เหลือเชื่อ ธุรกิจแบบแจกฟรี มีแต่กำไร!

แม้หลายคนจะบอกว่าของฟรีไม่มีในโลกแต่ในฐานะของผู้บริโภคแล้วย่อมมุ่งหวังที่จะได้ของฟรีแม้จะรู้ตื้นลึกหนาบางว่าแท้ที่จริงของฟรีเหล่านั้นได้ผ่านการคิดคำนวณเรื่องต้นทุนเอาไว้ล่วงหน้าแต่ก็ยังมีความน่าสนใจและมีพลังทางการตลาดมากมายเหลือเกิน

www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าเรื่องของการแจกฟรีนั้นมีประวัติมาเนิ่นนาน น่าจะเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 โดย MR.Chris Anderson เจ้าของทฤษฎี Long Tail อันลือลั่น เคยพูดถึงโมเดลเศรษฐกิจแจกฟรีว่าเป็นลักษณะการให้ไปก่อนเพื่อให้ได้กลับมาในภายหลัง

ธุรกิจแบบแจกฟรี

 

ภาพจาก goo.gl/6J4sb3

ซึ่งโมเดลนี้แตกต่างกันไปตามแต่รูปแบบของสินค้าไม่ว่าจะเป็น แจกซิมฟรี เพื่อขายแพคเกจโทรรายเดือน , ขายเครื่องเล่นเกมแบบถูกๆ เพื่อขายตัวเกมที่แพงกว่า , การให้ดาวน์โหลดเล่นเกมฟรี แต่มีการขายไอเท็มพิเศษในเกม , ร้านอาหารแถมน้ำดื่มฟรี เพื่อขายเครื่องดื่มอื่นในราคาสูง), การตั้งตู้ให้กดกาแฟฟรีในออฟฟิศ เพื่อจะได้ขายกาแฟพรีเมี่ยมให้กับผู้บริหาร เป็นต้น

พฤติกรรมฟรีเหล่านี้ลักษณะคล้ายกับซื้อหนึ่งแถมหนึ่งในภาษาธุรกิจเรียกว่า Cross Subsidy หมายถึงการผลักภาระต้นทุนของสินค้าชนิดหนึ่งไปยังอีกชนิดหนึ่ง แม้จะดูเหมือนว่าผู้บริโภคไม่ได้ประโยชน์มากนักแต่เชื่อหรือไม่ว่าทฤษฏีเหล่านี้นำมาใช้เมื่อไหร่ก็ทำให้สินค้าต่าง ๆขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากันเลยทีเดียวยกตัวอย่างเช่น

o9

ภาพจาก goo.gl/a9QYPj

มีดโกนยิลเลตต์ผู้ก่อตั้งคือคิง ยิลเลตต์ ผู้คิดค้นใบมีดโกนแบบใช้แล้วทิ้ง เริ่มผลิตและวางขายในปีแรกคือ ค.ศ.1903 แต่กลับขายมีดโกนได้เพียง 58 อันและใบมีดอีก 168 อัน

ซึ่งคิง ยิลเลตต์ ก็พยายามทุกวิถีทางเพื่อเพิ่มยอดการจำหน่ายนี้ให้ได้มากขึ้นอีกหลายเท่าตัว จนกระทั่งยิลเล็ตต์ตัดสินใจแจกมีดโกนฟรีไปกับห่อหมากฝรั่ง ห่อชากาแฟ ห่อมาร์ชแมลโล ฯลฯ ปรากฏว่ายิ่งแจกไปเท่าไหร่ ความต้องการใบมีดก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุดนวัตกรรมมีดโกนของยิลเล็ตต์ก็ได้เข้ามาแทนที่วัฒนธรรมการใช้มีดโกนแบบดั้งเดิมได้สำเร็จ

พอมาถึงในยุคปัจจุบันทฤษฏีการแจกฟรีไม่ใช่เพียง Cross Subsidy อีกต่อไปหากแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีทำให้รูปโฉมสินค้าหลายประเภทเปลี่ยนจาก“สิ่งที่จับต้องได้” เป็น “สิ่งที่จับต้องไม่ได้” อาทิเช่น ในรูปของ “บิท” หรือ “ดิจิตอลไฟล์” ต่างๆ ซึ่งปรากฏการณ์นี้ทำให้ต้นทุนของการผลิตสินค้าหลายประเภทลดลงจนเกือบเป็นศูนย์ยกตัวอย่างกลยุทธ์ฟรีที่มีในแวดวงธุรกิจปัจจุบันเช่น

o12

ภาพจาก goo.gl/ODzHp6

1. E-mail Account พร้อมพื้นที่เก็บข้อมูลฟรี, Search Engine ฟรีอย่าง Google, ที่พบปะเพื่อนฝูงฟรีอย่าง Facebook, วิดีโอดูฟรีอย่าง Youtube, หรือแม้กระทั่งสารานุกรมฟรีอย่าง Wikipedia เป็นต้น

2.ฟรีในโมเดลธุรกิจ เช่นผับ บาร์ สถานบันเทิง : ประเภทผู้หญิงเข้าฟรี ผู้ชายเสียเงิน (“ดึง” ลูกค้าผู้หญิงเข้ามาเป็นสีสัน เพื่อ “ดูด” ลูกค้าผู้ชายให้เข้ามาเฉลี่ยส่วนฟรีของสาวๆ อีกที) หรือ เกมส์ออนไลน์ ละครซิทคอม : แจกคอนเทนท์ให้ผู้บริโภคเสพฟรี แต่เก็บค่าโฆษณาจากบริษัทผู้ผลิต/จำหน่ายสินค้า เพื่อแลกกับการมีชื่อแบรนด์หรือผลิตภัณฑ์ปรากฎอยู่ในเนื้อหา

3. การฟรีแบบใช้เวลาเป็นตัวกำหนด เช่น เกมส์ที่ให้ทดลองเล่นก่อนแค่ด่านแรกๆ ถ้าอยากสนุกต่อก็ต้องซื้อเวอร์ชั่นเต็ม หรือการแจกคอนเทนท์ออนไลน์ให้อ่านฟรี แต่ขายฉบับพิมพ์เป็นรูปเล่ม เป็นต้น

4.ฟรีด้วยต้นทุนที่เข้าใกล้ศูนย์

ไม่มีตัวอย่างใดจะอธิบายสินค้าที่ต้นทุนลดต่ำลงจนเข้าใกล้ศูนย์ได้ดีเท่ากับเพลงออนไลน์ โลกดิจิตอลในปัจจุบัน ทำให้ไฟล์เพลงถูกแจกจ่ายถึงกันได้ง่ายเพียงปลายนิ้วคลิก ด้วยเหตุนี้ ศิลปินส่วนใหญ่จึงหันมาแจกเพลงฟรีในโลกออนไลน์ และใช้มันเป็นเครื่องมือทางการตลาดในการขายคอนเสิร์ตหรือการพัฒนาสินค้าเมอร์แชนไดซ์ต่างๆ แทน

o11

ภาพจาก goo.gl/Vc46Ax

กล่าวโดยสรุปว่าความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจแจกฟรีนั้นอาจขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายข้อ เช่น

  1. ความสามารถที่จะลดต้นทุนสำคัญของสินค้าและบริการให้เข้าใกล้ศูนย์มากที่สุด เพื่อจะแจกฟรีได้แบบไม่เจ็บตัว
  2. ความสามารถที่จะหารายได้คู่ขนานไปกับช่องทางการแจกฟรี เช่น แจกเพลงออนไลน์ แต่ขายซีดี “ลิมิเต็ดอิดิชั่น” ที่ออกแบบอย่างสวยงามน่าสะสม
  3. ความสามารถในการพัฒนากลยุทธ์ทางธุรกิจที่เสริมเติมจากการแจกฟรี เช่น ฟรีด้วยข้อจำกัดต่างๆ
  4. ความรวดเร็วในการเข้าสู่วงจรของฟรีและความกล้าเสี่ยง

o10

ภาพจาก goo.gl/xix3TV

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ทำให้เห็นว่า เศรษฐกิจแจกฟรีไม่ได้ยืนอยู่บนพื้นฐานของราคาที่เป็นศูนย์เท่านั้น แต่มันยังเกาะไปกับกระแสของเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเหนียวแน่น เพราะแม้ผู้บริโภคจะถูกดึงดูดมาได้ด้วยของฟรี

แต่พวกเขาก็ยังยินดีจ่ายเพิ่มให้กับความพิเศษที่เหนือกว่า เช่น บริการที่ดีกว่า ความสะดวกสบายที่มากกว่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ล้วนต้องอาศัยความคิดสร้างสรรค์มา “จับทาง” กลุ่มเป้าหมาย และแปรเปลี่ยนความฟรีในตอนต้นให้กลายเป็นตัวเงินในตอนจบทั้งนั้น

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด