มีเหนื่อย! พนักงานขายประกัน ปี 2020

ตัวแทนประกันทั้งหลายอ่านแล้วอย่าเพิ่งโกรธกันนะ เพราะผลการสำรวจระบุชัดว่า “อาชีพขายประกัน” คืออาชีพที่อยู่กับคำ “ปฏิเสธ” และเป็นอาชีพที่คนร้อง “ยี้” มากกว่าร้อง “เยส” ไม่ใช่ว่า “การขายประกันเป็นอาชีพไม่ดี”

หลายคนที่ทำแล้วดี ทำแล้วมีรายได้ก็มีตัวอย่างให้เห็นชัดเจน แต่สินค้าอย่าง “ประกัน” หลายคนพูดว่า “ทำไว้ไม่ได้ใช้” “คนใช้ไม่ได้ทำ” ผนวกรวมกับสมัยนี้เศรษฐกิจตกสะเก็ดรายรับไม่ดีเท่ารายจ่าย อะไรที่ตัดได้ก็ตัด นั่นก็ยิ่งทำให้ คนขายประกัน “มีเหนื่อย” ยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี www.ThaiSMEsCenter.com มองว่าอาชีพขายประกันก็มีทั้งน่าเป็นห่วงและน่าสนใจมีอะไรบ้างลองไปดู

ทิศทางการเติบโตของ “ธุรกิจประกัน” ยังมีอีกมาก

มีเหนื่อย

ภาพจาก bit.ly/2o6wv5P

ถ้าพิจารณาจากความเป็นจริงว่าธุรกิจประกันยังโตได้อีกมากโดยเฉพาะในประเทศไทยที่อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตของคนไทยที่ยังมีเฉลี่ยไม่ถึง 1 ฉบับต่อคน หรือหากประชากรไทยมีกว่า 67 ล้านคนแสดงว่าสัดส่วนกรรมธรรม์ยังมีไม่ถึงครึ่งด้วยซ้ำ(ประมาณ 38% ของประชากรทั้งหมด)

สวนทางกับญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่านิยมออมผ่านการประกันชีวิตมากที่สุด คนญี่ปุ่น 1 คน มีกรมธรรม์ประกันชีวิตถึง 3 ฉบับ คิดเป็น 300% เลยทีเดียว วันนี้ประชากรญี่ปุ่น 128 ล้านคน มีจำนวน 36% หรือกว่า 46 ล้านคน ที่มีเงินทุนประกันเพียงพอที่จะคุ้มครองตัวเองไปตลอดชีวิต โดยไม่ต้องพึ่งพารัฐบาลหรือพึ่งพาใคร

ตอกย้ำการเติบโตที่ยังไปไม่สุดของ “ธุรกิจประกัน” ในประเทศไทยจากศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เบี้ยประกันชีวิตรับรวมในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2562 มีจำนวน 2.95 แสนล้านบาท หรือหดตัวลง 6.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และในช่วงเวลาที่เหลือของปี2562 ธุรกิจประกันยังเน้นชูสัญญาเพิ่มเติมด้านประกันสุขภาพ เพื่อหวังกระตุ้นการซื้อกรมธรรม์หลักใหม่

โดยหันมาปรับปรุงเงื่อนไขความคุ้มครองและราคาที่สมเหตุสมผล เพื่อใช้เป็นจุดขายที่จูงใจให้ผู้ซื้อยอมทำประกันฉบับใหม่เพิ่ม เช่น ขยายอายุจาก 60 ปี เป็น 70-80 ปี และเพิ่มความหลากหลายรูปแบบตามกำลังซื้อ แต่กลุ่มเป้าหมายยังคงเป็นผู้ที่มีฐานรายได้ระดับกลางและบน สำหรับภาพรวมปี 2562 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินอาจติดลบ 2%

ซึ่งหากเป็นจริงจะนับเป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 10 ปี เนื่องจากธุรกิจกำลังเข้าสู่ช่วงเปลี่ยนผ่านในหลายเรื่อง อาทิ มาตรฐานบัญชีใหม่ เทคโนโลยี และการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

เป็นตัวแทนขายประกันปี 2020 ทำไมถึง “เหนื่อย”

41

ภาพจาก bit.ly/31DcPnE

1.กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัว

ธุรกิจประกันยังต้องพึ่งพาคนที่สนใจในการซื้อประกันแต่อย่างที่ทราบว่าเศรษฐกิจที่ไม่ดีมีผลโดยตรงต่อการจับจ่าย ยิ่งเป็นประกันที่หลายคนมองว่าก็คือสิ่งจำเป็น แต่ด้วยเบี้ยที่ไม่ว่าจะพยายามปรับลดลงมาให้ถูกและคุ้มค่าอย่างไร ในสายตาของคนที่เงินไม่หนาพอก็มองว่าเป็นรายจ่ายผูกพันที่ทำให้ตัวเองมีภาระมากขึ้นไม่ว่าจะรายเดือน รายสามเดือน รายหกเดือน หรือรายปี แม้จะรู้ว่าดีแต่บางทีก็ต้องตัดใจเอาเงินไปใช้อย่างอื่นก่อน

2.ภาพลบจากประกันในอดีต

พูดถึงประกันหลายคนถึงแอนตี้ ถามว่าทำไม เพราะเหล่านี้คือภาพจำในอดีตที่ระบบบริหารจัดการอาจจะยังไม่ดีพอทำให้สมัยก่อนเวลาเบิกเคลมมีปัญหาทั้งล่าช้าหรือว่าไม่ยอมจ่าย หรืออาจเป็นเพราะตัวแทนในสมัยก่อนไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมและไม่ได้มีมาตรฐานเหมือนปัจจุบันทำให้ไม่มีการดูแลลูกค้าเป็นอย่างดีทำให้ลูกค้ารู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง และก็เป็นปัญหาที่คนขายประกันยุคนี้ต้องเจอ

3.คู่แข่งมีมากมายนับไม่ถ้วน

ถ้าสำรวจตลาดประกันในปัจจุบันนอกจากบริษัทที่เป็นตัวแทนขายประกันโดยตรงจะเห็นว่าแม้แต่ธนาคารเดี๋ยวนี้ก็ผันตัวเองมาสู่ธุรกิจประกันอย่างเต็มรูปแบบ กลายเป็นคู่แข่งเพิ่มขึ้นมาก สวนทางกับคนซื้อหรือลูกค้าที่ต้องการยังไม่กล้าเสี่ยงมากพอ ตัวแทนประกันบางทีจึงเดินชนกันให้ขวักไขว่ ตัวแทนเก่าแก่ที่ทำมานานมีฐานลูกค้าอยู่บ้างกลุ่มนี้ก็อาจจะยังพอทำกำไรให้ตัวเองได้แต่สำหรับนักขายมือใหม่ขอบอกว่ากว่าจะโตในธุรกิจนี้ได้ยากมากหากใจไม่รักจริง

4.คนส่วนใหญ่นิยมเอาเงินไปลงทุนแบบอื่น

เกี่ยวเนื่องกับเรื่องเศรษฐกิจไม่ดีเช่นกันคนส่วนใหญ่นิยมเอาเงินไปต่อเงินในรูปแบบอื่นไม่ว่าจะเสี่ยงเล่นหุ้น กองทุนต่างๆ หรือเอาไปลงทุนกับธุรกิจอื่นๆ ที่ไม่ใช่ “ซื้อประกัน” ที่เรารู้ดีว่า “ประกัน” ก็คือการออมแบบหนึ่ง แต่คนส่วนใหญ่มองว่าเป็นรายจ่ายเสียเปล่า บางทีปีทั้งปีซื้อประกันไว้ก็ไม่ได้ใช้ สู้เอาเงินไปลงทุนแบบอื่นที่มียอดคืนกลับมาดีกว่า

5.เทคโนโลยีที่พัฒนาทำให้ตัวแทนต้องสู้มากขึ้น

เมื่อก่อนการเข้าถึงลูกค้าส่วนใหญ่เป็นแบบ Face to Face ตัวแทนใช้การเดินเข้าหาคนตามตลาด เคาะประตูบ้าน เข้าไปพูดคุยกันแบบตัวถึงตัว แต่ยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนไปทำให้การซื้อขายประกันในลักษณะตัวแทนเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้นและตัวแทนที่ไม่รู้จักการปรับตัวใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมก็ไม่อาจสู้กับตัวแทนรายอื่นได้ หรือแม้แต่บางบริษัทเองก็มีการลดจำนวนตัวแทนแล้วหันมาทำตลาดออนไลน์มากขึ้น

ข้อแนะนำดีๆสำหรับคนอยากทำอาชีพขายประกัน

40

ภาพจาก bit.ly/2BvUT3Z

อย่าเพิ่งท้อแท้ท้อใจสำหรับคนที่มองว่า “การขายประกันคืออาชีพที่น่าสนใจ” อาชีพนี้หากทำได้จริง ตั้งใจจริง ค่าตอบแทนค่อนข้างสูง แถมยังมีโอกาสได้ไปเที่ยวต่างประเทศแบบง่ายๆ และมีโอกาสเติบโตได้ ซึ่งเราก็มีข้อแนะนำดีๆมาฝากสำหรับคนที่รักในอาชีพการขายนี้

1. ให้เรามองหานักขายประกันมืออาชีพและเรียนรู้กับเขาให้มากที่สุดหรือเข้าอบรมตามโปรแกรมที่มีเพราะเราจะได้เป็นนักขายประกันมืออาชีพ

2. ตั้งเป้าหมายทำต่อเนื่องอย่างน้อยให้ได้สัก 6 เดือนหรือ 1 ปีขึ้นไป เพราะธุรกิจหรืองานอิสระจะสำเร็จได้ต้องทุ่มเทและมืออาชีพเท่านั้นหากเราหวังจะมีรายได้เป็นกอบเป็นกำคุ้มค่าเหนื่อย

3. อย่าหยุดทำจนกว่าจะถึงเป้าหมายระยะเวลาที่กำหนดกับตัวเองไว้

น่าสังเกตุอีกอย่างว่าคนที่สำเร็จในขายประกันหรือขายตรง เขามักจะเป็นคนที่มีพลังดึงดูดในตัว หรือเป็นผู้นำ และแน่นอนผู้นำมักจะมีน้อยกว่าผู้ตาม ตัวแทนขายประกันที่มีประสบการณ์เคยกล่าวไว้ว่า

“ ถ้าคุณอยากสำเร็จคุณต้องเป็นผู้นำและสร้างผู้นำให้มีมากขึ้น” ซึ่งหมายถึงเมื่อเราสร้างเครือข่ายการขายของตัวเองได้งานของเราก็จะเหนื่อยน้อยลง แต่รายได้ของเราจะเพิ่มมากขึ้น นี่คือหลักการของตัวแทนขายประกันที่ไม่ยากแต่ต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

0

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ bit.ly/2ZvO0u6

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด