เปิด 5 สูตรใช้เงินช่วง COVID 19! ชีวิตไม่เครียด

นับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของ COVID 19 ตั้งแต่ต้นปี 2563 เป็นต้นมาหลายคนเริ่มกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่น้อยลง แต่มีรายจ่ายที่เท่าเดิมหรือเพิ่มมากขึ้น

ชีวิตของคนส่วนใหญ่ที่หาเช้ากินค่ำไม่ได้มั่งมีเงินทองเหมือนบรรดานักการเมืองและเศรษฐีทั้งหลายจึงอยู่ในภาวะ “เครียด” คิดกันให้หัวแทบแตกว่าเราจะหาเงินจากไหน เราจะเอาเงินที่ไหนมาเป็นค่าใช้จ่าย จากนี้เราจะใช้เงินอย่างไร

www.ThaiSMEsCenter.com รู้สึกว่าปัญหาเหล่านี้ทำให้คนเราเครียดเพิ่มมากขึ้น และด้วยเหตุนี้เราจึงมี 5 สูตรการใช้เงินช่วง COVID 19 มาฝากซึ่งอาจไม่ใช่วิธีที่ทำให้ทุกคนลืมตาอ้าปากมีเงินใช้ในทันที แต่วิธีนี้เหล่านี้จะช่วยให้การใช้เงินของเรามีระบบมากขึ้น และอาจช่วยให้เครียดน้อยลงกว่าเดิมได้บ้าง

สูตร 50 : 30 : 20 (ในสถานการณ์ปกติ)

8

ในสถานการณ์ปกติที่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID 19 สูตรการเงินที่ใช้กันส่วนใหญ่คือ 50 : 30 : 20 โดยแบ่งออกเป็น 3 ส่วนใหญ่คือ

  • 50% คือ เงินใช้จ่ายประจำเดือน เช่น ค่าอยู่ ค่ากิน จ่ายหนี้ต่างๆ ทั้งผ่อนบ้าน ผ่อนรถบัตรเครดิต
  • 30% คือ เงินเพื่อใช้สร้างความสุขให้ตัวเองเช่น ช้อปปิ้ง ท่องเที่ยว ค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์
  • 20% คือ เงินเก็บออมและลงทุน โดยแบ่งเป็นก้อนๆ ตามเป้าหมาย เช่น เก็บเพื่อฉุกเฉิน เก็บซื้อบ้าน เป็นต้น

เช่นถ้าเรามีเงินเดือน 20,000 แบ่งตามสัดส่วนข้างต้นจะมีเงินใช้จ่ายประจำเดือน 10,000 บาท เงินใช้ส่วนตัว 6,000 บาท และเงินสำหรับลงทุน 4,000 บาท ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละคนมีปัจจัยในการดำรงชีวิตไม่เหมือนกันวิธีนี้ก็ยกตัวอย่างพอให้เห็นภาพ บางคนอาจบอกว่าเงินแค่ 6,000 ใช้จ่ายส่วนตัวไม่พอหรอก หรือบางคนบอกรายจ่ายประจำเดือนก็มีเกิน 10,000 แล้ว อันนี้ก็ต้องเอาไปปรับใช้ให้เหมาะสมกันเอง แต่ในสถานการณ์ที่ไม่ปกติเพราะมีการแพร่ระบาดของ COVID 19 สูตรนี้ก็จำเป็นต้องเอามาปรับใหม่ให้สอดคล้องกับยุคสมัยเช่นกัน

เปิด 5 สูตรใช้เงินช่วง COVID 19

ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของ COVID 19 การหาเงินเป็นเรื่องที่ยากมาก รายได้ก็หดหาย ทางที่ดีที่สุดคือฝึกใช้เงินอย่างเป็นระบบโดยมี 5 สูตรที่น่าสนใจคือ

1.สูตร 60 : 30 : 10

9

รายจ่ายของคนในยุค COVID 19 สูงขึ้นจากค่าครองชีพที่สูงขึ้นสูตรการเงินในช่วงนี้จึงควรเป็น 60 : 30 : 10 โดย 60% คือเงินใช้จ่ายประจำเดือน โดยในช่วงนี้เรามักมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นกับอุปกรณ์ป้องกันสุขภาพต่างๆ เช่น เจลล้างมือ หน้ากากอนามัย แอลกอฮอลล์ รวมถึงเงินส่วนนี้ยังต้องนำไปใช้ชำระหนี้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเราจึงควรมีเงินส่วนนี้มากที่สุดในแต่ละเดือน

30% คือ เก็บเพื่อฉุกเฉิน ในช่วงปกติ เงินส่วนนี้จะเป็นเงินเพื่อใช้สร้างความสุขให้ตัวเอง แต่ในภาวะวิกฤติ คงไม่สามารถไปท่องเที่ยวหรือทานอาหารนอกบ้านได้ จึงควรเปลี่ยนเป็นเงินเก็บเพื่อเตรียมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เช่น กรณีเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาโรงพยาบาล รวมถึงค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่ามือถือ

10% คือ เงินเก็บออม โดยลดจำนวนลง เช่น จากเดิมเคยเก็บ 5,000 บาทต่อเดือน อาจเหลือ 2,500 บาทต่อเดือน หรือถ้ารู้สึกว่าเงินตึงเกินไปก็เหลือเดือนละ 1,000 บาทก็ได้

หากใช้สูตร 60 : 30 : 10 ในช่วง COVID-19 แปลว่า มีเงินไว้ใช้จ่ายถึง 60% ของรายได้ แถมยังมีเงินสำรองเพื่อเตรียมไว้ใช้อีก 30% พูดง่ายๆ เงินที่เตรียมไว้ใช้จ่ายมีสูงถึง 90%

2.สูตร “เข้าร่วมทุกโครงการกับภาครัฐ”

11

ภาพจาก bit.ly/3bYmRc5

เป็นสูตรที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเก็บเงินแต่ “การเข้าร่วมในทุกโครงการของภาครัฐ” ก็ทำให้เรามีสถานะการเงินที่ดีขึ้นในระดับหนึ่งได้ เช่นคนที่ต้องชำระหนี้ค่าบ้าน ก็อาจจะเข้าโครงการของสถาบันการเงินในการลดดอกเบี้ย ลดเงินต้น ตามระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้เรามีภาระในการจ่ายหนี้ น้อยลงและทำให้เรามีเงินเหลือในบัญชีมากขึ้น

แม้บางทีการพักชำระหนี้หรือลดภาระหนี้จะทำให้เราต้องเป็นหนี้ในระยะยาวมากขึ้น แต่ในสถานการณ์แบบนี้ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่เราต้องหาเงินมาเสริมสภาพคล่องของตัวเองให้ได้ก่อน หรือบางสถาบันการเงินที่เขาเปิดโอกาสให้กู้ยืมแบบดอกเบี้ยต่ำ หากเราจะเข้าร่วมในโครงการดังกล่าวก็สามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงผลที่จะตามมาในอนาคตด้วย

หรือที่ใกล้ตัวที่สุดอย่างโครงการ “คนละครึ่ง” ก็ทำให้เราจับจ่ายสินค้าได้สะดวกมากขึ้นแม้จะเหมือนกับเป็นการใช้เงินตัวเองจ่ายผ่านแอปพลิเคชั่น แต่เราก็จะจ่ายราคาสินค้าได้ถูกลง เหมาะกับการซื้อสินค้าราคาไม่แพง เป็นสินค้าอุปโภค บริโภคทั่วไป เช่นอาหาร ผงซักฟอก เครื่องดื่ม กับข้าวสำเร็จรูปต่าง ๆ เป็นต้นการใช้จ่ายในโครงการนี้ทำให้เราไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับเงินสดในกระเป๋ามากนัก

3.สูตร 40-30-10-10-5-5

10

เป็นสูตรที่แบ่งอย่างละเอียดในการใช้เงินโดยกระจายออกเป็น 5 กลุ่มคือ ค่าใช้จ่ายเพื่อการอยู่อาศัย 40% ค่าอาหาร และค่าเสื้อผ้า 30% ค่าเดินทาง 10% เก็บออม 10% ค่าใช้จ่ายเพื่อการพักผ่อนและความบันเทิง 5% และค่าใช้จ่ายเพื่อสุขภาพ 5%

เช่นถ้ามีเงิน 15,000 บาท จะสามารถใช้จ่ายค่าเช่าห้อง ผ่อนคอนโดฯ รวมน้ำ ไฟ ค่าโทรศัพท์ และของใช้ภายในบ้านได้ไม่เกิน 6,000 บาทต่อเดือน (40%) เป็นค่าอาหารและค่าเสื้อผ้าได้ไม่เกิน 4,500 บาทต่อเดือน (30%) หมดเงินกับค่ารถในการเดินทางไปทำงานได้ไม่เกิน 1,500 บาทต่อเดือน (10%)

ควรเก็บออมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน (10%) หากเจ็บป่วย ต้องการซื้อยา หรือหาหมอก็ต้องไม่เกิน 750 บาทต่อเดือน (5%) ซึ่งในบางกลุ่มอาจดูเป็นตัวเลขที่น้อยเช่น 5% เพื่อสุขภาพเราอาจมีการโยกในส่วนอื่นมาเสริมในส่วนนี้ได้ อย่างน้อยไม่ใช่สูตรนี้โดยตรงแต่ก็เป็นการฝึกใช้เงินอย่างมีระบบได้เช่นกัน

4.สูตร 20:45:35

11

อีกหนึ่งสูตรสำหรับการฝึกใช้เงินอย่างมีระบบ แต่วิธีนี้จะเหมาะกับคนที่ยังพอมีรายได้หรือมีรายได้สูงโดยแบ่งเป็น 20:45:35

  • 20% คือเงินออม
  • 45% รายจ่ายจำเป็น
  • 35% คือรายจ่ายในชีวิตประจำวัน

วิธีนี้จะทำให้เราวางแผนการออมเงินและการใช้ชีวิตในแต่ละเดือนได้อย่างรัดกุมมากยิ่งขึ้น โดยใช้วิธีหักเปอร์เซ็นต์ของค่าใช้จ่ายในแต่ละส่วนอย่างชัดเจน ซึ่งวิธีจะทำให้เรารู้ว่าในแต่ละเดือนเราจะต้องมีเงินใช้จำนวนเท่าไหร่ และยังเป็นวิธีที่เหมาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่มีรายจ่ายจำเป็นที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือนอีกด้วย

5.สูตร “Okosukai”

12

เป็นวิธีที่เล่ากันว่ามีในประเทศญี่ปุ่นต้นศตวรรษที่ 16 ซึ่งเป็นยุคของซามูไร โดยภรรยาของซามูไรได้เก็บซ่อนเงินไว้ทีละน้อยเป็นเวลาหลายปี จนสะสมได้มากพอและนำไปซื้อม้าชั้นดีให้กับสามีใช้ออกรบ จนกลายเป็นนักรบที่มีชื่อเสียงในยุคนั้น หรือจะให้พูดชัดๆ วิธีแบบ Okosukai ก็คือ “เก็บลืม” หรือเก็บให้พ้นหูพ้นตาไม่ไปยุ่งกับมันอีกรวมถึงไม่ให้คนในบ้านรู้ว่ามีอยู่หรือรู้ว่าเก็บที่ไหน

ซึ่งหลักคิดแบบ “เก็บลืม” เช่นนี้ ช่วยให้ “เก็บเงินอยู่” ได้จริง ๆ ถามว่าวิธีนี้มันเกี่ยวอะไรกับยุค COVID 19 ปัญหาสำคัญตอนนี้คือจะใช้เงินอย่างไรให้อยู่รอด แต่ความจริงแล้ววิธีแบบ Okosukai มันจะได้ผลมากหากเราได้รู้จักวิธีนี้ก่อนเกิดวิกฤติ COVID 19 และใช้วิธีนี้มาเรื่อยๆ ถ้าใครทำได้เชื่อว่าตอน COVID 19 น่าจะมีเงินที่ “เก็บลืม” มาใช้ต่อลมหายใจได้อย่างดี แต่ถ้าเริ่มวิธีแบบ Okosukai ตอนนี้ก็คงจะไม่ทำให้ชีวิตตอนนี้ดีขึ้น

แต่ในอนาคตเราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดอะไรขึ้นหากเราไม่เก็บเงินเอาไว้บ้างตั้งแต่ตอนนี้ ในอนาคตข้างหน้าอาจมีวิกฤติที่หนักกว่า COVID 19 แล้วถึงตอนนั้นเราจะทำอย่างไรถ้าไม่มีเงินเก็บ วิธีแบบ Okosukai จึงเป็นการทำเพื่ออนาคตมากกว่าปัจจุบัน ยิ่งสถานการณ์ในโลกยุคนี้ไม่มีอะไรแน่นอนวิธีนี้จึงยิ่งสำคัญมากและควรนำไปใช้ถึงเวลาที่ต้องใช้จริงๆ จะรู้สึกขอบคุณตัวเองมากๆ ที่เริ่มเก็บเงินเอาไว้

สูตรการเงินเหล่านี้คงมีคนอีกไม่น้อยที่จะย้อนแย้งว่า “ทำได้จริงหรือ” “แบ่งแบบนี้มันโลกสวย ทำไม่ได้หรอก” เราก็เชื่อเช่นนั้นว่าทุกคนไม่สามารถใช้สูตรการเงินนี้ได้ แต่นี่คือแนวทางสอนให้รู้จักวิธีการใช้เงินอย่างมีระบบ ไม่ใช่ใช้เงินสะเปะสะปะ รายจ่ายต่อเดือนมีอะไรเท่าไหร่ ไม่รู้ อย่างน้อยในสถานการณ์ที่ไม่ปกติ การใช้เงินอย่างมีระบบก็จะช่วยทำให้สถานะการเงินเราชัดเจนขึ้น แม้บางทีอาจไม่ถึงขั้นดีกว่าเดิมก็ตาม


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3nM3Pb5 , https://cnb.cx/38QC1xQ , https://bit.ly/35RBtG9 , https://bit.ly/35MYr1i , https://bit.ly/3qp9Bko

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/392cvWJ

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด