เจอแล้ว 10 อาชีพใช้ไอเดีย สร้างธุรกิจ

ยุคนี้คิดทำธุรกิจอย่างเดียวคงไม่พอ นอกจากจะมีเงินทุน สำคัญคือต้องมีไอเดีย อาจไม่ต้องไปแสวงหาสินค้าใหม่ๆ ที่คนไม่เคยเห็น แต่เราสามารถพัฒนาสินค้าแบบเดิมๆ ที่มีอยู่ให้แตกต่าง

สมัยนี้เป็นยุคโซเชี่ยลอะไรที่เป็นกระแสใหม่ๆ คนจะฮิตติดใจได้ชั่วข้ามคืน แต่เรื่องแบบนี้พูดง่ายทำยาก คำว่าไอเดียไม่ใช่ว่าใครจะคิดก็คิดได้

แต่ www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าใครคิดได้โอกาสสำเร็จมีสูงมาก และมีตัวอย่างของคนที่ใช้ไอเดียสร้างธุรกิจจนประสบความสำเร็จอยู่จำนวนมากลองมาดูเป็นตัวอย่างเผื่อว่าใครเห็นแนวทางแล้วอาจจะเอาไปต่อยอดได้

1. บริษัทระบายอารมณ์ ไม่จำกัด

อาชีพใช้ไอเดีย

ภาพจาก bit.ly/33XF4kf

เมื่อมีความเครียดทุกคนก็อยากหาที่ระบาย กลายเป็นไอเดียในการทำธุรกิจที่น่าสนใจเช่นห้องระบายอารมณ์ (Anger Room) ของบริษัท Smash ในประเทศจีน เปิดให้บริการระเบิดอารมณ์ได้เต็มที่ โดยจะมอบไม้เบสบอล และอาวุธเบาๆ ให้เราถือติดมือเข้าไปพร้อมสวมใส่อุปกรณ์ป้องกัน

ซึ่งในห้องจะมีสิ่งของต่างๆ เช่น ขวดแก้ว แจกัน ฯลฯ ให้เราระเบิดอารมณ์ใส่ได้เต็มที่ค่าบริการ ประมาณ 158 หยวน (ราวๆ 700 บาท) หรือในอเมริกาก็มีธุรกิจคล้ายกันนี้แต่ใช้ชื่อห้องว่า RageRoom หรือห้องทุบทุกอย่างที่ขวางหน้าให้สิ้นซาก เป็นต้น

2. โรงหนังแบบ Drive-in

68

ภาพจาก bit.ly/3kKBxfV

แม้จะไม่ใช่ไอเดียแปลกใหม่ที่เกิดเพราะ COVID 19 ระบาด แต่ก็ถือว่าการแพร่ระบาดของ COVID 19 ทำให้โรงหนังแบบ Drive-in กลับมาคึกคักเป็นพิเศษ ยกตัวอย่างความเฟื่องฟูของธุรกิจนี้ เช่น โรงหนังแบบ Drive-in ในกรุงโซลที่มียอดขายตั๋วเพิ่มขึ้น 10-20% ในทุกสัปดาห์และจะขายหมดตลอดในช่วงวีคเอนด์

รวมไปถึงโรงหนังแบบ Drive-in ในอเมริกาที่มีกว่า 300 แห่ง ที่ผู้ประกอบการบอกว่ายอดขายโดยรวมเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 40% และต้องเพิ่มรอบการฉายให้มากขึ้นด้วย นอกจากในเกาหลีใต้ และอเมริกา ในอีกหลายประเทศที่มีธุรกิจโรงหนังแบบ Drive-in ก็มียอดคนใช้งานเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

3. ห้องเช่าป้องกันการ “หย่าร้าง”

67

ภาพจาก bit.ly/2FXNmRa

ไม่น่าเชื่อเหมือนกันว่าปัญหาการ “หย่าร้าง” จะมากขึ้นเพราะผลมาจากการแพร่ระบาดของ COVID 19 ตัวอย่างชัดเจนคือในเมืองจีนที่ประกาศปิดเมืองไปเป็นเวลานาน ผลคือมีตัวเลขของสามีภรรยาที่หย่าร้างเยอะมาก คาดว่าด้วยความกดดัน ด้วยความเครียด และปัญหาที่ต้องอยู่รวมกันเป็นเวลานานทำให้เกิดเรื่องนี้

ซึ่ง Kasoku บริษัทสตาร์ทอัพในญี่ปุ่นผุดไอเดียนำธุรกิจให้เช่าห้องพักที่บริษัทมีอยู่กว่า 500 ห้องทั่วญี่ปุ่น มาใช้รับมือกับปัญหาดังกล่าวโดยชูจุดขายเรื่องการตกแต่งที่สามารถใช้เป็นที่พักผ่อน หรือเวิร์คฟรอมโฮมก็ได้ ในราคา 4,400 เยน หรือประมาณ 1,300 บาทต่อวัน พร้อมกันนี้ยังมีบริการให้คำปรึกษาปัญหาการหย่าร้างโดยผู้เชี่ยวชาญฟรี 30 นาทีอีกด้วย

4. กล่องเครื่องสำอาง “Birchbox”

66

ภาพจาก bit.ly/2ECAejS

อาจจะใช้เป็นไอเดียการตลาดของคนอยากขายเครื่องสำอาง นี่คือธุรกิจที่เคยเกิดขึ้นจริง โดยโมเดลธุรกิจของ Birchbox คิดค่าสมาชิกเดือนละ 10 ดอลลาร์ และจะส่งกล่อง Birchbox ไปที่บ้านให้เดือนละครั้ง โดยภายในกล่องประกอบด้วยเครื่องสำอางขนาดเล็กสำหรับทดสอบประมาณ 4-5 ชิ้น

ซึ่งบริษัทจะเลือกสรรให้กับลูกค้าโดยอิงจากข้อมูลที่ลูกค้ากรอกไว้ หากลูกค้าสนใจสินค้าชิ้นไหนก็จะสามารถสั่งเพิ่มเติมได้โดยไม่ต้องมาเสียเวลาคิดเองว่าอันไหนดีอันไหนสวย

5. Stitch Fix เสื้อผ้าออนไลน์ใส่แล้วเป๊ะ

65

ภาพจาก bit.ly/2G22hKb

ทุกวันนี้มีพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เยอะมาก ส่วนใหญ่ก็ขายเสื้อผ้า แต่จะให้ดีและแตกต่างลองดูไอเดียของ Stitch Fix ที่ขายเสื้อผ้าออนไลน์เช่นกัน แต่ไอเดียสุดยอดกว่าคือจะจัดส่งเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายที่ตรงตามบุคลิกของลูกค้าไปให้เลือก โดยลูกค้าจ่าย 20 ดอลลาร์เมื่อได้สินค้ามาแล้ว ลูกค้ามีเวลาลอง 3 วัน หากตัดสินใจซื้อทั้ง 5 ชิ้นเลย บริษัทมีส่วนลดให้ 25%

แต่หากไม่ชอบเลยสักชุด ก็พับเก็บใส่กล่องที่บริษัทเตรียมไว้ให้แล้วส่งไปรษณีย์คืนมาได้ แต่ไม่ว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ทุกครั้งที่มีการใช้งาน จะคิดค่าบริการครั้งละ 20 เหรียญ ซึ่งปัจจุบัน Stitch Fix มีลูกค้าที่ใช้บริการราว 2.5 ล้านคน แถมยังเป็นบริษัทที่เข้าตลาดหุ้นอีกด้วย

6. ชานมไข่มุก “กระป๋อง”

64

ภาพจาก bit.ly/33Xbmfb

เรียกว่าเป็นไอเดียที่ต่อยอดจากชานมไข่มุกใส่แก้วมาบรรจุกระป๋องให้ดูทันสมัยและน่าสนใจมากขึ้นที่สำคัญสะดวกสบายในการพกพา ซึ่งมีหลายแบรนด์ที่เคยเปิดตัวสินค้าแนวนี้ เช่น CUBES , UP CHA หรือจะเป็น ฉุนช่วย เฮ้อ จากไต้หวัน

ซึ่งแบรนด์เหล่านี้ชูจุดเด่นบรรจุภัณฑ์แบบกระป๋องที่ดูแล้วน่าสนใจ ซึ่งแพคเกจของแต่ละแบรนด์ก็ดีไซน์น่ารัก น่าใช้งานแตกต่างกันไป สำหรับคนที่ทำธุรกิจชานมไข่มุกน่าจะใช้แนวคิดนี้ในการเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าของตัวเองได้มากขึ้น

7. Telecube ตู้ทำงานได้ทุกที่

63

ภาพจาก bit.ly/308ixzZ

ทุกวันนี้เราทุกคนต่างเร่งรีบแต่บางทีรีบแค่ไหนก็ยังไม่ทันกับเวลาเข้างาน ไอเดียนี้ถ้าบริษัทไหนสนใจจะเอาไปทำเป็นธุรกิจตัวเองก็ถือว่าน่าสนใจ เป็นตัวอย่างของตู้ Telecube ที่ให้บริการในญี่ปุ่น โดยเจ้าตู้ที่ว่านี้เป็นเสมือนห้องทำงานขนาดเล็กบนพื้นที่ 1.2 ตารางเมตร พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก

ประกอบด้วย เก้าอี้, โต๊ะทำงาน และที่ชาร์จไฟ เป้าหมายคือให้คนที่สนใจได้เข้าไปใช้งานเพื่อจะได้ทำงานที่เร่งรีบได้ทันที โดยผู้ผลิตในญี่ปุ่นมีแผนจะสร้างตู้ทำงานนี้ให้ได้ 1,000 ตู้ภายในปี 2023

8. The Spice & Tea Exchange

62

ภาพจาก bit.ly/3ctvuJI

การทำแฟรนไชส์ส่วนใหญ่ทั้งในประเทศและต่างประเทศมักจะเน้นไปที่อาหาร เครื่องดื่ม เป็นหลักแต่แฟรนไชส์น่าสนใจอันนี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการคิดนอกกรอบที่แตกต่างโดยเป็นแฟรนไชส์ร้านแลกเปลี่ยนเครื่องเทศและชา (The Spice & Tea Exchange) ที่เริ่มต้นในปี 2551 และพยายามเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มชาพิเศษ โดยมีเกลือ น้ำตาล และเครื่องเทศ เป็นรายการเฉพาะที่พวกเขามี

โดยโมเดลธุรกิจของพวกเขานั้นเลียนแบบการ Trading Post ของศตวรรษที่ 18 ปัจจุบันมีร้านค้ากว่า 50 ร้านที่มีมากที่สุดบนชายฝั่งตะวันออก ซึ่งหากใครสนใจแฟรนไชส์ ทางสำนักงานใหญ่ก็มุ่งมั่นและยินดีที่จะให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

9. TRIPORTEUR CARGO

61

ภาพจาก bit.ly/3kLqF1b

ปัจจุบันเรามีสินค้าขายด้วยรถเข็นจำนวนมาก แต่ปัญหาของรถเข็นคือเคลื่อนที่ช้า หากจะมีใครสักคนคิดพัฒนารถเข็นให้ทันสมัยมากขึ้นเชื่อว่าจะต่อยอดเป็นธุรกิจที่ดีได้ โดยตัวอย่างเป็น การออกแบบรถขายสินค้าที่เรียกว่า TRIPORTEUR CARGO ซึ่งก็มีหลากหลายรูปแบบตามแต่ที่จะมีคนจ้างผลิต

จุดเด่นที่น่าสนใจคือจักรยานในระบบไฟฟ้าใช้แบตเตอรี่ 2 ตัว ให้สามารถใช้งานได้นานติดต่อกันกว่า 5 ชั่วโมง รวมถึงมีน้ำหนักเบา สามารถขี่ได้ง่าย ด้วยดีไซน์ที่ดูโดดเด่นและสวยงาม ใครเห็นเป็นต้องอยากซื้อสินค้า แม้ต้นทุนการผลิตจะค่อนข้างเยอะแต่ก็ถือว่าคุ้มค่าและสามารถใช้สร้างรายได้ในระยะยาว เป็นอีกก้าวหนึ่งของการพัฒนาสินค้ารถเข็นให้มีความทันสมัยและไม่ยึดติดอยู่กับรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป

10. Sigmund’s Pretzels

60

ภาพจาก bit.ly/364zSO3

เป็นการออกแบบรถเข็นสำหรับร้านขนมหวาน โดยเน้นสีสันให้น่าสนใจ และเห็นเป็นต้องรู้สึกอยากซื้อขนม ซึ่งเป็นแนวคิดในการใช้สี ใช้การออกแบบตัวรถที่มีผลต่อความคิดในการตัดสินใจซื้อ นี่คือผลงานที่คลาสสิคถึงขนาดที่มีหลายร้านใน Times Square ของอเมริกาซื้อรูปแบบรถเข็นนี้ไปตั้งไว้ในร้าน อันเป็นการการันตีความเป็นสุดยอดแนวคิด ซึ่งในวงการแฟรนไชส์เมืองไทยหากมีแบรนด์ใดที่จะลองคิดนอกกรอบดีไซน์รถขายขนม ขายอาหาร โดยใช้โทนสีและการออกแบบให้ดึงดูดใจลูกค้า ก็น่าจะเพิ่มโอกาสในการขายได้มากขึ้น

ข้อมูลเหล่านี้เป็นการยกตัวอย่างเบื้องต้น บางไอเดีย บางธุรกิจก็อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้าง แต่สาระสำคัญคือต้องการชี้ให้เห็นแนวทางว่าเราสามารถทำในสิ่งที่แตกต่างได้ โดยอาจใช้แนวคิดเหล่านี้มาพัฒนาต่อเนื่อง ไอเดียที่ดีต้องไม่ใช่การลอกเลียนแบบแต่คือการคิดให้แตกต่างเพื่อที่จะไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือนได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3iUiI9H , https://bit.ly/3b4CIl1 , https://bit.ly/2LduQ6x , https://bit.ly/32RQPte , https://bit.ly/3kLNT7H , https://bit.ly/3kGcA5o , https://bit.ly/2FT6Vdd , https://bit.ly/2RSvLwu

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/368Znhr

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด