เริ่มต้นทำธุรกิจ อยากทำแฟรนไชส์แบบไหน Red Ocean VS Blue Ocean

ถ้าถามคนในแวดวงธุรกิจว่ารู้จัก Red Ocean กับ Blue Ocean หรือไม่ คงคิดว่าไม่น่าจะมีใครไม่รู้จัก เพราะเป็นลักษณะของสภาพการแข่งขันของตลาด เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดย Red Ocean เป็นสภาพตลาดที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง มีคู่แข่งจำนวนมาก

ทุกบริษัทต้องแข่งขันดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด ส่วน Blue Ocean เป็นสภาพตลาดที่ยังมีการแข่งขันกันน้อย ลูกค้ายังไม่มีความต้องการสินค้าตัวใหม่ ผู้ประกอบการต้องหาทางสร้างความต้องการของตลาดขึ้นมาเอง หากสร้างได้ธุรกิจจะอยู่ได้ยั่งยืน ซึ่งในแต่ละตลาดมีข้อดี-ข้อเสีย และกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันออกไป

แต่ถ้าถามว่าเจ้าของธุรกิจที่อยาก เริ่มต้นทำธุรกิจ แฟรนไชส์ ควรเริ่มต้นแฟรนไชส์ในตลาดแบบไหน Red Ocean กับ Blue Ocean วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะวิเคราะห์และแนะนำแนวทางให้นำไปพิจารณาก่อนตัดสินใจทำแฟรนไชส์กันครับ

Red Ocean

เริ่มต้นทำธุรกิจ

ธุรกิจของคุณเป็นหนึ่งในธุรกิจจำนวนมากที่ขายสินค้าเหมือนกันกับรายอื่นๆ ในตลาด และทุกธุรกิจแต่ละแบรนด์ก็ต้องแข่งขันดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด เราจะเห็นได้ว่าตลาด Red Ocean มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง มีธุรกิจจำนวนมากขายสินค้าและบริการแบบเดียวกัน โอกาสการเติบโตของธุรกิจจึงเป็นไปได้ช้า และธุรกิจใหม่ๆ ที่อยากเข้าไปในตลาดอาจเกิดขึ้นได้ยากจากสภาพการแข่งขันอย่างบ้าเลือด

บางครั้งธุรกิจอาจจะไม่ได้กำไรอะไรมากนัก เพราะธุรกิจส่วนใหญ่ที่อยู่ในตลาด Red Ocean จะดำเนินกลยุทธ์การตลาดแบบต้องการเอาชนะคู่แข่ง จึงต้องมุ่งเน้นในด้าน “ราคา” เป็นหลัก โดยแต่ละธุรกิจที่อยู่ในตลาดจะมีความแตกต่างกันน้อย ขายสินค้าเดียวกัน ทำให้ลูกค้ามีความจงรักภักดีต่อแบรนด์น้อยมาก เพราะมีตัวเลือกเยอะ ใครเสนอราคาที่ถูกกว่า ลูกค้าก็พร้อมที่จะเปลี่ยนใจไปหาทันที

กลยุทธ์น่านน้ำสีแดง Red Ocean จึงเปรียบเสมือนสนามรบที่มีการแข่งขันกันอย่างสมบูรณ์แบบ มีการต่อสู้กันอย่างรุนแรงจนต่างฝ่ายต่างเสียเลือดเนื้อมากมาย จนน่านน้ำกลายเป็นสีแดง ทุกธุรกิจต่างมุ่งหน้าไปสู่น่านน้ำสีแดง ความต้องการของผู้บริโภคมีสูง ในตอนแรกธุรกิจอาจจะมีกำไรที่มากกว่าปกติ แต่เมื่อแบรนด์อื่นๆ เริ่มเห็นโอกาสทางธุรกิจ ธุรกิจรายใหม่ได้เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่ง จึงทำให้รายเก่าต้องลดราคาลงมาแข่งขันเพื่อรักษาส่วนแบ่งทางการตลาดไว้

18

ตัวอย่างธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในน่านน้ำสีแดง ได้แก่ แฟรนไชส์ชาราคาเดียว 25 บาท ช่วงแรกๆ เมื่อ 3-4 ปีก่อน น่าจะมีมากกว่า 30 แบรนด์ แต่จากการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ความแตกต่างของแต่ละแบรนด์มีน้อย ราคาเดียวกัน รสชาติไม่แตกต่างกัน จึงทำให้ปัจจุบันน่าจะเหลือไม่กี่แบรนด์ที่อยู่รอดได้ เพราะนักลงทุนสนใจซื้อแฟรนไชส์น้อย ไม่คุ้มค่า

แฟรนไชส์ร้านสะดวกซัก อีกหนึ่งแฟรนไชส์ที่กำลังมาแรงในเมืองไทย ถือว่าอยู่ในตลาดน่านน้ำสีแดงเช่นเดียวกัน ปัจจุบันมีเกือบๆ 40 แบรนด์ทั้งแบรนด์ในประเทศและต่างประเทศ ใช้เงินลงทุนสูง แต่ด้วยระบบเทคโนโลยีต่างๆ ของเครื่องซักผ้าแทบไม่แตกต่างกันจึงทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์มีตัวเลือกเยอะ หากแบรนด์ไม่แข็งแกร่ง ไม่น่าเชื่อถือ ก็อยู่รอดยาก

16

ยังมีแฟรนไชส์ร้านค้าราคาเดียว 20 บาท ปัจจุบันเหลือไม่กี่แบรนด์ที่ได้รับความนิยมและเปิดดำเนินธุรกิจอยู่ เนื่องจากมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง สินค้าและบริการไม่แตกต่างกัน จึงไม่สามารถอยู่รอดได้

นอกจากนี้ ยังมีแฟรนไชส์การศึกษา แฟรนไชส์ชานมไข่มุก แฟรนไชส์ขนส่งพัสดุ ซึ่งแฟรนไชส์เหล่านี้มีการแข่งขันกันสูงมาก ใครอยู่รอดได้จะต้องมีแบรนด์ที่แข็งแกร่ง มีการบริการลูกค้าที่เป็นเลิศ

ดังนั้น เจ้าของธุรกิจที่จะทำแฟรนไชส์แข่งขันในตลาด Red Ocean ต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่ว่าจะเป็นรสชาติอร่อย บริการดี คุ้มค่าแก่การลงทุน มีระบบการสนับสนุนผู้ซื้อแฟรนไชส์เป็นอย่างดี


Blue Ocean

15

ตลาดที่ยังไม่มีการแข่งขัน เพราะว่ายังไม่มีความต้องการสินค้าตัวใหม่ในตลาดใหม่ ต้องหาทางสร้างความต้องการขึ้นมาให้ได้ ด้วยการนำเสนอคุณค่าให้เกิดขึ้นกับตัวลูกค้า รวมถึงการพยายามลดต้นทุนสินค้า และกระบวนการดำเนินธุรกิจจากการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมมาใช้ จึงจะช่วยให้สามารถเอาชนะคู่แข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยหลักการของตลาดน่านน้ำสีคราม หรือ Blue Ocean จะไม่มุ่งเน้นไปที่การตอบสนองต่อความต้องการของผู้บริโภคที่มีอยู่ในตลาด แต่จะมุ่งเน้นในการสร้างความต้องการ หรืออุปสงค์ขึ้นมา กล่าวคือ มุ่งเน้นการหาตลาดใหม่ นำเสนอความต้องการใหม่ แทนที่จะแข่งขันกันอย่างดุเดือดในตลาดเดิม ซึ่งตรงกันข้ามกับ Red Ocean

14

กลยุทธ์ Blue Ocean ธุรกิจจะต้องสรรหาสินค้าและบริการที่ตอบสนองลูกค้า เพื่อทดแทนของเก่าที่ลูกค้าเพียงแค่จำเป็นต้องใช้ แต่กลยุทธ์ที่ดูดีแบบนี้ก็มีข้อพึงระวังก็คือ หากธุรกิจหาของที่เราคิดไปเองว่าจะทดแทนของเก่าได้ แต่ข้อเท็จจริงแล้วมันไม่ใช่ เราก็จะต้องเจ็บตัวอย่างหนัก ยิ่งมั่นใจมากก็จะยิ่งเจ็บตัวมาก

ธุรกิจที่ต้องการทำตลาด Blue Ocean จะหลีกเลี่ยงการแข่งขันที่มีคู่แข่งจำนวนมาก ด้วยการสร้างฐานลูกค้าผ่านการเปลี่ยนความต้องการเดิมจากสินค้าในตลาด Red Ocean เป็นความต้องการใหม่ในสินค้าที่สามารถตอบสนองความต้องการได้ดีกว่า ถ้าธุรกิจเห็นในสิ่งที่คนอื่นมองข้ามได้ ก็จะเป็นธุรกิจแรกๆ ที่เข้าสู่ Blue Ocean ได้โดยง่ายดาย

ตัวอย่างของธุรกิจแฟรนไชส์ที่อยู่ในตลาด Blue Ocean ได้แก่ แฟรนไชส์อาหารฮาลาล, แฟรนไชส์เวนดิ้งแมซชีน, แฟรนไชส์ดูแลผู้สูงอายุ, แฟรนไชส์บริการทำความสะอาด, แฟรนไชส์สเต็มเซลล์, แฟรนไชส์บิทเทรด, แฟรนไชส์ขายออนไลน์ ฯลฯ ซึ่งแฟรนไชส์เหล่านี้ยังมีน้อยมากในเมืองไทย แต่ได้รับความนิยมในต่างประเทศ

13

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการธุรกิจต้องคำนึงถึงด้วยว่า ธุรกิจหรือนวัตกรรมที่สร้างขึ้นมาเพื่อให้ลูกค้าเกิดความต้องนั้น มันใช้ได้ผลหรือไม่ เพราะหากกระแสจุดไม่ติด นอกจากจะขายสินค้าไม่ได้ตามเป้าแล้ว ยังเสียงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์

นั่นคือ ข้อดี-ข้อเสีย รวมถึงความแตกต่างของการทำธุรกิจในตลาด Red Ocean และ Blue Ocean ผู้ประกอบการที่อยากทำแฟรนไชส์ต้องศึกษาและวิเคราะห์ให้ดีว่า จะทำธุรกิจแฟรนไชส์เข้าสู่การแข่งขันในตลาดแบบไหน หากตลาด Red Ocean ไม่มีจุดเด่นและแตกต่างจากคู่แข่งก็อยู่ไม่รอด แต่ถ้า Blue Ocean สร้างความต้องให้ลูกค้าไม่ได้ ก็เจ๊ง


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3lIXCyh

คุณมนตรี ศรีวงษ์ (อ๊อฟ)

นักเขียน ผู้คลุกคลีอยู่ในแวดวงข่าวสาร การค้า การลงทุน มีความสนใจเรื่องของธุรกิจเอสเอ็มอี และแฟรนไช