วิกฤติค่าครองชีพ ปี 2565! คนไทยต้องจ่ายอะไรเพิ่มบ้าง

เริ่มต้นปี 2565 สิ่งที่ต้องเจอนอกเหนือจากโอมิครอนก็คือวิกฤติค่าครองชีพที่พุ่งสูงอย่างมาก ทั้งที่นโยบายของรัฐบาลประกาศว่าปีนี้จะแก้วิกฤตหนี้สินครัวเรือนให้เห็นผล แต่ปัจจัยที่เจออยู่ตอนนี้ช่างสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

เมื่อรายรับยังเท่าเดิมหรือบางทีน้อยกว่าเดิม เพิ่มเติมคือรายจ่ายที่มากขึ้น เอาแค่เรื่องอาหารการกินทุกวันนี้คนไทยต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นเฉลี่ย 5-10 บาท/ชาม เท่ากับว่าใน1วันเราต้องจ่ายค่าอาหารแพงขึ้นเฉลี่ยประมาณ 30 บาท/วัน

ถ้าเป็นคนที่พอมีฐานะ เงินแค่นี้คงไม่เดือดร้อน แต่กลับประชาชนคนหาเช้ากินค่ำ มันคือรายจ่ายที่เพิ่มขึ้นเยอะมาก ผลกระทบนี้ก็ส่งตรงไปถึงพ่อค้าแม่ค้าเองที่ขายของได้ยาก เพราะราคาแพงคนซื้อก็น้อย แต่ถ้าไม่ปรับราคาก็แบกต้นทุนไม่ไหว ผลพวงเป็นเหมือนลูกโซ่ที่กระทบกันไปไม่จบไม่สิ้น www.ThaiSMEsCenter.com ได้รวบรวมข้อมูลให้เห็นภาพชัดๆ ว่าในปี 2565 นี้คนไทยต้องจ่ายอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง

รายได้คนไทยปี 2565 สวนทางกับค่าครองชีพแค่ไหน?

วิกฤติค่าครองชีพ

ภาพจาก freepik.com

ข้อมูลจากปี 2564 ระบุว่าค่าจ้างรายวันขั้นต่ำในพื้นที่กรุงเทพฯอยู่ที่วันละ 331 บาท ส่วนเงินเดือนเริ่มต้นของปริญญาตรีจบใหม่ จะเริ่มที่ 15,000 บาท ทางด้านฐานเงินเดือนเฉลี่ยของของประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 22,353 บาทต่อเดือน

หากดูเฉพาะค่าครองชีพที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น ค่าอาหาร ค่าที่พักอาศัย ค่าเดินทาง ค่าสาธารณูปโภคต่างๆ คำนวณเบื้องต้นพบว่า คนในกรุงเทพฯ เหลือเงินในแต่ละเดือนเพื่อใช้จ่ายส่วนอื่นๆ หรือเก็บออมในสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อย นั่นเป็นตัวเลขในช่วงที่สินค้าหลายชนิดยังไม่ได้ปรับตัว

แต่นับแต่ปลายปีที่ผ่านมาต่อเนื่องมาถึงต้นปีนี้ สินค้าหลายชนิดขยับปรับราคาสูงขึ้น เท่ากับว่าค่าครองชีพจากเดิมที่เคยสูง ก็จะสูงยิ่งขึ้นไปอีก ซ้ำร้ายค่าครองชีพเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่หลีกเลี่ยงไม่ได้เพราะจำเป็นต้องกินต้องใช้ ข้อมูลน่าสนใจยังระบุอีกว่า อัตราค่าครองชีพต่อการใช้ชีวิตของกรุงเทพฯ อยู่ที่อันดับ 334 จาก 572 เมืองทั่วโลก

เมื่อนำมาหักลบกับค่าครองชีพที่จำเป็นรายเดือน 5 รายการ ได้แก่ ค่าเช่าที่พัก ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเดินทางไปกลับในแต่ละวัน ค่าอินเตอร์เน็ตและค่าอาหาร 3 มื้อต่อวันในร้านอาหารระดับปกติ (ไม่รวมค่าใช้จ่ายส่วนตัวอื่นๆ) ก็พบว่าคนในกรุงเทพฯ จะมีเงินเหลือราวๆ 4,700 บาท หรือ 21% ต่อเดือนเท่านั้น และคาดว่าปีนี้คงจะวิกฤติหนักโดยเฉพาะคนที่เงินเดือนน้อยๆ ยังไม่รวมกับบางคนที่ยังไม่มีงานทำ หรือกำลังจะหางานใหม่ในปีนี้ด้วย

ปี 2565 มีค่าครองชีพอะไรเพิ่มขึ้นบ้าง

1.ค่าน้ำมัน

15

ภาพจาก https://bit.ly/3Fp52hp

ปัญหาน้ำมันราคาแพงคือสิ่งแรกที่ต้องเผชิญ ถึงตอนนี้ก็ยังผันผวนส่วนใหญ่จะปรับขึ้นมากกว่าปรับลง ข้อมูลจากวันที่ 4 ตุลาคม 2564 ราคาน้ำมันสูงสุด 31.29 บ./ลิตร ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่สูงขึ้น เปรียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว สูงเกือบ 10 บาท/ลิตร สำหรับดีเซล B7 เป็น 31.29 บาทแม้กองทุนน้ำมันแห่งชาติ จะออกมาพยุงราคาน้ำมันดีเซล จนต่ำกว่า 30 บ./ลิตรแต่ก็ยังสูงเกินไปอยู่ดี

2.ค่าไฟฟ้า

14

ภาพจาก https://bit.ly/33xioec

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติปรับขึ้นค่าไฟฟ้าเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 เพิ่มขึ้น 16.71 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้น 4.63% จากงวดปัจจุบัน โดย กกพ. ระบุว่าเป็นการขึ้นค่าไฟฟ้าหลังจากตรึงไว้มานานกว่า 2 ปี

3.ราคาผักสูงขึ้น

13

ภาพจาก https://bit.ly/3I3SVHY

ราคาผักมีการปรับขึ้นถึง 17 ชนิด ไม่ว่าจะเป็นผักชี ขึ้นฉ่าย ผักกาดขาว ผักคะน้า ผักกวางตุ้ง ฯลฯ โดยเฉพาะผักชีเมื่อปลายปีที่ผ่านมาราคาพุ่งสูงสุดไปแตะเกือบ 400 บาทต่อกิโลกรัม เนื่องจากขณะนั้นพบว่าบางพื้นที่เกษตรกรรมถูกน้ำท่วม และราคาผักมาถึงตอนนี้ก็มีการปรับลดลงบ้างในบางประเภทแต่โดยรวมก็ยังสูงอยู่พอสมควร

4.ราคาหมูสูงขึ้น

12

ภาพจาก https://bit.ly/3qmKRMD

คาดการณ์ราคาเนื้อหมูตลอดปี 2565 จะอยู่ประมาณ 190-220 บาทต่อกิโลกรัม อันเป็นผลมาจากหลายปัจจัยทั้งจากปริมาณหมูที่ลดลงจากผู้เลี้ยงน้อยลงรวมถึงต้นทุนการผลิตเนื้อหมูปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งต้นทุนค่าขนส่งที่ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมัน และต้นทุนค่าอาหารสัตว์ซึ่งคิดเป็นกว่า 70% ของต้นทุนทั้งหมดก็ปรับเพิ่มขึ้นด้วย

5.ราคาไข่ไก่สูงขึ้น

11

ภาพจาก https://bit.ly/3Fsp0ro

หลังออกประกาศเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2565 ว่ามีการปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์ม 0.20 บาท จากฟองละ 2.80 เป็น 3.00 บาท หรือคิดเป็นราคาปรับขึ้น 6 บาทต่อแผง โดยการปรับครั้งนี้เท่ากันทุกไซส์ทุกเบอร์ทำให้ราคาไข่ไก่เบอร์ 2 ขายส่งแผงค้าที่ราคาแพคละ 87 บาทก็จะเพิ่มขึ้นไปอีก 6 บาท เป็น 93 บาท และกว่าจะผ่านมือพ่อค้ามาถึงคนกินราคาขายหน้าร้านยกตัวอย่างไข่ไก่เบอร์ 2 ราคาไม่ต่ำกว่าแผงละ 100 บาท

6.เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม

10

ภาพจาก https://bit.ly/33cKbRf

ราคาเครื่องนุ่งห่มสำเร็จรูปมีแนวโน้มปรับขึ้นอีก 10-15% เนื่องจากต้นทุนการผลิตอย่าง ‘ฝ้าย’ ราคาปรับขึ้นสูงสุดถึง 60% ในรอบ 10 ปี จากการที่จีนกำลังเผชิญปัญหาขาดแคลนพลังงาน กระทบต่อการผลิตสินค้าและวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไปทั่วโลก

7.ภาษีความเค็ม

9

ภาพจาก https://bit.ly/33gfRoT

ภาษีความเค็ม เป็นเรื่องที่คนไทยได้ยินครั้งแรกเมื่อปลายปี 2561 กระทั่งล่าสุด เมื่อเดือน พ.ย. 2564 กระทรวงการคลัง ได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการจัดเก็บภาษีความเค็มแล้ว หลังใช้เวลาศึกษาและรับฟังความเห็นมานานกว่า 3 ปี เบื้องต้นได้จัดกลุ่มสินค้าที่จะเก็บภาษีความเค็ม 4-5 กลุ่มสินค้า ได้แก่ กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่แข็ง อาหารแช่เย็น ขนมขบเคี้ยว และซอสปรุงรส

8.ก๊าชหุงต้ม (LPG)

8

ภาพจาก https://bit.ly/3KaHT5F

หลังการประชุมของกรรมการนโยบายแห่งชาติ (กพช.) สรุปว่ามาตรการตรึงราคาก๊าซหุงต้ม LPG ที่ราคา 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัมจะสิ้นสุดใน 31 มกราคมนี้ ซึ่งหลังจากนี้ในเดือนกุมภาพันธ์จะทยอยปรับขึ้นราคาแบบขั้นบันได เพื่อลดภาระของกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วนการปรับขึ้นราคาเท่าไรนั้นอยู่ระหว่างการเสนอคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณา

จากปัจจัยต่างๆที่นำมาให้เห็นเป็นตัวอย่างนี้ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างมาก ทั้งที่รายได้ไม่เพิ่มขึ้น แต่รายจ่ายกลับเพิ่มสวนทาง คำว่ากินดีอยู่ดีคงมีแต่คำพูดที่สวยหรู เพราะชีวิตจริงยิ่งกว่าปากกัดตีนถีบ ไหนจะปัญหาแพร่ระบาดโควิดที่ทำให้ใช้ชีวิตได้ยากพอ ปัญหาปากท้อง ข้าวของแพงก็มารุมเร้า ทางออกที่ดีที่สุดของคนไทยคือวางแผนการใช้เงินกันให้ดีพยายามช่วยตัวเองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/335phDi
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/34DD0Sy , https://bit.ly/3fbaQ3g , https://bbc.in/3ngujUJ , https://bit.ly/33luOpa , https://bit.ly/3FaYbb3 , https://bit.ly/3faGyxv , https://bit.ly/3zHjno4

อ้างอิงจาก https://bit.ly/34FDirW

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด