เทียบกันชัด ๆ GrabCar VS Taxi อะไรบ้างที่แตกต่าง

เป็นที่ทราบกันดีว่าขนส่งสาธารณะอาจจะไม่ตอบโจทย์เวลาที่เราเร่งรีบ ทั้งรอนาน จอดแช่ป้ายต่าง ๆ นานา หรือเพราะบางครั้งเรามีสัมภาระเยอะเกินกว่าจะขึ้นรถโดยสารสาธารณะ ทำให้ต้องมีการใช้บริการแท็กซี่อยู่บ่อย ๆ แต่การจะขึ้นแท็กซี่บางครั้งบางทีก็ไม่ได้ถูกใจเราเสมอไป บ้างก็ส่งรถ เติมแก๊ส โกงมิเตอร์

จากการที่มีกระแสภาพลักษณ์ดังกล่าวของบริการแท็กซี่ ทำให้ผู้คนหันมาสนใจบริการ GrabCar กันมากขึ้น เนื่องจากสะดวก เรียกมารับถึงที่โดยไม่ต้องรอคิว และก็สามารถติดตามการเดินทางจากแอพพลิเคชั่นทำให้รู้ว่าจะมาตอนไหน มีบริการที่สุภาพเป็นส่วนใหญ่เนื่องจากมีการประเมินจากผู้โดยสารทุกครั้งหลังใช้บริการ

วันนี้ www.ThaiSMEsCenter.com จะพาคุณผู้อ่านไปดูข้อแตกต่างระหว่าง GrabCar และแท็กซี่ ซึ่งไม่ได้เทียบเพียงแค่เรื่องของบริการเท่านั้น แต่รวมถึงเรื่องค่าใช้จ่าย-รายได้อย่างคร่าวๆ สำหรับผู้ที่สนใจอยากที่จะขับ GrabCar และแท็กซี่ และข้อกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งอาจจะเป็นประโยชน์แก่คุณผู้อ่านที่สนใจอยากหาอาชีพเสริม

GrabCar

46

ภาพจาก bit.ly/2y1zrC9

GrabCar การให้บริการเรียกรถส่วนบุคคลที่จะส่งมอบความสะดวกสบายและปลอดภัยให้ทั้งผู้ขับและผู้โดยสาร พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ที่มียานพาหนะส่วนตัว สามารถมีรายได้เสริมในเวลาว่าง และมีส่วนช่วยแบ่งเบาปัญหาการจราจรของประเทศโดยมอบทางเลือกในการเดินทางที่หลากหลาย และลดจำนวนรถบนท้องถนน

ในปัจจุบันแอพพลิเคชั่นแกร็บแท็กซี่เปิดให้บริการทั้งสิ้น 6 ประเทศ เรียงตามลำดับคือ มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย

ซึ่งธุรกิจ GrabCar นั้นเติบโตอย่างรวดเร็ว เนื่องจากมีความสะดวกสบายในการใช้งาน รวมถึงมีความเชื่อมั่นในบริการของ Grab ที่ผู้บริโภคมีให้

ค่าบริการ : 30 บาท กม.ต่อไป 9 บาท ระบบจะคิดค่าโดยสารแบบตายตัวตั้งแต่ตอนที่ลูกค้าจองบนแอพ และจะเป็นไปตามอัตราส่วนของความต้องการของลูกค้าต่อจำนวนรถแท็กซี่และรถยนต์ส่วนตัวในบริเวณนั้นๆ รวมถึงค่าบริการอื่นๆ

ค่าทางด่วน : ผู้โดยสารรับผิดชอบค่าทางด่วนตามจริงตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงจุดหมาย

ค่าบริการสนามบิน :

  • สุวรรณภูมิ (BKK) + 150 บาท (สำหรับการเดินทางไปสนามบิน)
  • ดอนเมือง (DMK) +150 บาท (สำหรับการเดินทางไปสนามบิน)

45

ภาพจาก bit.ly/30U7XL9

ความสะดวกในการใช้บริการ :

  • ไม่มีเงินสด ก็สามารถนั่งไปไหนมาไหนได้
  • มีส่วนลดให้ใช้เยอะมาก ซึ่งในแท็กซี่ไม่มี
  • สามารถบริหารเวลาในการเดินทางได้ สามารถเตรียมตัวล่วงหน้า

กฎหมาย :

กรมการขนส่งระบุเหตุผลว่า เนื่องจากเป็นการใช้รถยนต์ผิดประเภทจากที่จดทะเบียนไว้, ไม่ใช้มาตรค่าโดยสารตามที่กฎหมายกำหนด, ผู้ขับรถไม่มีใบอนุญาตขับรถสาธารณะ, ไม่เคยผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากรรม และคนขับไม่ได้เข้าสู่ระบบทะเบียนของศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะของกรมการขนส่งทางบก

ซึ่งหากมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น ประชาชนจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากกฎหมาย โดยแอพที่ผิดกฎหมายอย่าง Grab Car ทางกรมระบุว่าพร้อมรับฟังข้อเสนอแนะ สำหรับการปรับปรุงและพัฒนาบริการให้ถูกกฎหมาย ส่วนแอพที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว กรมการขนส่งพร้อมสนับสนุนทุกมิติ

ความปลอดภัย :

มีแอพพลิเคชั่นให้รู้ว่าเราไปกับใคร มีระบบติดตามที่เชื่อถือได้ ชัดเจน นอกจากรายงานค่าใช้จ่ายในการเดินทางในแต่ละสัปดาห์/เดือน ยังมีรายละเอียดว่า จุดที่ผู้โดยสารขึ้น และปลายทางของผู้โดยสาร รวมถึงระยะเวลาการเดินทาง รายละเอียดของผู้ขับ ที่ละเอียดมาก เช่นชื่อ เบอร์โทรฯ ติดต่อ ทะเบียนรถ รุ่น และยี่ห้อของรถ ทำให้อุ่นใจ ของหล่น หรือลืมไว้ที่รถ มั่นใจได้ว่าได้คืนแน่นอน

47

ภาพจาก bit.ly/2YfQOJP

การลงทุน :

  1. รถยนต์ที่ใช้ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี เนื่องจากเป็นบริการที่เน้นเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของผู้โดยสารเป็นสำคัญ รถยนต์ที่จะใช้ในการหารายได้จาก Grab Car จึงต้องได้มาตรฐานเช่นกัน โดยข้อกำหนดสำคัญของ Grab Car ระบุว่า รถที่จะนำมาใช้ต้องมีอายุไม่เกิน 10 ปี หรือผลิตตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นไป
    • ในกรณีที่เป็นรถกระบะต้องประเภท 4 ประตูเท่านั้น และมีอายุไม่เกิน 5 ปี หรือผลิตตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไป ทั้งนี้หากเรามีรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ที่ผลิตตั้งแต่ปี 2013 เช่น Toyota Harrier, Camry, Fortuner, CHR หรือเป็น Honda Accord, CRV, HRV รวมถึงรถยนต์รุ่นใหม่ๆ ของ Nissan, Mazda, BMW ฯลฯ สามารถสมัครเข้าร่วมGrabCar Plus หรือ GrabCar Luxe ที่มีค่าตอบแทนสูงขึ้นได้
  2. หักส่วนต่างที่ Grab จะคิด 25% ต่อรอบ
  3. หากไม่มีรถยนต์ส่วนตัวมีบริการเช่ารถจากแกร็บโกวันละ 550 บาท

รายได้ : รายได้เฉลี่ยหลังหักค่าน้ำมันต่อวันเฉลี่ย 1,000-1,200 บาท


Taxi

 43

ภาพจาก bit.ly/2OdPTtZ

ในประเทศไทย เริ่มมีแท็กซี่ให้บริการเป็นครั้งแรกใน พ.ศ. 2466 (ค.ศ. 1923) โดยพระยาเทพหัสดิน ร่วมกับ พระยาพิไชยชาญฤทธิ์ เป็นผู้ก่อตั้งบริษัท แท็กซี่สยาม ขึ้นเป็นครั้งแรก

โดยมีรถให้บริการ 14 คัน คิดค่าบริการตามไมล์ ไมล์ละ 0.15 บาท (1 ไมล์ = 1.609344 กิโลเมตร) โดยใช้รถยนต์ยี่ห้อออสติน แต่ประสบปัญหาขาดทุน จึงต้องล้มเลิกกิจการไป

จนกระทั่ง พ.ศ. 2490 (ค.ศ. 1947) เจ้าของธุรกิจเอกชนบางรายได้มีเริ่มการฟื้นฟูกิจการแท็กซี่ในประเทศไทยขึ้นมาใหม่ โดยในช่วงแรกจะนิยมใช้รถยนต์ยี่ห้อเรโนลต์ ยุคต่อมาก็เปลี่ยนกลับมานิยมยี่ห้อออสติน ตามด้วยรถ ดัทสัน บลูเบิร์ด, และโตโยต้าในที่สุด

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนั้น ป้ายทะเบียนของรถประเภทแท็กซี่จะมีราคาแพง (หลักแสนบาท) จึงทำให้ผู้ให้บริการใช้รถยนต์แท็กซี่นานหลายสิบปีจนมีสภาพชำรุดทรุดโทรมเพื่อให้คุ้มทุนค่าป้ายทะเบียน อีกทั้งกฎหมายมิได้บังคับให้รถแท็กซี่มีการติดมิเตอร์ การจ่ายค่าโดยสารจึงเป็นไปตามการต่อรองระหว่างผู้โดยสารและผู้ให้บริการ

เมื่อยุคสมัยผ่านไป ในช่วงเวลาหนึ่ง แท็กซี่กลายเป็นสาเหตุหนึ่งของปัญหาจราจร จากการจอดต่อรองราคาดังกล่าว ดังนั้นใน พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) จึงเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยมีการออกกฎหมายให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ตั้งแต่ พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป ต้องติดมิเตอร์

อีกทั้งกรมการขนส่งทางบกยังได้เปลี่ยนระบบป้ายทะเบียนแท็กซี่ ให้จดทะเบียนได้ในราคาถูกลงจากเดิม (หลักพันบาท) แต่จำกัดอายุของรถแท็กซี่ไว้มิให้เกิน 12 ปี หากเกินจากนี้จะต้องปลดประจำการไม่สามารถเป็นรถแท็กซี่ได้อีก และยังได้สั่งให้เปลี่ยนสีรถแท็กซี่บุคคล จากสี “ดำ-เหลือง” ในระบบป้ายแบบเก่า เป็นสี “เขียว-เหลือง” ในระบบป้ายแบบจำกัดอายุ

ราคาเริ่มต้น : ระยะทาง 1 กิโลเมตรแรก 35.00 บาท

  • ระยะทางเกินกว่า 1 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 10 กิโลเมตรละ 5.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 10 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 20 กิโลเมตรละ 6.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 20 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 40 กิโลเมตรละ 7.50 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 40 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 60 กิโลเมตรละ 8.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 60 กิโลเมตรถึงกิโลเมตรที่ 80 กิโลเมตรละ 9.00 บาท
  • ระยะทางเกินกว่า 80 กิโลเมตรขึ้นไป กิโลเมตรละ 10.50 บาท

42

ภาพจาก bit.ly/2YiyyDJ

ในกรณีที่รถจอดหรือเคลื่อนที่ได้ไม่เกิน 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง มิเตอร์เวลาจะเดิน อัตราค่าโดยสาร 2 บาท/นาที มิเตอร์จะขยับทีละ 2 บาท โดยการคิดค่าโดยสารนั้น จะคิดแยกเป็นส่วนๆ (ส่วนของระยะทาง และส่วนของเวลา) ส่วนของระยะทาง มิเตอร์คำนวณค่าโดยสารได้เท่าไร จะปัดขึ้นเป็นจำนวนเต็มคี่ที่อยู่ถัดขึ้นไป (เช่น คำนวณได้ 47.75 บาท ก็จะปัดขึ้นเป็น 49 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเต็มคี่ที่อยู่ถัดไป)

ส่วนของมิเตอร์เวลา มิเตอร์เวลาคำนวณค่าโดยสารได้เท่าไร จะปัดลงเป็นจำนวนเต็มคู่ที่อยู่ลงมา (เช่น มิเตอร์เวลาเดินไปได้ 3.75 บาท ก็จะปัดทิ้งเป็น 2 บาท ซึ่งเป็นจำนวนเต็มคู่ที่อยู่ถัดลงมา)

ความสะดวกในการใช้บริการ :

มีจุดจอดแท็กซี่ในสถานที่สำคัญ เช่น หน้าห้างสรรพสินค้า ซึ่งทำให้สามารถโบกเรียกได้ทันทีไม่ต้องรอ และด้วยการตกแต่งรถที่เป็นสัญลักษณ์ของแท็กซี่ทำให้ผู้โดยสารเห็นได้ง่ายและใช้บริการได้ทันที

กฎหมาย : รถแท็กซี่ที่ใช้จะต้องมีสิ่งต่อไปนี้ คือ

  1. มีใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ (รถแท๊กซี่) และพกพาขณะขับรถ
  2. มีมิเตอร์และผ่านการตรวจสอบจากกรมการขนส่งทางบกแล้ว ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  3. แสดงแผ่นป้ายทะเบียนให้ชัดเจน ไม่มีสิ่งใดปิดบัง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  4. แสดง “หมายเลขทะเบียน” ไว้ภายในรถที่ด้านซ้ายของแผงหน้าปัทม์และประตูหลัง 2 ข้าง ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  5. แสดง “บัตรประจำตัวผู้ขับรถ” ไว้ที่ตอนหน้าให้ผู้โดยสารเห็นได้ชัดเจน ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  6. กรณีรถของนิติบุคคล จะต้องแสดงเครื่องหมายต่อไปนี้ด้วย ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
    • ชื่อนิติบุคคลและหมายเลขทะเบียนรถ ขนาดสูงไม่น้อยกว่า 7 ซม.
    • หมายเลขโทรศัพท์ด้านข้างของรถตอนท้าย
  7. ไม่มีระบบเซ็นทรัลล็อค ปรับไม่เกิน 1,000 บาท
  8. กระจกกันลมทุกบานไม่ติดฟิล์มกรองแสงหรือโฆษณาสินค้า เว้นแต่ข้อความที่ทางราชการกำหนดให้

41

ภาพจาก bit.ly/2Z84FDg

ความปลอดภัย :

การติดตั้งระบบ GPS Tracking ติดตามพิกัดตำแหน่งรถ, ระบบยืนยันตัวตนผู้ขับรถ, กล้องบันทึกภาพในรถแบบ Snap Shot, ปุ่มฉุกเฉินเพื่อแจ้งเหตุร้องเรียน (ปัจจุบันมีรถ Taxi OK วิ่งให้บริการแล้วจำนวนรวมกว่า 18,000 คัน)

การลงทุน :

แท็กซี่คันละ 800,000 กว่าบาท แต่สามารถเช่าขับได้เช่นกัน โดยราคาค่าเช่าจะขึ้นอยู่กับรุ่นของรถ ยิ่งรุ่นใหม่ สภาพดี ค่าเช่าก็ยิ่งแพง โดยราคาเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 400-700 บาทต่อกะ (12 ชั่วโมง) ส่วนราคาควงกะทั้งวัน จะอยู่ที่ประมาณวันละ 600-1,200 บาท

และค่าประกันรถ การเช่ารถเราจำเป็นต้องวางเงินประกันรถกับอู่ที่ต้องการเช่าก่อน ซึ่งจะได้เงินประกันคืนตอนยกเลิกสัญญาเช่ารถ โดยเงินประกันอยู่ที่ประมาณ 2,000-3,000 บาท
เฉลี่ยแล้วค่าใช้จ่ายสำหรับการเช่าแท็กซี่ขับที่ยังไม่รวมค่ามัดจำรถ จะตกอยู่ที่ประมาณวันละ 700-1,200 บาท

รายได้ : เฉลี่ย 12 ชั่วโมงต่อวัน มีรายได้เฉลี่ย 1,702 บาทต่อวัน เมื่อหักค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เฉลี่ยวันละ 400 บาท

จะเห็นได้ว่า GrabCar และ Taxi มีข้อแตกต่างกันเกือบทุกข้อ ราคาค่าโดยสารของแท็กซี่เฉลี่ยแล้วก็จะถูกกว่าเนื่องจากกิโลเมตรที่ 1-10 บวกเพิ่มเพียง 5.50 บาท ซึ่งทาง GrabCar คิดกิโลเมตรต่อไปในราคา 9 บาท

40

ภาพจาก bit.ly/2Y0vddm

ส่วนในเรื่องกฎหมายก็เป็นที่รู้กันว่ารถโดยสารสาธารณะจำเป็นต้องมีป้ายทะเบียนสีเหลือง ซึ่งก็หมายถึงไม่ใช่ใครก็ได้ที่จะมารับส่งผู้โดยสาร ต้องมีการตรวจเช็คประวัติต่าง ๆ แต่หากมองในอีกแง่หนึ่ง GrabCar ก็เป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้คนทั่ว ๆ ไปที่ต้องการหารายได้เสริม และยังสามารถดูรีวิวคนขับจากในแอพพลิเคชั่นได้สำหรับการตัดสินใจใช้บริการ

ในเรื่องความปลอดภัย เดี๋ยวนี้แท็กซี่ก็ได้เพิ่มระบบความปลอดภัยแล้วมีการติดตั้งกล้องภายในรถและ GPS ติดตามรถแต่ละคัน ซึ่งก็ถือว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้คนหันกลับมาใช้บริการแท็กซี่

การลงทุนสำหรับแท็กซี่อาจจะจุกจิกเล็กน้อยสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการจะซื้อ ต้องจ่ายทั้งค่าเช่าและค่ามัดจำ แต่ทาง GrabCar สามารถใช้รถที่มีอยู่ได้เลยหากมีคุณสมบัติตามข้อกำหนด

แต่โดยรวมแล้วหากขยันรับส่งผู้โดยสาร รายได้ของแท็กซี่ก็อาจจะไม่แพ้ GrabCar เนื่องจากแท็กซี่มีสัญลักษณ์ที่พบเห็นได้ง่ายในย่านที่มีคนพลุกพล่าน จึงคาดว่าน่าจะสะดวกสำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางทันที ไม่อยากรอกดเรียกรถจากแอพพลิเคชั่นซึ่งต้องใช้เวลาหากคนขับอยู่ไกลจากจุดเรียก


คุณผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

อ่านบทความอื่นๆ จากไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ www.thaifranchisecenter.com/document
เลือกซื้อแฟรนไชส์ไทยขายดี เปิดร้าน www.thaifranchisecenter.com/directory/index.php

อ้างอิงข้อมูล