำการศึกษาตลาด และข้อมูลเกี่ยวกับการลงทุนในแต่ละประเทศให้เข้าใจเสียก่อน

2.รูปแบบการลงทุนในต่างประเทศ

จะช่วยยกระดับให้กับระบบธุรกิจแฟรนไชส์ เพราะธุรกิจแฟรนไชส์ที่ต้องการขยายสาขาไปในต่างประเทศได้ แน่นอนว่าต้องเป็นแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐานคุณภาพระดับสากล

เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง สามารถแข่งขันกับแบรนด์ต่างประเทศได้ และผลการดำเนินธุรกิจแฟรนไชส์ในประเทศเติบโตอย่างต่อเนื่อง

k11

3.การเชื่อมโยงด้านสาธารณูปโภคที่สำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียน

เช่น ระบบขนส่งด้านต่างๆ การเชื่อมระบบการสื่อสาร ธุรกิจแฟรนไชส์ที่ออกไปขยายสาขาในต่างประเทศ จะได้รับความสะดวกมากมายจากการรวมตัวกันของอาเซียน ระบบโลจิสติกส์และการขนส่งจะมีเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ทำให้ง่ายต่อการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบไปยังสาขาแฟรนไชส์ในต่างประเทศ ยิ่งถ้าขยายสาขาในประเทศนั้นๆ ได้จำนวนมาก จะทำให้ลดต้นทุนการขนส่งลงอย่างมาก

4.โอกาสในการเป็นศูนย์กลางของระบบธุรกิจ

ทั้งการสร้างศูนย์การจัดการระบบแฟรนไชส์ต่างๆ โดยธุรกิจแฟรนไชส์ของไทยหลายประเภทสามารถเป็นผู้นำในอาเซียนได้ โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม บริการ สปา สุขภาพและความงาม

ซึ่งอาเซียนมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้น ธุรกิจแฟรนไชส์เหล่านี้จะมีโอกาสในการเป็นศูนย์กลางของระบบธุรกิจ เพราะจะต้องถ่ายทอดระบบการบริหารจัดการธุรกิจไปยังสาขาในแต่ละประเทศ

oo34

5.การสร้างโอกาสในการสนับสนุนของธุรกิจขนาดใหญ่ในประเทศสำคัญ

เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ในการขยายระบบธุรกิจ แน่นอนว่าเมื่อธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ใดที่สามารถออกไปต่างประเทศได้ ย่อมเป็นการเปิดโลกกว้างให้กับตัวเอง

มีโอกาสที่จะได้เจอทั้งคู่แข่งและคู่ค้าแฟรนไชส์จากต่างประเทศที่สำคัญ ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้เทคนิคการบริหารและขยายธุรกิจแฟรนไชส์จากแบรนด์ใหญ่ๆ จากสหรัฐอเมริกาและยุโรป ที่มีอยู่มากมายในประเทศอาเซียน

6.แนวโน้มการสร้างศูนย์กลางธุรกิจบริการ สุขภาพ

ส่งให้ธุรกิจระบบแฟรนไชส์ขยายตัวได้มากขึ้น ปัจจุบันธุรกิจด้านบริการ และสุขภาพ ความงาม ของประเทศไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติเป็นอย่างมาก

แต่ละปีมีชาวต่างชาติเดินทางมาใช้บริการธุรกิจเกี่ยวกับสุขภาพในประเทศเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงธุรกิจบริการและสุขภาพของไทยก็ได้ออกไปขยายสาขาในต่างประเทศมากขึ้นด้วยเช่นกัน จึงเป็นโอกาสที่ไทยจะเป็นศูนย์กลางธุรกิจบริการและสุขภาพของอาเซียน

ต่างชาตินิยม! แฟรนไชส์อาหาร-บริการ จากไทย

k14

โดยธุรกิจที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดอาเซียน ยังเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการให้บริการ รวมไปถึงโรงเรียนสอนภาษา ธุรกิจล้างรถ เป็นต้น ส่วนการออกไปทำตลาดยังเพื่อนบ้านนั้น ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจซื้อแฟรนไชส์ ยังคงเน้นไปที่ธุรกิจเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันนี้จะพบว่ามีหลายประเทศที่รัฐบาลได้พยายามผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ให้มีความเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ มาเลเซีย

รวมถึงไทยที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พยายามเร่งผลักดันเพื่อให้ผู้ประกอบการมีความสามารถต่อยอดธุรกิจ และสามารถแข่งขันกับต่างชาติได้อย่างแข็งแกร่ง แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการเองต้องเร่งปรับปรุงกิจการของตัวเองด้วย รวมถึงมีแผนการดำเนินการที่ดีเพื่อให้ธุรกิจสามารถรุกและรับกับต่างชาติได้

k13

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่จะชี้ขาดความสำเร็จในต่างประเทศ เจ้าของแฟรนไชส์ต้องเรียนรู้และเข้าใจ “วัฒนธรรม” ของคนท้องถิ่น เช่น เรื่องศาสนาความเชื่อ พฤติกรรมการกิน ไลฟ์สไตล์ ฯลฯ ดังนั้น ก่อนจะไปทำธุรกิจ ต้องหาข้อมูลให้พร้อมเสียก่อน

ประการสำคัญ ภาครัฐต้องมีบทบาทสำคัญในการเป็นหัวหอกนำภาคเอกชนให้เข้าถึงตลาดเป้าหมาย พัฒนาธุรกิจแฟรนไชส์ที่มีมาตรฐาน มีศักยภาพไปเชื่อมต่อเครือข่ายตลาดต่างประเทศ จนสามารถขยายธุรกิจสู่ในรูปแบบแฟรนไชส์ โดยอาจจะเริ่มจากตลาดอาเซียน ซึ่งมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย เมื่อแข็งแกร่งมากขึ้นจึงค่อยขยายไปในตลาดโลก

โอกาสนี้จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีสำหรับธุรกิจแฟรนไชส์ไทย หากต้องการยกระดับโกอินเตอร์ไปแข่งขันกับต่างชาติ และเป็นโอกาสที่ดีสำหรับประเทศไทยที่จะสร้างชื่อเสียง เปิดตลาดใหม่ สร้างรายได้เข้าประเทศอย่างต่อเนื่อง

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3lCqrtU

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช