โมเดลกระดาษ กลยุทธ์การตลาดแบบใช้ไอเดียสร้างสรรค์

เรื่องของ กลยุทธ์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตลาดในยุคใหม่ บางครั้งการที่จะเข้าถึงลูกค้าจำนวนมากก็ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีแบบตรงๆเสมอไป หลายวิธีที่เรียกว่า “น้ำซึมบ่อทราย” คือทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนว่าไม่ได้ขายสินค้าแต่ก็สามารถจดจำแบรนด์นั้นๆได้อย่างไม่มีวันลืมเลือน

หนึ่งในกลยุทธ์ที่ว่านี้ใครจะเชื่อว่ามีเรื่องของ “ โมเดลกระดาษ ” รวมอยู่ด้วย หลายคนอาจจะสงสัยว่า โมเดลกระดาษเกี่ยวอะไรกับการตลาด

โมเดลกระดาษ

www.ThaiSMEsCenter.com มีคำตอบให้ทุกท่าน ถือเป็นการเปิดกลยุทธ์การตลาดที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักแต่ผลลัพธ์ที่ได้ขอบอกว่าดีเกินคาด ที่สำคัญกลยุทธ์นี้เอาไปต่อยอดเป็นอาชีพสร้างรายได้ที่ดีได้อีกทางหนึ่งด้วย

โมเดลกระดาษ แบบจำลองที่ไม่ควรมองข้าม

ในยุคโลกเสมือนจริงที่คนเรานิยมจำลองสิ่งต่างๆ ผ่านโปรแกรม 3 มิติ 4 มิติ ไม่น่าเชื่อเลยว่า โมเดลกระดาษยังคงมีที่ทางของตัวเองอย่างชัดเจนคำว่า “โมเดลกระดาษ” หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “Paper Model” , “Paper-Card Modeling” , “Paper craft”หมายถึงการประดิษฐ์และประกอบกระดาษขึ้นเป็นผลงานที่มีมิติ ถือเป็นญาติใกล้ชิดกับออริกามิ (Origami) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะจากกระดาษเช่นกัน แต่จะใช้วิธีการ “พับ” มากกว่าวิธี “ประกอบเข้าด้วยกัน” แบบโมเดลกระดาษ

โมเดลกระดาษเริ่มบูมตั้งแต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เนื่องจากกระดาษกลายเป็นวัสดุที่เหลืออยู่ไม่กี่อย่าง ที่จะนำมาทำของเล่นได้ โมเดลกระดาษที่เก่าแก่ที่สุดซึ่งมีการบันทึกไว้เห็นจะเป็นโมเดล “เรือรบ 70 ปืนใหญ่” ที่ชื่อ “Nordstjernan” ของประเทศสวีเดน ในช่วงปีค.ศ. 1703

hh39

สังเกตได้ในช่วงแรกผลงานโมเดลกระดาษมักเป็นพวกยุทโธปกรณ์ต่างๆ สำหรับการสงคราม เช่น รถถัง เครื่องบินเรือรบและอาวุธต่างๆแต่พอพ้นช่วงขาดแคลนไปแล้ว โมเดลของเล่นต่างๆ จึงย้ายที่ไปตั้งหลักอยู่กับพลาสติกและวัสดุต่างๆที่คิดค้นขึ้นใหม่ เรื่อยไปจนถึงโมเดลที่จำลองกันด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์

โมเดลกระดาษที่กลับมาฮิตอีกครั้งและกลายเป็นกลยุทธ์ของสินค้าหลายอย่าง

ปัจจุบันโมเดลกระดาษไม่ใช่เรื่องเล่นๆที่แค่เอากระดาษมาตัดตามแบบแล้วขึ้นรูปตามใจชอบเดี๋ยวนี้ด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการทำโมเดลกระดาษที่แค่ปริ้นท์แล้วพับตามแบบก็เอามาประกอบเป็นรูปต่างๆได้อย่างสวยงาม

ด้วยแพทเทิร์นที่ว่านี้สินค้าหลายตัวจึงจับเอามาเป็นกลยุทธ์หนึ่งที่ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตัวเองเป็นศูนย์กลางเพิ่มลูกเล่นเรื่องโมเดลกระดาษเข้าไปให้ผู้ที่สนใจเข้ามาดาวน์โหลด เพื่อจะได้ต้นแบบของโมเดลเอาไปพับเล่นกันอย่างฟรีๆ นี่คือกลยุทธ์ที่เรียกว่าน้ำซึมบ่อทราย หลายคนอาจจะไม่ได้สนใจสินค้าแต่การเข้าเว็บไซด์ ดาวน์โหลดโมเดลที่มีโลโก้สินค้านั้นๆก็ทำให้เกิดการจดจำได้อย่างไม่รู้ตัวเหมือนกัน

hh41

มาดูกันบ้างว่าสินค้าตัวไหนที่ใช้กลยุทธ์สร้างสรรค์แบบนี้บ้าง

บริษัทผู้ผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์อย่างยามาฮ่า (Yamaha) ที่จัดแพทเทิร์นโมเดลรถรุ่นต่างๆ ให้ผู้สนใจลองดาวน์โหลดไปประกอบกันเล่นๆ ในสโลแกน “สร้างความผูกพันกับสินค้ากันสักนิดก่อนตัดสินใจ” โดยรายละเอียดที่ยามาฮ่าใส่ไว้ในโมเดลกระดาษนั้นมีความสมจริงมาก ทั้งตัวถัง ล้อ เพลาอะไหล่ต่างๆ แยกชิ้นกันมาเป็นส่วนๆ แถมบางรุ่นยังไม่มีวิธีประกอบแบบสำเร็จแต่ต้องโหลดรูปรถรุ่นที่หมายตาไว้แล้วลอง ไปประกอบเอาเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายนักประกอบโมเดลเป็นอย่างมาก (ดาวน์โหลด คลิ๊ก http://goo.gl/z0saU7 )

ส่วนทางแคนนอน (Cannon) ทำหัวใสเช่นกันเอาโมเดลกระดาษเข้าช่วยขายพรินเตอร์ไปแบบเนียนๆ โดยเปิดเว็บไซต์ให้คนดาวน์โหลดแพทเทิร์นโมเดลกระดาษไปพับเล่นกันฟรีๆได้เช่นกัน (ดาวน์โหลดคลิ๊ก http://cp.c-ij.com/en/contents/1006/)

ในขณะที่ไนกี้ (Nike) ก็จับกระแสโมเดลกระดาษด้วยการให้ศิลปินชาวญี่ปุ่นมาออกแบบรองเท้ารุ่น Air Force One ในรูปของโมเดลกระดาษขนาดเท่าจริง ภายใต้แนวคิดของการผสมผสานความทันสมัยเข้ากับความดั้งเดิมของออริกามิ ซึ่งนอกจากNike และมีการนำผลงานออกแสดงในนิทรรศการที่ชื่อว่า “ROCK PAPER SNEAKERS” พร้อมกับเปิดให้แฟนๆ ดาวน์โหลดไปพับเก็บเป็นของสะสมกันด้วย

hh43

นอกจากนี้สินค้าตัวอื่นๆก็ให้ความสนใจในกลยุทธ์นี้ไม่แพ้กันมีการปล่อยโมเดลกระดาษเป็นรูปหุ่น โลโก้สินค้า หรือมาสคอตสินค้าตัวเองเพื่อให้คนเข้ามาดาวน์โหลดกันฟรีๆ เรียกว่านี่คือการตลาดแบบเงียบๆที่หลายคนไม่รู้แต่มาแรงมากที่สำคัญสร้างการจดจำสินค้าได้ดีเป็นอย่างยิ่งทีเดียว

ตลาดโมเดลกระดาษในประเทศไทย

ขณะที่แบรนด์ต่างประเทศพาเหรดกันจับเอาจุดเด่นของโมเดลกระดาษมาใช้เพิ่มมูลค่าสินค้า แต่ตลาดนี้ในเมืองไทยยังเป็นลักษณะของ “การเล่น” ซะมากกว่า แม้ไม่ได้มีการสร้างมูลค่าเพื่อโฆษณาสินค้าแต่ก็มีการพัฒนาเอา “โมเดลกระดาษ” เป็นธุรกิจที่สร้างรายได้น่าสนใจ

โดยมีทั้งที่สร้างโมเดลกระดาษมาเป็นรูปสัตว์ในวรรณคดีต่างๆ หรือสัตว์ในป่าหิมพานต์ หรือแม้แต่การ์ตูนน่ารักๆที่ส่วนมากจะเน้นความเป็นไทยเข้ามาเกี่ยวข้อง เทคนิคของอาชีพนี้ต้องอาศัยความรู้ด้านกราฟฟิกดีไซน์และคอมพิวเตอร์เพื่อออกแบบให้เป็น 3 มิติที่ให้ความเสมือนจริงเมื่อนำมาพับตามรอยที่ระบุไว้

hh44

ราคาในการจำหน่ายก็ถือว่าคุ้มค่าชุดละประมาณ 170 บาท ซึ่งกลุ่มลูกค้าที่รักและชอบในการต่อเลโก้ จิ๊กซอว์ คนที่ชอบการประดิษฐ์คือฐานลูกค้าที่สำคัญของธุรกิจนี้รายได้เฉลี่ยของธุรกิจนี้อาจจะไม่มายแค่เดือนละ 4,000-5,000 บาท แต่นี่ก็คือธุรกิจที่มีอนาคตสดใส ก็ขึ้นอยู่กับการตลาดเป็นสำคัญด้วย ยิ่งถ้าต่อๆไปสินค้าหลายรายการในประเทศไทยหันมามองกลยุทธ์การใช้โมเดลกระดาษเพื่อสร้างแบรนด์ตัวเองมากขึ้น ตอนนั้นคงเรียกได้ว่า นี่คือเวทีทองของคนที่ทำธุรกิจนี้อย่างแท้จริง

และนี่ก็คือเรื่องของกลยุทธ์การตลาดที่น่าสนใจอาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่แต่ก็มีสีสันแทรกในไอเดียการค้าถือว่าเป็นแนวทางตลาดยุคใหม่ที่ไม่มุ่งการค้าจนเกินงามแต่สร้างความประทับใจควบคู่กันไป และอนาคตคงมีการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้นไว้ถึงตอนนั้นเราค่อยมาเล่าสู่กันฟังกันอีกทีครับ
ขอบคุณรูปภาพจาก: http://goo.gl/AjvlxO, https://goo.gl/HdvWE8

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด