มีเหนื่อย! ธุรกิจออนไลน์ ปี 2020

ยุคนี้ใครๆ ก็พูดถึง “ธุรกิจออนไลน์” หลายคนที่เคยเป็นมนุษย์เงินเดือนเกิดเห็นช่องทาง คนอื่นทำแล้วรวย ลาออกจากงานมาทำดูบ้าง บางคนรอด บางคนเจ๊งไม่เป็นท่า นี่คือความเหนื่อยของ ธุรกิจออนไลน์ปี 2020

www.ThaiSMEsCenter.com ยืนยันว่าธุรกิจนี้ยังมีโอกาสแต่ก็ใช่ทุกคนที่จะรอดปลอดภัย การลงทุนมีความเสี่ยงไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจออนไลน์ก็เช่นกัน

ภาพรวมธุรกิจออนไลน์ระดับโลก บอกชัดว่าโตแน่!

ธุรกิจออนไลน์

ภาพจาก bit.ly/2md9fC5

เว็บไซต์ beeketing เผยแพร่บทวิเคราะห์น่าสนใจและได้ประมาณการณ์มูลค่าตลาดอี-คอมเมิร์ซในส่วนของค้าปลีกทั่วโลกว่าจะขยับขึ้นแตะหลัก 4.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564 หรือคิดเป็นอัตราเติบโตถึง 265% จากตัวเลข 1.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐและที่น่าสนใจก็คือ การซื้อขายสินค้าออนไลน์กำลังจะค่อยๆ เข้าไป กลืนกิน ตลาดค้าปลีกรูปแบบเดิม

โดยมีการประเมินไว้ว่าภายในปี 2564 ค้าปลีกออนไลน์จะเข้าไปกินส่วนแบ่งจากตลาดค้าปลีกในภาพรวมทั่วโลกได้ถึง 17.5% สอดคล้องกับข้อมูลจาก ยูโรสแตท (Eurostat) ที่รายงานผลสำรวจของปี 2561 ว่า 32% ของชาวอังกฤษนิยมซื้อสินค้าทางออนไลน์ ตามมาด้วยเยอรมัน 23% ฝรั่งเศส 17% สเปน 12% และอิตาลี 6%

เหล่านี้คือทิศทางการค้าออนไลน์ระดับโลกที่เราก็เชื่อว่าจะโตและโตได้อีกมาก ถึงขนาดที่หลายแบรนด์ยักษ์ใหญ่เองก็ต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับธุรกิจออนไลน์ที่ว่านี้ ธุรกิจไหนคล้อยตามและยอมปรับตัวยอมงอแต่ไม่ยอมหักก็รักษาสถานะการค้าตัวเองให้อยู่รอดปลอดภัยได้

พฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ในประเทศไทย

13

ภาพจาก scbsme.scb.co.th

หลายสำนักได้มีการสำรวจพฤติกรรมการซื้อสินค้าผ่านออนไลน์พบว่า ผู้หญิงไทยนิยมชอปปิ้งออนไลน์ 59% ในขณะที่ผู้ชายมีการชอปปิ้งออนไลน์อยู่ที่ 41% ส่วนคนรุ่นใหม่ คือกลุ่มที่ชื่นชอบการช้อปปิงออนไลน์มากที่สุด มีมากกว่าครึ่งหนึ่งของนักช้อปปิง ออนไลน์ทั้งหมดถึง 51% คือช่วงอายุระหว่าง 25 – 34 ปี และตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 35 – 44 ปี (21%) และ 18 – 24ปี (16%) ส่วนที่เหลืออีก 12% เป็นผู้บริโภคที่มีอายุมากกว่า 45 ปี

ค่าเฉลี่ยของการช้อปปิงจะเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท/ครั้ง โดยชอปผ่านสมาร์ทโฟนบ่อยที่สุด ขณะที่ยอดใช้จ่ายสูงสุดจะอยู่ประมาณ 1,956 บาท วันที่ผู้บริโภคในประเทศไทยนิยมซื้อสินค้า พบว่า วันอังคารและวันศุกร์ เป็นช่วงที่ใช้จ่ายทางออนไลน์มากที่สุด และจะลดลงช่วงสุดสัปดาห์

โดยยอดขายสูงสุดจะชอปผ่านโทรศัพท์มือถือ อยู่ในช่วงเวลาประมาน 18.00 น. เป็นต้นไป แสดงให้เห็นว่า หลังจากว่างเว้นจากงานประจำ คนไทยจะหันมาชอปออนไลน์เพื่อผ่อนคลาย สำหรับหมวดหมู่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด ได้แก่ เสื้อผ้า อาหาร รองเท้า สินค้ากีฬา และด้านการท่องเที่ยว

อะไรๆก็ดี แต่ทำไมถึง “มีเหนื่อย”

12

ภาพจาก bit.ly/2mPZcU3

ก็จะไม่ให้เหนื่อยได้ยังไง เพราะลองสังเกตดูให้ดีว่าอะไรที่มันทำได้ง่ายคนก็จ้องจะเข้ามาทำเหมือนกัน ไม่ปฏิเสธว่าในสมัยก่อนพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ร่ำรวยกันเป็นทิวแถว มียอดขายแตะหลักล้าน มีรถ มีบ้าน เรียกว่ารวยอู้ฟู่ แต่พอมาในยุคนี้จะทำให้ได้แบบนั้น “ไม่ง่าย” เพราะถ้านับเอาบรรดาคู่แข่งที่ตอนนี้บอกเลยว่าใครก็เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ได้

ไม่เชื่อลองเข้าไปดูกระทู้ในพันทิป บางคนบ่นกระปอดกระแปดว่าไม่น่าลาออกจากงานมาขายออนไลน์ บางคนถึงกับฟันธงว่านี่คือข้อผิดพลาดที่สุดในชีวิต ปัจจุบันนอกจากพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ที่แทบจะเดินชนกัน เกิดการหั่นราคาสู้กัน ชนิดที่ขายเน้นปริมาณแต่สุดท้ายก็ไม่ได้กำไร ไหนจะวัดกันในเรื่องการขนส่งและบริการ ไหนจะวัดกันในเรื่องคุณภาพสินค้า ที่เดี๋ยวนี้แม้แต่โรงงานผู้ผลิตบางรายก็หันมาทำตลาดออนไลน์ของตัวเอง ตัดโอกาสพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์เพิ่มเข้าไปอีก

ด้วยเหตุนี้ “ธุรกิจออนไลน์ปี 2020” แม้จะดูน่าสนใจ แต่ไม่แนะนำให้พรวดพราดเดินเข้ามาเหมือนแมงเม่าบินเข้ากองไฟมีวิธีการมากมายที่ให้เราลองผิดลองถูกลองเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานประจำไปก่อน ถ้าแน่ใจมั่นใจว่าไปรอด ทำแล้วจะมีกำไรได้แน่ ค่อยคิดลาออกจากงานมาบริหารเต็มตัวก็ยังไม่สาย

7 ปัญหาของคนที่ทำให้ธุรกิจออนไลน์ยุค 2020 ไปไม่รอด

11

ภาพจาก bit.ly/2n2JG7h

1. ปัญหาเรื่องการยืนยันตัวตนของลูกค้าออนไลน์

โดยเฉพาะกับผู้ขายของออนไลน์รายใหญ่ที่มีบริการการเก็บเงินปลายทาง หรือที่เรียกว่า Cash on delivery เพราะอาจมีการระบุตัวตนไว้เพียงเบอร์โทรศัพท์ หรืออาจจะใช้นามแฝงในการสั่งซื้อ สามารถแก้ไขได้โดยการเพิ่มขั้นตอนในการยืนยันข้อมูลลูกค้าให้มากขึ้น สร้างระบบการตรวจเช็กข้อมูลที่ลูกค้าให้ไว้ ในส่วนของข้อมูลเบอร์โทรศัพท์ ข้อมูลที่อยู่อย่างเช่น รหัสไปรษณีย์ตรงกับเขต หรือแขวง หรืออำเภอและจังหวัดที่ให้มาหรือไม่ นอกจากนี้ผู้ขายของออนไลน์ควรมีระบบยืนยันตัวตน โดยการส่งข้อความเป็นรหัสให้ลูกค้ายืนยันตัวตนผ่านเบอร์โทรศัพท์ และหรือที่อยู่อีเมล์ที่ได้แจ้งไว้

2. ปัญหาเรื่องการวิเคราะห์คู่แข่ง

สตีฟ จ็อบ เคยกล่าวไว้ว่า “คุณไม่ควรมองไปที่คู่แข่งแล้วพูดว่า คุณจะทำให้ดีกว่า แต่คุณควรมองไปที่คู่แข่งแล้วพูดว่า คุณจะสร้างความแตกต่าง”หากคุณอยากเป็นผู้อยู่รอด ต้องมีการวิเคราะห์คู่แข่งเป็นอย่างดี หรือไม่คุณก็ต้องสามารถสร้างความแตกต่างให้กับธุรกิจของคุณเอง

3. การสร้างกลยุทธ์มัดใจลูกค้า

ไม่ว่าเว็บไซต์เราจะสวยงามหรือน่าสนใจแค่ไหน แต่หากไม่สามารถสร้างความเชื่อใจ ความมั่นใจและมัดใจลูกค้าได้ ธุรกิจของเราก็ต้องถึงคราวดิ่งลงซักวันหนึ่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริการลูกค้าชาวอเมริกันชื่อ Shep Hyken เคยบอกไว้ว่า “การบริการเป็นสิ่งที่บริษัทและองค์กรให้กับลูกค้า และลูกค้าจะตอบแทนกลับมาเป็นความเชื่อใจ มั่นใจ”

4. ปัญหาชวนปวดหัวเกี่ยวกับการคืนสินค้าและคืนเงิน

จากการสำรวจของ comScore และ UPS ระบุว่า ลูกค้าที่ซื้อสินค้าออนไลน์ในอเมริกา จะเข้าไปอ่านเงื่อนไขการคืนสินค้าก่อนการซื้อถึง 63% และ 48% ระบุว่าจะซื้อสินค้าที่เว็บไซต์นี้อีกหากกระบวนการคืนสินค้าไม่ยุ่งยาก ผลการสำรวจนี้แสดงให้เห็นว่าลูกค้าตัดสินใจซื้อสินค้าออนไลน์จากนโยบายการคืนสินค้าด้วยเช่นกัน

5. ตกม้าตายเรื่องการแข่งขันด้านราคาและการจัดส่ง

ลูกค้าส่วนใหญ่ มักตัดสินใจซื้อสินค้าจากราคา และบนโลกออนไลน์อาจมีการขายสินค้าชิ้นเดียวกับเรา แต่แตกต่างเฉพาะเรื่องของราคา ทำให้ผู้ขายของออนไลน์หลายรายไปต่อไม่ได้ โดยเฉพาะผู้ขายของออนไลน์ขนาดเล็ก ที่จะถูกผู้ขายขนาดกลางและขนาดใหญ่ตัดราคาได้ง่าย นอกจากสงครามการตัดราคาแล้ว ผู้ขายของออนไลน์รายกลางและใหญ่ ยังสามารถจัดส่งสินค้าฟรีได้แทบจะทุกออร์เดอร์อีกด้วย เนื่องจากมีระบบการขนส่ง และคลังสินค้าเป็นของตัวเอง และกระจายอยู่ทั่วประเทศ ทำให้ส่งของได้ถูกกว่า และเร็วกว่า

6. การแข่งขันระหว่างธุรกิจค้าปลีกและผู้ผลิตสินค้า

โมเดลพื้นฐานของการขายสินค้าออนไลน์สำหรับร้านค้าปลีกทั่วไป คือการซื้อสินค้าแบบเหมาจากโรงงานผู้ผลิต เพื่อมาขายปลีกบนเว็บไซต์ของตนเอง แต่เมื่อเวลาเปลี่ยนไป การกระโดนเข้ามาทำการค้าบนโลกออนไลน์สามารถเริ่มต้นได้ง่ายขึ้น ทำให้โรงงานผู้ผลิตสินค้าสามารถขายสินค้าให้กับลูกค้าโดยตรงผ่านเว็บไซต์ตนเองได้เช่นกัน จนกลายเป็นการแข่งขันในอีกรูปแบบหนึ่ง

7. ปัญหาเรื่องความปลอดภัยด้านข้อมูล

อีกปัญหาใหญ่ที่สามารถกลายเป็นฝันร้ายให้กับผู้ขายของออนไลน์ได้ คือปัญหาด้านความปลอดภัยเกี่ยวกับข้อมูลบนเว็บไซต์ หากไม่มีการป้องกัน เว็บไซต์ของเราอาจถูกจู่โจมโดยพวกมิจฉาชีพบนโลกไซเบอร์ โดยการปล่อย Spam และไวรัสต่างๆ เข้ามาในระบบและเอาข้อมูลลูกค้าที่สำคัญไป เช่น เบอร์โทรศัพท์ลูกค้า เลขและรหัสบัตรเครดิต เป็นต้น

10

ภาพจาก bit.ly/2nR35YE

จะเห็นได้ว่าอะไรที่คิดว่าง่าย อะไรที่คิดว่าคนอื่นทำได้ฉันก็ทำได้ แท้ที่จริงมีรายละเอียดปลีกย่อยซ่อนอยู่ในตัวเอง ไม่เว้นแม้แต่ธุรกิจออนไลน์ ที่ดูเหมือนง่าย

ทำงานเป็นนายตัวเอง มีเวลาเหลือเฟือแต่แท้จริงต้องแลกมาด้วยการบริหารจัดการที่เป็นมืออาชีพ หากคิดทำเล่นๆ กำไรมันก็จะมาแบบเล่นๆ บางทีถึงกับทำให้เจ๊งได้เลยทีเดียว


ผู้อ่านสามารถติดตามข่าวสาร ทุกความเคลื่อนไหวธุรกิจแฟรนไชส์และ SMEs รวดเร็ว รอบด้าน
ติดตามได้ที่ Add LINE id: @thaifranchise

01

ต้องการข้อมูลข่าวสาร ต้องการอัพเดทข้อมูลการตลาด หรือแนวทางการทำธุรกิจ ติดตามได้ที่ goo.gl/Io5k2S

คุณรัตนชัย ม่วงงาม (เปี๊ยก)

เรียนจบจากคณะนิเทศศาสตร์ ทำงานในด้านวารสารมากว่า10ปี สะสมความรู้หลากหลายแนวทั้งด้านการเกษตร สังคม สู่การประยุกต์เป็นอาชีพทั้ง SMEs และแฟรนไชส์รวมถึงแนวทางด้านกลยุทธ์การตลาดต่างๆ การเขียนคืองานที่เราตั้งใจและใจรักมากที่สุด