รายได้เท่าไหร่? หนี้เพิ่มแค่ไหน? คนไทยยุค COVID 19

ตั้งแต่มีการแพร่ระบาด COVID 19 ไปทั่วโลกก็ทำให้หลายสิ่งหลายอย่างได้เปลี่ยนแปลงไป ก่อนหน้าที่จะมี COVID เราคาดการณ์เรื่องการเติบโตทางเศรษฐกิจ มองอนาคตของสังคมยุคใหม่ว่าต่อจากนี้ไปเป็นอย่างไร แต่เมื่อมี COVID โผล่ขึ้นมาทุกอย่างหยุดชะงักจากที่จะเดินหน้าก็กลายเป็นถอยหลัง

www.ThaiSMEsCenter.com เชื่อว่าผลกระทบที่หนักที่สุดคือ “รายได้ลดลง”สวนทางกับ “ภาระหนี้สิน” ที่มากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่และถึงตอนนี้ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นด้วย

ประชากรทั่วโลกกว่า 1,600 ล้านคนมีรายได้ลดลง

หนี้เพิ่มแค่ไหน

ภาพจาก www.freepik.com

ไปดูตัวเลขในภาพใหญ่ซึ่งเป็นโพลสำรวจประชาชน 300,000 คนใน 117 ประเทศทั่วโลก เกี่ยวกับผลกระทบต่อรายได้จากการระบาดของ COVID 19 พบว่าเฉลี่ยแล้ว ประชาชนกว่า 50% ประสบกับปัญหารายได้ลดลงโดยเฉพาะประเทศที่มีรายได้ต่ำ ประชาชนได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการถูกเลิกจ้างงาน รวมทั้งต้องถูกลดชั่วโมงการทำงาน จากการระบาดของเชื้อ COVID 19 โดยคะเนว่ามีประชากรโลกในวัยผู้ใหญ่ถึง 1,600 ล้านคน มีรายได้ลดลง ในส่วนของประเทศไทยก็มีตัวเลขรายได้ที่ลดลงสูงถึง 76%

สาเหตุสำคัญของรายได้ที่ลดลงในช่วง COVID 19

1.การถูกเลิกจ้าง

54

ภาพจาก www.freepik.com

โดยตัวเลขของผู้ถูกเลิกจ้างอันเนื่องมาจากการปิดตัวของธุรกิจต่างๆ มีจำนวนมาก ในปีที่ผ่านมาสำนักงานประกันสังคมเผยตัวเลขคนถูกเลิกจ้างกว่า 1.21 ล้านคน ซึ่งยังไม่รวมกับตัวเลขในปีนี้ที่คาดว่าจะสูงไม่ต่างกัน เมื่อถูกเลิกจ้างนั่นหมายถึงการสูญเสียรายได้ เช่นคนที่เคยมีเงินเดือนขั้นพื้นฐาน 15,000 บาท ก็จะไม่ได้ส่วนนี้แม้จะได้เงินชดเชยจากประกันสังคมในช่วงแรกแต่ก็ถือว่าเป็นรายได้ที่ลดลงอย่างมาก

2.การทำงานแบบ Work From Home

53

ภาพจาก www.freepik.com

การทำงานแบบ Work From Home คือมาตรการหนึ่งในการป้องกันการแพร่ระบาด COVID 19 แต่ผลที่ตามมาคือการปรับลดเงินเดือนของลูกจ้าง เช่นมีการจ่ายเงินเดือน 70-80% จากปกติ เท่ากับว่ารายได้ของพนักงานลดลงอย่างมากเช่นคนที่เงินเดือน 15,000 บาท จะได้รับเงินต่อเดือนเพียง 10,500 – 12,000 บาทเท่านั้น

3.การปิดกิจการชั่วคราว

52

ภาพจาก www.freepik.com

ผู้ที่ได้รับผลกระทบในส่วนนี้คือบรรดาร้านอาหารเป็นหลัก สังเกตว่าการแพร่ระบาดทุกรอบจะมีคำสั่งควบคุมการนั่งทานในร้านอาหาร การห้ามทานในร้าน ทำให้ร้านอาหารหลายแห่งต้องปิดกิจการชั่วคราว นั่นหมายความว่าลูกจ้างก็อาจจะไม่ได้รับเงินเดือนในช่วงนี้ด้วยเช่นกัน

4.กำลังซื้อของประชาชนที่ลดลง

6

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีรายได้ลดลงทำให้กำลังซื้อก็ลดลงด้วยเช่นกัน ผลกระทบจึงตกอยู่ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของได้ยากขึ้น รวมถึงความวิตกกังวลเรื่องการแพร่ระบาด COVID 19 ที่ทำให้คนส่วนใหญ่ระมัดระวังเรื่องการใช้จ่ายมากขึ้นทำให้มูลค่าการซื้อขายสินค้าลดลงนั่นหมายถึงรายได้ของพ่อค้าแม่ค้าที่ลดลงด้วยและปัญหาที่ตามมาหลังจาก “รายได้ลดลง” ก็คือ “หนี้สินที่เพิ่มขึ้น” เพราะเมื่อคนส่วนใหญ่ไม่มีรายได้ แต่รายจ่ายไม่ได้ลดลง ก็ทำให้ต้องหาเงินมาใช้หมุนเวียน จึงเกิดเป็นภาระหนี้ที่สูงขึ้น

ตัวเลขการเป็น “หนี้” ที่คนไทยมีมากที่สุด

51

ภาพจาก www.freepik.com

ตัวเลขชัดเจนว่าครัวเรือนไทยมีหนี้เพิ่มขึ้นประมาณ 500,000 ล้านบาท จาก 13,489,333 ล้านบาทในปี 2562 กลายเป็น 14,020,730 ล้านบาท ในปี 2563 มาถึงเดือนกรกฏาคมปี 2564 ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทย ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 90.5 ต่อจีดีพี สูงสุดในรอบ 18 ปี เหตุผลสำคัญคือประชาชนจำนวนมากประสบกับภาวะ Income Shock หรือรายได้ลดลงอย่างกะทันหัน ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ลดลงและมีหนี้สูงขึ้น โดยหนี้สินส่วนใหญ่หรือ 12.17 ล้านล้านบาท เป็นหนี้สินที่ครัวเรือนกู้ยืมจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาใช้ในเรื่องต่างๆ เช่น

  1. หนี้บ้าน ซึ่งยอดคงค้างหนี้บ้านเพิ่มขึ้น 5.53 หมื่นล้านบาท
  2. หนี้เพื่อประกอบอาชีพ ยอดคงค้างหนี้ประกอบอาชีพเพิ่ม 4.01 หมื่นล้านบาท เหตุเป็นเพราะผู้กู้หรือครัวเรือนจำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่มเพื่อหนุนสภาพคล่อง และใช้เป็นทุนหมุนเวียนในการดำเนินชีวิตหรือกิจการ
  3. หนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคทั่วไป มียอดคงค้างหนี้อุปโภคบริโภคทั่วไปเพิ่มขึ้น 3.35 หมื่นล้านบาทจากไตรมาสก่อน

อันเนื่องจากกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ฝืดเคือง รายได้ไม่สมดุลกับภาระค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น

นอกจากนี้ผลกระทบการแพร่ระบาดของ COVID 19 ยังลุกลามไปถึงวงการศึกษาอันเป็นผลมาจากความจำเป็นที่ต้องปิดสถานศึกษาทำให้เด็กส่วนใหญ่ต้องหันมาเรียนออนไลน์ ในขณะที่ผู้ปกครองหลายคนไม่มีความพร้อม ตัวเลขระบุชัดเจนว่า

50

ภาพจาก www.freepik.com

ปีการศึกษา 2564 มีเด็กหลุดจากระบบการศึกษาแล้ว 6,568 คน และคาดว่าสิ้นปีการศึกษา 2564 จะมีเด็กหลุดจากระบบการศึกษากว่า 65,000 คน ในด้านสุขภาพจิตก็รุนแรงไม่แพ้กันข้อมูลจากกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แสดงให้เห็นว่าปี 2563 อัตราการฆ่าตัวตายของคนไทยเพิ่มขึ้น จาก 6.64 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ในปี 2562 เป็น 7.37 คน ต่อประชากร 1 แสนคน และสูงกว่าค่าเฉลี่ยช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

และตั้งแต่คนทั่วโลกได้รู้จักกับ COVID 19 ก็ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมหาศาล โดยเฉพาะในประเทศไทยคำนวณว่ามีคนจนเพิ่มขึ้นกว่า 1 ล้านคน ตอกย้ำกับปัญหาเดิมๆ คือความเหลื่อมล้ำในด้านนรายได้ที่เมื่อก่อนเราได้ยินว่ารวยกระจุก จนกระจาย ตอนนี้ความจนยิ่งกระจายมากขึ้น

COVID 19 เปลี่ยนชีวิตใครหลายคนจากเจ้าของธุรกิจให้กลายเป็นคนธรรมดา เปลี่ยนชีวิตคนธรรมดามากมายให้กลายเป็นคนจน เปลี่ยนชีวิตคนจนให้กลายเป็นจนยิ่งกว่าเดิม ก็ได้แต่หวังว่าการแก้ปัญหา COVID 19 ของภาครัฐจะดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อความอยู่รอดของตัวเองไปวันๆเท่านั้น


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล https://bit.ly/3iALP4c , https://bit.ly/3yzHnYM , https://bit.ly/3yD0d14 , https://bit.ly/3s2sCv8 , https://bit.ly/2VAaNrI , https://bit.ly/3jFr6LF , https://bit.ly/3AxgCoD , https://bit.ly/2X8uJSJhttps://bit.ly/3CyDk1m

อ้างอิงจาก https://bit.ly/3CzUfAe

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด