เลี้ยงนกกระทา รายได้ครึ่งแสน

ไม่ปรากฎหลักฐานแน่ชัดว่า ประเทศใดเริ่มเลี้ยงนกกระทาเป็นแห่งแรก แต่สำหรับในแถบเอเชียแล้ว ประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรกที่นำนกกระทามาเลี้ยง

ซึ่งในระยะแรกของการเลี้ยงก็เพื่อไว้ฟังเสียงร้องเหมือนการเลี้ยงนกเขาในเมืองไทย ต่อมาได้ ได้มีการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์จนได้นกกระทาที่ให้ไข่ดก

สำหรับประเทศไทยมีนกกระทาพันธุ์พื้นเมืองอยู่ไม่น้อยกว่า 12 ชนิด แต่ให้ไข่และเนื้อน้อยกว่านกกระทาญี่ปุ่น จึงได้มีการนำนกกระทาจากญี่ปุ่นมาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย

ถึงแม้จะไม่กว้างขวางมากมาายเท่ากับการเลี้ยงไก่ หรือเป็ดก็ตาม แต่การเลี้ยงนกกระทาก็มีแนวโน้มที่จะเป็นอาชีพหลักของเกษตรกรได้ดี เพราะระยะเวลาในการเลี้ยงสั้น ในผลตอบแทนได้เร็วกว่าสัตว์ชนิดอื่นๆ และใช้เงินลงทุนน้อย

www.ThaiSMEsCenter.com เห็นว่ามีเกษตรกรจำนวนไม่น้อยที่หันมาเอาดีด้านการเลี้ยงนกกระทาจำหน่าย บางคนเรียนจบถึงปริญญาแต่ก็ยังผันตัวมาเป็นเกษตรกรเลี้ยงนกกระทาจำหน่าย ซึ่งอาชีพนี้ถือว่าต้องใช้ความรู้และความชำนาญในการเลี้ยงพอสมควรเพราะมีเทคนิค และวิธีการที่แม้จะไม่ได้ซับซ้อนแต่ก็ต้องการความเข้าใจเป็นอันมาก

โดยการเลี้ยงนกกระทาจะแบ่งการเลี้ยงออกเป็น 2 ลักษณะ คือ เลี้ยงพ่อพันธุ์แม่พันธุ์เพื่อขยายพันธุ์ และการเลี้ยงนกไข่

การเลี้ยงแบบขยายพันธุ์ มี 4 ขั้นตอน คือ

เลี้ยงนกกระทา

ภาพจาก https://bit.ly/2NR80FB

1. การคัดเลือกพ่อ – แม่พันธุ์ สำหรับแม่พันธุ์ ควรเลือกที่ให้ไข่ดก โดยดูได้จากการนำพ่อ-แม่พันธุ์ มาเลี้ยงรวมในกรงเดียวกัน ขนาด 40×40 เซนติเมตร สัดส่วนแม่พันธุ์ 5 ตัว พ่อพันธุ์ 2 ตัว ซึ่งแม่พันธุ์ที่ดีจะต้องให้ไข่ทุกวัน

2. การฟักไข่ นำไข่ที่ได้ไปฟักในตู้ฟักไข่ไฟฟ้า อุณหภูมิ 36 – 37 องศาเซลเซียส ใช้เวลาประมาณ 14 – 17 วัน จะได้เป็นตัวเล็ก ๆ ซึ่งต้องนำไปเลี้ยงในกรงอนุบาล

3. การเลี้ยงในกรงอนุบาล หลังจากฟักเป็นตัวต้องนำไปเลี้ยงในกรงอนุบาลที่ใช้ตาข่ายทำ มีขนาด 2 x 2 เมตร ต่อการเลี้ยง 300 – 400 ตัว ใช้ไฟขนาด 100 W (วัตต์) กกให้ความร้อนอีกประมาณ 15 -20 วัน ให้อาหารนกและน้ำเล็กน้อย

4.นำไปเลี้ยงในกรงนกรุ่นอีก 20 วัน โดยเลี้ยงให้อาหารไก่ที่นำมาบดละเอียด เพื่อให้แข็งแรงแล้วจึงคัดแยกเพศ หากเป็นเพศเมียก็จะนำไปเลี้ยงเป็นนกไข่ ถ้าเป็นเพศผู้จะขายเลี้ยงเป็นนกเนื้อ

การเลี้ยงนกไข่

การเลือกดูเพศตัวเมียให้ไข่สามารถดูได้เมื่อนกอายุ 15 วัน คือในช่วงอยู่ในกรงนกรุ่น ตัวเมียจะเห็นขนใต้คางเป็นสีขาว ตัวผู้ขนใต้คางจะเป็นสีแดง การเลี้ยงนกไข่นั้นจะเลี้ยงในกรงขนาด 40 x 40 เซนติเมตร ต่อนก 7 ตัว หรือถ้าอากาศร้อนก็ควรลดเหลือ 6 ตัว เลี้ยงไปอีกประมาณ 10 วัน นกจึงเริ่มให้ไข่

วิธีการเลี้ยงนกไข่มี 3 ขั้นตอนคือ

11

ภาพจาก https://bit.ly/30yYrg4

1. การให้อาหารและน้ำ โดยน้ำจะให้ไว้ในรางตลอด ส่วนอาหารจะให้วันละ 2 ครั้งคือ ตอนสาย ๆ และบ่าย ๆ อาหารที่ให้จะเป็นอาหารที่ใช้เลี้ยงนกกระทาโดยเฉพาะก็ได้หรืออาจจะเป็นสูตรอาหารที่คิดขึ้นเองโดยเน้นโปรตีนเป็นหลัก

2. การทำความสะอาดรางน้ำและกรงนก ถ้าหากกรงนกไม่เปื้อนอาหารนั้นก็จะไม่สกปรกมากจึงไม่จำเป็นต้องทำความสะอาดประจำ แต่รางน้ำจำเป็นต้องทำความสะอาดทุกวัน เพราะถ้าสกปรกอาจทำให้นกเป็นโรคและติดเชื้อได้ง่าย การทำความสะอาดอาจติดตั้งเป็นระบบปั๊มน้ำไว้ แล้วเปิดน้ำไปตามรางใช้แปรงถูรางน้ำ ปล่อยน้ำล้างให้สะอาด วิธีนี้ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาถอดรางน้ำออกมาล้าง ส่วนตาข่ายที่ใช้ทำกรงต้องถอดออกไปทำความสะอาดนำไปขัดล้างแค่เพียง 2 ปีต่อครั้ง

3. การเก็บไข่เวลาที่ใช้เก็บไข่ควรเก็บช่วงเย็นประมาณ 18.30 – 19.00 น. แล้วเตรียมใส่ถุงส่งให้ลูกค้าในวันรุ่งขึ้น หากมีไข่หลังจากเก็บไปแล้วก็จะนำไปรวมกันวันต่อไป ควรออกแบบกรงให้สะดวกต่อการเก็บไข่โดยให้ไข่ไหลเทออกมาที่รางด้านนอกกรง ถ้าหากมีไข่ติดอยู่ใต้กรงให้ใช้ไม้เขี่ยออกมาเบา ๆ ไข่ที่เก็บได้แล้วต้องรีบนำไปขาย เพราะอายุของไข่นกสด ๆ อยู่ได้ประมาณ 10 วันเท่านั้น นก 7 ตัว

ควรจะให้ไข่ 4 – 5 ฟอง หากให้ต่ำกว่านี้ ต้องพยายามตรวจสอบว่านกตัวไหนไม่ให้ไข่ จะจับแยกออกมาเลี้ยงเป็นนกเนื้อแทน ปกตินกจะให้ไข่ประมาณ 8 – 9 เดือน และจะให้ไข่น้อยลงจนไม่ให้ไข่เลยเมื่ออายุ 10 – 12 เดือน จึงต้องปลดขายเป็นนกเนื้อ และทยอยเลี้ยงรุ่นใหม่หมุนเวียนกันไปตลอด

อุปกรณ์สำคัญในการเลี้ยงนกกระทา

10

ภาพจาก https://bit.ly/30yYrg4

1.กรงสำหรับลูกนก

ขนาดของกรงกกขึ้นกับขนาดของลูกนก โดยทั่วไปจะใช้ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 0.5 เมตร สำหรับกกลูกนกอายุ 1-20 วัน ได้ประมาณ 250-300 ตัว ด้านกว้างของกรงควรจะทึบ ส่วนด้านยาวโปร่ง แต่ถ้าอากาศหนาวควรจะปิดทึบทั้ง 4 ด้านภายในกรงกกต้องใช้กระสอบ หรือถุงอาหารสัตว์ หรือผ้าหนาๆ ปูพื้นเพื่อป้องกันขาลูกนกติดช่องตาข่าย

2.กรงนกใหญ่

กรงนกใหญ่อาจจะเป็นกรงขังเดี่ยว หรือกรงขังรวมฝูงใหญ่ก็ได้ ลักษณะเช่นเดียวกับกรงตับไข่ไก่ ซึ่งมีทั้งชนิดกรงตับชั้นเดียว หรือหลายๆ ชั้นก็ได้ แต่ไม่ควรซ้อนกันมากเกินไป ขนาดอาจจะกว้างประมาณ 5 นิ้ว ลึก 6 นิ้ว และสูง 5 นิ้ว พื้นลาดเอียง 15 องศา นอกจากจะเป็นกรงขังเดี่ยวแล้ว ผู้เลี้ยงอาจจะทำเป็นกรงตับเลี้ยงรวม 2 หรือ 3 ตัว หรือ 4 ตัวก็ได้

9

ภาพจาก http://rungthipthaworn.blogspot.com/

3.ภาชนะให้อาหาร

ภาชนะใส่อาหารสำหรับลูกนก ควรใช้ถาดแบนๆ ที่มีขอบสูงไม่เกิน 1 ซ.ม. เพราะหากขอบสูงเกินไป ลูกนกจะกินอาหารไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วง 3 วันแรก หลังจากนั้นอาจใช้รางอาหารแบบไก่ และถ้าให้ดีควรเป็นรางอาหารที่มีขอบ ยื่นออกมาประมาณ 1/4 นิ้ว เพื่อกันอาหารถูกคุ้ยหกกระเด็นออกมา

ซึ่งจะตั้งไว้ภายในกรงหรือแขวนอยู่นอกกกรงก็ได้ หลังจากลูกนกอายุมากว่า 4 สัปดาห์ จะใช้อาหารขึ้นกับความยาวของกรง ในกรณีที่วางรางอาหารไว้นอกกรง แต่ถ้าวางรางอาหารไว้ภายในกรงให้ใช้ขนาด 40-50 ซ.ม. โดยวางไว้หลายๆ จุด เพื่อให้นกกระทากินได้ทั่วถึง นอกจากนี้อาจให้ภาชนะอื่นๆ ดัดแปลงมาเลี้ยงนกกระทาก็ได้

8

ภาพจาก http://rungthipthaworn.blogspot.com/

4.ภาชนะให้น้ำ

สำหรับลูกนก ใช้ที่ให้น้ำลูกไก่แบบขวด หรือกระติก โดยใส่ก้อนหินเล็กๆ เพื่อลดความลึกของน้ำ หรือทำที่กันไม่ให้ลูกนกตกน้ำหรือลงไปเล่นน้ำ เพราะจะทำให้ตายได้ ส่วนนกใหญ่ หรือลูกนกอายุเกิน 3 สัปดาห์แล้ว สามารถใช้ที่ให้น้ำลูกไก่แบบขวด หรือกระติก หรือรางน้ำแบบแขวนก็ได้ โดยแขวนไว้ด้านนอกกรงเช่นเดียวกับรางอาหาร นอกจากนี้อาจดัดแปลงภาชะนอื่นๆ ก็ได้ เช่น ถ้วย ขันขนาดเล็กๆ หรือที่ให้น้ำอัตโนมัติ (Nipple)

5.อุปกรณ์อื่นๆ

เช่นสวิงจับนก เพื่อป้องกันไม่ให้นกช้ำเวลาไปจับตัว , ที่เกี่ยวไข่นก ไว้สำหรับเกี่ยวไข่นกที่ไม่กลิ้งลงมา , เครื่องตัดปากจมูก ใช้สำหรับลูกนกอายุ 30 วันก่อนแยกเลี้ยงในกรงใหญ่จะได้ไม่จิกกัน , เครื่องชั่ง สำหรับชั่งน้ำหนักต่างๆ เป็นต้น

การเตรียมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ

7

ภาพจาก http://rungthipthaworn.blogspot.com/

โรงเรือนเลี้ยงนกกระทาควรวางรูปให้สะดวกแก่การเข้าปฏิบัติงานดูแลและการรักษาความสะอาด ตัวโรงเรือนควรสร้างด้วยวัสดุที่สะอาดรักษาความสะอาดได้ง่าย ประตูเข้าออกควรปิดให้สนิท ในการเลี้ยงนกกระทาเพื่อเอาไข่

ถ้าเลี้ยงแบบกรงซ้อนหลายชั้น โรงเรือนต้องมีเพดานสูงพอสมควร สิ่งสำคัญที่สุดต้องอย่าให้มีรูหรือช่องทางที่นก หนู ที่เป็นอันตรายเข้าไปได้ ฝาโรงเรือนอาจเป็นฝาทึบ หรืออาจใช้ลวดตาข่ายเล็กกันนก หนู ศัตรู (ควรใช้ตาข่ายขนาด 1/2 – 3/4 นิ้ว หรือมุ้งลวด)

การจัดการระบายอากาศ

การทำให้อากาศมีการระบายหรือหมุนเวียนในเรือนโรงเป็นสิ่งจำเป็นมาก โดยเฉพาะการมีกลิ่นแอมโมเนียสะสมมาก อาจเป็นอันตรายแก่เยื่อนัยน์ตาของนกและมีผลเสียต่อสุขภาพนกและการไข่ การระบายอากาศที่พอดีประมาณ 0.014 ลบ.เมตร (0.5 ลบ. ฟุต ต่อ นาที) ต่อนก 100 ตัว ที่อุณหภูมิห้อง 20 องศาเซลเซียส (68 องศาฟาเรนไฮด์)

ระยะเวลาและรายได้ในการเลี้ยงนกกระทา

6

ภาพจาก https://bit.ly/30yYrg4

การเลี้ยงนกกระทาขายไข่ จะใช้เวลาเลี้ยง 45-60 วัน นกกระทาก็จะให้ผลผลิตไข่ให้นำออกไปขาย ยิ่งเลี้ยงมากก็จะให้ไข่มาก เกษตกรที่ประสบความสำเร็จสามารถเลี้ยงนกกระทาออกไข่ได้วันละกว่า 10,000 ฟอง สร้างรายได้ต่อวัน 800-1,000 บาท เฉลี่ยรายได้ต่อเดือนเกินกว่า 30,000 บาท เมื่อหักลบคูณหารกับต้นทุนต่างๆ มีกำไรเหลือต่อเดือนดีอย่างยิ่ง

อีกทั้งตลาดก็มีความต้องการที่จะรับซื้ออยู่ตลอดเวลา และหากพัฒนาให้เป็นระบบฟาร์มที่มีคุณภาพมากขึ้นโอกาสในการเติบโตและสร้างกำไรก็จะยิ่งมากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ดีการเลี้ยงนกกระทาก็มีวิธีการที่ค่อนข้างละเอียดทั้งอุณหภูมิการฟัก ระยะการเก็บไข่ การระวังรักษาโรคต่างๆ เกษตรกรที่สนใจจะเลี้ยงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปศึกษาดูวิธีการเลี้ยงจากเกษตรกรที่ประสบความสำเร็จให้เข้าใจและให้เริ่มทดลองเลี้ยงจากปริมาณไม่มากเรียนรู้กันไปให้เข้าใจ ธุรกิจนี้ยังมีอนาคตที่สดใสและไปได้ไกลอีกมาก


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/2ZvO0u6

อ้างอิงจาก https://bit.ly/2HnzccB

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด