อาชีพเพิ่มรายได้ “การเลี้ยงแพะ” ทำง่าย รายได้ดีจริง

การเลี้ยงแพะ ขายได้ทั้งเนื้อ นม หนัง และขน แต่การเลี้ยงแพะในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังขาดข้อมูลบางอย่างทำให้ผลผลิตได้น้อยกว่าที่ควรจะเป็น อีกทั้งการเลี้ยงแพะยังมีข้อดีที่น่าสนใจหลายอย่าง

เช่น การเลี้ยงแพะใช้ระยะเวลาสั้นกว่าการเลี้ยงวัว , แพะหากินเก่ง และกินใบไม้ได้หลายชนิด , แพะทนทานต่อทุกสภาพอากาศ , แพะมีขนาดตัวเล็ก ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย เป็นต้น

www.ThaiSMEsCenter.com มองว่านี่คืออีกหนึ่งอาชีพเกษตรกรรมที่น่าสนใจและควรส่งเสริมให้มีการเลี้ยงแพะกันเพิ่มมากขึ้น โดยข้อมูลจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์พบว่า ปี 2562 มีจำนวนแพะในประเทศไทยทั้งสิ้น 832,533 ตัว

(แพะเนื้อ 803,768 ตัว แพะนม 28,765 ตัว) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะ จำนวน 65,850 ครัวเรือน โดย กรมปศุสัตว์ ได้ดำเนินการส่งเสริม และสร้างความเข้มแข็งแก่ชมรมเกษตรกรเลี้ยงแพะระดับจังหวัด 64 ชมรมจังหวัด สมาชิกเกษตรกรเลี้ยงแพะ 7,551 ราย

สายพันธุ์แพะที่นิยมเลี้ยงในประเทศไทย

การเลี้ยงแพะ

ภาพจาก bit.ly/33YxaXN

สำหรับพันธุ์ของแพะที่นิยมนำมาเลี้ยงมีหลายประเภท แต่สายพันธุ์ที่กรมปศุสัตว์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถเลี้ยงได้ในประเทศไทย มี 7 พันธุ์ดังนี้

  1. แพะพันธุ์พื้นเมือง แพะพันธุ์พื้นเมืองในภาคใต้ มีสีหลากหลาย ส่วนใหญ่พบว่ามีสีดำ น้ำตาล หรือน้ำตาลสลับดำ แพะโตเต็มที่เพศเมียนมีความสูงตรงปุ่มหน้าขาประมาณ 48.5 ซม. มีน้ำหนักตัวประมาณ 12.8 – 16.4 กก. แพะพันธุ์พื้นเมืองไทยมีลักษณะคล้ายกับ แพะพันธุ์กัตจัง (Kambing Katjang) พันธุ์พื้นเมืองของประเทศมาเลเซีย
  2. แพะพันธุ์แองโกลนูเบียน (Anglonubian) เป็นแพะที่ให้ทั้งเนื้อและนม มีหลายสี ทั้งสีเดียวในตัวและสีด่างปัน สันจมูกเป็นเส้นโค้ง ใบหูยาวปรกลง นำเข้ามาเลี้ยงและขยายพันธุ์ในไทยกว่า 20 ปี
  3. แพะพันธุ์บอร์ (Boer) เป็นแพะพันธุ์เนื้อขนาดใหญ่ จากประเทศแอฟริกาใต้ มีลำตัวสีขาว หัวและคอจะมีสีแดง ใบหูยาวปรก นำเข้ามาเมื่อปลายปี 2539
  4. แพะพันธุ์ซาเนน (Saanen) เป็นแพะพันธุ์นม สีขาวทั้งตัว หูใบเล็กตั้ง หน้าตรง
  5. แพะพันธุ์หลาวซาน (Laoshan) เป็นแพะพันธุ์นม จากประเทศจีน มีลักษณะคล้ายพันธุ์ซาเนน
  6. แพะพันธุ์อัลไพน์ (Alpine) เป็นแพะพันธุ์นม สีน้ำตาลหรือดำ ใบหูเล็กตั้ง หน้าตรง มีแถบสีข้างแก้ม
  7. แพะพันธุ์ทอกเก็นเบิร์ก (Toggenburg) เป็นแพะพันธุ์นม ลำตัวสีช็อกโกแบต ใบหูตั้ง หน้าตรง มีแถบสีขาวข้างแก้ม

รูปแบบการเลี้ยงแพะ

8

ภาพจาก https://bit.ly/3j3eXif

  1. การเลี้ยงแบบผูกล่าม เพื่อให้แพะหาหญ้ากินรอบบริเวณที่ผูก โดยผู้เลี้ยงต้องมีน้ำ และแร่ธาตุให้แพะกินเวลากลางคืน การเลี้ยงแบบปล่อย เป็นการเลี้ยงที่ประหยัดงบประมาณ เพราะเป็นการปล่อยให้แพะออกหากินเองประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แต่มีข้อควรระวังคือ ไม่ควรปล่อยในเวลาที่ฝนตกหรือแดดร้อนจัด เพราะแพะอาจเจ็บป่วยได้
  2. การเลี้ยงแบบขังคอก การเลี้ยงแบบนี้จะขังแพะไว้ในคอก ซึ่งจะมีแปลงหญ้าเพื่อให้แพะได้กิน บางครั้งต้องตักหญ้าให้แพะกินบ้าง ในคอกควรมีน้ำและอาหารข้น ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้จะใช้เงินลงทุนสูง
  3. การเลี้ยงแบบผสมผสานกับการปลูกพืช คือ การปลูกพืชปะปนไปกับการเลี้ยงแพะ เช่น ปลูกยางพารา ปลูกปาล์มน้ำมัน และปลูกมะพร้าว ในภาคใต้ของไทย เกษตรกรส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงแพะควบคู่ไปกับการทำสวนยางจำนวนมาก

รูปแบบโรงเรือนสำหรับเลี้ยงแพะ

7

ภาพจาก bit.ly/2ECd3WU

  1. พื้นที่ตั้งคอกควรสูงกว่าพื้นดินประมาณ 1-2 เมตร และมีบันไดทางขึ้นคอกทำมุม 45 องศา
  2. พื้นคอกควรทำเป็นร่องเว้นระยะห่าง 1.5 เซนติเมตร เพื่อให้มูลหรือปัสสาวะของแพะร่วงลงมายังพื้นด้านล่าง จะได้ทำให้พื้นคอกแห้งและมีความสะอาดตลอดเวลา
  3. ผนังคอกควรสร้างให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และใช้ความสูงประมาณ 1.5 เมตร เพื่อป้องกัน ไม่ให้แพะกระโดดข้าม
  4. สำหรับหลังคาโรงเรือน สามารถสร้างได้หลายแบบให้เหมาะสมกับสภาพอากาศหรือต้นทุนในการสร้าง แต่ควรให้หลังคาโรงเรือนสูงจากคอกประมาณ 2 เมตร
  5. พื้นที่ในการเลี้ยงแพะ แพะแต่ละตัวต้องการพื้นที่ส่วนตัวละ1-2 ตารางเมตร หรือแล้วแต่ขนาดตัวของแพะ สามารถแบ่งคอกในโรงเรือนได้ตามการใช้งานต่างๆอาทิ คอกแม่แพะอุ้มท้อง, คอกสำหรับคลอดลูกแพะ, คอกสำหรับลูกแพะ และที่สำคัญคือ รั้วคอกแพะควรสร้างด้วยไม้ไผ่หรือลวดตาข่าย ไม่ควรใช้รั้วลวดหนาม เพราะจะทำให้แพะพลาดไปโดนได้

ต้นทุนเบื้องต้นและรายได้สำหรับการเลี้ยงแพะ

6

ภาพจาก bit.ly/3i3i4Fm

ข้อมูลจากสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 10 จังหวัดราชบุรี (สศท.10) ระบุว่าเกษตรกรนิยมเลี้ยงพันธุ์ลูกผสมบอร์ ซึ่งจะใช้พ่อพันธุ์ที่มีสายเลือดแท้ผสมกับแม่พันธุ์พื้นเมือง หรือแม่พันธุ์ที่มีสายเลือดบอร์ต่ำ ลักษณะเด่นของแพะพันธุ์บอร์ คือส่วนหัวจนถึงคอมีสีน้ำตาล ส่วนลำตัวมีสีขาว เป็นพันธุ์ที่โตเร็ว และเป็นที่ต้องการของตลาด การเลี้ยงแพะเนื้อมีต้นทุนการผลิตเฉลี่ย 3,119 บาท/ตัว แยกเป็นค่าพันธุ์สัตว์ 1,950 บาท

ค่าแรงงาน 540 บาท และส่วนที่เหลือ 629 บาท เป็นค่าอาหาร ยาป้องกันโรค และ ค่าเสื่อมโรงเรือนและอุปกรณ์ต่าง ๆ สำหรับราคาขายเกษตรกรสามารถจำหน่ายแพะเนื้อ (อายุเฉลี่ย 6-7 เดือน น้ำหนักประมาณ 30-35 กก./ตัว) ในราคาเฉลี่ย 3,825 บาท/ตัว (127 บาท/นน.ตัว 1 กก.) ผลตอบแทนสุทธิ (กำไร) เฉลี่ย 706 บาท/ตัว

5

ภาพจาก bit.ly/3665J12

ทั้งนี้การเลี้ยงแพะเนื้อจะใช้พื้นที่ไม่มากนัก สามารถกินอาหารได้หลากหลาย เช่น อาหารหยาบ ได้แก่ ฟางข้าว หญ้าสด ใบกระถิน และลำต้นข้าวโพดฝักอ่อน ส่วนอาหารข้น ได้แก่ อาหารสำเร็จรูป รำข้าว กาก และเปลือกมันสำปะหลัง โดยแพะเนื้อต้องการอาหารวันละ 1-2 กก./วัน อีกทั้ง ยังทนทานต่อสภาพแวดล้อม สามารถปรับตัวให้เข้ากับสภาวะนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี ทำให้แพะเนื้อเจริญเติบโต และสามารถขยายพันธุ์ได้อย่างรวดเร็ว

ถือเป็นอีกหนึ่งอาชีพเกษตรกรรมที่น่าสนใจสำหรับใครที่สนใจในการเลี้ยงแพะ สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากกรมปศุสัตว์ที่อยู่ในพื้นที่นั้นๆ หรือศึกษาหาข้อมูล เทคนิควิธีการเลี้ยง จากเกษตรกรที่มีประสบการณ์จะช่วยให้เราสามารถเลี้ยงแพะได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น ทั้งนี้เราต้องไม่ลืมเรื่องของตลาดโดยเฉพาะมือใหม่ที่หัดเลี้ยงจำเป็นต้องมีตลาดรองรับและควรเริ่มเลี้ยงจากน้อยๆและค่อยๆขยายเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคต


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3kmLlg1 , https://bit.ly/35Bn6Xb , https://bit.ly/3bYluIc

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3hZIyrh

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด