หมดยุคตุนสินค้า ! ธุรกิจสมัยใหม่ต้องใช้กลยุทธ์ “ต้องการเท่าไหร่ ผลิตเท่านั้น”

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปการทำธุรกิจก็ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบไปด้วยเช่นกัน ในยุคนี้การมีสินค้าในสต็อคเป็นจำนวนมากไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดี ในอดีตที่ผ่านมาหลายบริษัทก็มีปัญหาเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก

มีคำกล่าวว่าสินค้าที่อยู่ในโกดังก็ยังเป็นแค่ต้นทุนที่เราต้องแบกรับหากเราไม่สามารถเปลี่ยนเป็นเงินเข้ามาสู่บริษัทได้ นั่นคือความจริงที่การทำธุรกิจยุคนี้ต้องใช้วิธีแบบต้องการเท่าไหร่ก็ผลิตเท่านั้นเพื่อควบคุมสมดุลด้านรายรับและรายจ่ายให้ลงตัวพอดีกัน

ทั้งนี้ www.ThaiSMEsCenter.com ขอนำเสนอแนวทางการทำธุรกิจในยุคใหม่แบบต้องการเท่าไหร่ผลิตเท่านั้นมาอธิบายให้เห็นภาพชัดเจนกับ 5 เหตุผลว่าทำไมการตุนสต็อคสินค้าถึงเป็นการทำที่เสี่ยงต่อการขาดทุนได้มากกว่าจะสร้างกำไรให้กับธุรกิจ

5 เหตุผลสำคัญทำไมการตุนสต็อคสินค้าถึงไม่ดีในยุคนี้

หมดยุคตุนสินค้า

1.เพิ่มความเสี่ยงให้ตัวเองโดยไม่จำเป็น

ไม่ใช่เรื่องดีแน่ในยุคนี้หากมีสินค้าอยู่ในโกดังโดยที่ยังไม่ได้แปลงให้เป็นรายได้ ในสมัยก่อนอาจจะเป็นวิธีการที่ใช่กับการมีสินค้ามากๆเพื่อให้ตอบสนองลูกค้าได้ทันทีแต่สมัยนี้คือความเสี่ยงเต็มๆที่มีผลกระทบหลายเรื่องด้วยกันทั้งปัญหาความผันผวนของตลาดที่ไม่แน่นอน ราคาวัตถุดิบที่แปรผัน ความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ปัญหาในเรื่องการบริหารเงินสดสำหรับธุรกิจ

รวมไปถึงภาคธนาคารเองก็ดูจะไม่นิยมกับการกักตุนสินค้าไว้เยอะเพราะพิจารณาแล้วว่าไม่เกิดรายได้ ด้วยเหตุผลเหล่านี้การตลาดยุคใหม่อาจต้องใช้วิธีที่เรียกว่า Just In Time คือ สั่งเท่าไหร่ก็ผลิตเท่านั้นนำเข้าวัตถุดิบเท่านั้น จะทำให้เกิดสมดุลด้านรายรับและรายจ่ายรวมถึงลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้ดีกว่าด้วย

u3

2.สถาบันการเงินก็ปล่อยเงินกู้ให้ธุรกิจยากขึ้น

อย่างที่กล่าวไปว่าหนึ่งในเหตุผลที่สถาบันการเงินมีความกังวลเมื่อปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs คือการนำเงินสินเชื่อนั้นไปใช้ ผิดวิธี เช่น นำเงินไปใช้ในเรื่องนอกธุรกิจ

โดยพฤติกรรมของผู้ประกอบการที่ธนาคารมักพบเป็นประจำคือการขอสินเชื่อเพื่อสั่งซื้อสินค้าหรือวัตถุดิบจากผู้ผลิตมากักตุนไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นวิธีการทำธุรกิจของคนจีนสมัยโบราณที่มีค่านิยมในการทำธุรกิจว่าถ้าลูกค้าต้องการสินค้าต้องหามาให้ได้ทันที เช่นที่เราอาจได้เห็นจากร้านโชห่วยสมัยก่อน

แนวทางการกักตุนสินค้าไว้เกินความจำเป็นนี้จึงถือเป็นการขาดโอกาสในการเข้าถึงสินเชื่อหมุนเวียนในครั้งต่อไป เนื่องจากธนาคารจะนำสินค้าคงค้างมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเงินกู้ได้แต่ไม่สามารถจะค้ำประกันได้ซ้ำสองครั้งถ้าหากยังไม่ชำระคืนเงินกู้งวดแรก ทำให้ผู้ประกอบการอาจขาดสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราวด้วย

u4

3.แบกรับกับความผันผวนทางการตลาดที่ไม่แน่นอน

นอกเหนือจากความเสี่ยงที่จะไม่สามารถขายสินค้าได้หมดจนเป็นภาระที่ต้องจัดการในอนาคต ยังมีความเสี่ยงในเรื่องของราคาวัตถุดิบหรือราคาสินค้าที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วด้วย

โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและสินค้าโภคภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งราคาในท้องตลาดอาจมีความผันผวนสูง บางครั้งราคาที่เราสั่งสต๊อกเข้ามาเมื่อสามเดือนที่แล้ว เมื่อเวลาผ่านไปราคาอาจจะตกลงทำให้ไม่สามารถขายต่อในราคาตลาดได้อีก

หรือสินค้าประเภทอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่นคอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ ซึ่งถือว่ามีความเสี่ยงในการ ตกรุ่น ในเวลารวดเร็ว ถ้าหากสั่งเข้ามาจำนวนมากเกินความต้องการของตลาด อาจทำให้ผู้ประกอบการต้องบันทึกค่าเสื่อมราคาสินค้าลงไปในบัญชี มีผลทำให้งบการเงินออกมา ขาดทุน ก็เป็นได้

u5

4.สร้างปัญหาในการบริหารเงินสดให้เกิดขึ้น

ปัจจุบันแม้แต่บริษัทขนาดใหญ่ยังให้ความสำคัญกับเรื่องนี้อย่างมาก ปัญหาที่พบเจอสำหรับ SMEs คือขายสินค้าได้จำนวนมากแต่ไม่มีเงินเพียงพอที่จะใช้หมุนเวียนหรือจ่ายเงินเดือนพนักงาน เนื่องจากมีวันจ่ายเช็คออกไปให้คู่ค้ามากกว่าวันรับเช็คจากคู่ค้า ทำให้กระแสเงินสดไหลเข้าและไหลออกไม่สมดุลกัน ผลคืองบกระแสเงินสดอาจออกมาติดลบ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรฐานบัญชีใหม่ที่นำมาใช้กับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์บังคับให้ต้องบันทึกกำไรหรือขาดทุนจากการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าหรือวัตถุดิบที่มีอยู่ในสต๊อกทุกไตรมาสทำให้ผล

ประกอบการของบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการซื้อ-ขายสินค้าโภคภัณฑ์อาจเหวี่ยงขึ้นลงตามราคาในตลาดโลก แม้ว่าถ้าราคาตีกลับขึ้นมาก็จะสามารถบันทึกส่วนที่ขาดทุนทางบัญชีกลับมาได้ แต่ก็ไม่คุ้มเสี่ยงที่จะสต๊อกสินค้าจำนวนมาก

นอกจากนี้ ถ้าหากใช้สินเชื่อหมุนเวียนกับการสั่งสินค้ามาสต๊อกไว้มากๆ โดยที่ไม่สามารถขายกลับออกไปเพื่อนำกระแสเงินสดกลับมาสู่บริษัทได้ ถือว่าเป็นต้นทุนที่สูญเปล่าอย่างมาก ไม่นับการแก้ไขปัญหาของบางรายที่ต้องหันไปกู้เงินนอกระบบมาทีเดียว

u1

5.ทำให้ต้นทุนตัวเองสูงขึ้นโดยไม่จำเป็น

กรณีศึกษาของบริษัทที่เคยมีปัญหากับการบริหารจัดการต้นทุนของการสต๊อกสินค้านั่นคือ บริษัท แอปเปิล คอมพิวเตอร์ โดยสมัยก่อนบริษัทเคยมีโรงงานผลิตเป็นของตัวเองและมีการเร่งผลิตเพราะได้สั่งซื้อวัตถุดิบเข้ามาจำนวนมากเนื่องจากได้ราคาถูกและตอนนั้นยังไม่มีระบบการจัดจำหน่ายที่ดีพอ ทำให้ต้องผลิตคอมพิวเตอร์แมคอินทอชจำนวนมากมาสต๊อกเก็บไว้

ผลคือต้นทุนการจัดเก็บดูแลรักษาขึ้นมาอยู่ในระดับสูง ขณะที่ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าที่วางไว้ ประกอบกับคู่แข่งมีการผลิตสินค้าอื่นที่ได้รับความนิยมกว่าทำให้แอปเปิลในเวลานั้นต้องสูญเสียอัตราการทำกำไรจำนวนมากและไม่สามารถระบายสินค้าออกได้

สิ่งที่สตีฟ จอบส์ แก้ไขในเวลานั้นคือ การเชิญ ทิม คุ๊ก ซึ่งเป็นซีอีโอในปัจจุบันมารับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ (COO) เขาตัดสินใจสั่งปิดโรงงานผลิตและโรงงานสต๊อกสินค้าเพื่อที่จะโอนไลน์ผลิตทั้งหมดไปยัง Out Source ทั้งหมดในประเทศจีน ผลที่ตามมาคือ แอปเปิลสามารถบริหารจัดการต้นทุนได้ดีขึ้น ไม่มีหนี้สินคงค้างและกระแสเงินสดในบริษัทก็ไหลเวียนได้ดีขึ้นเป็นลำดับด้วย

การบริหารจัดการในยุคใหม่มีความสำคัญมากใครที่ยังยึดติดกับแนวคิดแบบเดิมๆ ทำธุรกิจแบบเดิมๆควรคิดที่จะเปลี่ยนแปลงแนวทางให้สอดคล้องกับความจริงที่เกิดขึ้น

แม้ในอดีตเราจะเคยประสบความสำเร็จกับวิธีเดิมๆ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าวิธีเก่าๆจะใช้ได้ผลกับยุคใหม่บางครั้งการหยุดที่จะก้าวตามการเปลี่ยนแปลงในกระแสธุรกิจก็เท่ากับเป็นการฆ่าธุรกิจตัวเองทางอ้อมซึ่งเรื่องพวกนี้คงไม่มีใครอยากให้เกิดกับธุรกิจของตัวเองเป็นแน่

สำหรับท่านใดที่ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจเรามีรวบรวมบทความมากมายไว้ให้ทุกท่านพิจารณากันตามความเหมาะสม ดูรายละเอียด goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด