เส้นทาง 7-Eleven ไทยในมือ “เจ้าสัวธนินท์”

ในวันนี้ “เจ้าสัวธนินท์” มีร้านสะดวกซื้ออยู่ในมือมากมาย ไม่ว่าจะเป็น 7-Eleven, Makro และ Lotus’s ซึ่งหากรวมกันแล้วมีอยู่เกือบ 2 หมื่นสาขาทั่วประเทศ เรียกได้ว่าครองส่วนแบ่งตลาดธุรกิจร้านค้าปลีกมากที่สุดในเมืองไทย

แต่ในวันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาท่านผู้อ่านย้อนกลับไปดูจุดเริ่มต้นและเส้นทางของ 7-Eleven ร้านสะดวกซื้อที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในเมืองไทย จากคำบอกเล่าของผู้ที่เกี่ยวข้องของคุณก่อศักดิ์ และเจ้าสัวธนินท์

จุดเริ่มต้น 7-Eleven ในเมืองไทย

7

ภาพจาก bit.ly/2PqZE96

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี 2562 เจ้าสัวธนินท์ ได้เล่าเรื่องที่มาที่ไปของ 7-eleven ไทยในหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ไว้ได้อย่างน่าสนใจ ซึ่งเจ้าสัวธนินท์ บอกว่า เขาได้เห็นอเมริกาประสบความสำเร็จกับ 7-Eleven มาแล้ว และเจ้าสัวธนินท์ก็ได้ศึกษามาแล้วว่า หากนำ 7-Eleven เข้ามาทำในเมืองไทย ก็น่าจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกัน

แต่เชื่อหรือไม่ว่าการนำ 7-Eleven เข้ามาเมืองไทย ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะครั้งหนึ่งเจ้าของแบรนด์ 7-Eleven ได้มองข้ามความคิดของเจ้าสัวธนินท์ ด้วยการปฏิเสธที่จะไม่ขายสิทธิแฟรนไชส์ให้ เนื่องจากตอนนั้นในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2531 ที่ 7-Eleven จะเปิดสาขาแรกในเมืองไทย เจ้าของแฟรนไชส์ 7-Eleven ประเมินว่าประชากรในประเทศไทยมีกำลังซื้อน้อย เพราะหากเทียบลูกค้าในอเมริกา 1 คนจะมียอดซื้อ 1 บิลเท่ากับคนไทย 15 คนรวมกัน

แต่เจ้าสัวธนินท์ให้เหตุผลว่า แม้ว่าประชากรในเมืองไทยจะน้อย แต่อเมริกาลืมคิดไปว่าต้นทุนในเมืองไทยถูกกว่าอเมริกาถึง 10 เท่า ทั้งต้นทุนการสร้างสาขา พนักงาน และต้นทุนสินค้า นอกจากนี้ในช่วงที่เจ้าสัวธนินท์คิดจะเปิดร้าน 7-Eleven ก็มีเสียงคัดค้านว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ฉลาด เพราะคนฉลาดจะลงทุนในสิ่งที่ทำสำเร็จง่ายๆ แต่เจ้าสัวธนินท์กลับมองว่าแม้ 7-Eleven จะสำเร็จได้ยาก แต่ถ้าทำสำเร็จจะเป็นธุรกิจที่มีอนาคตยั่งยืน

6

ภาพจาก www.facebook.com/cpall7

และก็เป็นอย่างที่เจ้าสัวธนินท์คิดจริงๆ เพราะจากรายได้ 7-Eleven ปีแรกที่มีเพียงน้อยนิด แต่ผ่านไป 30 ปี 7-Eleven มีรายได้กว่า 335,532 ล้านบาท มีจำนวนลูกค้ามากกว่า 13 ล้านคนต่อวัน เป็นร้านค้าปลีกที่มีจำนวนสาขามากที่สุดในประเทศไทย ปัจจุบัน 7-Eleven มีจำนวนสาขา 12,225 สาขาทั่วประเทศ โดยในปี 2564 ตั้งเป้าขยายสาขาร้านสะดวกซื้อใหม่ให้ได้ประมาณ 700 สาขา โดยใช้งบประมาณการลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท

เจ้าสัวธนินท์ ยังมองด้วยว่า เครือซีพีไม่ได้เป็นผู้ผูกขาดในธุรกิจค้าปลีก และอื่นๆ แต่เครือซีพีเป็นผู้ริเริ่มธุรกิจใหม่ๆ ก่อนคนอื่น มีการลงทุนและทำอย่างจริงจัง และรวดเร็ว เพราะหากใครมาทีหลัง แล้วมาทำธุรกิจแบบเดียวกันกับซีพี ก็จะถูกทิ้งห่างไปไกลมาก ซึ่งมันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่คนมาทำทีหลังจะไล่ตามทันคนออกตัวก่อน

ขณะเดียวกัน ทุกธุรกิจของซีพีสามารถเชื่อมต่อกันได้ เช่น สารพัดสินค้าอาหารของซีพีก็ถูกต่อยอดเข้าไปขายอยู่ในร้าน 7-Eleven และทุกการลงทุนของเจ้าสัวธนินท์ก็จะเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของคนไทย จึงไม่แปลกที่ธุรกิจในเครือซีพีมีมากมายในปัจจุบัน เช่น เกษตร, อาหาร, เครื่องดื่ม, ค้าปลีก, สื่อสารโทรคมนาคม, อีคอมเมิร์ซ, อสังหาริมทรัพย์, รถยนต์ และอื่นๆ ซึ่งในแต่ละธุรกิจในเครือซีพี เจ้าสัวธนินท์ได้ใช้เงินลงทุนจำนวนมหาศาล จนหลายคนมองว่าผูกขาดตลาด

เจ้าสัวธนินท์ ยังอธิบายต่อว่า ความสำเร็จของเครือซีพีทั้งในและต่างประเทศ ไม่ได้มาจากเจ้าสัวธนินท์คนเดียว เขาคนเดียวไม่สามารถสร้างขึ้นมาได้ ต้องอาศัยพนักงานกว่า 3 แสนคน พนักงานทุกคนมีส่วนในการสร้างธุรกิจเครือซีพี

เจ้าสัวธนินท์ ยังมองว่า การลงทุนสร้างธุรกิจในเครือซีพีขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนกับว่าเป็นการไปเที่ยว เพราะถ้าไปเที่ยว 10 ปี ก็ผ่านไปหมดประโยชน์ แต่ถ้าเราคิดว่าการทำงานเหมือนไปเที่ยว ได้เจอความท้าทายใหม่ๆ ตลอดเวลา ก็ถือว่ามีความสุข

7-Eleven เจอวิกฤติในเมืองไทย

5

ภาพจาก www.facebook.com/cpall7

หากย้อนกลับไปเมื่อช่วงปลายปี ค.ศ.1990 “คุณก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์” ซึ่งเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) ก่อนที่จะเปลี่ยนมาเป็น บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ได้เขียนคำนิยมในหนังสือการ์ตูน “Challenge เซเว่นอีเลฟเว่น” ได้รับภารกิจอันหนักหน่วงจาก เจ้าสัวธนินท์ ให้มาช่วยกอบกู้ 7-Eleven ในประเทศไทย ซึ่งในเวลานั้นมี 27 สาขาเท่านั้น แต่มียอดขาดทุนสะสม และยังขาดทุนต่อเนื่องทุกเดือน จนดูเหมือนเป็นธุรกิจที่ไร้อนาคต

คุณก่อศักดิ์ เริ่มต้นกอกู้วิกฤติ 7-Eleven ด้วยการไปเรียนรู้ธุรกิจร้านสะดวกซื้อที่ประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 10 วัน เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจที่ยังแปลกใหม่สำหรับเมืองไทย จากนั้นก็กลับมาเมืองไทย เริ่มต้นวางแผนปรับปรุงและแก้ปัญหาต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคในบริษัท พอหลังต้นปี 1991 เจ้าสัวธนินท์ถามคุณก่อศักดิ์ว่า มีโอกาสจะกอบกู้ได้หรือไม่ คุณก่อศักดิ์ก็ตอบไปว่า หลังจากศึกษาข้อมูลแล้วพบว่าภายในปี 1974-1991 ญี่ปุ่นสามารถเปิดร้าน 7-Eleven ได้ถึง 4,000 กว่าแห่ง

4

ภาพจาก www.facebook.com/cpall7

คุณก่อศักดิ์ จึงมั่นใจว่าจะสามารถสร้าง 7-Eleven ของไทยขึ้นมาใหม่ และตั้งเป้าเปิดให้ถึง 1,000 สาขา โดยคุณก่อศักดิ์ได้คำนวณความเป็นไปได้จากฐานจำนวนประชากรญี่ปุ่นที่มีอยู่ประมาณ 120 ล้านคน ส่วนประชากรไทยมีอยู่ประมาณ 60 ล้านคน เท่ากับครึ่งหนึ่งของญี่ปุ่น และที่ญี่ปุ่นเปิดได้ถึง 4,000 สาขา ไทยก็น่าจะเปิดได้ถึง 2,000 สาขา แต่ฐานะทางเศรษบกิจของคนไทยไม่ได้มีรายสูงเหมือนคนญี่ปุ่น คุณก่อศักดิ์จึงตั้งเป้าเปิดร้านเพียงแค่ 1,000 สาขาในช่วงเริ่มต้น แต่ตัวเลขจำนวนสาขา 1,000 สาขาในเวลานั้น ทำให้เกิดเสียงฮือฮาขึ้นอย่างมากมายว่า จะสามารถเป็นจริงได้หรือไม่

หลังจากนั้นผ่านไปถึงช่วงปี 2005 ร้าน 7-Eleven ในประเทศไทยมีจำนวนเกินกว่า 3,000 สาขา และยังขยายตัวอย่างต่อเนื่องไปไกลกว่าเป้าหมายแรกของบริษัทหลายเท่า โดยในช่วงเริ่มแรกนั้น นอกจากคุณก่อศักดิ์แล้ว ยังมีบุคคลสำคัญ 15 คนในการเป็นผู้บุกเบิก 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น ที่สร้างผลงานอันงดงามขึ้นมาอย่างทุ่มเทด้วยเลือดเนื้อและน้ำตา

คุณก่อศักดิ์ ยังได้เขียนในช่วงท้ายคำนิยมด้วยว่า การบุกเบิกร้าน 7-Eleven ในประเทศไทย สะท้อนให้เห็นว่า “ไม่มีสูตรสำเร็จของความสำเร็จ” แม้ว่าธุรกิจนั้นๆ จะประสบความสำเร็จในสหรัฐอเมริกา แต่ทีมงานของญี่ปุ่นก็ยังต้องประยุกต์ ดัดแปลง และริเริ่มในสิ่งที่ 7-Eleven ของอเมริกาไม่เคยทำ เพื่อให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ในประเทศญี่ปุ่น เช่นเดียวกับ 7-Eleven ในประเทศไทยก็ไม่เหมือนกับ 7-Eleven ในญี่ปุ่นและอเมริกา แม้ว่าไทยจะเรียนรู้หลายสิ่งหลสายอย่างจากเขา แต่ก็ต้องลองผิดลองถูกจนเกิดเป็นองค์ความรู้ของตนเอง และประสบความสำเร็จในทุกวันนี้

ทำไม 7-Eleven ต้องเติมเครื่องดื่มจากด้านหลัง

3

ภาพจาก www.facebook.com/cpall7

แนวความคิดการเติมเครื่องดื่มในตู้แช่เย็นจากด้านหลังของตู้เย็นใน 7-Eleven เกิดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก สาเหตุเพราะขณะที่กำลังตกแต่งร้านสาขาแรกที่ญี่ปุ่น ที่มีพื้นที่เล็กมาก แต่ตู้เย็นของ 7-Eleven ที่ส่งมาจากอเมริกามีขนาดใหญ่เกินไป จึงไม่สามารถย้ายเข้าไปในร้านได้ ด้วยความที่ญี่ปุ่นมีพื้นที่ที่เล็ก จึงจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนใช้ตู้เย็นขนาดเล็ก ซึ่งจะแช่สินค้าได้น้อยลง เมื่อสินค้าหมดก็จะต้องเติมบ่อย อาจทำให้ตู้เย็นมีความเย็นไม่พอ หรือไม่ก็เย็นช้า

2

ภาพจาก bit.ly/308a2ok

“โมริโอะ คางาวะ” เป็นผู้รับผิดชอบเรื่องดัดแปลงตู้แช่ของร้าน 7-Eleven ในประเทศญี่ปุ่น จึงได้คิดหาวิธีเติมเครื่องดื่มจากทางด้านหลังของตู้เย็น เพื่อให้สามารถเติมเครื่องดื่มให้ได้ตลอดเวลาและมีความเย็นทันเวลา ทำให้ขวดหรือสินค้าที่เย็นแล้วไหลมาอยู่ด้านหน้า ส่วนขวดที่เพิ่งเติมที่มีความเย็นน้อยจะอยู่ทางด้านหลัง

ขณะเดียว การเติมเครื่องดื่มจากด้านหลังของตู่แช่ตลอดเวลา ก็ไม่เป็นการรบกวนการเลือกซื้อของลูกค้าอีกด้วย ซึ่งด้านหลังของตู้แช่ จึงเป็นห้องที่เย็นมากเพื่อให้การเติมเครื่องดื่มไม่ลดความเย็นของสินค้าในตู้แช่

เกร็ดความรู้ 7-Eleven

1

ภาพจาก www.facebook.com/cpall7

7-Eleven ในประเทศไทย เริ่มต้นขึ้นเมื่อ บริษัท ซี.พี. เซเว่นอีเลฟเว่น จำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทในเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เซ็นสัญญาซื้อสิทธิประกอบกิจการค้าปลีก (License) จากบริษัท เซาท์แลนด์คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในสหรัฐอเมริกา (ปัจจุบันเปลี่ยนเป็น เซเว่นอีเลฟเว่น อิงค์ เจ้าของคือญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2531 และเริ่มเปิดดำเนินการสาขาแรกที่หัวมุมถนนพัฒน์พงศ์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง

ข้อมูล 7-Eleven ทั่วโลก ล่าสุดเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคม 2563 พึ่งเฉลิมฉลองขยายสาขาครบ 71,100 สาขาในกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ โดยมีการขยายสาขาไปแล้วกว่า 17 ประเทศทั่วโลก ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนสาขามากที่สุดในโลกกว่า 21,069 สาขา ส่วนไทยอยู่อันดับ 2 มีจำนวน 12,225 สาขา โดยมีเป้าหมายจะเปิดให้ครบ 13,000 สาขาภายในสิ้นปี 2564


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูลจาก https://bit.ly/3sGD8Y5 , https://bit.ly/2OgAXvf , https://bit.ly/3r2QY6J

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3qeQKbk

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช