เทคนิคควรรู้ ! เพื่อคนอยากเปิดร้านกาแฟของตัวเอง

ปัจจุบันเครื่องดื่มอย่างกาแฟกลายเป็นสินค้าที่มีความต้องการแบบไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยฐานลูกค้าที่มีตั้งแต่วัยรุ่นไปจนถึงผู้ใหญ่ ช่วงอายุของคนดื่มกาแฟนั้นตั้งแต่ 15-60 ปี จึงถือว่ามีความหลากหลายมากดูได้จากปริมาณร้านกาแฟที่มีหลากหลายแบรนด์เกิดขึ้นในท้องตลาดก่อให้เกิดการแข่งขันที่สูงมาก ตลาดของคนดื่มกาแฟนั้นก็เลือกได้ตั้งแต่ระดับล่าง กลาง หรือว่าพรีเมี่ยม

 www.ThaiSMEsCenter.com เห็นว่าบุคคลทั่วไปจำนวนไม่น้อยก็สนใจที่จะเปิดร้านขายกาแฟทั้งแบบที่อยากซื้อแฟรนไชส์หรือบางคนก็อยากเปิดร้านด้วยตัวเองเป็นแบรนด์ตัวเอง

แต่ทั้งนี้การเปิดร้านกาแฟแม้จะมีฐานลูกค้าและเป็นสินค้ายอดนิยมแต่อย่างไรก็ดีการมีประสบการณ์ในงานด้านนี้บ้างก็เป็นสิ่งสำคัญมากโดยเฉพาะการรู้เทคนิคเบื้องต้นก่อนที่จะเปิดร้านก็จะมีโอกาสทำให้ธุรกิจร้านกาแฟของเรานั้นประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้นด้วย

และสำหรับคำถามยอดฮิตที่คนมักถามว่ามีเงินทุนเท่านั้นเท่านี้จะเปิดร้านกาแฟได้หรือไม่ ในที่นี้ก็ต้องตอบแบบกำปั้นทุบดิน สัก 2 อย่างคือ ร้านกาแฟถ้าเลือกแบบง่ายๆ ก็ไม่ต้องลงทุนมาก แต่จะรอดหรือไม่ก็เป็นเรื่องของการบริหารมากกว่า

ศักยภาพตลาดโดยรวมของตลาดเครื่องดื่มกาแฟ

g14

ประเทศไทยมีผลผลิตกาแฟประมาณ 80,000 – 100,000 ตัน/ปี สัดส่วนการบริโภคภายในประเทศประมาณ 30,000 ตัน และอีก 70,000 ตันส่งไปจำหน่ายยังต่างประเทศ โดยมีตลาดหลัก

ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, แคนาดา, สเปน, เยอรมัน, อิตาลี, เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยปัจจุบันกาแฟถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำให้เกิดอุตสาหกรรมหลักและมีการซื้อขาย (Trade) กาแฟในอีกหลากหลายรูปแบบ (Commodity) เป็นอันดับสองรองจากปิโตรเลียม (Petroleum

เทคนิคสำคัญของการเริ่มต้นธุรกิจร้านกาแฟ

เทคนิคควรรู้

1.การเลือกทำเลเป็นสิ่งสำคัญ

ทั้งนี้ก่อนเริ่มทำธุรกิจผู้ประกอบการควรเลือก “ทำเล” ที่ตั้งให้เหมาะสม ศึกษาว่ากลุ่มลูกค้ามีพฤติกรรมชอบดื่มกาแฟมากน้อยแค่ไหน คู่แข่งเยอะไหม จุดไหนที่ทำให้ผู้บริโภคเลือกดื่มกาแฟของร้าน หรืออะไรที่ทำให้ธุรกิจแตกต่างไปจากร้านอื่นๆ

ผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเข้ามาลงทุน ควรสร้างความแตกต่างไปจากผู้ประกอบการรายใหญ่ในตลาด ทั้งรูปแบบการตกแต่งร้านกาแฟและรสชาติของสินค้า สิ่งเหล่านี้ผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาให้รอบคอบก่อนตัดสินใจเปิดธุรกิจร้านกาแฟ

2.มองกลุ่มเป้าหมายให้เฉียบ

ร้านกาแฟในปัจจุบัน มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายหลัก ได้แก่ นักธุรกิจ นักศึกษา คนทำงาน และนักท่องเที่ยว มุ่งไปที่การขายกาแฟเป็นหลัก หรือบางร้านกาแฟบางแห่งก็มีชื่อเสียงในเรื่องขนม ของว่าง

เช่น เค้ก คุกกี้ ไอศกรีม สลัด แซนด์วิช ที่นำมาขายเป็นธุรกิจเสริมร่วมกับกาแฟ ฉะนั้นผู้ลงทุนที่สนใจหรือตัดสินใจในการลงทุนร้านกาแฟ จึงอาจหาสินค้าเสริมเข้ามาขายร่วมกับกาแฟ เพื่อดึงกลุ่มลูกค้าให้เพิ่มมากขึ้น

g12

3.การตลาด 4p เอามาใช้เพื่อเปิดมุมมอง

เมื่อวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายแล้วว่ากลุ่มเปาหมายเป็นกลุ่มใด สิ่งที่ต้องคำนึงถึงลำดับต่อมา ดังนี้

  • ด้านผลิตภัณฑ์ ผู้ลงทุนควรใส่ใจตั้งแต่เรื่องการผลิตจะต้องคิดค้นพัฒนาสูตรเครื่องดื่มกาแฟให้มีหลากหลายรสชาติและกลิ่นหอม สะอาดปลอดภัย ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค สร้างความมั่นใจแก่ผู้บริโภคได้ สิ่งสำคัญต่อมาคือ บรรจุภัณฑ์ ที่สวยงาม โดดเด่น และแตกต่างไปจากสินค้าที่มีในตลาด เพื่อสร้างบรรยากาศของการดื่มกาแฟให้ได้รสชาติยิ่งขึ้น
  • ช่องทางการจัดจำหน่าย ร้านกาแฟสดส่วนใหญ่จะมีช่องทางการจัดจำหน่ายที่มุ่งไปตามย่านธุรกิจแหล่งท่องเที่ยวและสถานที่ต่างๆ อาทิ ห้างสรรพสินค้า ซุปเปอร์มาร์เก็ต สถาบันการศึกษา ใกล้โรงภาพยนตร์ ปั๊มน้ำมัน เป็นต้น
  • ราคา เครื่องดื่มกาแฟตามร้านกาแฟสดทั่วไป มีระดับราคาตั้งแต่ 35 บาท ไปจนถึง 100 กว่าบาท ส่วนใหญ่การตั้งราคาพิจารณาจากต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตดังนั้นราคาเครื่องดื่มที่ผลิตขึ้นจึงแตกต่างกันไปตามต้นทุนวัตถุดิบที่นำมาใช้บวกกับค่าใช้จ่ายต่างๆในการดำเนินงานโดยการกำหนดราคาผู้ประกอบการจะต้องพิจารณาให้เหมาะสมกับคุณภาพและกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
  • การส่งเสริมการขาย ส่วนใหญ่ธุรกิจร้านกาแฟจะเน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อสิ่งพิมพ์และแผ่นพับ หรือ Direct Mail เพราะสื่อเหล่านี้นำเสนอให้เห็นภาพลักษณ์ของสินค้าที่ดีชื่อสินค้าและตราสินค้า เพื่อให้สินค้าเข้าถึงผู้บริโภคได้เร็วด้วยต้นทุนที่ต่ำ การประชาสัมพันธ์ที่ดีอีกวิธีคือ การสร้างมาตรฐานของร้านให้เป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค จนนำไปบอกกล่าวกันแบบปากต่อปาก วิธีนี้ได้ผลดีมากสำหรับธุรกิจร้านกาแฟ

รูปแบบการลงทุนร้านกาแฟ

g8

ธุรกิจร้านกาแฟมีลักษณะการลงทุนใน 3 รูปแบบหลักๆ ดังนี้

  1. ร้านสแตนอะโลน (Stand – Alone) เป็นอาคารอิสระหรือห้องเช่าที่มีพื้นที่ประมาณ 50 ต.ร.ม. ขึ้นไป ร้าน Stand – Alone อาจตั้งอยู่ตามย่านชุมชน ห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน หรือพลาซ่าใหญ่ๆ
  2. คอร์เนอร์ (Corner/Kiosk) ร้านกาแฟขนาดกลาง ใช้พื้นที่ประมาณ 6 ต.ร.ม.ขึ้นไป ลักษณะเป็นมุมกาแฟภายในอาคาร ศูนย์การค้า หรือพลาซ่า ร้านกาแฟประเภทนี้อาจจัดให้มีที่นั่ง จำนวนเล็กน้อย
  3. รถเข็น (Cart) ร้านกาแฟขนาดเล็ก ใช้พื้นที่ประมาณ 3 ต.ร.ม. สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก หาทำเลที่ตั้งได้ง่าย ทำให้เข้าถึงตลาดได้ทุกระดับ

งบประมาณการลงทุนที่กำหนดเองได้

g7

ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการเปิดร้านกาแฟในรูปแบบ Stand Alone จะใช้เงินลงทุนเริ่มแรกประมาณ 300,000 ถึง 1,500,000 บาท ซึ่งโครงสร้างต้นทุนของร้านกาแฟรูปแบบนี้ส่วนใหญ่จะอยู่ในลักษณะที่ใกล้เคียงกัน คือ

  1. ลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ประมาณ 90% ได้แก่ ค่าก่อสร้างออกแบบและตกแต่งสถานที่ ค่าวางระบบต่างๆ (ไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ระบบเก็บเงิน) ค่าอุปกรณ์
  2. เงินทุนหมุนเวียนเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายเริ่มต้นประมาณ 10% ได้แก่ ค่าวัตถุดิบสินค้า ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าพื้นที่ ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร ส่วนในการเปิดร้านรูปแบบอื่นๆ ก็จะราคาต่ำลงได้อีกหากผู้ลงทุนมีการวางแผนการตลาดที่ดี

การเลือกซื้ออุปกรณ์เข้าร้านกาแฟให้เหมาะสมกับขนาดตลาด

g6

หลายต่อหลายคนหมดค่าใช้จ่ายไปกับการซื้อเครื่องชงกาแฟหลายแสน เปิดได้สักปีก็ปิดกิจการขายเครื่องคืนเหลือไม่กี่บาท หรือขายไม่ได้ การเลือกซื้อเครื่องชงกาแฟและอุปกรณ์กาแฟนั้นเป็นสิ่งถูกต้องที่สุดว่า

เครื่องชงราคาแพงจะได้คุณภาพน้ำกาแฟที่ดีด้วย แต่ถ้าซื้อเครื่องขนาดสองแสนกว่าบาทมาชงขายแก้วละ 20 – 35 บาท ปกติราคานี้หักค่าวัตถุดิบ ไม่รวมค่าเช่า ค่าพนักงาน จะมีกำไรประมาณ 10 กว่าบาท เอาไปหารค่าเครื่องเอาว่าเมื่อไหร่จะคืนทุน

ดังนั้นวิธีการเลือกเครื่องชงกาแฟที่ดีที่สุดเลือกให้เหมาะกับขนาดธุรกิจและกลุ่มลูกค้า เช่น ถ้าจะขายสัก 30 – 35 บาท ก็เครื่องชงสัก 5 หมื่นก็ได้ ถ้าจะขายสัก 40 – 50 บาทขึ้นไปก็สามารถใช้เครื่องเป็นแสนได้เลย เพราะอย่างน้อยเราคงมีเงินค่าแต่งร้านอีกหลายแสนบาททีเดียว

และนอกจากเทคนิคต่างๆ สถานการณ์ของตลาด ปัจจัยสำคัญของการเปิดร้าน สิ่งที่จะทำให้ร้านกาแฟของเรานั้นอยู่รอดหรือไม่อย่างไรก็คือการบริการ โปรโมชั่น บรรยากาศ และรสชาติของกาแฟ ทุกสิ่งต้องผสมผสานกันอย่างกลมกลืน

ที่สำคัญการเปิดร้านกาแฟเราก็ต้องทำใจยอมรับเรื่องการแข่งขันที่มีเยอะมาก โจทย์ใหญ่คือทำอย่างไรให้คนที่อยากดื่มกาแฟต้องนึกถึงเราทุกครั้ง หากหาคำตอบจากตรงนี้ได้ก็เท่ากับว่าโอกาสเติบโตทางธุรกิจเราก็สดใสเป็นอย่างยิ่ง

และสำหรับคนที่สนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับเครื่องดื่มในรูปแบบของการซื้อแฟรนไชส์เรามีตัวเลือกมากมายสำหรับการลงทุนที่เป็นทางลัดให้ประสบความสำเร็จได้เร็วขึ้น ดูรายละเอียดเพิ่มเติม goo.gl/HRo951

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด