รวม 10 เทคนิคกลโกงลูกค้า! พ่อค้าแม่ค้าต้องระวัง

ก่อนหน้านี้เราเคยพูดถึงกลโกงของลูกน้องในร้านอาหารที่เจ้าของกิจการต้องระวัง มาในคราวนี้ก็ยังเป็นเรื่องกลโกงแต่เป็นในมุมของพ่อค้าแม่ค้าที่อาจจะโดน “ลูกค้าเจ้าเล่ห์” โกงเงินได้

ซึ่ง www.ThaiSMEsCenter.com มองว่ารูปแบบการโกงของลูกค้าส่วนใหญ่คือ “เบี้ยวเงินไม่ยอมจ่าย” หรือการโกหกพ่อค้าแม่ค้าสารพัดวิธีเพื่อให้ตัวเองได้รับประโยชน์

แต่ทั้งนี้เราก็ไม่ได้หมายความว่าลูกค้าทุกคนจะเจ้าเล่ห์และจ้องจะโกงพ่อค้าแม่ค้า มีลูกค้าจำนวนมากที่เป็นคนดีแต่ก็มีคนไม่ดีปะปนอยู่ บทความนี้จึงนำเสนอเพื่อให้รู้ถึงเทคนิคการโกง ที่พ่อค้าแม่ค้าควรระวังไว้ให้ดี

พ่อค้าแม่ค้าต้องระวัง

ภาพจาก Freepik

1. การปลอมสลิปออนไลน์

กรณีนี้เกิดขึ้นบ่อยครั้งกับร้านค้าออนไลน์ คือลูกค้าที่สั่งของจากเราไปแล้วนั้น ส่งสลิปแจ้งโอนเงินมาให้ ซึ่งส่วนใหญ่จะทำปลอมขึ้นด้วยโปรแกรมโฟโต้ชอบ ในกรณีที่เขาไม่ได้โอนเงินมาให้จริงก็อาจจะตรวจสอบได้ง่าย เพราะไม่มี sms แจ้งจากธนาคารเข้ามา แต่ส่วนใหญ่ที่ถูกหลอกจะเกิดจากการที่ลูกค้าบางคนโอนเงินมาให้กับเราจริง แต่…ไม่เต็มจำนวน ถ้าเกิดเราไม่มีสติและตรวจเช็คยอดเงินให้ดี ก็อาจจะหลงกลโกงนี้ได้

ดังนั้นเพื่อความปลอดภัย แนะนำให้สมัครบริการ sms แจ้งเตือนทุกยอดการเคลื่อนไหวทางการเงิน ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่มีบริการเสริมนี้ และเพื่อเป็นกันป้องกันและตรวจสอบเบื้องต้นก่อนการส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อ

2. SMS ปลอม แจ้งเตือนแต่เงินไม่เข้าบัญชี

การใช้บริการ sms บางครั้ง ข้อความ sms ที่แจ้งเตือนมายังเครื่องโทรศัพท์ก็อาจจะเป็นของปลอม ซึ่งข้อความจะเขียนเหมือนกับระบบแจ้งเงินเข้าของธนาคาร แต่เบอร์ที่ส่งมาเป็นเบอร์แปลกๆ เราก็ต้องเช็คให้ดี บางครั้งอาจจะเป็นเบอร์ของธนาคารจริงที่ถูกส่งมา

แต่ความจริงแล้วลูกค้าไม่ได้โอนเงินเข้าบัญชีของร้านค้า แต่เขาโอนเข้าบัญชีอื่น และให้ธนาคารส่ง SMS มาแจ้งที่เบอร์เรา ซึ่งกรณีนี้ต้องเช็คที่เลขที่บัญชีในแน่ใจว่าใช่ของเราไหม หรือเช็คว่ามีเงินเข้ามาบัญชีเราแล้วจริงๆ

25

ภาพจาก Freepik

3. หลอกให้คนอื่นซื้อของแทน

วิธีนี้ลูกค้าจะเอารูปสินค้าของเรา หรือบางครั้งก็ของอะไรก็ได้ ไปลงขายตามอินสตาแกรมหรือกลุ่มซื้อขายออนไลน์ เมื่อมีคนสนใจสินค้า ลูกค้าของเราก็จะทำทีเป็นขายสินค้าปลอมๆ และให้เหยื่อที่หลงเชื่อโอนเงินเข้าบัญชีร้านค้าของเรา

ซึ่งเมื่อเหยื่อโอนเงินเสร็จแล้วและแจ้งไปที่ลูกค้าของเราที่ปลอมเป็นพ่อค้าแม่ค้า ลูกค้าก็จะมาแจ้งว่าได้โอนเงินไปแล้วให้เราส่งของไปที่อยู่เขา เมื่อเราเช็คว่าเงินได้เข้าบัญชีแล้วจึงทำการส่งของไป สุดท้ายเหยื่อที่ไม่ได้รับของสักที และรู้ว่าตัวเองโดนโกง เหยื่อก็จะตรวจสอบเลขที่บัญชีที่โอนไป และต่อว่าเราเพราะคิดว่าเรานั่นแหละที่เป็นคนโกงเงินของเขา

เพื่อเป็นการป้องกันเราจึงควรบันทึกหลักฐานทุกอย่างทั้งการสนทนา การแจ้งโอนเงิน และการจัดส่งสินค้า เมื่อเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เราจะสามารถตามตัวลูกค้าที่โกงได้ และลบล้างข้อกล่าวหาผิดๆ ให้หมดไป

4. แจ้งว่าไม่ได้รับของ

อีกหนึ่งกลโกงที่พ่อค้าแม่ค้ามักโดนบ่อยๆ ก็คือการที่ส่งของไปแล้วแต่ลูกค้ากลับบอกว่า “ยังไม่ได้รับของเลย ช่วยส่งมาให้ใหม่ได้ไหม” หรือ “ตอนนี้ยังไม่ได้รับของเลย ผมขอเงินคืน” และหากพ่อค้าแม่ค้าไม่ตรวจเช็คให้ดี หรือใจดีเพราะต้องการจะชนะใจของลูกค้า ก็จะรีบดำเนินการส่งของหรือคืนเงินไป โดยไม่รู้ว่าตัวเองโดนหลอกแล้ว

5. ร้านค้าร่วมกับลูกค้า โกงสิทธิ “คนละครึ่ง

อันนี้เรียกว่าโกงกันเป็นขบวนการมีตัวละครหลายราย ซึ่งโครงการคนละครึ่งรัฐบาลจ่ายให้ครึ่ง เราออกอีกครึ่ง วิธีการโกงรูปแบบนี้ต้องรู้เห็นเป็นใจกันระหว่างร้านค้าและลูกค้า โดยเริ่มจากการประกาศลงในเพจ เฟสบุ๊คว่าสามารถแลกเงินแอปฯ เป๋าตัง ที่ได้จากรัฐวันละ 150 บาท ให้กลายเป็นเงินสดได้ โดยคนที่มาแลกนั้นจะได้เงินสด 90 บาท โอนเข้าบัญชีแทน

ซึ่งพอมีคนหลงเชื่อส่งรหัสอินบ็อกเข้าแอปเป๋าตัง คนกลุ่มนี้ก็จะนำไปใช้กับร้านค้าที่ได้ตกลงกันไว้ โดยจะใช้สิทธิเต็มวงเงิน 300 บาท จากนั้นนำส่วนต่างที่รัฐบาลออกให้ 150 บาท มาแบ่งกันตามความพอใจ จากข้อมูลในหน้าข่าวถือเป็นการการกระทำที่ผิดกฏหมายและมีการดำเนินคดีในส่วนนี้แล้ว

24

ภาพจาก Freepik

6. ลูกค้าอ้างเป็นตัวแทนจากบริษัทเสนอขายสินค้าราคาถูก

อันนี้จะเป็นการโกงของลูกค้าที่เกี่ยวข้องกับร้านชำหรือร้านค้าแบบขายส่งเป็นหลัก โดยลูกค้าจะอ้างเป็นตัวแทนจำหน่ายจากบริษัทเสนอขายสินค้าราคาถูก โดยลูกค้าต้องเปิดบิลตามราคาที่กำหนด ซึ่งสินค้าแต่ละประเภทมีราคาไม่เท่ากัน เช่น หากครั้งแรกเปิดบิล 10,000 บาท ครั้งที่สองจึงจะมีสิทธิ์ซื้อในราคาต่ำกว่าท้องตลาดและสามารถรับสินค้าไปขายก่อน ทุก 10 วัน จึงจะเข้ามาเก็บเงิน

ตัวอย่างของผู้เสียหายได้ตัดสินใจสั่งซื้อสินค้ากับคนร้าย รวมมูลค่ากว่า 26,000 บาท ต่อมาเมื่อตรวจดูสินค้าพบสินค้าบางรายการซ้ำกัน และบางรายการราคาแพงกว่าที่เสนอขาย ซึ่งเมื่อรวมราคาสินค้าที่ได้รับแล้วคิดเป็นเงินได้ 6,000 บาท โดยเมื่อหักลบแล้วพบว่าถูกโกงสินค้าไปเกือบ 20,000 บาท

7. ซื้อของ (เงินเชื่อ) แล้วหายหน้า

ลูกค้าลักษณะนี้แรก ๆ จะมาซื้อของด้วยเงินสดก่อน โดยพยายามสร้างเครดิต และพยายามพูดคุยโปรโมทตัวเองว่า มีนิสัยไม่ชอบโกงใคร มีความรับผิดชอบสูง หากเชื่อของไปแล้ว จะต้องรีบนำมาจ่ายทันที ในครั้งแรกๆที่ร้านค้ายอมปล่อยให้ซื้อของแบบเงินเชื่อ เขาจะรีบเอาเงินมาใช้ในเวลาไม่นาน

สร้างภาพให้ร้านค้าจดจำว่า “เครดิตดีจริง” ทีนี้หลายๆครั้งพอร้านค้าเริ่มสนิท และเชื่อใจมากขึ้น สินค้าก็ขายให้ลูกค้าแบบนี้มากขึ้น มูลค่าสูงขึ้น จนถึงจุดๆหนึ่งที่คราวนี้แหละ หาตัวลูกค้าแบบนี้ไม่เจอ ยิ่งบางคนอยู่ไม่เป็นที่ เช่นอยู่หอพัก อพาร์ทเม้น สามารถเปลี่ยนที่พักไปเรื่อยๆ ก็จะไปโกงแบบนี้กับพ่อค้าแม่ค้าได้ ดังนั้น จ่ายสด งดเชื่อ เบื่อทวง พ่อค้าแม่ค้าต้องท่องจำเอาไว้

23

ภาพจาก bit.ly/3tBX5k9

8. กลโกงแบงค์ 100 แบบใหม่

น่าจะเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาของคนที่มีหน้าที่ออกแบบธนบัตร อย่างล่าสุดที่มีการออกแบบธนบัตรใบละ 100 บาท แต่ดูผิวเผินคิดว่าเป็นแบงค์ 1,000 แม้จะมีการออกมาอธิบายว่าเป็นหลักสากลของการออกแบบเพื่อป้องกันการปลอม แต่ดูเหมือนว่าเรื่องนี้พ่อค้าแม่ค้าจะได้รับผลกระทบ เพราะบางช่วงบางเวลาที่พ่อค้าแม่ค้าขายดีย่อมไม่มีเวลามาสังเกตว่าเป็นแบงค์ 100 หรือแบงค์ 1,000

จากหน้าข่าวที่ได้ยินมีพ่อค้าแม่ค้าหลายคนขาดทุนจากกรณีนี้ ซึ่งมองว่าลูกค้าบางคนก็ตั้งใจ เผื่อฟลุค เช่นซื้อของในจังหวะชุลมุน จ่ายแบงค์100 ที่ออกใหม่ แม่ค้าเข้าใจผิดคิดว่าเป็นแบงค์ 1,000 ก็ทอนเงินให้ลูกค้า กลายเป็นขาดทุนไปหลายร้อยบาท เป็นอีกเรื่องที่พ่อค้าแม่ค้าต้องระวังให้ดี

9. เชื่อคนนั้น จ่ายคนนี้

ร้านค้าบางแห่งมีคนขายหลายคน กลโกงของลูกค้าเจ้าเล่ห์ที่อยากจะเอาเปรียบ มักจะเลือกซื้อของแต่ไม่ยอมจ่ายเงินทันที หรือบางทีก็ใช้ความสนิทหลอกคนขายว่าพอดีเจอคนขายอีกคนก็เลยจ่ายเงินค่าของที่ติดอยู่ให้แล้ว กรณีนี้ถ้าเจ้าของร้านที่ขายของไม่ได้คุยกันให้ดีจะไม่รู้เลยว่าลูกค้าคนนี้แท้จริงได้จ่ายเงินให้ใคร หรือยังไม่ได้จ่าย อาจจะเป็นวิธีการโกงที่ดูไม่ร้ายกาจเท่าไหร่

แต่สำหรับพ่อค้าแม่ค้าถ้าเจอลูกค้าแบบนี้มากๆ เข้า รายได้ที่ควรจะได้ก็ทุนหาย กำไรหด ทางที่ดีก็ควรระวังและถ้าเป็นไปได้ซื้อของอะไร ซื้อกับใครก็ให้จ่ายเงินสดตรงนั้นไม่ต้องรอให้เขาไปจ่ายกับคนอื่น เราจะได้ไม่เจ็บใจทีหลัง

22

ภาพจาก Freepik

10. กลโกง “เก็บเงินปลายทาง”

อันนี้เรียกว่าเป็นลูกค้าที่มาแบบมิจฉาชีพ และผิดกฎหมายด้วย วิธีการคือคนร้ายจะซื้อสินค้าต้นทุนต่ำๆ ประเภทเคสโทรศัพท์ , สร้อยคอแฟชั่น เป็นต้น (ราคาต่อชิ้นประมาณ 20-30 บาท) เอามาแพคใส่กล่องและส่งไปตามที่อยู่ต่างๆ จากนั้นพอของไปถึง คนส่วนมากก็จะจ่ายไปเพราะไม่มั่นใจว่าสั่งอะไรไปรึเปล่า และราคาแต่ละกล่องจะไม่สูงมากเป็นมาตรฐานประมาณ 200 บาท จึงไม่คิดมากอะไร บางทีพ่อแม่ก็รับแทน จ่ายแทน จะมีก็แค่ครึ่งนึงที่รู้ทันและไม่รับของและให้ตีคืนไป

ประเด็นคือ จิตวิทยาที่คนร้ายใช้น่ากลัวมาก เพราะคนที่ได้รับของไปถึงแม้ว่าจะไม่ได้สั่ง แต่แกะออกแล้วเจอ เคส โทรศัพท์ , เครื่องประดับ , ก็จะรู้สึกแค่ “อะไรวะ สั่งตอนไหน?” แต่ก็ไม่ถึงกับจะไปฟ้องร้องแจ้งความเอาเรื่องให้เสียเวลา เพราะจำนวนเงินก็ไม่เยอะมากมาย ทีนี้มาดูรายได้ของคนร้าย เริ่มจาก ค่าส่ง 40 ค่ากล่อง 3 บาท ค่าของในกล่อง 20 บาท รวมต้นทุน 63 บาท เก็บปลายทาง 200 บาท ถ้ามีคนจ่ายกำไรทันที 137 บาทต่อกล่อง ส่งวันนึง 1,000 กล่องสำเร็จ 400 กล่อง รายได้คนร้าย400 x 137= 54,800บาท!! ต่อวัน!! นั่นเท่ากับเดือนนึงกำไร 1,644,000 บาท แต่เรื่องนี้ไม่แนะนำให้ทำตามนะ เพราะผิดกฎหมายและหากถูกจับทั้งติดคุกถูกปรับไม่คุ้มค่าแน่

ปัจจุบันเราอยู่ในยุคการสื่อสารไร้พรหมแดน กลโกงหลายอย่างก็พัฒนามากขึ้น ในฐานะของพ่อค้าแม่ค้าก็ควรระวังลูกค้าบางรายที่จ้องจะโกง ในขณะเดียวกัน ลูกค้าเองก็ต้องระวังพ่อค้าแม่ค้าบางรายที่จ้องจะเอาเปรียบเราเช่นกัน เมื่อเป็นเช่นนี้ต่างคนต่างระวังกันให้ดี แม้คนส่วนใหญ่จะไม่ใช่มิจฉาชีพ แต่ถ้าได้เจอมิจฉาชีพสักทีไม่ว่าใครจะเป็นฝ่ายโดนก็จะจำฝังใจไปอีกนานแสนนาน


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจ แฟรนไชส์ และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ https://bit.ly/3corFV2
รับฟังบทความต่างๆ ผ่านทาง PodCast ไทยแฟรนไชส์เซ็นเตอร์ https://soundcloud.com/thaifranchisecenter

ขอบคุณข้อมูล
https://bit.ly/3tcyHW7 , https://bit.ly/39xIq1p , https://bit.ly/39wHM4e , https://bit.ly/3rcJfT4 , https://bit.ly/3ajn7jb , https://bit.ly/2MI6hCE

 

อ้างอิงข้อมูล https://bit.ly/3p3nRP1

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด