เทียบฟอร์ม 5 ยักษ์ใหญ่ วงการไอที ! มีดีอะไรบ้าง

เมื่อสังคมโลกก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลเต็มตัวคาดว่าในอนาคตคงมีการเปิดตัวนวัตกรรมที่น่าสนใจมาเรียกเสียงฮือฮาได้อีกมาก และทิศทางของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นนี้ก็ดูเหมือนจะเข้าทางกับยักษ์ใหญ่ใน วงการไอที ทั้งหลายที่เหมือนถูกหวยก้อนใหญ่กับการพัฒนารูปแบบตัวเองให้สอดคล้องกับการเป็นเจ้าพ่อในโลกไอทีมากขึ้น

และถ้าจะว่ากันตามจริงแล้ว 5 ยักษ์ใหญ่ใน วงการไอที อันได้แก่ Apple , Alphabet , Microsoft , Amazon และ Facebook ต่างก็มีจุดเด่นที่สร้างฐานลูกค้าและสร้างรายได้ให้กับตัวเองอย่างดี

โดยในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกา 5 บริษัทนี้มีมูลค่ารวมประมาณ 2.9 ล้านล้านดอลลาร์ โดยในปี 2016 ที่ผ่านมา สามารถสร้างรายได้รวมกัน 555 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งทำให้บริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ มีมูลค่าสูงกว่าบริษัทกลุ่ม blue chip เดิมในตลาดไปแล้ว www.ThaiSMEsCenter.com จึงได้นำข้อมูลของ 5 ยักษ์ใหญ่ที่ว่านี้นำเสนอให้ท่านผู้อ่านรับทราบถึงทิศทางที่เป็นอยู่เพื่อให้รู้ว่าวงการนี้ยังพร้อมที่จะพัฒนาก้าวหน้าได้อีกมากทีเดียว

1.Apple

วงการไอที

ภาพจาก goo.gl/9jp1Ue,goo.gl/rtCBCw

หรือในชื่อเดิม บริษัทแอปเปิลคอมพิวเตอร์ (Apple Computer Inc.) เป็นบริษัทในซิลิคอนแวลลีย์ ทำธุรกิจเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แอปเปิลปฏิวัติคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะในยุค 70 ด้วยเครื่องแอปเปิล I และแอปเปิล II และแมคอินทอช ในยุค 80 ปัจจุบันแอปเปิลมีชื่อเสียงด้านฮาร์ดแวร์ เช่น ไอแมค ไอพอด ไอโฟน ไอแพด และร้านขายเพลงออนไลน์ไอทูนส์

และมีมูลค่าบริษัท 804 พันล้านดอลลาร์ มีรายรับ 216 พันล้านดอลลาร์ และเป็นรายได้ 46 พันล้านดอลลาร์ สินค้าหลักของบริษัาทคือ Hardware สัดส่วนของรายได้ นั้น 63% มาจาก iPhone , 11% จาก Mac , 11% มาจากบริการต่างๆ และ 10% มาจาก iPad ซึ่งถือได้ว่า Apple ได้พยายามพัฒนานวัตกรรมต่างๆให้ต่อเนื่องตลอดเวลาและดูเหมือนว่านวัตกรรมของ Apple จะเกิดจากความต้องการพื้นฐานของผู้บริโภคจึงทำยอดขายทั่วโลกได้เป็นอย่างดี

2.Alphabet

mac2
ภาพจาก goo.gl/4wdzyi

Alphabet หรือบริษัทแม่ของ Google มีมูลค่าบริษัท 651 พันล้านดอลลาร์ มีรายรับ 90 พันล้านดอลลาร์ และเป็นรายได้ 19 พันล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ Alphabet เป็นบริษัทแบบโฮลดิ้ง คือบริษัทที่ไม่มีธุรกิจหลักของตัวเอง โดยมีรายได้จากการถือหุ้นในบริษัทอื่นเป็นหลัก เพื่อการควบคุมยิ่งกว่าเพื่อการลงทุนโดยการถือหุ้นของบริษัท Alphabet นี้ ถือหุ้นในกิจการต่างๆ ซึ่ง Alphabet จะถือหุ้น Google และบริษัทอื่นๆ บางรายที่ Google เคยซื้อมาเช่น Nest, Calico, Fiber ก็จะขึ้นอยู่ในเครือ Alphabet ด้วย รายได้หลักของ Alphabet กว่า 88% มาจากโฆษณา Google Adwords, Youtube,

อีกประมาณ 11% มาจาก Google play, Pixel และ แอนดรอยด์ เป็นต้น ซึ่งก็นับว่ารูปแบบของ Alphabet เองก็มีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อให้สอดคล้องกับการทำงานและยกฐานะให้ตัวเองกลายเป็นเสิร์ชเอนจิ้นที่มีรายได้มหาศาลด้วยการเข้าไปเชื่อมโยงกับธุรกิจอีกหลายส่วนด้วยกัน

3.Microsoft

mac3

ภาพจาก goo.gl/pImT8e

เป็นหนึ่งในบริษัทผู้ผลิตและพัฒนาซอฟต์แวร์รายใหญ่ของโลก มีฐานการผลิตอยู่ที่เมืองเรดมอนด์ รัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา โดยผลิตภัณฑ์ของไมโครซอฟท์ที่มีกำลังการตลาดมากที่สุดคือ ระบบปฏิบัติการไมโครซอฟท์ วินโดวส์ และ ไมโครซอฟท์ ออฟฟิศ ทำให้มีมูลค่าบริษัท 536 พันล้านดอลลาร์ เป็นรายรับ 85 พันล้านดอลลาร์ และมีรายได้ 17 พันล้านดอลลาร์ สินค้าหลักคือ ซอฟต์แวร์ ที่มีคนใช้งานทั่วโลก สัดส่วนรายได้กว่า 28% จึงมาจาก Microsoft Office , 22% มาจาก Windows Server และ Azure , 11% จาก Xbox9% จาก Windows และอีกประมาณ 7% มาจากการโฆษณา เป็นต้น

4.Amazon

mac4

ภาพจาก goo.gl/2awZnl

เป็นเว็บไซต์ในลักษณะอีคอมเมิร์ซ โดยมีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่เมืองซีแอตเทิล ในรัฐวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา Amazon เป็นเว็บไซต์ขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกา โดยมีขนาดใหญ่กว่าอันดับ 2 ซึ่งคือ สเตเปิลส์ ประมาณสามเท่าตัว โดย Amazon นั้นเริ่มต้นมาจากการขายหนังสืออนไลน์ก่อนขยับเข้ามาเป็นอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่สุดในโลก

โดยปัจจุบันมีมูลค่าบริษัท 455 พันล้านดอลลาร์ รายรับ 136 พันล้านดอลลาร์ เป็นรายได้ 2 พันล้านดอลลาร์ ธุรกิจหลักคือ ค้าปลีกออนไลน์ โดยมีสัดส่วนรายได้ 72% จากสินค้าต่างๆที่เป็น Amazon Product (สินค้าต่างๆ) อีกกว่า 18% มาจาก Amazon Media ได้แก่ เพลง, หนัง, ซอฟต์แวร์ต่างๆ และอีกกว่า 9% มาจาก Amazon Web Services ทั้งนี้ Amazon เองยังมีแผนการตลาดที่เฉียบขาดและพร้อมขยายเข้าไปยังประเทศเป้าหมายเพื่อการเติบโตที่มากขึ้นในอนาคตด้วย

5.Facebook

mac5

ภาพจาก goo.gl/ukRgUH

เป็นบริการเครือข่ายสังคมยอดฮิตที่มีคนใช้งานทั่วโลกไม่ต่ำกว่า 1,390 ล้านรายชื่อ หรือถ้านับในประเทศไทยก็มีไม่ต่ำกว่า 35 ล้านรายชื่อซึ่งถือเป็นสังคมออนไลน์ที่มีอิทธิพลต่อคนในสังคมมากที่สุด โดย Facebook มีลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 2,000 คนและมีสำนักงานทั่วโลกกว่า 12 แห่ง และรายได้ส่วนมากของเฟซบุ๊กมาจากการโฆษณา

โดยไมโครซอฟท์เป็นผู้ร่วมหุ้นพิเศษในด้านการบริการแบนเนอร์โฆษณา โดยมีมูลค่าบริษัทกว่า434 พันล้านดอลลาร์ มีรายรับ 28 พันล้านดอลลาร์ เป็นรายได้ 10 พันล้านดอลลาร์ หลักๆ มาจากโฆษณากว่า 97%

และถ้าเราดูสถิติตัวเลขทั้งหลายเหล่านี้จะพบว่า ในปี 2016 ที่ผ่านมา เป็นครั้งแรกของ Apple ที่รายได้ลดลงนับตั้งแต่ปี 2001 แต่ยังสามารถทำกำไรได้ดี คิดเป็น 21% ขณะที่ Amazon สร้างรายได้อย่างมหาศาลแต่มีกำไรเพียง 2% ต่างจาก Facebook ที่ทำกำไรได้ 36% Facebook และ Alphabet มีรายได้หลักมาจาก โฆษณา

ส่วน Apple มี ฮาร์ดแวร์ เป็นธุรกิจหลัก คือ ทั้ง iPhone, Mac และ iPad รวมกันแล้ว 84% สำหรับ Amazon รายได้หลักมาจากการขายสินค้าออนไลน์ ขณะที่ Microsoft ขายซอฟต์แวร์ แต่สามารถสร้างสัดส่วนรายได้จากหลากหลายซอฟต์แวร์ได้อย่างดี

สิ่งที่น่าสนใจหากลองรวบรวมทั้ง 5 บริษัทเข้าด้วยกัน แล้วแบ่งประเภทของธุรกิจที่สร้างรายได้และการเติบโตจะพบว่า

  • Hardware ได้แก่ iPhone, iPad, Mac, Xbox และ Surface สร้างรายได้รวมกัน 36%
  • Online Retail ได้แก่ Amazon Product และ Media สร้างรายได้ 22%
  • Advertising โฆษณาจาก Google, Facebook, Youtube สร้างรายได้ 20%
  • Software ได้แก่ Office, Windows มีสัดส่วน 6%
  • Cloud/Server เช่น Microsoft Server, Azure, AWS มีสัดส่วน 6%
  • อื่นๆ เช่น บริการต่างๆ มีสัดส่วนรายได้ 11%

จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่สร้างรายได้หลักให้กับมหาอำนาจด้านเทคโนโลยี คือ Hardware, Online Retail และ Advertising ประมาณ 78% ส่วน Software ที่ไม่ได้เป็นตัวสร้างรายได้เหมือนในอดีต

แต่ก็ต้องไม่ลืมว่า Software ยังเป็นส่วนสำคัญของธุรกิจ และยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างรายได้อยู่ดี เช่น Android ระบบปฏิบัติการที่ให้ใช้ฟรี แต่ให้คนซื้อแอป หรือจะเป็น iOS ที่มาพร้อมกับเครื่องก็ตาม

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

ขอบคุณข้อมูลจาก goo.gl/VadAog

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด