อาชีพเพิ่มรายได้ “การเลี้ยงไก่ไข่” ทำง่าย รายได้ดีจริง

“ไข่” นับเป็นวัตถุดิบหลักที่ทุกครัวจะต้องมีวัตถุดิบนี้ติดไว้ ซึ่งการเลี้ยง “ไก่ไข่” เป็นอีกอาชีพที่น่าสนใจ แต่จำเป็นต้องมีความรู้และมีต้นทุนในการเริ่มต้นระดับหนึ่ง

สำหรับการเลี้ยงไก่ไข่แบบง่ายๆ อาจจะไม่ถึงกับสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ก็พอจะเลี้ยงตัวเองได้ในระดับหนึ่งการเลี้ยงไก่ไข่จะลงทุนมากน้อยแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ

www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมข้อมูลเบื้องต้นสำหรับการเลี้ยงไก่ไข่นำเสนอเป็นแนวทางสำหรับหลายคนที่อาจกำลังมองหาช่องทางอาชีพสร้างรายได้ให้กับตนเอง

สายพันธุ์ไก่ไข่ ในประเทศไทย

3 สายพันธุ์ด้วยกัน คือ ไก่โรดไทย ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ และไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร ซึ่งแต่ละสายพันธุ์มีจุดเด่นที่แตกต่างกันไป ดังนี้

1. ไก่โรดไทย (Rhode Thai)

77

ภาพจาก bit.ly/3mw4sGk

เป็นไก่พันธุ์แท้กึ่งเนื้อกึ่งไข่ สามารถเลี้ยงเพื่อใช้ประโยชน์ได้ทั้งเนื้อและไข่ ลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาล เปลือกไข่สีน้ำตาล ให้ไข่ฟองแรกได้เมื่ออายุประมาณ 168 วัน อัตราการให้ไข่ 94% ผลผลิตประมาณ 240 ฟองต่อตัวต่อปี

2. ไก่ไข่ไทยกรมปศุสัตว์ (DLD Layer Hen)

76

ภาพจาก bit.ly/33EooxR

มีลักษณะประจำพันธุ์คือ ขนสีน้ำตาลอ่อนถึงสีน้ำตาลเข้ม ขนปีกสีน้ำตาล สร้อยคอสีน้ำตาลเข้ม หงอนจักรใหญ่สีแดงสด เหนียงสีแดงใหญ่ ตุ้มหูแดงมีสีขาวปนเล็กน้อย ผิวหนังและแข้งมีสีเหลือง ปลายหางมีสีดำ เปลือกไข่สีน้ำตาลอ่อน ให้ไข่ฟองแรกเมื่ออายุ 169 วัน ผลผลิตประมาณ 290 ฟองต่อตัวต่อปี

3. ไก่ไข่เล็กฮอร์นขาวหงอนจักร (Single Comb White Leghorn)

75

ภาพจาก bit.ly/35JiyOx

เป็นไก่พันธุ์แท้ มีลักษณะประจำพันธุ์คือ มีขนาดเล็ก ขนสีขาว เปลือกไข่สีขาว ไข่ดก ให้ไข่เร็ว เริ่มให้ไข่ได้เมื่ออายุ 4 เดือนครึ่ง ถึง 5 เดือน ผลผลิตประมาณ 300 ฟองต่อตัวต่อปี

การดูแลและเลี้ยงไก่ไข่ อย่างงาย

  1. ทำกรงตับใส่ไก่ช่องละ 1-2 ตัว ขนาด กว้าง 50 ซม.สูง 66 ซม.โดยใช้ไม้ที่เรามีอยู่ เช่นไม้ไผ่ ไม้ยูคา พร้อมที่วางกรงตับมีความสูง 50 ซม.อุปกรณ์ให้อาหารใช้ไผ่ผ่าครึ่ง ที่ให้น้ำใช้ขวดน้ำที่ใช้แล้ว แบบง่าย ๆ ประหยัดต้นทุนต่ำ
  2. ใช้ตาข่ายคลุมเพื่อกันยุงให้กับไก่ในเวลากลางคืน ให้อาหารไก่ไข่ระยะไก่รุ่นโปรตีน 13-15 เปอร์เซ็นต์ วันละ 80-100 กรัม/วัน ให้เช้า และบ่าย สังเกตการกินอาหารของไก่ ล้างรางน้ำวันละ 1 ครั้ง
  3. ถ่ายพยาธิภายนอกภายในไก่ ก่อนไก่จะให้ไข่ และทำวัคซีนนิวคลาสเซิล อหิวาต์ไก่ และคอยสังเกตสุขภาพของไก่ ช่วงอากาศเปลี่ยนให้วิตามินละลายน้ำกับไก่ช่วงไก่เริ่มให้ไข่( 20-22สัปดาห์ ) ให้เปลี่ยนอาหารเป็นอาหารไก่ไข่ระยะให้ไข่โปรตีน 14- 15 เปอร์เซ็นต์ ให้วันละ 150-200 กรัม
  4. ช่วงสัปดาห์ที่ 28-31 สัปดาห์ ให้อาหารไก่เพิ่มขึ้นตามจำนวนไข่ที่ให้ เก็บไข่ไก่อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง กลางวัน และก่อนเลิกงาน หมั่นดูแลตรวจสุขภาพไก่เป็นประจำทุกวัน ทำความสะอาดรางอาหารถ้ามีอาหารเปียกติดราง
  5. ถ้าบริเวณใกล้เคียงมีศัตรูทำลายไก่ เช่น สุนัข งู ตัวเงินตัวทองให้ทำการป้องกันเช่นทำคอก หรือป้องกัน ไม่ให้เข้าไปทำลายไก่ได้ 

เลี้ยงไก่ไข่กับการลงทุน

74

ภาพจาก bit.ly/2RC2Zjy

ในที่นี้จะยกตัวอย่างการเลี้ยงไก่ไข่ที่ 500 ตัว ซึ่งหากใครจะเริ่มเลี้ยงน้อยกว่านี้ต้นทุนก็จะน้อยกว่านี้ด้วยเช่นกัน เริ่มจากโรงเรือนไก่ไข่ สำหรับไก่ไข่ที่มีอายุ 7 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้เลี้ยง 5 – 6 ตัว ต่อ พื้นที่ 1 ตารางเมตร

ดังนั้นที่จำนวนไก่สาว 500 ตัว จะต้องใช้โรงเรือนขนาด 6 x 14 = 84 ตร.ม. หลังคาสามารถกันแดดและฝนได้ อาจทำจาก กระเบื้อง สังกะสี หรือใบจาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับงบประมาณ และอุปกรณ์ที่หาได้สะดวกในท้องถิ่นนั้นๆ ราคาประมาณ 35,000 บาท

  • ค่าอุปกรณ์เลี้ยงไก่ รวมทั้งกรงตับ 2 ชั้น รางน้ำ รางอาหาร คิดเฉลี่ย 65 บาทต่อตัว ดังนั้น = 500 x 65 = 32,500 บาท
  • ราคาพันธุ์ไก่ไข่สาว อายุ 16 สัปดาห์ ปัจจุบันราคาเฉลี่ยตัวละ 185 บาท คิดที่ 500 ตัว ประมาณ 92,500 บาท
  • ค่าอาหาร ไก่สาวที่มีอายุ 16 สัปดาห์ ต้องการอาหารประมาณ 120 กรัมต่อตัวต่อวัน ดังนั้น 1 วันจะเสียค่าใช้จ่ายสำหรับอาหาร = 120 กรัม x 500 ตัว = 60,000 กรัม หรือ 60 กิโลกรัมๆละ 15 บาท
    • ดังนั้นใน 1 วันจะต้องจ่ายเงินค่าอาหาร = 60 กก. x 15 บาท = 900 บาท ซึ่งไข่ชุดแรกจะมีขนาดเล็ก จากนั้นจะเริ่มมีขนาดฟองใหญ่ขึ้นตามลำดับ) เท่ากับว่า 14 วันแรกที่ลงไก่สาว x 900 บาท = 12,600 บาท

รวมรายจ่ายทั้งหมด 35,000 + 32,500 + 92,500 + 12,600 = 172,600 บาท

รายได้จากการเลี้ยงไก่ไข่

73

ภาพจาก bit.ly/2RGnOdn

เมื่อไก่สาวเริ่มออกไข่ก็จะทำให้เริ่มมีรายได้จากการขายไข่ไก่ คิดค่าเฉลี่ยขั้นต่ำที่ 85% ของแม่ไก่ทั้งหมด ดังนั้นคิดจำนวนแม่ไก่ที่สามารถออกไข่ได้ = 500 x 0.85 = 425 ตัว ซึ่งไก่ไข่สามารถออกไข่วันละ 1 ฟอง แล้วขายราคาฟองละ 3 บาท ดังนั้นคิดรายได้จากการขายไข่ = 425 ตัว x 3 บาท = 1,275 บาท/วัน

หากหักรายจ่ายค่าอาหารออก 1,275 – 900 = 375 บาท/วัน ดังนั้นกำไรต่อเดือน = 11,250 บาท ก็ถือว่าพอใช้ได้สำหรับเป็นอาชีพเสริม หากเล็งเห็นความสำเร็จเช่นนี้ แนวคิดทำโรงเรือนขนาดเดียวกันเพิ่มอีกสัก 1 โรงเรือน รวมทั้งหมด 1,000 ตัว

ดังนั้นรายได้เฉลี่ยต่อเดือน = 22,500 บาท พอจะมองเห็นตัวเลขคร่าวๆ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ การดูแลเอาใจใส่ด้วย เพื่อการออกไข่ที่สม่ำเสมอ อีกทั้งการหาแนวทางลดต้นทุน ทางด้านอาหาร เนื่องจากรายจ่ายส่วนนี้เป็นรายวัน ก็จะช่วยส่งเสริมให้มีกำไรเพิ่มมากขึ้น

สำหรับไก่ไข่ปลดระวาง จะเป็นไก่ไข่ที่ให้ไข่ติดต่อกันประมาณปีครึ่ง (12-18 เดือน) ปรกติจะออกไข่ประมาณ 280 ฟอง/ปี สามารถสังเกตได้ง่ายคือ จะให้ไข่น้อยกว่า 60% ของรุ่นหรือล็อตเดียวกัน สามารถมีรายได้จากการขายเป็นไก่เนื้อได้ ดังนั้นควรหาไก่ไข่สาวมาทดแทนเพื่อผลผลิตที่ต่อเนื่องต่อไป

ส่วนอุปกรณ์อื่นๆ ยังคงสามารถใช้งานได้ปกติ ไม่จำเป็นต้องซื้อใหม่ อาจตรวจเช็คอุปกรณ์ที่ชำรุดเพื่อทำการซ่อมแซมให้ใช้งานได้ต่อไป ส่วนของไก่ไข่สาว หากสามารถเพาะเลี้ยงเองได้ ก็จะช่วยลดต้นทุนส่วนนี้ลงไปได้

เคล็ดลับในการเลี้ยงไก่ที่ควรรู้

72

ภาพจาก bit.ly/33D38J6

1.อุณหภูมิ

ไก่เป็นสัตว์ที่ไม่มีต่อมเหงื่อ การระบายความร้อนออกจากร่างกายไม่สามารถระบายออกทางผิวหนังได้ ต้องใช้การระบายความร้อนจากอากาศที่หายใจเข้าไปในปอด ส่วนน้ำที่ไก่กินเข้าไปบางส่วนจะระเหยรวมออกมากับอากาศที่ไก่หายใจออกเราจึงควรควบคุมอุณหภูมิในโรงเรือนไม่ให้ร้อนจนเกินไป

2.การถ่ายเทหรือการระบายอากาศ

โรงเรือควรจะโปร่ง โล่ง อากาศหมุนเวียนได้ดี นอกจากช่วยลดความร้อน ยังลดปริมาณเชื้อโรคต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่งด้วย

71

ภาพจาก bit.ly/33D38J6

3.โปรแกรมแสงสว่าง

การเลี้ยงไก่ไข่แสงสว่างมีความจำเป็นที่จะต้องเพิ่มเมื่อไก่มีอายุ 6-22 สัปดาห์โดยค่อย ๆ เพิ่มแสงให้สัปดาห์ละ ½ -1 ชั่วโมง จนครบ 4 ชั่วโมง รวมแสงธรรมชาติอีก 12 ชั่วโมงต่อวัน รวมเป็น 16 ชั่วโมง จึงจะเพียงพอต่อความต้องการ

4.ความชื้นสัมพัทธ์

ประมาณ 50-80 % ซึ่งถ้าความชื้นในอากาศต่ำการระบายความร้อนออกจากร่างกายจะระบายได้ดีขึ้น ซึ่งประเทศไทยมักจะเจอปัญหาเรื่องความชื้นในฤดูฝน (ร้อน-ชื้น)

70

ภาพจาก bit.ly/33zfstK

5.การให้อาหารไก่ไข่

เป้าหมายสำคัญของอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่ไข่ต้องคำนึงถึงต้นทุนการผลิตให้ต่ำที่สุดและมีประสิทธิภาพการผลิตเพื่อให้ได้ไข่ 1 ฟองต่ำที่สุด อย่างไรก็ตามต้นทุนการผลิตไข่ 1 ฟอง เป็นค่าอาหารประมาณ 60% ดังนั้นจะมีผลเกี่ยวข้องไปถึงเรื่องอัตราการให้ไข่ และขนาดตัวของไก่ด้วยซึ่งผู้เลี้ยงจะต้องเลือกสายพันธุ์ไก่ที่มีอัตราการให้ไข่ดกและขนาดตัวเล็กเพื่อประหยัดค่าอาหารนอกจากนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ฤดูกาลก็เป็นปัจจัยสำคัญ

*** เป็นข้อมูลเบื้องต้นเท่านั้น ผู้สนใจควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และต้นทุน-ค่าใช้จ่าย อาจมีการเปลี่ยนแปลงขึ้นอยู่กับวิธีการเลี้ยง และตัวปัจจัยในแต่ละพื้นที่เป็นสำคัญ***

แม้ว่าการเลี้ยงไก่ไข่จะเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ดีแต่เกษตกรผู้เลี้ยงจำเป็นต้องศึกษาแนวทางการเลี้ยงอย่างละเอียดเพราะมีเทคนิคและวิธีการเลี้ยงที่ค่อนข้างมาก รวมถึงควรมีตลาดรองรับและรู้จักการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ในการช่วยลดต้นทุนของเกษตรกร จะช่วยให้มีกำไรได้มากขึ้นด้วย


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/2DWxs8z , https://bit.ly/3kjqZE7 , https://bit.ly/35FDENA

 

อ้างอิงจาก https://bit.ly/35OdWXE

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด